โรคภูมิแพ้ (Allergy) หมายถึง โรคที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) จนทำให้ระบบการทำงานภายในเกิดความผิดปกติขึ้น
สารก่อภูมิแพ้ หมายถึง สารที่ร่างกายของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีปฏิกิริยาและเกิดอาการแพ้ขึ้น โดยคุณสามารถพบสารก่อภูมิแพ้ได้ทุกที่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป สารเคมี ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ แมลง ละอองเกสรดอกไม้ หรือพืชบางชนิด
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แต่ละรายจะมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกันไป แต่โรคภูมิแพ้จะเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย แต่วัยที่จะสังเกตเห็นอาการได้ชัดที่สุด จะเป็นเด็กช่วงอายุ 5-15 ปี
สารบัญ
- สาเหตุของโรคภูมิแพ้
- กลไกการเกิดโรคภูมิแพ้
- อาการของโรคภูมิแพ้
- 1. โรคภูมิแพ้ตา
- 2. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ
- 3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- 4. โรคภูมิแพ้อากาศ
- 5. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร
- ทำความรู้จักอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง
- การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
- การรักษาโรคภูมิแพ้
- 1. การรักษาโรคภูมิแพ้โดยรับประทานยาแก้แพ้
- 2. การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน
- 3. การรักษาโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
- สาเหตุจากเดิม เกิดจากเงื่อนไขสุขภาพและร่างกายของผู้ป่วยและยังรวมไปถึงกรรมพันธุ์ของผู้ป่วยด้วย เพราะโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม หากคุณมีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน ความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยก็จะมีสูงกว่าคนปกติ
- สาเหตุโดยตรง มาจากสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ขนาดไหน เช่น ความเครียด อยู่ในชุมชนแออัด ฝุ่นควันบนท้องถนนทุกวัน การคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ
- สาเหตุเสริม อาจเกิดมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือผู้ป่วยบังเอิญได้รับสารก่อภูมิแพ้มาโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ได้รับสารเคมีบางชนิด ป่วยเป็นโรคที่ติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ
กลไกการเกิดโรคภูมิแพ้
คุณอาจสงสัยว่า เมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้แล้ว กลไกของร่างกายได้ทำอะไรกับสารเหล่านั้นถึงได้กลายเป็นโรคภูมิแพ้ในภายหลังได้
กลไกของร่างกายที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้น เกิดจากเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยหลั่งสารก่อการอักเสบต่างๆ ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันผลิตสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี (Antibody) ที่มีชื่อว่า “อิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E: IgE)” เพื่อต่อต้านสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
หลังจากนั้น เมื่อร่างกายได้ผลิตสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน อี ขึ้นมา การตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นจึงเร็วและเพิ่มมากขึ้น จนครั้งต่อไปเมื่อคุณเผลอรับเอาสารก่อภูมิแพ้ตัวเดิมเข้ามาในร่างกายอีก ระบบภูมิคุ้มกันและสารภูมิต้านทานก็จะตอบสนอง และกระตุ้นเซลล์ชื่อว่า “แมสต์เซลล์ (Mast Cell)” ให้หลั่งสารชื่อว่า “ฮิสตามีน (Histamine)” ซึ่งสารตัวสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ออกมา
อาการของโรคภูมิแพ้
โดยทั่วไปอาการของโรคภูมิแพ้ที่หลายคนมักเจอได้แก่ ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้น นอกเหนือจากอาการเหล่านี้ อาการอื่นๆ ของโรคภูมิแพ้ยังสามารถจำแนกได้ตามประเภทของอวัยวะ หรือระบบการทำงานที่ผิดปกติจากสารก่อภูมิแพ้ด้วย ได้แก่
1. โรคภูมิแพ้ตา
เป็นอาการของโรคภูมิแพ้ซึ่งมักเกิดจากไรฝุ่น ฝุ่นควันตามท้องถนน เกสรดอกไม้ หรือสิ่งระคายเคืองอื่นๆ ที่มากระทบกับดวงตาของผู้ป่วย และยังรวมไปถึงคอนแทคเลนส์ที่ผู้ป่วยใช้ด้วย
อาการของโรคภูมิแพ้ตาสามารถจำแนกได้เป็น 2 ขั้นดังนี้
- อาการแพ้ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเยื่อบุตาอักเสบแต่ยังไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อกระจกตา เพียงแต่จะรู้สึกคันตา น้ำตาไหล ตาขาวเป็นสีแดงเท่านั้น
- อาการแพ้รุนแรง กระจกตาของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบร่วมด้วย และผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเคืองตา มองเห็นไม่เหมือนเดิม หรือมองไม่ชัด
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในโรคภูมิแพ้ตาอีก ซึ่งหากอาการร้ายแรงมาก ก็อาจส่งผลให้ตาบอดได้ เช่น ตาไวต่อแสงกว่าปกติ เยื่อบุตาขาวอักเสบกระจกตาดำเป็นแผล กระจกตาเป็นแผลเรื้อรัง
2. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ
เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะจมูกและหลอดลมเป็นส่วนมาก เพราะจมูกเป็นอวัยวะที่ช่วยคัดกรองฝุ่น และสิ่งแปลกปลอมที่จะผ่านเข้ามาในร่างกาย รวมถึงช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายก่อนที่สิ่งต่างๆ จะผ่านเข้าหลอดลมมา
ภายในจมูกของทุกคนจะมีโพรงจมูกและเยื่อบุจมูก ซึ่งเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน ก็จะเกิดการอักเสบขึ้น จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจมีการตอบสนองต่อกลิ่น หรืออากาศที่หายใจเข้าไปค่อนข้างไวกว่าคนปกติ โดยเฉพาะเกสรดอกไม้ ฝุ่น หรือขนสัตว์
อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย เช่น ไอเรื้อรัง จามบ่อย แน่นหน้าอก มีเสมหะในคอ กลืนน้ำลายและอาหารลำบาก หายใจไม่สะดวกหรือหายใจเร็ว อาการมักจะหนักขึ้นในช่วงกลางคืน หรือช่วงที่ออกกำลังกาย คันตา และอาจมีน้ำตาไหล
3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
เรียกได้หลายชื่อ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้อักเสบ โรคผิวหนังอักเสบไวเกิน มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยเด็กเป็นส่วนมาก และมักจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
อย่างไรก็ตาม ถึงคุณไม่มีคนในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง แต่คุณก็สามารถเป็นโรคนี้ได้หากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนังมาก มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เช่น อาศัยในสถานที่ที่มีฝุ่น หรือสารเคมีปริมาณมาก รับประทานอาหารที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้
อาการแสดงของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง มักจะมีดังต่อไปนี้ และโดยทั่วไปอาการจะแสดงออกมาภายใน 1-7 วัน เช่น ผื่นแดง ผดขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ผิวหนังมีตุ่มแดง หรือมีตุ่มน้ำเหลืองแห้งกรังขึ้น ผิวแห้ง และทำให้รู้สึกคันกว่าปกติ
4. โรคภูมิแพ้อากาศ
เป็นประเภทของโรคภูมิแพ้ที่มักพบได้บ่อยที่สุด เรียกอีกชื่อว่า “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” โดยคุณอาจสังเกตได้จากเมื่อคนใกล้ตัวมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเมื่ออยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรืออากาศชื้น นั่นคือ อาการเบื้องต้นของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ
โรคภูมิแพ้อากาศจะมีสาเหตุใกล้เคียงกับโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ นั่นคือ มีความเกี่ยวข้องกับอากาศ ฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่คุณมองไม่เห็นในอากาศรอบตัว แต่โรคภูมิแพ้ทางอากาศจะรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และจะเกี่ยวข้องกับอาการหายใจเข้าทางจมูกมากกว่าหลอดลม
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศที่พบบ่อย เช่น จามบ่อย หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกมาก คันจมูก คัดจมูกบ่อย แสบตาและอาจมีน้ำตาไหลมาก หูอื้อ
อาการของโรคภูมิแพ้อากาศอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง และพบเห็นได้ทั่วไป แต่หากไม่รีบรักษา โรคนี้ก็สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคไซนัส โรคหลอดลมอักเสบ ผนังคออักเสบ โรคหอบหืด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
5. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุหลักๆ ของโรคภูมิแพ้ชนิดนี้เกิดจากความไวต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ อาหารที่มักจะทำให้เกิดอาการแพ้จะได้แก่ นม ถั่ว ไข่ อาหารทะเล ผงชูรส สารปรุงแต่งอื่นๆ ในอาหาร
ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดนี้สามารถมีอาการแสดงได้ทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ถึงแม้ว่าจะรับประทานอาหารเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม
อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปากบวม คอบวม หรือรู้สึกว่า มีก้อนบางอย่างอยู่ข้างใน ท้องอืดหอบหืด หายใจไม่ออก เป็นผื่นคัน
โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหารมักจะมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันโดยที่คุณอาจไม่คาดคิด ดังนั้นหากคุณรู้สึกว่าตนมีอาการแพ้อาหาร หรือมีคนใกล้ชิดเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมา ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยทันที
นอกจากอาการของโรคภูมิแพ้ทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีอีกอาการภูมิแพ้ซึ่งค่อนข้างร้ายแรง และไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ “อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)”
ทำความรู้จักอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง
อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง สามารถเรียกได้อีกชื่อสั้นๆ ว่า “อาการแพ้รุนแรง” ซึ่งมีสาเหตุเหมือนกับโรคภูมิแพ้ทั่วไปทุกอย่าง เพียงแต่ปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นจะมีมากกว่า 1 ระบบ และอาการจะรุนแรงกว่าหลายเท่า
ระยะเวลาที่เกิดอาการแพ้รุนแรงนั้นจะไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ทำให้ผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมักไม่ทันได้ตั้งตัวรับมือกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก และดวงตาบวม วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ อาเจียนอย่างหนัก ความดันโลหิตต่ำ
สำหรับตัวยาสำคัญซึ่งใช้สำหรับปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรงนั้นคือ ยาอะดรีนาลีน หรืออีพิเนฟริน (Adrenaline หรือ Epinephrine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วยก่อนที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาล
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่อาการแพ้รุนแรงส่วนมากจะต้องพกยาดังกล่าวติดตัว ส่วนคนใกล้ชิดต้องเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีที่เกิดอาการแพ้ฉุกเฉินกะทันหันขึ้น เพราะอาการแพ้รุนแรงนั้นสามารถส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากปฐมพยาบาลไม่ทัน
การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติสุขภาพและสอบถามว่า มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นและทดสอบอาการของโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้น เพื่อให้วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
วิธีการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) แพทย์จะนำน้ำยาที่มีส่วนประกอบของสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศหรือที่เป็นอาหารมาทดสอบกับผิวหนังของผู้ป่วย โดยผ่านการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) หรือฉีด จากนั้นจะให้ผู้ป่วยรอดูอาการประมาณ 20 นาที หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ บริเวณที่ฉีดหรือสะกิดผิวหนังของผู้ป่วยจะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงขึ้นมา
- การตรวจเลือด (Blood Test Allergy) เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือ เพื่อหาสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน อีในเลือดของผู้ป่วยว่า จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง
การรักษาโรคภูมิแพ้
สิ่งที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทุกคนต้องทราบคือ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับว่า ตนเองได้ไปเข้าใกล้สารก่อภูมิแพ้ใดหรือไม่
การรักษาโรคภูมิแพ้โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 3 วิธีคือ
1. การรักษาโรคภูมิแพ้โดยรับประทานยาแก้แพ้
- ยาแก้แพ้กลุ่มแรก หรือกลุ่มดั้งเดิม (First Generation Antihistamine) เป็นยาแก้แพ้กลุ่มแรกซึ่งช่วยลดการหลั่งของสารฮิสตามีน และอาการภูมิแพ้อื่นๆ ได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine)
- ยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 หรือยาต้านฮิสตามีนกลุ่มไม่ทำให้ง่วงซึม (Second Generation Antihistamine) เป็นยาแก้แพ้กลุ่มแรกที่ถูกพัฒนาโมเลกุลยาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อไม่ให้เคมีของยาผ่านเข้าสู่สมอง และไปรบกวนระบบประสาทส่วนกลางจนทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม เช่น เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เซทิริซีน (Cetirizine)
คุณสมบัติหลักๆ ของยาแก้แพ้ คือ ลดน้ำมูก อาการไอ และจามเรื้อรัง ผื่นลมพิษ อาการคันตามร่างกาย โดยรูปแบบของยาจะแบ่งเป็น 4 แบบคือ แบบน้ำ (Liquids) แบบเม็ด (Pills) แบบพ่นจมูก (Nasal spray) แบบหยอดยา (Eyes drops)
ถึงแม้การรับประทานยาจะเป็นวิธีรักษาหลักที่ผู้ป่วยทุกโรคมักใช้เพื่อรักษาอาการ แต่ยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการแพ้ยา (Drug Allergy) ได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
2. การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการฉีดเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าในร่างกาย เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำปฏิกิริยาต่อสารที่คุณแพ้ และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้อีก
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โดยช่วง 5-6 เดือนแรก แพทย์จะฉีดวัคซีนที่แขนให้สัปดาห์ละ 1 ครั้งสลับข้างกัน
จากนั้นแพทย์จะจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณวัคซีนมากขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ผู้ป่วยจะรับไหว รวมถึงความถี่ของการมารับวัคซีนที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้จะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดรับวัคซีนได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นแล้ว
แต่หากผู้ป่วยยังมีอาการแพ้อยู่ หรือผลจากการรับวัคซีนยังไม่ดีพอ แพทย์ก็อาจยืดระยะเวลาการรับวัคซีนอย่างต่อเนื่องไปอีก 1 ปีหรือมากกว่านั้น
3. การรักษาโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง
นอกเหนือจากการรับประทานยาแก้แพ้ และฉีดวัคซีน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยังเป็นวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งคุณสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่จะได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้ามาในร่างกาย
- หมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ
- ตัดหญ้า และวัชพืชต่างๆ ที่คุณมีอาการแพ้หรือมีความเสี่ยงว่าจะแพ้
- กำจัดแมลง เช่น มด แมลงสาบ ตัวต่อ แตนที่เสี่ยงจะกัดต่อย และทำให้คุณเกิดแผลหรืออาการแพ้ได้
- รักษาอุณหภูมิของร่างกายตนเองให้อบอุ่นเสมอ และสวมเสื้อผ้าที่สะอาดทุกครั้ง
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเป็นอาหารที่สะอาด ไม่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ โดยอาหารที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเลที่มีเปลือก ปลา ธัญพืช เครื่องเทศ
- หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียดเสมอ อย่าหักโหมทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ตากผ้า ปลอกหมอนหนุน ผ้าปูที่นอน พรมหรือผ้าปูรองต่างๆ ไว้ในที่แดดจัดเสมอเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือมีสารเคมีที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ คุณยังควรพกหน้ากากอนามัยติดตัวทุกครั้งด้วย
- หากแพ้ขนสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ หรือหากเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน ให้คุณพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยาป้องกันขนร่วง หรือบำรุงขนให้ไม่กลายเป็นฝุ่นละอองในบ้าน
คำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้นนั้นไม่ใช่แค่วิธีการรักษาภูมิแพ้เท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ได้อีกด้วย ซึ่งหากคุณลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองดู โรคภูมิแพ้ก็ยากที่จะเกิดขึ้นกับตัวคุณ และคนที่คุณรัก
โรคภูมิแพ้จะไม่สามารถทำอันตรายคุณได้ หากคุณมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสม ระมัดระวังตนเอง รักษาความสะอาด และหมั่นไปตรวจสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี