bloating treatment causes

ท้องอืดกินอะไรหาย วิธีรักษาโรคท้องอืด

ท้องอืดเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเป็นเพราะระบบย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น การรับรู้ถึงสาเหตุ วิธีบรรเทา และวิธีป้องกันท้องอืดนั้นจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณรับมือกับอาการดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

ความหมายของอาการท้องอืด

อาการท้องอืด (Bloated stomach) คือ ภาวะที่ระบบย่อยอาหารมีลมหรือแก๊สเยอะเกินไปจนทำให้รู้สึกแน่นท้อง โดยอาการจะแสดงออกบริเวณกลางท้องส่วนบน ซึ่งอยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ

ทั้งนี้ หากคุณมีอาการท้องอืดต่อเนื่องนานๆ โดยไม่มีสาเหตุ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการ

สาเหตุของโรคท้องอืด

สาเหตุของโรคท้องอืดที่พบบ่อย มี 3 สาเหตุ ดังนี้

1. แก๊สและอากาศ

หลายๆ พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ สูบบุหรี่ หัวเราะ หรือพูดคุย จะมีการกลืนอากาศเข้าไปด้วย ซึ่งร่างกายจะขับออกด้วยการเรอ หรือการผายลม

แต่หากคุณกลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ ก็จะทำให้ลมเข้าท้องจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดและมีอาการสะอึกร่วมด้วย

2. สาเหตุทางการแพทย์

  • โรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร พยาธิในทางเดินอาหาร และลำไส้อุดตัน
  • ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
  • ผู้ป่วยมีลำไส้ที่ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าลม หรือแก๊สในลำไส้จะมีไม่มาก
  • ยา เช่น ยาแก้ปวดหรือลดอักเสบ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะบางอย่าง

3. ปัจจัยอื่นๆ

  • แบคทีเรียในกระเพาะอาหารเจริญเติบโตมากเกินไป
  • ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในภาวะก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิง
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เช่น เหล้า เบียร์
  • การสูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารที่ย่อยยาก มีเส้นใยมาก หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนม
  • การรับประทานอาหารรสจัด
  • ภูมิแพ้อาหาร

อาการของโรคท้องอืด

ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง จุกเสียด รู้สึกตึงๆ ท้อง ท้องอืดคล้ายมีลม หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เมื่อเรอออกมาจะส่งกลิ่นเหม็นเปรี้ยว และบางช่วงจะมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ บางราย เมื่อรับประทานอาหารแล้วอาจรู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

วิธีรักษาโรคท้องอืดด้วยตัวเอง

  • เคลื่อนไหวร่างกายเมื่อมีอาการจุกเสียด เมื่อคุณรู้สึกจุกเสียดในท้อง แนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยอาจเลือกวิธีเดินช้าๆ เพื่อกระตุ้นให้กระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานและขับลมออกมา
  • ดื่มน้ำอุ่น กรณีที่ผู้ป่วยท้องอืดเพราะมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยเจือจางกรดและบรรเทาอาการท้องอืดได้ นอกจากนี้ น้ำอุ่นยังช่วยคลายอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อช่วงท้อง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้น
  • ดื่มน้ำสมุนไพร โดยน้ำสมุนไพรที่สามารถบรรเทาอาการได้ ได้แก่ น้ำขิง เพราะขิงมีฤทธิ์ร้อน เมื่อดื่มแล้วจะช่วยขับลม และช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้อาการท้องอืดบรรเทาลงได้ หรือเลือกดื่มน้ำตะไคร้ ชาคาโมมายล์ (Chamomile tea) ชาเปปเปอร์มินต์ (Peppermint Tea) ก็ได้

10 วิธีแก้ไข รักษาอาการท้องอืด

1. เพิ่มอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง

โพแทสเซียมพบมากใน กล้วย มะม่วง แคนตาลูป มะเขือเทศ และผักโขม ซึ่งโพสแทสเซียมนี้เป็นสารอาหารที่มาพร้อมกับกรดอะมิโนที่ช่วยในการย่อยสลายและใช้เป็นยาถ่ายได้เป็นอย่างดี พยายามรับประทานอาหารจำพวกนี้เป็นประจำแล้วอาการท้องอืดจะทุเลาลงไปอย่างเห็นได้ชัด

2. เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมสูง

บางครั้งอาการท้องอืดที่ผู้หญิงประสบอยู่ก็เกิดจากการมีประจำเดือนนั่นเอง งานวิจัยจากต่างประเทศได้เผยว่าสารอาหารกลุ่มแคลเซียมและแมกนีเซียมสามารถบรรเทาอาการท้องอืดจากการมีรอบเดือนได้ และสารอาหารกลุ่มนี้พบได้มากในนมและไข่นั่นเอง

3. เพิ่มอาหารที่มีโพรไบโอติก

โพรไบโอติกคือสารอาหารชนิดหนึ่งที่พบได้มากในโยเกิร์ต มีประโยชน์ในการไล่ลมและการขับถ่ายเป็นอย่างมาก หากอาการท้องอืดที่คุณกำลังเผชิญนั้นเกิดจากการที่อาหารไม่ย่อยหรือไม่ได้ขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ มองหาโยเกิร์ตสักถ้วยด่วน!

4. เพิ่มนวดเบาๆ

นอกจากการกินแล้ว เรายังสามารถกำราบอาการท้องอืดได้จากการนวดเพื่อไล่ลม การนวดนั้นทำได้โดยการกดนิ้วมือลงไปที่บริเวณเหนือสะโพกเล็กน้อย จากนั้นค่อยๆลูบขึ้นไปจนถึงบริเวณซี่โครง แล้วลูบวนลงมาที่บริเวณท้องน้อย ก่อนที่จะกลับไปเริ่มต้นที่จุดเดิมอีกรอบ การนวดเบาๆเช่นนี้สามารถลดอาการท้องอืดลงได้เมื่อทำเป็นประจำ

5. เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ

อาการท้องอืดที่เกิดจากการที่มีอาหารตกค้างอยู่ภายในกระเพราะนั้นสามารถแก้ได้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการเดินอย่างน้อย 15 – 20 นาที เพราะการที่นั่งติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้อาหารเดินทางผ่านลำไส้ได้อย่างยากลำบากและนำมาซึ่งอาการท้องอืดนั่นเอง

6. ลดอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊ส

อาการท้องอืดอาจเกิดจากการที่มีแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่ก่อให้เกิดแก๊สเพิ่มมากขึ้นไปอีก ก็คือ เนื้อสัตว์กลุ่มเนื้อแดง (หมู เนื้อ และไก่) รวมไปถึงผักบางชนิด เช่น ถั่ว หัวหอม บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำปลี และถั่วงอก

7. ลดเครื่องอัดลมและแอลกอฮอล์

นอกจากกลุ่มอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สแล้ว เครื่องดื่มอัดลมและแอลกอฮอล์ทั้งหลายก็ทำให้เกิดแก๊สส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อีกเช่นกัน การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ในขณะที่ท้องอืดจะทำให้รู้สึกแน่นตึงในช่วงท้องจนรู้สึกได้ว่าท้องยื่นออกมาผิดปกติ ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยง

8. ลดอาหารจำพวกแป้งแปรรูป

อาหารจำพวกแป้งแปรรูป เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า และเส้นขนมจีน มีการดูดซึมและกักตุนน้ำไว้ในตัวได้เป็นอย่างดี เมื่ออาหารจำพวกนี้อมน้ำจนเกิดการขยายตัว กระเพาะอาหารชองเราก็จะรู้สึกแน่นมากกว่าเดิม

9. ลดสารเพิ่มความหวานสังเคราะห์

บางคนมักประสบกับปัญหาในการย่อยสลายสารเพิ่มความหวานสังเคราะห์หรือน้ำตาลเทียม เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะรู้สึกได้ว่ามีแก๊สเกิดขึ้นอยู่ภายในร่างกายและบางครั้งอาจมีอาการท้องเสียรวมอยู่ด้วย หากคุณรู้ตัวว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่ร่างกายไม่ยอมให้พวกน้ำตาลเทียมผ่านเข้ามาได้ง่ายๆ คำแนะนำคือควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่เขียนไว้บนฉลากว่า sugar-free หรือ ปราศจากน้ำตาล เช่น พวกหมากฝรั่ง ลูกอมดับกลิ่นปาก หรือเครื่องดื่มต่างๆ ความหวานที่ได้จากธรรมชาติอย่างน้ำผึ้งและน้ำตาลนั้นเป็นมิตรต่อสุขภาพมากกว่าแน่นอน

10. ลดเคี้ยวหมากฝรั่ง

การเคี้ยวหมากฝรั่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องอืดได้ เพราะเมื่อเราเคี้ยวหมากฝรั่ง เรากลืนลมเข้าไปในท้องเป็นจำนวนมาก หากคุณลองหยุดเคี้ยวหมากฝรั่งก็จะสังเกตได้เลยว่าอาการท้องอืดนั้นลดน้อยลงได้จริงๆ

12 วิธีป้องกันอาการท้องอืด

1. หลีกเลี่ยงการนอนหลังรับประทานอาหาร

หากไม่อยากให้เกิดอาการแน่นท้อง คุณควรหลีกเหลี่ยงพฤติกรรมการนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จทันที เพราะจะทำให้กรดไหลย้อนขึ้นได้ง่าย เป็นผลทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง และท้องอืดได้

2. รับประทานทานอาหารมื้อเย็นให้เร็วขึ้น

หลายคนอาจคิดว่ามื้อเย็นจะรับประทานดึกแค่ไหนก็ได้ ซึ่งความจริงแล้ว ช่วงเวลาที่ดีในการรับประทานอาหารมื้อเย็น ควรอยู่ในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อลดการเกิดอาการกรดไหลย้อน แต่หากคุณยังเกิดอาการท้องอืดอยู่ ลองขยับเวลาอาหารมื้อสุดท้ายให้เร็วขึ้นอีกราว 1-2 ชั่วโมง

3. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งปริมาณมาก

หมากฝรั่งมักมีส่วนผสมของน้ำตาลเทียม เช่น ไซลิทอล (Xylitol) และซอร์บิทอล (Sorbitol) ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้จะดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ และทำให้เกิดแก็สได้โดยแบคทีเรีย จึงทำให้มีอาการท้องอืดขึ้น

4. หมั่นเดินเล่นหลังจากรับประทานอาหาร

การเดินเล่นประมาณ 5-10 นาทีหลังจากรับประทานอาหารแต่ละมื้อ จะช่วยป้องกันการเกิดอาการท้องอืดได้ เพราะวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5. รักษามาตรฐานของน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน มกมีความดันในช่องท้องมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งความดันในช่องท้องนี้จะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน แน่นท้อง จุกเสียดได้

6. หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่คับ

การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้ง่าย โดยเฉพาะการสวมใส่กางเกง หรือกระโปรงที่รัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป จะเป็นการเพิ่มความดันภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน

7. งดเครื่องดื่มบางชนิดและบุหรี่

การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน แอลกอฮอล์ โซดา น้ำอัดลม จะทำให้เกิดกรดในกระเพาะมากขึ้น และจะทำให้รู้สึกระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ อีกยังทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหารมากขึ้นด้วย

8. ควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารให้เหมาะสม

การรับประทานอาหารปริมาณมาก จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ดังนั้น คุณควรควบควบคุมปริมาณการรับประทานให้เหมาะสม และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกครั้งเพื่อป้องกันอาการท้องอืดได้

9. หลีกเลี่ยงการรับประทานผักดิบ

เราต่างรู้กันดีว่าพืชผักใบเขียวมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ผักบางชนิด เช่น กะหล่ำปลี บรอกโคลี กะหล่ำดอก ก็สามารถทำให้ท้องอืดได้เช่นกัน

ผักตระกูลนี้มี “สารแรฟฟิโนส” (Raffinose) ซึ่งเป็นสารน้ำตาลที่ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ จึงทำให้สารดังกล่าวเมื่อถูกลำเลียงต่อไปยังลำไส้ใหญ่ และถูกย่อยโดยแบคทีเรียภายในลำไส้แล้ว ระหว่างนั้นกากอาหารจากผักตระกูลนี้ก็จะเกิดการหมักหมมเป็นแก๊ส และทำให้มีอาการท้องอืดตามมา

10. หลีกเลี่ยงการรับประทานนม

โดยปกติคนแถบเอเชียมักไม่มีน้ำย่อยที่สามารถย่อยนมได้ หรือถ้ามีก็มีในปริมาณน้อย บ่อยครั้งที่ท้องเสียหรืออาหารไม่ย่อย หากคุณสังเกตว่าตนเองมีอาการท้องอืดเป็นประจำหลังจากรับประทานอาหารประเภทนี้ คุณควรงด หรือบริโภคนมทีละน้อย เพื่อให้ทางเดินอาหารค่อยๆ ปรับตัว

11. หลีกเลี่ยงความเครียด

ความเครียดมักจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดมากกว่าปกติ และทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เช่น ดูดซึมอาหารได้น้อยลง ปริมาณเลือดและออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงกระเพาะต่ำลง จึงทำให้เกิดอาการท้องอืด

12. ระมัดระวังการเลือกซื้อยาแก้ท้องอืด

โดยปกติยาแก้อาการท้องอืดสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่ยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียง เช่น ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วกว่าปกติ จุกเสียดบริเวณเหนือลิ้นปี่ ซึ่งหากคุณเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์ให้เร็วที่สุด

ยาที่ใช้รักษาอาการท้องอืด

ยาที่ใช้ในการรักษาอาการท้องอืดมีหลายชนิด เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว และยาลดกรดในกระเพาะ โดยยาแต่ละตัวจะออกฤทธิ์แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

  • ยาขับลม ทำหน้าที่ขับลมในกระเพาะและลำไส้ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย (Peppermint oil)และ ไซเมทิโคน (Simethicone)
  • ยาช่วยย่อย เป็นยาที่มีส่วนประกอบของเอนไซม์ช่วยย่อย ได้แก่ อะไมเลส (Amylase)
  • ยาลดกรด เป็นยาที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหาร ให้มีความเป็นกลางมากขึ้น ได้แก่ อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminum Hydroxide) โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) และ แมกนีเซียม ไฮดอกไซต์ (Magnesium Hydroxide)
  • ยาลดอาการปวดเกร็งในท้อง ได้แก่ ไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ (Hyoscine-N-Butylbromide)

เนื่องจากยาที่ใช้รักษาอาการท้องอืดมีหลายชนิด การเลือกใช้จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหากคุณรับประทานยาที่ซื้อมาในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดกว่าแทน

อาการท้องอืดมักเกิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมเป็นหลัก หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ ไม่รับประทานอาหารรสจัด เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ หลีกเลี่ยงความเครียด และพักผ่อนเพียงพอ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

หากมีอาการท้องอืดเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง โดยอาจเกิดจากลำไส้ไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือภูมิแพ้อาหารแฝงก็ได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top