สำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์ หนึ่งในวิธีรักษาขั้นพื้นฐานที่แพทย์มักใช้รักษาคือการรับประทานยา เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวผ่าตัด และหากรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หลายคนที่ป่วยเป็นไทรอยด์อาจจะกังวลใจ ว่าจะมีผลข้างเคียงไหม เพราะการรักษาไทรอยด์ด้วยการใช้ยาต้องใช้เวลารักษานานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป บทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคไทรอยด์มาให้คุณแล้ว
โรคไทรอยด์ คืออะไร?
โรคไทรอยด์ คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญ ที่ช่วยควบคุมระบบการเผาผลาญหรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
โรคไทรอยด์ที่เรารู้จักกันนั้น ก็เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์นั่นเอง เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ทำงานน้อยเกินไป หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้นที่ต่อมไทรอยด์
ทั้งนี้ความผิดปกติที่แตกต่างกัน ก็จะใช้ยารักษาที่แตกต่างกันด้วย
สารบัญ
ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)
โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือที่รู้จักในชื่อ ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ ไทรอยด์ผอม คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงผิดปกติ และไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในทั้งระบบให้ทำงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบต่างๆ และอวัยวะภายในร่างกายทำงานผิดปกติไปจากเดิม
ทั้งนี้ยาที่แพทย์มักจ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
-
- ยาต้านไทรอยด์ (Antithyroid Drugs) เป็นยาที่ออกฤทธ์ต้านการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะยับยั้งทั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่ และยับยังการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ฮอร์โมนกลับมาสมดุลอีกครั้ง ได้แก่ ยาโพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) และ ยาเมไทมาโซล (Methimazole)
- ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-Blockers) ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ ลดอาการใจสั่น ได้แก่ ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ยา อะทีโนลอล (Atenolol) และ ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) ส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาชนิดนี้ให้ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่กำลังเริ่มรักษาด้วยการใช้ยา แต่เมื่อใช้ไปสักระยะและอาการไทรอยด์ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แพทย์อาจจะลดยาลง และรับประทานยาต้านไทรอยด์เพียงชนิดเดียว
การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วยการใช้ยา อาจไม่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่จะค่อยๆ เห็นผลขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่ต้องรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งระหว่างนี้ต้องมีการตรวจติดตามค่าฮอร์โมนและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
จนกระทั่งค่าฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติ แพทย์อาจจะพิจารณาให้ปรับลดยาลงเรื่อยๆ จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด
แต่ข้อสำคัญที่สุดคือ แม้อาการจะดีขึ้น แต่ก็ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะการที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นปกติ ไม่ได้หมายความว่าหายจากโรคไทรอยด์แล้ว 100% แต่อาจเกิดจากฤทธิ์ของยา ที่เข้าไปช่วยควบคุมให้โรคสงบเท่านั้น ฉะนั้นหากผู้ป่วยหยุดยาเอง อาการก็อาจจะกลับมาใหม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ควบคุมโรคได้ยากขึ้นด้วย
ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ มีผลข้างเคียงไหม?
ยารักษาโรคไทรอยด์แม้จะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น
- เม็ดเลือดขาวต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อง่ายขึ้น อาจมีไข้สูง ไอ เจ็บคอร่วมด้วย หากมีอาการนี้แนะนำให้ตรวจติดตามค่าเม็ดเลือดขาวเพิ่มเติม
- ภาวะหลอดเลือดอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดข้อ ไอเป็นเลือด ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปน
- ค่าตับสูงขึ้น ทำให้มีอาการ ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินพร้อมยาชนิดใด?
การใช้ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และหากจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคอื่นๆ เพิ่มเติม ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
เนื่องจากยารักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาชนิดอื่นๆ ด้วย โดยยากลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มยาลดกรด กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยารักษาทางจิตเวช หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid)
โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid) หรือที่รู้จักในชื่อ ไฮโปไทรอยด์ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ ไทรอยด์อ้วน คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป จนทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำผิดปกติ ส่งผลให้อวัยวะภายในทั้งระบบให้ทำงานลดลง ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม
ทั้งนี้ยาที่แพทย์มักจ่ายให้ผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ คือ ยาที่ใช้เพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้อยู่ในภาวะปกติ หรือเรียกว่าเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน หรือ ฮอร์โมนเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักต้องรับประทานไปตลอดชีวิต
ฮอร์โมนทดแทนนี้ถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์สร้างตามธรรมชาติมากที่สุด ฉะนั้นจึงมีความปลอดภัยสูง สามารถรับประทานได้โดยไม่ก่อนให้เกิดอันตราย แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์
ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป มีผลข้างเคียงไหม?
แม้ยาชนิดนี้จะเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงได้บางประการ แต่มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรงนัก เช่น
- กระวนกระวาย มือสั่น ใจสั่น นอนไม่หลับ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ความดันโลหิตสูง
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว
- หากใช้ยาเป็นเวลานาน อาจทำให้ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกลดลงได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- รบกวนการทำงานของตับ
- อาจทำให่ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย มีอาการแย่ลง
ทั้งนี้การใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ก็ควรจะอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากหากรับประทานยาเกินขนาด จะทำให้ปริมาณฮอร์โมนในร่างกายมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดอาการไทรอยด์เป็นพิษได้ หรือหากรับประทานน้อยเกินไป ก็ไม่สามารถทดแทนภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนได้
ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ห้ามกินพร้อมยาชนิดใด?
การใช้ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ก็ควรระมัดระวังในการใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นเดียวกับยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ
กลุ่มยาที่ต้องระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ เช่น ยาเบาหวาน ยาลดกรด ยากันชัก ยาลดไขมันในเลือด ยารักษาทางจิตเวท ยารักษาวัณโรค ยารักษาโรคหัวใจ ยาบำรุงเลือด ยาเสริมแคลเซียม เป็นต้น
หากลืมรับประทานยาไทรอยด์ ต้องทำอย่างไร
ยาไทรอยด์ ทั้งที่ใช้เพื่อรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ และไฮโปไทรอยด์ เป็นยาที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะลืมรับประทานยา ดังนั้นหากผู้ป่วยลืมรับประทานยา จะมีข้อแนะนำดังนี้
- กรณีรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าลืมนานกว่า 12 ชั่วโมง ให้รับประทานในวันถัดไป โดยรับประทานปริมาณเท่าเดิม ไม่เพิ่มขนาดยา
- กรณีรับประทานยาวันละ 2-3 ครั้ง ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้กับช่วงเวลาที่ต้องรับประทานในครั้งถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปเลย โดยรับประทานปริมาณเท่าเดิม ไม่เพิ่มขนาดยา
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ลืมบ่อยๆ ก็จะทำให้โอกาสที่จะหายขาดจากโรคลดลงไปด้วย
รับประทานยามานาน แต่อาการไม่ดีขึ้น ต้องทำอย่างไร?
ในกรณีที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ต่อมไทรอยด์โต หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ แต่ค่าเลือดยังไม่ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งแพทย์ไม่สามารถปรับยา หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้แล้ว
ผู้ป่วยจะมี 2 ทางเลือกหลักๆ คือ การกลืนแร่รักษา หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ โดยการผ่าตัดมี 2 รูปแบบหลักๆ คือ การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery) และ การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก (Transoral Endoscopic Thyroid Surgery) ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและแพทย์พิจารณาร่วมด้วย
การใช้ยารักษาความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เป็นวิธีที่ง่าย ประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย และผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวผ่าตัด ดังนั้นจึงเป็นวิธีพื้นฐาน ซึ่งแพทย์มักใช้รักษาผู้ป่วยไทรอยด์ส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และอาจต้องรับประทานไปตลอดชีวิต
ฉะนั้นถ้าอยากหยุดอาการป่วยให้หายขาด รักษาด้วยวิธีไหนดี ผลข้างเคียงน้อยที่สุด อยากปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ประสบการณ์สูง ในราคาที่ถูกกว่า ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ ไม่ต้องรอคิวนาน คลิกที่นี่เลย