diclofenac

Diclofenac (ไดโคลฟีแนค)

Diclofenac (ไดโคลฟีแนค) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ช่วยลดอาการบวม หรือการอักเสบจากการบาดเจ็บและโรคเกี่ยวกับข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด 

Diclofenac จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบ 

ยา Diclofenac มีหลายรูปแบบ ทั้ง เม็ด เจล ครีม และยาฉีด ในไทยส่วนใหญ่จะเห็นเป็นยาแก้ปวด เม็ดกลม สีส้ม ส่วนใหญ่จะเป็น diclofenac 25 mg สำหรับผู้เริ่มต้น

ยา Diclofenac ใช้รักษาโรคอะไร 

บรรเทาอาการปวด ช่วยลดอาการบวม และอาการอักเสบจากการบาดเจ็บและโรคเกี่ยวกับข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

  • โรคข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์
  • อาการปวดกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บหรือการใช้งานมากเกินไป
  • ปวดประจำเดือน ลดอาการปวดประจำเดือนได้
  • อาการปวดอื่นๆ เช่น ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดศีรษะ (ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์)

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Diclofenac

ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบ 

รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Diclofenac 

ยา Diclofenac รูปแบบเม็ด 

ขนาดยาเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม diclofenac 25 mg แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจใช้ขนาด 50 มิลลิกรัม ตามคำแนะนำของแพทย์

ส่วนใหญ่จะรู้จักในรูปแบบยาแก้ปวดเม็ดกลมสีส้ม อาจมีรูปแบบอื่นตามยี่ห้อ

ผู้ใหญ่ ขนาดยา 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือทุก ๆ 8–12 ชั่วโมง หรือ ขนาดยา 25 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ไม่ควรรับประทานเกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน 

คำแนะนำและข้อควรระวัง 

  • ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารหรือนม เพราะยาอาจส่งผลรุ่นแรงต่อกระเพาะอาหารได้
  • ถ้าต้องการรับประทานยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อลดผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยาลดกรดบางตัวอาจทำปฏิกิริยากับ Diclofenac ได้ 

อย่างไรก็ตาม มีอีกทางเลือก คือ ขอให้แพทย์สั่งยา Arthrotec ให้ เพราะยานี้มีส่วนผสมของ Diclofenac กับ Misoprostol ที่มีฤทธิ์ป้องกันกระเพาะ แต่ราคาจะค่อนข้างสูง 

จึงอาจขอให้แพทย์จ่ายทั้งยา Diclofenac และยา Misoprostol มา หรือจ่ายยาเคลือบกระเพาะชนิดอื่น ๆ ควบคู่มาก็ได้ 

ยา Diclofenac รูปแบบฉีด

1. ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
มักใช้กับอาการปวดรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อรูมาตอยด์ และปวดศีรษะไมเกรน โดยฉีดยา 75 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อสะโพก 

หากปวดรุนแรงอาจให้ยามากขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งครั้งละ 75 มิลลิกรัม ห่างกันอย่างน้อย 2–3 ชั่วโมง และฉีดเข้าสะโพกคนละข้าง จะช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ไวขึ้น ภายใน 10–22 นาที

อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ระมัดระวังการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เนื่องจากพบอาการไม่พึงประสงค์จากยา 

เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหน้าแข้งและเท้า ขาอ่อนแรงจนพิการ และอาการแพ้ยาเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

2. ยาฉีดเข้าเส้นเลือด
มักไม่ค่อยใช้ เนื่องจากมีขั้นตอนในการเตรียมยาและวิธีฉีดยาที่ยุ่งยาก ถ้าความเป็นกรด–ด่างของสารละลายไม่เหมาะสม ยาจะตกตะกอน และทำให้ตะกอนไปอุดตันในหลอดเลือดจนเป็นอันตรายได้ 

ดังนั้น ก่อนฉีดยา Diclofenac ทางเส้นเลือด จะต้องทำให้ยาเจือจางก่อน (ห้าม IV push) ด้วย D5W หรือ NSS เพื่อป้องกันการเกิดผลึกหรือตะกอน

ข้อควรระวังในการใช้ยา Diclofenac  

  • ไม่ควรใช้ยา Diclofenac หากมีประวัติแพ้ยา NSAIDs  หรือแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin)
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงรุนแรงกว่าคนอายุน้อย เช่น อาการสับสน มึนงง สูญเสียการทรงตัว และปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้ม หรือเกิดภาวะอันตรายอื่น ๆ
  • ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ โดยเฉพาะการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (CABG: Coronary artery bypass graft) ไม่ควรรับประทานยานี้
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานาน หรือในปริมาณมาก สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหัวใจ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีอาการของโรคเส้นเลือดสมอง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก พูดไม่ชัด หรือเกิดอาการผิดปกติหลังใช้ยา ให้เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที
  • ยานี้อาจมีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งต่างก็เป็นอันตรายต่อชีวิตหากเริ่มรู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือถ่ายเป็นสีดำ ควรหยุดใช้ยา และปรึกษาแพทย์ทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Diclofenac หากมีภาวะใด ๆ ต่อไปนี้
      • เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมัน คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน
      • มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือเคยเกิดลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน
      • เคยมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
      • มีภาวะน้ำคั่งในร่างกาย หรืออาการบวมน้ำ 
      • เป็นโรคหอบหืด
      • เป็นโรคตับ หรือโรคไต 
      • สูบบุหรี่

การใช้ยา Diclofenac ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ยา Diclofenac มีความเสี่ยงต่อทารกแตกต่างกันตามช่วงของการตั้งครรภ์ จึงจัดอยู่ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ 

การใช้ยาในช่วง 29 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
ยาจัดอยู่ใน Category C หมายความว่า เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อทารก แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเมื่อใช้ระหว่างตั้งครรภ์

การใช้ยาในช่วงสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งครรภ์ และหลังจากนั้น
ยาจัดอยู่ใน Category D หมายความว่า ยาอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยยาจะทำให้หลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่เลี้ยงหัวใจปิด ดังนั้น จะใช้ยา Diclofenac ก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกในการรักษาอื่นที่ปลอดภัยกว่านี้แล้ว 

ดังนั้นก่อนใช้ยานี้ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ รวมถึงคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะให้นมบุตร เนื่องจากยานี้อาจออกมาทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ผลข้างเคียงจากยา Diclofenac

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย 

  • อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เช่น ปวดท้อง แสบท้อง ท้องอืด ปวดบีบ ท้องผูก หรือท้องเสีย  
  • มีอาการท้องไส้ปั่นป่วน และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงทางเดินอาหาร สังเกตได้จากอุจจาระสีดำ การถ่ายเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • ปวดศีรษะ หรือได้ยินเสียงในหู  
  • มีผื่นขึ้น

อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรง แต่หากมีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงรุนแรง

ถ้าเกิดอาการต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

  • เลือดกำเดาไหล
  • ตับเสียหาย หรือเกิดการอักเสบที่ตับ โดยจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องบวม นอนหลับ หรือง่วงซึมผิดปกติ มีอาการสับสน 
  • ความดันโลหิตต่ำ อาการที่สังเกตได้ชัดคือ จะรู้สึกเวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นยืน
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงต่ำ และการทำงานของไขกระดูกต่ำลง 
  • หัวใจวาย โดยระยะแรกจะมีอาการขาบวมทั้ง 2 ข้าง หายใจลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับการเดินในระยะทางที่เคยเดินได้ หรือรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ
  • มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย
  • มีปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรง เช่น กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens–Johnson) หรือเป็นโรคผิวหนังในกลุ่มผื่นแพ้ยา (Toxic epidermal necrolysis) 

สังเกตได้จากอาการแสบร้อนหรือบวมบริเวณหน้า คอ ริมฝีปาก ลิ้น และตา รวมถึงอาการเจ็บตามผิวหนัง ก่อนจะตามมาด้วยผื่นสีม่วงหรือสีแดงที่กระจายตัวตามผิวหนัง รวมทั้งมีอาการพุพองและผิวลอก 

หากพบอาการเหล่านี้ ให้โทรเรียกรถฉุกเฉินทันที เพราะเป็นอาการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 

ยาทุกชนิด แม้จะมีข้อดีและมีประโยชน์ในการรักษา แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ยาชนิดนั้นอาจนำมาซึ่งข้อเสียและผลข้างเคียงที่อันตรายได้ ดังนั้น เราจึงควรศึกษาคุณสมบัติของยา รวมถึงวิธีใช้งานก่อนให้ละเอียดถี่ถ้วน

หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีโรคเรื้อรัง เป็นผู้สูงอายุ อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา

ปฏิกิริยาของยา Diclofenac กับยาชนิดอื่น ๆ 

Diclofenac สามารถทำปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด จึงควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงยาที่กำลังรับประทานอยู่ก่อนเสมอ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อมารับประทานเอง วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร หรือยาเสพติดทุกชนิด

ไม่ควรรับประทานยา Diclofenac ร่วมกับยาต่อไปนี้

  • อะพิซาแบน (Apixaban)
  • ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น เออวิทิกราเวียร์ (Elvitegravir) โคบิซิสแตท (Cobicistat) เอ็มทริซิแทไบน์ (Emtricitabine) และทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)
  • คีโตโรแลค (Ketorolac)
  • เมโธเทรกเซท (Methotrexate)
  • เพมิเทรกเซด (Pemetrexed)
  • เพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone)

หากกำลังรับประทานยาต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ อาจได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาตัวอื่นแทน Diclofenac

  • ยาละลายลิ่มเลือด เช่น ฟอนดาพารินุก (Fondaparinux) ดาบิกาทราน (Dabigatran) วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเฮพาริน (Heparin)
  • ยาต้านเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) และเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram)
  • ยาขับปัสสาวะ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) คลอร์ธาลิโดน (Chlorthalidone) หรือคลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)
  • ยาในกลุ่มเบตาบล็อกเกอร์ (Beta blockers) เช่น อะซีบูโทลอล (Acebutolol) ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) อะทีโนลอล (Atenolol) เอสโมลอล (Esmolol) และยาคาร์วีไดลอล (Carvedilol)
  • ยาในกลุ่ม NSAIDs ตัวอื่น ๆ เช่น เซเลโคซิบ (Celecoxib) นาพรอกเซน (Naproxen) มีลอกซิแคม (Meloxicam) นาบูมีโทน (Nabumetone) หรืออีโตโดแลค (Etodolac)
  • ยารักษาโรคเบาหวานในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) เช่น ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ไกลเบนคลาไมด์ (Glyburide) และไกลพิไซด์ (Glipizide)

ปฏิกิริยาของยา Diclofenac กับแอลกอฮอล์

ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างรับประทานยานี้ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร และส่งผลต่อระบบการทำงานของไต

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกับผลิตภัณฑ์จากผลเกรปฟรุตด้วย

ถ้าลืมกินยา Diclofenac ต้องทำอย่างไร

ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)

กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

Scroll to Top