Default fallback image

4 โรคภูมิแพ้พบบ่อยในคนไทย รู้ทัน ดูแลได้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองมากกว่าปกติต่อสารที่ร่างกายคิดว่าแปลกปลอม เช่น ฝุ่น แมลง เกสรดอกไม้ หรือแม้แต่อาหาร ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง เช่น ไอ จาม คัดจมูก เกิดผื่น ไปจนถึงระดับรุนแรงที่อันตรายต่อชีวิตได้

โดยครั้งแรกที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ จะยังไม่เกิดอาการแพ้ แต่ร่างกายจะกระตุ้นให้เซลล์ ระบบภูมิคุ้มกันผลิตแอนติบอดี IgE เฉพาะเจาะจงต่อสารตัวนั้น เมื่อได้รับซ้ำ จะปล่อยสารฮีสตามีนและภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ออกมา ทำให้เกิดอาการแพ้ตามระบบต่าง ๆ เพราะมองว่าสารนั้นเป็นอันตราย และพยายามกำจัดออก

4 โรคภูมิแพ้พบบ่อยในคนไทย

โรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้ต่อสารต่าง ๆ แบ่งออกได้หลายชนิด เช่น แพ้ฝุ่น แพ้ไรฝุ่น แพ้ขนสัตว์เลี้ยง แพ้แมลงสาบ แพ้แอลกอฮอล์ แพ้สารเคมี แพ้อาหารทะเล หรือแพ้ยารักษาโรค ซึ่งแต่ละคนก็มีสารก่อภูมิแพ้ไม่เหมือนกัน

ภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดจะเป็นกลุ่มของโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หรือการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ผ่านทางอากาศ รองลงมาจะเป็นกลุ่มของผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

1. ภูมิแพ้ฝุ่นและไรฝุ่น

ฝุ่นเป็นอนุภาคขนาดเล็กของสิ่งต่าง ๆ อย่างดิน เส้นใยผ้า สารเคมี และเศษของมลภาวะ ส่วนไรฝุ่นเป็นแมลงขนาดเล็กที่อยู่ภายในฝุ่น แมลงเหล่านี้จะปล่อยของเสียออกมากระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ขึ้น 

แต่ละวันเราจะได้สัมผัสกับฝุ่นตลอดเวลา จึงสัมผัสกับไรฝุ่นไปด้วย เลยเป็นภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย แต่อาการมักไม่รุนแรง มักทำให้เกิดอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจและบริเวณดวงตา เช่น จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก ตาแดง คันตา แสบตา และน้ำตาไหล

เบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการแพ้ได้ด้วยการใช้ยาแก้แพ้ แต่ทางที่ดี ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ดูดฝุ่นอยู่เสมอ ซักเครื่องนอนทุกสัปดาห์ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เมื่อต้องสัมผัสกับฝุ่น ควรสวมหน้ากากอนามัย

2. ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง หรือภูมิแพ้ขนสัตว์

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยงเกิดได้กับทุกคน แต่คนที่มีสัตว์เลี้ยงหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ ไม่ว่าจะสุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ หรือนก มักมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 

จริง ๆ แล้ว ร่างกายเราไม่ได้แพ้สัตว์ชนิดนั้นโดยตรง แต่แพ้โปรตีนจากสัตว์ที่อยู่ในขนสัตว์ รังแค น้ำลาย และของเสียทุกชนิดจากสัตว์ ซึ่งอาจไปติดตามโซฟา เตียงนอน และพื้นที่ต่าง ๆ ที่สัตว์ตัวนั้นอยู่ ทำให้เกิดอาการแพ้แตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น

  • จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก
  • ตาแดง คันตา แสบตา น้ำตาไหล
  • ผื่นแดง อาการคันตามร่างกาย

หากเริ่มมีอาการแพ้หลังจากเลี้ยงสัตว์แล้ว ควรหมั่นอาบน้ำสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ ทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ กำหนดพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง เลี่ยงการนอนร่วมกับสัตว์เลี้ยง ทำความสะอาดบ้านและของใช้สัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ 

ใครที่ยังไม่แน่ใจว่ามีอาการแพ้หรือไม่ หรือมองหาสัตว์มาเลี้ยง สามารถเข้ารับการตรวจหาอาการภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยงก่อนเริ่มเลี้ยงสัตว์ได้ 

3. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นภูมิแพ้จากการสัมผัสเป็นอาการผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากผิวหนังได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น อาการหลัก คือ ผื่นแดงคัน บวมตามผิวหนัง ผิวแห้ง ไปจนถึงแผลพุพอง และอาจเกิดการติดเชื้อตามมา

แต่ละคนมีสารก่อภูมิแพ้ต่อผิวหนังแตกต่างกันไป โดยมีตั้งแต่สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ยาง น้ำหอม สารบำรุงผิวบางอย่าง โลหะบางชนิดที่คนมักใส่เครื่องประดับ รวมถึงการสัมผัสกับพืชบางชนิดด้วย

เบื้องต้นสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาแก้แพ้ชนิดทา หรือการใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน ทางที่ดีควรเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่ตนเองแพ้ และดูแลผิวอย่างเหมาะสม

4. อาการแพ้กุ้ง

กุ้งเป็นอาหารลำดับต้น ๆ ที่มีคนแพ้ และจัดเป็นอาการแพ้อาหารทะเลประเภทหนึ่ง โดยเป็นผลมาจากการแพ้โปรตีนในกุ้ง และสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง อย่างปู กั้ง สัตว์ตระกูลหอย และหมึก 

อาการแพ้อาหาร รวมถึงอาการแพ้กุ้งด้วยนั้นมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ปากบวม ตาบวม หน้าบวม คันคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล คันตา ตาแดง 

รวมถึงภาวะแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หลายระบบพร้อมกัน เช่น บวมทั่วร่างกาย หายใจลำบาก หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว หน้ามืด ช็อก และหมดสติ จำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันการเกิดอาการแพ้กุ้งได้ดีที่สุด คือ การเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีกุ้ง หรือกุ้งเป็นส่วนผสม หากเผลอรับประทานเข้าไปแล้วมีอาการแพ้ไม่รุนแรง สามารถใช้ยาแก้แพ้บรรเทาอาการได้ แต่ควรเฝ้าระวังอาการอยู่เสมอ 

การตรวจหาภูมิแพ้ บอกได้มีแนวโน้มแพ้อะไร

การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้หรือการตรวจภูมิแพ้สามารถบอกแนวโน้มของอาการแพ้ต่อสารชนิดต่าง ๆ ได้ เพราะแต่ละคนมีสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกัน หากไม่ทราบว่าตนเองแพ้อะไร หรือกังวลจะเกิดอาการแพ้รุนแรง สามารถเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงและบรรเทาอาการได้ทัน

ปัจจุบันการตรวจภูมิแพ้มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test): เป็นการใช้เข็มที่มีน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้สะกิดบริเวณผิวหนัง แล้วรอสังเกตอาการแพ้ ซึ่งดูได้จากอาการผื่นบวมแดงบริเวณดังกล่าว
  • การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Allergy blood test): เป็นการเจาะตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดีต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยระบุชนิดสารก่อภูมิแพ้ได้
  • การทดสอบการแพ้อาหารโดยการรับประทาน (Oral food challenge): ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้จากปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ เพิ่มจนถึงปริมาณที่เหมาะสม โดยจะมีแพทย์ดูแลและสังเกตอาการตลอดเวลา เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายได้

รู้ทันโรคภูมิแพ้ รู้ก่อน ดูแลได้ ปลอดภัยกว่า  HDmall.co.th มัดรวมไว้ให้พร้อม แพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ ในราคาสบายกระเป๋า ดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์

Scroll to Top