common kidney disease disease definition scaled

รู้จัก 3 โรคพบบ่อยที่เกิดกับไต วายร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ไตเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งขจัดของเสียในร่างกาย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ ผลิตฮอร์โมนหลายชนิด และช่วยควบคุมความดันโลหิต หากไตทำงานผิดปกติไปหรือทำงานได้น้อยลงจะส่งผลให้เกิดโรคกับไตขึ้นได้ 

โรคที่มักเกิดกับไต และพบบ่อย คือ โรคไตวาย โรคกรวยไตอักเสบ และโรคนิ่วในไต วันนี้ HDmall รวบรวมข้อมูลทั้ง 3 โรคมาฝาก มาเช็กอาการเบื้องต้นและรู้วิธีป้องกันโรคไปด้วยกัน เพื่อดูแลไตของเราจากวายร้ายใกล้ตัวที่ชื่อว่า “โรคไต”

1.โรคไตวาย (Kidney disease) 

โรคไตวายป็นภาวะที่ไตทำงานลดลงหรือหยุดทำงานจากสาเหตุต่าง ๆ ทำให้ของเหลวและของเสียคั่งค้างในร่างกาย ไตวายสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน (Acute kidney disease) และ ไตวายเรื้อรัง (Chonic kidney disease)

ไตวายเฉียบพลัน 

เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายใน 1-2 วัน โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น  การสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง การเสียเลือดในปริมาณมาก การได้รับยาหรือสารพิษ หรือการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ไต

ถ้าไตวายเฉียบพลันแล้วได้รับการรักษาที่เหมาะสมตรงตามสาเหตุ จะช่วยให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้ 

อาการของไตวายฉับพลันสังเกตได้จาก

  • ปัสสาวะน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน หรือไม่ปัสสาวะเลย
  • มีอาการบวมน้ำ แขนขาบวม เท้าบวม
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ง่วงหาวนอนตลอดเวลา
  • หายใจหอบ อาจมีอาการปวดบริเวณชายโครง
  • อาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • กรณีอาการรุนแรงอาจมีอาการชัก หมดสติ หรือมีภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ไตวายเรื้อรัง 

เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป บางรายอาจเป็นปี ทำให้ไตถูกทำลายถาวร ยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติเหมือนไตวายเฉียบพลัน

ไตวายเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะจนเกิดการอักเสบ และนิ่วในการเดินปัสสาวะ 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก แต่จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อไตถูกทำลายไปมากกว่า 50% แล้ว หรือรู้ได้จากการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น

และถ้าไตถูกทำลายจนถึง 90% จะเรียกว่า “ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการฟอกไต 

เมื่อไตสูญเสียงานทำงานไปมากแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการรุนแรง โดยอาการบ่งบอกโรคไตเรื้อรัง เช่น  

  • ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีน้ำปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีเลือดปน 
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • มีอาการบวมน้ำ สังเกตจากแขนขาบวม ตาบวม
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซึม นอนราบไม่ได้ ไม่ค่อยรู้สึกตัว 
  • คันตามตัว
  • ความดันโลหิตสูง ปวดหัวเรื้อรัง
  • นอนไม่หลับ เป็นตะคริวตอนกลางคืน
  • กรณีอาการรุนแรงอาจมีภาวะหัวใจวายและภาวะน้ำท่วมปอด 

ถ้าเช็กแล้วมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคไตวาย

ไตวายไม่ค่อยมีอาการผิดปกติในระยะแรก การดูแลสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไตได้ 

  • รับประทานอาหารให้ครบหลากหลาย ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย วันละ 8-10 แก้ว
  • ไม่ซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น เช่น ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด ยาชุด 
  • ตรวจคัดกรองโรคไต และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ควรดูแลสุขภาพและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรค

รู้จักโรคอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกัน มาตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นด้วย แพ็กเกจตรวจสุขภาพพื้นฐาน และตรวจคัดกรองโรคไต HDmall.co.th รวมโปรแกรมสุขภาพ ดูแลครบทุกด้านตามความเสี่ยงคุณ พร้อมรับส่วนลดพิเศษทันทีที่จอง

2. กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)

กรวยไตเป็นส่วนที่อยู่เหนือสุดของท่อไต ยื่นเข้าไปในเนื้อไต มีรูปร่างเป็นรูปกรวย ทำหน้าที่ช่วยรองรับน้ำปัสสาวะที่กรองจากเซลล์ไตลงไปที่ท่อไต เมื่อกรวยไตเกิดการอักเสบอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้

กรวยไตอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ  โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบบ่อยคือ เชื้ออีโคไล (E.Coli) การอักเสบมักจะเริ่มจากในกระเพาะปัสสาวะก่อนแล้วแพร่ไปที่ไต 

กรวยไตอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้แบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

อาการบ่งบอกถึงกรวยไตอักเสบ สังเกตได้จากอาการเหล่านี้

  • รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา มีอาการเจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขุ่น มีหนองหรือเลือดปนในปัสสาวะ มีกลิ่นคาว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง เจ็บบริเวณสีข้าง หรือปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีไข้ รู้สึกหนาวสั่น ปวดศีรษะ

ใครมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้รักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาภายหลัง โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ไตอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคกรวยไตอักเสบ

โรคกรวยไตอักเสบสามารถเลี่ยงได้โดยการดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ง่าย

  • ดื่มน้ำเยอะ ๆ ประมาณ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อขับของเสียออกมาทางปัสสาวะ
  • ปัสสาวทันทีที่ปวด ไม่ควรอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
  • หลังมีเพศสัมพันธ์ให้ปัสสาวะออกทันที และทำความสะอาดอวัยวะเพศ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียที่ค้างภายในอวัยวะเพศ
  • ผู้หญิงควรเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศและทวารหนักจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้ง่าย

3. โรคนิ่วในไต (Kidney stones) 

นิ่วในไตเกิดจากน้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก ทำให้หินปูนหรือเกลือแร่ต่าง ๆ ในน้ำปัสสาวะเกิดตกตะกอนเป็นก้อนแข็งหรือก้อนนิ่วในไตขึ้นมา และยังมีโอกาสหลุดลงมาในท่อไตจนถึงบริเวณกระเพาะปัสสาวะได้ 

หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มากหรืออยู่ในทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ และนำไปสู่ไตวายเรื้อรังได้

โดยปกติแล้ว คนที่เป็นนิ่วในไตจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าก้อนนิ่วไปอุดหรือปิดท่อปัสสาวะก็จะเกิดอาการของผิดปกติตามมา เช่น 

  • ปวดรุนแรงบริเวณข้างลำตัวและหลัง อาจปวดช่องท้องด้านล่างลงไปจนถึงขาหนีบ อาการจะไม่หายไปหากไม่ได้รับการรักษา
  • ปัสสาวะบ่อย รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด น้ำปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีเลือดปน หรือปัสสาวะมีเศษคล้ายก้อนกรวดเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากก้อนนิ่วที่แตก
  • คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคนิ่วในไต

โรคนิ่วในไตสามารถเกิดซ้ำได้ การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันการเกิดโรคนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยให้ปัสสาวะเจือจาง และลดการตกตะกอนจนกลายเป็นก้อนนิ่ว
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง อาหารหวานจัดและเค็มจัด
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารออกซาเลตสูงเป็นประจำ เช่น งา ผักโขม ปวยเล้ง ชา และถั่วต่าง ๆ เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย 
  • เลี่ยงการรับประทานไขมันสัตว์ และอาหารที่มีกรดยูริกสูงเป็นประจำ เช่น สัตว์เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต ถั่วเหลือง สัตว์ตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูกและเปลือก และผักใบเขียว
  • ตรวจคัดกรองโรคไต และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นอกจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคแล้ว การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรค หากเกิดความผิดปกติจะสามารถรักษาได้ทันท่วงที

ดูแลตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพร่างกาย สุขภาพไตไปพร้อม ๆ กันด้วย HDmall.co.th คัดมาให้แล้ว โปรตรวจสุขภาพไตปรตรวจสุขภาพขายดี เลือกเปรียบเทียบราคาจาก รพ. และคลินิก ที่คุณสนใจได้ก่อน พร้อมรับส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม 

มีคำถาม ข้อสงสัย อยากได้คำแนะนำ สอบถามรายละเอียดจากแอดมินก่อนได้ ที่นี่

Scroll to Top