ผ่าตัดนำมดลูกออก กับ ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร ด้วยบริการจาก HDcare

เผยความต่างของการผ่าตัดนำมดลูกออกทั้ง 3 วิธี ปัจจุบันแพทย์มีเทคนิคในการผ่าตัดแบบไหนบ้าง และมีข้อดี ข้อ ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร พักฟื้นนานหรือไม่? ลักษณะแผลหลังผ่าตัดจะเป็นอย่างไร

โดย พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร หรือ “หมอปอนด์” สูติแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง การส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยาก และภาวะความผิดปกติทางนรีเวชมากว่า 10 ปี

อ่านประวัติหมอพั้นช์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอปอนด์” สูติแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ด้านการผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยากและภาวะความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวช]

ใครบ้างที่มีโอกาสต้องผ่าตัดนำมดลูกออก

การผ่าตัดนำมดลูกออกมักเป็นวิธีรักษาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับนรีเวช เช่น โรคมะเร็งรังไข่ มีก้อนเนื้องอกด้านในมดลูก ผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก ผู้ป่วยที่มีภาวะมดลูกหย่อน

การผ่าตัดนำมดลูกออก กระทบต่อฮอร์โมนเพศอย่างไร?

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การผ่าตัดนำมดลูกออกจะทำให้ฮอร์โมนเพศหายไป แต่ความจริงแล้ว “มดลูก” นั้น ไม่ได้เป็นอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศแต่อย่างใด แต่เป็น “รังไข่” ต่างหากที่เป็นอวัยวะเสริมสร้างฮอร์โมนเพศหญิงให้กับร่างกาย

ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องผ่าตัดนำมดลูกออก แต่ไม่ได้ผ่านำรังไข่ออกไปด้วย การผ่าตัดที่เกิดขึ้นก็จะไม่ได้กระทบต่อฮอร์โมนเพศจนเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควรแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ป่วยจะไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถมีบุตรได้เท่านั้น

การผ่าตัดนำมดลูกออกมีกี่วิธี

การผ่าตัดนำมดลูกออก สามารถแบ่งออกได้ 3 เทคนิค ได้แก่

การผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้อง

การผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้อง เป็นวิธีการผ่าตัดมาตรฐานที่ใช้รักษาในทุกข้อบ่งชี้ความผิดปกติที่จำเป็นต้องนำมดลูกออก มีขั้นตอนการผ่าตัดหลักๆ คือ แพทย์ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังให้ผู้ป่วย จากนั้นจะลงมีดผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำมดลูกออก ระยะเวลาผ่าตัดจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง 

หลังการผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะย้ายผู้ป่วยไปเฝ้าดูอาการที่ห้องพักฟื้นก่อน หากไม่มีสัญญาณภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ก็จะส่งตัวไปพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วยต่อไป 

การพักฟื้นหลังผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้อง

หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ผู้ป่วยถอดสายน้ำเกลือออก ถอดสายสวนปัสสาวะ และหากผู้ป่วยไม่ค่อยเจ็บแผลแล้ว แพทย์จะแนะนำให้มีการลุกนั่งหรือขยับร่างกายบ้างเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้กลับมาทำงานตามปกติ และจะเริ่มให้มีการจิบน้ำกับกินอาหารอ่อนๆ ก่อน

เมื่อพักฟื้นที่โรงพยาบาลครบ 2-3 วัน แพทย์ก็จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ ซึ่งระยะเวลาพักฟื้นที่บ้านก็จะกินเวลาไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น หลังจากนั้นก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติอีกครั้ง

การผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้อง มีลักษณะแผลกี่แบบ?

ในการผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้องจะแบ่งลักษณะแผลออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แผลแนวขวางและแผลแนวตั้ง

โดยทั่วไปแพทย์มักนิยมกรีดเปิดแผลเป็นแนวขวางมากที่สุด เนื่องจากจะช่วยให้แผลดูสวยงามมากกว่าและไม่เสี่ยงปริแตกได้ง่าย นอกเสียจากในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มดลูกบางราย หรือผู้ที่มีก้อนเนื้อที่มดลูกซึ่งมีขนาดใหญ่มากจนการผ่าตัดแนวขวางไม่สามารถนำมดลูกออกมาทั้งหมดได้ ในกรณีนี้แพทย์ก็จะพิจารณาผ่าตัดเปิดแผลในแนวตั้ง

ส่วนการผ่าตัดในแนวตั้งหรือแนวยาวนั้น แพทย์จะกรีดเปิดแผลในลักษณะเส้นแนวตั้ง ตำแหน่งที่เริ่มกรีดเปิดแผลและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ ในผู้ป่วยบางรายอาจกรีดเปิดแผลตั้งแต่เหนือสะดือไปจนถึงหัวหน่าว หรือในบางรายก็อาจกรีดตั้งแต่ใต้ต่อสะดือไปจนถึงหัวหน่าวก็พอ 

ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้อง

ข้อดีของการผ่าตัดนำมดลูกออกทางหน้าท้อง คือ เป็นการผ่าตัดที่แพทย์สามารถขยายแผลให้ใหญ่จนผ่าตัดนำมดลูกออกได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 

แต่ขณะเดียวกัน การผ่าตัดเทคนิคนี้ก็มีข้อเสีย คือ ลักษณะแผลจะไม่สวยงามนักเมื่อเทียบกับการผ่าตัดส่องกล้อง นอกจากนี้ยังใช้เวลาพักฟื้นแผลนานกว่า เสียเลือดระหว่างผ่าตัดมากกว่า และมีโอกาสเกิดพังผืดที่แผลได้ในอนาคต

การผ่าตัดส่องกล้องนำมดลูกออกทางหน้าท้อง

การผ่าตัดส่องกล้องนำมดลูกออกทางหน้าท้อง เป็นอีกเทคนิคการผ่าตัดที่สามารถทำได้ในทุกพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับมดลูกเช่นกัน มีกระบวนการผ่าตัดและระยะเวลาผ่าตัดที่คล้ายกับการผ่าตัดนำมดลูกออกแบบแรก เพียงแต่ใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ต่างกัน โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • แพทย์ดมยาสลบผู้เข้ารับบริการ
  • แพทย์เจาะเปิดแผลเป็นรูขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ทั้งหมด 4 รูที่สะดือกับท้องน้อยด้านซ้ายและด้านขวา
  • แพทย์สอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปด้านในช่องท้องผ่านรูแผล และตัดนำมดลูกออกมา จากนั้นเย็บปิดแผล
  • แพทย์ส่งตัวผู้ป่วยไปเฝ้าดูอาการที่ห้องพักฟื้น หากไม่มีสัญญาณอาการแทรกซ้อน ก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปพักฟื้นที่ห้องพักฟื้นผู้ป่วยต่อไป 

การพักฟื้นหลังผ่าตัดส่องกล้องนำมดลูกออกทางหน้าท้อง

การพักฟื้นหลังผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องจะสั้นกว่าการผ่าตัดแบบผ่าเปิดแผลปกติอยู่เล็กน้อย โดยผู้ป่วยอาจนอนโรงพยาบาลสั้นกว่าประมาณ 1 คืน เนื่องจากมีแผลหลังผ่าตัดที่ขนาดเล็กกว่า แต่โดยรวมแล้วมีขั้นตอนการดูแลแผลที่ไม่แตกต่างกัน รวมถึงระยะเวลาพักฟื้นที่บ้านไม่ต่างกันด้วย 

ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดส่องกล้องนำมดลูกออกทางหน้าท้อง

เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะทำให้ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมาก จึงทำให้แผลดูสวยงามมากกว่า และยังฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว เสียเลือดระหว่างผ่าตัดได้น้อย ทำให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ 

แต่การผ่าตัดแบบส่องกล้องก็มีจุดด้อย คือ ไม่สามารถผ่าตัดในผู้ที่มีก้อนเนื้อใหญ่เกินไปหรือมีพังผืดที่มดลูกหนาเกินไปได้ รวมถึงไม่สามารถผ่าตัดในผู้ป่วยโรคประจำตัวบางชนิดได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด มีภาวะความดันในสมองสูง

การผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอด

การผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอด เป็นการผ่าตัดสำหรับผู้ที่มีภาวะมดลูกหย่อน ซึ่งเป็นภาวะที่มดลูกเคลื่อนตัวต่ำลงมามากว่าตำแหน่งปกติ ในบางรายอาจหย่อนลงมาถึงขั้นสามารถมองเห็นได้จากช่องคลอด หรือบางรายมีการไอหรือจามแรงๆ จนมดลูกเกือบหลุดออกมาจากปากช่องคลอด ในกรณีนี้ก็จำเป็นต้องผ่าตัดนำมดลูกออกเช่นกัน

ขั้นตอนการผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอดจะเริ่มจากการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง แล้วแพทย์จะดึงมดลูกที่หย่อนตัวลงมาและตัดออกจากช่องคลอดให้เรียบร้อย จากนั้นแพทย์จะห้ามเลือด และเย็บแผลซึ่งก็จะอยู่ที่ด้านในช่องคลอด ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

การพักฟื้นหลังผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอด

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอดนั้นค่อนข้างเรียบง่าย เพียงงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6 สัปดาห์ รวมถึงงดออกกำลังกาย งดทำกิจกรรมที่หักโหมใช้แรงมากชั่วคราวเพื่อป้องกันไม่ให้แผลปริแตก และเดินทางมาตรวจดูแผลทางช่องคลอดกับแพทย์ตามนัดหมายก็พอ

ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอด

การผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอด จะทำให้มีแผลหลังผ่าตัดอยู่ด้านในช่องคลอดและยังมีขนาดแผลที่เล็ก จึงทำให้มองไม่เห็นได้จากภายนอก ช่วยลดความกังวลเรื่องรูปลักษณ์ของแผลได้ และยังทำให้เสียเลือดหลังผ่าตัดได้น้อยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดทางหน้าท้อง 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนำมดลูกออกทางช่องคลอดนั้นจะสามารถทำได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะมดลูกหย่อนเท่านั้น หากผู้ป่วยเกิดความผิดปกติที่มดลูกในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาวะนี้ แพทย์ก็จะใช้การผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้องเป็นวิธีรักษาแทน

การผ่าตัดนำมดลูกออก มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในการผ่าตัดนำมดลูกออก ได้แก่

  • ภาวะแผลติดเชื้อ 
  • อวัยวะข้างเคียงอื่นๆ ในช่องท้องได้รับบาดเจ็บไปด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ลำไส้ หรือหลอดเลือดในช่องคลอด 

ผ่าตัดนำมดลูกออกแล้ว ต้องกินยาฮอร์โมนไปตลอดชีวิตหรือไม่?

การกินยาฮอร์โมนหลังผ่าตัดมดลูกจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่แพทย์นำออกไประหว่างผ่าตัด หากผ่าตัดนำแค่มดลูกออก แต่ไม่ได้นำรังไข่ออกไปด้วย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมน เนื่องจากรังไข่ซึ่งเป็นอวัยวะผลิตฮอร์โมนเพศยังคงอยู่ในร่างกายผู้ป่วยอยู่ 

แต่ในกรณีที่ผ่าตัดนำมดลูกออกไปพร้อมกับรังไข่ หากผู้ป่วยอายุยังน้อยอยู่ และยังห่างไกลจากช่วงอายุที่ร่างกายจะหมดประจำเดือนไปเองตามธรรมชาติ แพทย์ก็จะแนะนำให้กินยาฮอร์โมนเสริมหลังผ่าตัดด้วย

แต่หากผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุใกล้เข้าวัยสูงอายุแล้ว และร่างกายกำลังจะหมดประจำเดือนไปเองตามธรรมชาติ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินยาฮอร์โมนเสริมอีก

ผ่าตัดนำมดลูกออก กับ ดร. นพ. สุธรรม ด้วยบริการจาก HDcare

หากต้องการผ่าตัดนำมดลูกออกกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถเลือกเทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสม ปลอดภัย และรักษาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ได้อย่างแม่นยำ ทีมงาน HDcare ยินดีเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยนัดหมายแพทย์เพื่อเข้าตรวจประเมินสภาพโรค และปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับมดลูกกับแพทย์ผู้ชำนาญการก่อน เพื่อจะได้นำไปสู่การวางแผนการผ่าตัดที่เหมาะสมต่อไป

เพราะการผ่าตัดทางนรีเวชเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน การได้รับการรักษาจากแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง และมีความชำนาญด้านการรักษาโรคทางนรีเวชโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top