uterine cancer disease definition scaled

รู้จักโรคมะเร็งมดลูก มะเร็งทางนรีเวชที่ไม่ควรมองข้าม

หลายคนอาจคิดว่า “โรคมะเร็งมดลูก” เป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกับ “โรคมะเร็งปากมดลูก แต่ความจริงแล้ว โรคมะเร็งมดลูกนั้น เกิดคนละตำแหน่งกับ โรคมะเร็งปากมดลูก มาสำรวจพร้อมกันว่าโรคมะเร็งมดลูกคืออะไร มีความต่างหรือเหมือนกับโรคมะเร็งที่อวัยวะสืบพันธุ์หญิงอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

โรคมะเร็งมดลูกคืออะไร?

โรคมะเร็งมดลูก (Uterine Cancer) คือ คือการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติที่เกิดภายในเยื่อบุหรือกล้ามเนื้อมดลูก (คนละตำแหน่งกับปากมดลูก) มักตรวจพบได้ในผู้หญิงอายุประมาณ 40-60 ปี หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุของโรคมะเร็งมดลูก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุได้แน่ชัดว่า โรคมะเร็งมดลูกเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าโรคมะเร็งมดลูกสามารถเกิดได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ฮอร์โมนเพศที่ไม่สมดุล
  • โรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งมดลูก ก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นด้วย
  • มีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่าอายุ 12 ปี
  • เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
  • มีกรรมพันธุ์เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการ Cowden syndrome กลุ่มอาการ Lynch syndrome
  • ประวัติเป็นภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบหรือ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) 
  • ประวัติเป็นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (Endometrial Hyperplasia)
  • ประวัติการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูก รังไข่
  • ไม่เคยมีบุตรมาก่อน

อาการของโรคมะเร็งมดลูก

อาการหลักของโรคมะเร็งมดลูก คือ ความผิดปกติของประจำเดือน โดยผู้ป่วยมักจะมีประจำเดือนช้าผิดปกติ เร็วผิดปกติ รวมถึงมาสั้นหรือยาวผิดปกติ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการผิดปกติอื่นๆ อีก เช่น

  • พบเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนไหลออกมาจากช่องคลอด
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ตกขาวมีสีผิดปกติ
  • น้ำหนักลดผิดปกติ

ประจำเดือนมาผิดปกติ มีอาการแปลกๆ ที่อวัยวะสืบพันธุ์ ตกขาวสีเปลี่ยนไป คลำเจอก้อนแถวท้องน้อย รู้สึกกังวลใจ อยากคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ติดต่อหาทีมงาน HDcare ได้เลย

วิธีรักษาโรคมะเร็งมดลูก มีวิธีไหนบ้าง?

กระบวนการรักษาโรคมะเร็งมดลูกจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งระยะของโรค ความรุนแรงของอาการหรือการลุกลามของเซลล์มะเร็ง รวมถึงตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรับการรักษาหลายวิธีในเวลาเดียวกันเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้หมดและเร็วที่สุด เช่น

  • การใช้รังสีรักษา
  • การใช้ยาเคมีบำบัด
  • การใช้ยาฮอร์โมน
  • การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
  • การใช้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
  • การผ่าตัด ซึ่งประกอบไปด้วยหลายเทคนิค เพื่อให้สามารถรักษาโรคมะเร็งมดลูกได้อย่างครอบคลุมทุกรูปแบบ เช่น
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เป็นการผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้อง จัดเป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ทำให้มีแผลขนาดใหญ่ แต่ก็ยังเป็นอีกทางเลือกในการรักษาในปัจจุบันอยู่ เนื่องจากสามารถกำจัดก้อนมะเร็งได้แทบทุกขนาด
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องที่โพรงมดลูก เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าทางช่องคลอด ผ่านโพรงมดลูกเข้าไปตัดก้อนมะเร็งออก ไม่มีการกรีดเปิดแผลที่ผิวกายภายนอก 
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้องเพื่อสอดกล้องผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปตัดเนื้องอกที่มดลูก แผลจะมีขนาดเล็กกว่าเทคนิคผ่าตัดแบบเปิด แต่จะมีจำนวนแผลมากกว่า โดยอยู่ที่ประมาณ 3-4 แผล
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกและปากมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องเปิดแผลทางหน้าท้องเมื่อนำเนื้องอกที่มดลูกออก แต่นอกเหนือจากนั้น แพทย์จะตัดส่วนของปากมดลูกออกด้วย 
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด เป็นการผ่าตัดกรีดแผลและสอดอุปกรณ์เข้าไปผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด ทำให้ผู้ป่วยไม่มีรอยแผลผ่าตัดที่ผิวกายภายนอกแต่อย่างใด 
  • การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบเปิด เพื่อนำมดลูกและปากมดลูกออกทางหน้าท้องทั้งหมด

โรคมะเร็งมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโรคมะเร็งร้ายแรงที่พบได้ในผู้หญิงทุกคน นอกจากนี้อาการบ่งชี้สำคัญของโรค ยังเกี่ยวข้องกับความสม่ำเสมอของประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการที่ผู้หญิงหลายคนมองว่า เป็นความผิดปกติที่พบได้ทั่วไป จึงละเลยไม่ได้ตรวจหาสาเหตุของอาการอย่างแน่ชัด

ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงไม่ควรมองข้ามความผิดปกติ แม้มองเห็นเพียงอาการเล็กน้อยและไม่ทราบที่มา ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความมั่นใจ 

ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งมดลูกรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top