gallstones treatment faq

12 เรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดี

รักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีไหนดี ผ่าตัดถุงน้ำดีแล้วจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือไม่ ใครไม่ควรผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี หลังผ่าตัดแล้วต้องงดไขมันแบบถาวรหรือเปล่า…บทความนี้เรารวบรวมเรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดีมาฝาก

เรื่องที่คนอยากรู้เกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดี

สารบัญ

1. รักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีไหนดี

ตอบ: การรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการผ่าตัดเป็นวิธีที่แพทย์แนะนำมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะสามารถรักษานิ่วในถุงน้ำดีให้หายขาดได้จริง ซึ่งวิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมีวิธีหลักๆ คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดส่องกล้อง

การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง มีข้อดีตรงที่แพทย์สามารถมองเห็นภาพกว้างได้ จึงผ่าง่ายกว่าแบบส่องกล้อง แต่ก็มีข้อเสียตรงที่แผลใหญ่ พักฟื้นนาน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง 

ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีข้อดีคือ ช่วยให้นิ่วในถุงน้ำดีหายขาดได้จริง แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง

การผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีด้วยกัน 2 เทคนิค เทคนิคแรกคือ 

    1. การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้องทั่วไป (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดโดยเจาะบริเวณสะดือและชายโครงด้านขวาเป็นแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู แล้วสอดท่อที่มีไฟฉายและกล้องขนาดเล็กเข้าไป จากนั้นแพทย์จะนำเครื่องมือเข้าไปตัดเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ โดยแพทย์จะมองภาพที่แสดงผลอย่างละเอียดผ่านทางจอมอนิเตอร์
    2. การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดแผลเพียงรูเดียวที่สะดือ ขนาดแผลประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะเริ่มผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกมา ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง

เปรียบเทียบวิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี มีวิธีไหนบ้าง แตกต่างกันอย่างไร? คลิกอ่านต่อ

2. การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้องเหมาะกับใคร

ตอบ: การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดวิธีดั้งเดิม แพทย์มักจะแนะนำวิธีนี้ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีอักเสบอย่างรุนแรง ถุงน้ำดีแตกทะลุ เริ่มมีอาการดีซ่าน รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน จนเกิดพังผืดติดลำไส้และผนังหน้าท้องมาก ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้

3. การผ่าตัดแบบส่องกล้องมีข้อดีอย่างไร

ตอบ: วิธีการรักษานิ่วในถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง เป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังเจ็บแผลน้อยมาก เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร จำนวน 3-4 รู หรือหากเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว แผลจะมีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 1 รูเท่านั้น และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง

4. ใครไม่ควรผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ตอบ: การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย หากผู้ป่วยมีความผิดปกติเกี่ยวกับแข็งตัวของเลือด มีอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน มีอาการตับแข็งขั้นรุนแรง มีอาการโรคทางหัวใจหรือปอดรุนแรง รวมทั้งไม่สามารถดมยาสลบได้ แพทย์อาจให้หลีกเลี่ยงผ่าตัดไปก่อน และให้การรักษาเบื้องต้นด้วยวิธีอื่น เช่น ฉีดยาปฏิชีวนะ หรือส่องกล้องเพื่อลากนิ่วในท่อน้ำดีออก แล้วจึงพิจารณาการผ่าตัดถุงน้ำดีออกในภายหลัง

5. ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมีอะไรบ้าง

ตอบ: การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี แม้จะเป็นวิธีที่เห็นผลลัพธ์ที่ดีมากที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับการผ่าตัดประเภทอื่นๆ ดังนี้

  1. เกิดภาวะเลือดออกขณะผ่าตัด หรือตกเลือดในช่องท้อง
  2. เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่นในช่องท้อง เช่น ท่อน้ำดีใหญ่ หรือลำไส้ ซึ่งมีโอกาสเกิดมากขึ้นในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
  3. เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบเหมือนการผ่าตัดทั่วไป
  4. เกิดน้ำดีซึมออกจากท่อทางเดินน้ำดีขนาดเล็กที่ผิวของตับ
  5. การผ่าตัดส่องกล้อง อาจต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เช่น กรณีที่ถุงน้ำดีเป็นหนอง นิ่วในท่อน้ำดีใหญ่
  6. เกิดภาวะไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัดภายหลังการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดส่องกล้อง
  7. เกิดภาวะอักเสบในช่องท้อง หรือเป็นฝีในตับ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเลือกผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการและมีประสบการณ์ จะช่วยให้ความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนลดน้อยลง 

อยากปรึกษาเรื่องการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีกับคุณหมอเฉพาะทาง คลิกเลย ปรึกษาผ่านไลน์ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

6. ผ่าตัดถุงน้ำดีออกแล้วจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือไม่

ตอบ: หลายคนกังวลและสงสัยว่า เมื่อผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร ความจริงแล้วหากไม่มีถุงน้ำดี ตับก็ยังสามารถผลิตน้ำดีเพื่อใช้ย่อยไขมันได้เช่นเดิม เพียงแค่ไม่มีถุงน้ำดีไว้คอยกักเก็บน้ำดีเท่านั้น โดยน้ำดีจากตับจะลงไปที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ผ่าตัดถุงน้ำดีออกไป ร่างกายอาจย่อยอาหารที่เป็นไขมันได้ไม่ดีเท่าเดิม แต่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวให้เป็นปกติได้เอง

7.ก่อนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีต้องเตรียมตัวอย่างไร

ตอบ: การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดถุงน้ำดี มีข้อปฏิบัติเหมือนการผ่าตัดทั่วไป ดังนี้

  1. งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำย่อย หรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอดในระหว่างดมยาสลบ
  2. หากมีโรคประจำตัว มีอาการเจ็บป่วยใดๆ รวมทั้งรับประทานยา หรืออาหารเสริมใดเป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากอาจมีผลต่อการผ่าตัด
  3. งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด
  4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสิ่งมึนเมา อย่างน้อย 1 วันก่อนการผ่าตัด

8. หลังผ่าตัดถุงน้ำดีมีข้อปฏิบัติตัวอย่างไร

ตอบ: หลังจากผ่าตัดถุงน้ำดีเรียบร้อยแล้ว แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. รับประทานยาให้ครบ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  2. ดูแลความสะอาดแผลตามแพทย์สั่ง
  3. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และลดอาหารที่มีไขมันระยะหนึ่ง จนกว่าร่างกายจะปรับตัวได้ และดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้วต่อวัน
  4. งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ หรือได้รับความกระทบกระเทือน
  5. งดออกกำลังกายและยกของหนัก 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันแผลฉีกขาด
  6. ค่อยๆ ลุกเดินไปมา หรือเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ทุกวัน เพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขา

หากยังมีคำถามคาใจเกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดี ต้องการคำตอบที่แน่ชัด นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

เรื่องที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดี

9. การรับประทานยาสลายนิ่ว ช่วยรักษานิ่วในถุงน้ำดีได้

ตอบ: หลายคนอาจเคยได้ยินว่า การรับประทานยาสลายนิ่วจะช่วยให้นิ่วสลายตัวได้ง่ายและหลุดออกมาเอง คล้ายกับการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

แต่สำหรับการรักษานิ่วในถุงน้ำดีนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า การรับประทานยาสลายนิ่วเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีพอ เนื่องจากการรับประทานยายังไม่สามารถช่วยให้ก้อนนิ่วสลายได้หมด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และหากหยุดรับประทานยา ก็อาจกลับมาเป็นนิ่วได้อีกครั้ง ดังนั้นแพทย์จึงไม่ค่อยแนะนำวิธีนี้

10. การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ช่วยรักษานิ่วในถุงน้ำดีได้

ตอบ: การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก เป็นวิธีใช้คลื่นเสียงส่งผ่านผิวหนังตรงไปยังก้อนนิ่ว ส่งผลให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว จนก้อนนิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงขับออกมาทางปัสสาวะ

การใช้คลื่นกระแทกเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้ในการรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่สำหรับนิ่วในถุงน้ำดีนั้น ถือเป็นวิธีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการรักษา เนื่องจากก้อนนิ่วไม่สามารถขับออกมาจากถุงน้ำดีได้ และยังเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง นิ่วอาจจะไปอุดตันท่อน้ำดีใหญ่ และทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้นได้

11. การรักษานิ่วในถุงน้ำดี สามารถใช้วิธีเจาะเอานิ่วออก โดยไม่ตัดถุงน้ำดี

ตอบ: การรักษานิ่วในถุงน้ำดีนั้น จำเป็นตัดถุงน้ำดีออก แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีเจาะเอานิ่วออก โดยไม่ตัดถุงน้ำดี เนื่องจากหากไม่ตัดถุงน้ำดีออก อาจเกิดนิ่วขึ้นใหม่ได้ ยกเว้นผู้ที่มีอาการโรคทางหัวใจหรือปอดรุนแรง มีอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน มีอาการตับแข็งขั้นรุนแรง รวมทั้งไม่สามารถดมยาสลบได้ แพทย์อาจให้หลีกเลี่ยงผ่าตัดถุงน้ำดีไปก่อน 

12. เมื่อผ่าตัดเอานิ่วในถุงน้ำดีออกแล้ว ต้องงดรับประทานไขมันแบบถาวร

ตอบ: ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกแล้ว แม้ว่าควรลดอาหารมันๆ แต่ไม่จำเป็นต้องงดรับประทานไขมันทั้งหมดแบบถาวร เพราะไขมันยังเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม ควรเลือกรับประทานไขมันดีเป็นหลัก เช่น ไขมันจากปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปรุงอาหารด้วยน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันอะโวคาโด เป็นต้น

เชื่อว่า 12 เรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดที่นำมาฝากในบทความนี้ น่าจะช่วยให้หลายคนน่าจะหายคาใจและหมดกังวลเกี่ยวกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดีแล้ว

ข้อมูลที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษานิ่วในถุงน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top