โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ (Eczema) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยและพบได้ทุกเพศทุกวัย เกิดจากปฏิกิริยาการอักเสบที่ผิวหนังชั้นนอกของส่วนต่างๆ ในร่างกาย เช่น ใบหน้า แขน ขา เนื่องมาจากมีสิ่งแพ้มากระตุ้น
อาการอักเสบจะทำให้เกิดรอยแดง ผื่นบวมแดง มีอาการคัน บางชนิดอาจทำให้มีตุ่มน้ำ มีน้ำเหลือง หรือน้ำเซรั่มใสๆ ซึมบนปากแผลหากเป็นนานๆ ผิวหนังอาจจะหนา หรือคล้ำได้
แต่ละคนสามารถเกิดปฏิกิริยาการอักเสบและมีความรุนแรงมาก-น้อยแตกต่างกัน
สารบัญ
ชนิดของโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้
จำแนกตามสาเหตุการเกิดได้ 2 ชนิดหลักๆ
- โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ภายใน (endogenous dermatitis) คือ เกิดผื่นคันขึ้นมาเอง โดยไม่ได้แพ้สารจากภายนอก
- โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ภายนอก (exogenous dermatitis) คือ ผู้ป่วยจะแพ้สารต่าง ๆ ที่มาสัมผัสกับผิวหนัง
1. โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ภายใน (endogenous dermatitis)
สาเหตุ: ปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ดังที่พบว่า ครอบครัวผู้ป่วยมักมีประวัติโรคแพ้ละอองฟาง หอบหืด
ตัวอย่างโรคกลุ่มนี้ เช่น โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic dermatitis) ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “น้ำเหลืองเสีย” แต่ความจริงแล้วโรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำเหลือง
โรคนี้มักมีอาการมากขึ้นในฤดูหนาว หรือเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะรู้สึกคัน เมื่อมีการเกาอยู่บ่อยครั้ง อาจเห็นเป็นรอยเกา หรือรอยแผล
หากไม่รักษาความสะอาดมีเชื้อโรคไปที่บริเวณนั้นจะเกิดการติดเชื้อ มีหนอง หรือ น้ำเหลืองไหลซึม เจ็บแผลบริเวณนั้น เป็นที่มาของคำว่า “น้ำเหลืองไม่ดี” หรือ “น้ำเหลืองเสีย” นั่นเอง
อาการ: ผู้ป่วยจะมีผื่นตามข้อพับ หรือผื่นคันตามลำตัว มีน้ำเหลืองซึม มักพบการอักเสบตั้งแต่เด็ก และจะมีอาการลดน้อยลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่
ส่วนอาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยคือ ดวงด่างขา ๆ ที่ใบหน้า ที่เรียก “ขี้กลากน้ำนม” มือเท้าแตก คัน ผิวหนังแห้ง
ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคแพ้ละอองฟาง แพ้เกสรดอกไม้ แพ้อาหาร หรือ หอบหืด ทั้งในส่วนของตนเองและญาติพี่น้องด้วย
โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ภายในโรคอื่นได้แก่
- โรคผื่นแพ้ผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก (Seborrheic dermatitis)
- โรคผื่นแพ้ชนิดเป็นวง (Nummular Ecaema)
- โรคผื่นแพ้จากอาการคัน และการเกาเรื้อรัง (Lichen simplex chronicus) ที่ต้นคอ หรือข้อเท้า ผื่นจากเส้นเลือดขอดที่ขา
2. โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ภายนอก (exogenous dermatitis)
สาเหตุ: เป็นปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น แสงแดด ความร้อน แพ้สารที่มาสัมผัสผิวหนัง เนื่องจากสารนั้นมีฤทธิ์ระคายต่อผิวหนัง เช่น กรด ด่าง ผงซักฟอก หรือแพ้สารนั้นจริง ๆ เช่น ยาย้อมผม แชมพู สบู่ น้ำหอม น้ำยาปรับผ้านุ่ม โลหะต่าง ๆ เช่น สายนาฬิกา แหวน ตุ้มหู
อาการ: ผู้ป่วยมักมีอาการผื่นแดง คัน มีน้ำเหลือง หรือผิวหนังหนาตัวขึ้นมา มีขุย หรือตุ่มขึ้นในบริเวณที่สัมผัสโดนสารนั้น เช่น แพ้ตุ้มหู จะเป็นที่ติ่งหู แพ้รองเท้า จะเป็นที่เท้า แพ้สายนาฬิกา เป็นที่ข้อมือ แพ้สร้อยคอ เป็นที่ลำคอ
แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องเพราะเหตุว่าอาการใกล้เคียงกับโรคเชื้อรา (กลาก) ที่ผิวหนังได้
ระยะของโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้
สามารถจำแนกเป็น 3 ระยะได้แก่
- ระยะอักเสบเฉียบพลัน (acute stage) มีลักษณะ ผื่นแดง บวม มีตุ่มแดง ตุ่มน้ําและมีน้ําเหลืองไหล
- ระยะปานกลาง (subacute stage) ผื่นแดงน้อยกว่า ระยะเฉียบพลัน มีตุ่มแดง อาจมีตุ่มน้ําเล็กน้อย มีสะเก็ดและขุยอาจมีรอย แตกเปนร่อง
- ระยะเรื้อรัง (chronic stage) ผื่นมีลักษณะหนานูน มี lichenification สีแดงคล้ําหรือค่อนดํา มีขุยลอกและรอยเกา
การรักษา
- แพทย์จะเน้นรักษาตามอาการและป้องกันสภาวะแทรกซ้อน
- แพทย์อาจจ่ายยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน หรือยาทาสเตียรอยด์ หรือขี้ผึ้งลดการอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการคันและลดอาการอักเสบ ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง
- ในเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำให้สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้เสียก่อน เพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ หรือสำหรับบางคนที่ไม่สามารถหาสาเหตุที่ตนแพ้ได้ อาจทำการทดสอบผิวหนัง skin Prick Test ว่า แพ้สารชนิดใดบ้าง โดยการนำส่วนประกอบของสารที่คนแพ้บ่อยมาสะกิดลงไปที่ผิวหนัง และสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดข้นกับผิว หากทราบว่า แพ้สารใด หรือสิ่งใดเพื่อหาแนวทางรักษา แต่การทดสอบนั้นไม่สามารถนำสารทุกอย่างมาทดสอบกับตัวเองได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
การดูแลตนเอง
- หมั่นสังเกตว่า สัมผัสสารใดแล้วมีปฏิกิริยาอักเสบเกิดขึ้น จะต้องหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสกับสารนั้น
- หลีกเลี่ยงการฟอกมือ หรือล้างมือบ่อยๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
หากมีผดผื่น บวมแดง อาการคัน ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองอย่างน่าสงสัย ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคไต และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
คำถามที่เกี่ยวข้อง
- อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ แก้ไขอย่างไร ?
- มีจุดแดงขึ้นตามตัว คล้ายยุงกัด แต่ไม่คัน เพราะเหตุใด ?
- ลมพิษตอนกลางคืน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร ?
- เป็นตุ่มใสๆ ที่มือ ต้องรักษาอย่างไร ?
- ผื่นคัน แพ้เหงื่อตัวเอง รักษาอย่างไร ?
- ห้อเลือด ใต้ผิวหนัง ใต้เล็บมือ รักษาอย่างไร ?
- ตะขาบกัด แมงป่องต่อย ใช้อะไรทา ?
- โรคสะเก็ดเงิน อาการเริ่มแรก เป็นอย่างไร ?
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง