กลูต้าผิวขาว ช่วยให้ขาวจริงไหม อันตรายหรือเปล่า

กลูต้าผิวขาว ช่วยให้ขาวจริงไหม อันตรายหรือเปล่า

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า การใช้กลูต้าไธโอนช่วยทำให้ผิวขาว แต่ก็คงเคยได้ยินเช่นกันว่าการใช้กลูต้าไธโอนนั้นมีผลข้างเคียงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

กลูต้าไธโอนคืออะไร?

กลูต้าไธโอน (Glutathinone) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองจากอาหาร และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ ทำหน้าที่ในการปกป้องเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระที่อยู่ตามร่างกาย

ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงช่วยตับทำลายและขจัดสารพิษ (Detoxification) โดยสร้างเอ็นไซม์ชนิดต่างๆ ที่ช่วยในการกำจัดพิษออกจากร่างกาย

โดยไปเปลี่ยนสารพิษชนิดไม่ละลายในน้ำ เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก สารระเหย รวมถึงยาบางชนิดที่ชอบไขมัน ให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีขึ้น และง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันตับจากการถูกทำลาย โดยแอลกอฮอล์และการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด

ในบางประเทศ กลูต้าไธโอนได้รับการรับรองให้ขึ้นเป็นทะเบียนยาเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้รักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนัก และพิษจากยาพาราเซตามอล ส่วนในบางประเทศนั้นใช้เป็นอาหารเสริม สำหรับในประเทศไทย กลูต้าไธโอนยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

การใช้กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวทำได้จริงไหม?

ส่วนการใช้กลูต้าไธโอนสำหรับให้ผิวขาวนั้น พบว่าเป็นผลข้างเคียงจากการใช้เพื่อรักษาโรคอื่นแล้วมีผลทำให้ผิวขาวขึ้น จึงได้รับความนิยมนำมาใช้เพื่อให้ผิวขาวในหมู่คนทั่วไป อย่างไรก็ตาม การใช้กลูต้าไธโอนในทางการแพทย์ของประเทศไทยยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา

เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ง่าย และมีความรุนแรงหากมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตัวอย่างผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ผู้ที่ได้รับสารกลูต้าไธโอนเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องจะทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลง เกิดความเสี่ยงต่อการมองเห็นและอาจตาบอดได้ในอนาคต

หากมองไปที่สีจอตาก็จะเห็นว่าจอตาเป็นสีออกขาว วารสารทางการแพทย์สหรัฐอเมริกาจึงจัดว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางตาได้

นอกจากนี้ การฉีดกลูต้าไธโอนเข้าหลอดเลือดโดยตรงยังมีโอกาสทำให้แพ้ได้ เช่น เกิดอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ทำไมฉีดกลูต้าไธโอนแล้วถึงขาวขึ้น?

เหตุที่ผู้ได้รับการรักษาด้วยการฉีดกลูต้าไธโอนนั้นมีสีผิวรวมถึงจอตาที่ขาวขึ้น มาจากกลูต้าไธโอนมีผลยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีผิว จึงส่งผลให้เม็ดสีผิวเปลี่ยนจากสีน้ำตาลดำเป็นสีชมพูขาว

ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้สาวๆ หลายคนนำผลข้างเคียงของยามาใช้ทำให้ผิวขาวขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำยามาใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์

ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนที่พบจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นอยู่ในรูปยาเม็ดหรือผงละลายน้ำสำหรับรับประทาน และมีการโฆษณาว่าช่วยให้ผิวขาวได้ ซึ่งความจริงแล้วการรับประทานกลูต้าไธโอนไม่สามารถที่จะทำให้ผิวขาวขึ้นได้โดยตรง

จึงไม่ควรไปเสียเงินซื้อมารับประทาน เนื่องจากกลูต้าไธโอนมีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่เกินกว่าที่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารได้ และยังสลายตัวได้ง่ายในทางเดินอาหารอีกด้วย

มีผู้พยายามนำกลูต้าไธโอนมาใช้ในรูปแบบยาฉีดมากันมากขึ้น เนื่องจากจะมีการดูดซึมดีกว่าจึงเห็นผลดีกว่ากลูต้าไธโอนชนิดรับประทาน แต่การฉีดกลูต้าไธโอนเข้าหลอดเลือดดำนั้นพบว่ามีความเสี่ยง

เนื่องจากเหตุผลการแพ้ยาดังที่ได้กล่าวมา ในประเทศที่อนุญาตให้มีการฉีดกลูต้าไธโอนเพื่อการรักษา ก็จำเป็นต้องทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการให้ยา

ด้วยเหตุผลด้านกฎหมายที่กล่าวมาทั้งหมด กลูต้าไธโอนที่มีอยู่ในประเทศไทยจึงมาจากการลักลอบผลิตและจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ผลิตภัณฑ์ยิ่งอันตราย เพราะไม่มีการกำกับดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐ และยังเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาอีกด้วย

นอกจากนี้ ผิวที่ขาวขึ้นจากกลูต้าไธโอนนั้นยังอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น หากต้องการให้ผลอยู่ในระยะยาวจำเป็นต้องฉีดซ้ำเป็นระยะๆ ทำให้ยาสะสมในร่างกายมากขึ้น และอาจมีความเป็นพิษต่อตับ รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมเภสัชกร HD


ที่มาของข้อมูล

  • กองการแพทย์ทางเลือก, http://www.thaicam.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=191:glutathione&catid=52:glutathione&Itemid=86, Access online: 13 มิถุนายน 2019.
  • สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ, https://www.thaihealth.or.th/Content/34497-%E2%80%9D%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%98%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%99%E2%80%9D%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html, 19 ธันวาคม 2559.
Scroll to Top