chronic kidney disease definition

โรคไต คืออะไร มีกี่ระยะ สาเหตุ อาการ วิธีตรวจ วิธีรักษา การป้องกัน

รู้ไหม? ปี 2567 ประเทศไทย มีประมาณการณ์ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสูงกว่า 11 ล้านราย หรือคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งประเทศ! แม้ว่าโรคไตจะไม่ใช่สาเหตุอันดับต้นๆ ในการเสียชีวิตของผู้ป่วย แต่ก็นับเป็นโรคเรื้อรัง ที่หากเป็นแล้ว ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงการประคับประคองอาการ หรือชะลอไม่ให้โรครุนแรงขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมก่อนวัย

ถ้าไม่อยากป่วยเป็นโรคไต มาทำความรู้จัก โรคไตโดยละเอียด ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีกี่ระยะ วิธีสังเกตอาการไตเสื่อมในเบื้องต้น การป้องกัน รวมทั้งวิธีรักษา เรารวบรวมเอาไว้แล้วในบทความนี้

ไต คืออะไร หน้าที่ สำคัญอย่างไร?

ไต (Kidneys) เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกาย จัดอยู่ในระบบขับถ่ายปัสสาวะ (Urinary System) มีลักษณะคล้ายถั่ว ขนาดประมาณกำปั้น หรือ 10-13 เซนติเมตร จำนวน 2 ข้าง อยู่บริเวณบั้นเอว

หน้าที่สำคัญของไต มี 3 ประการหลักๆ ได้แก่

  • กำจัดของเสียต่างๆ ผ่านทางปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี วิตามินหรือเกลือแร่ที่เกินความจำเป็นต่อร่างกาย หรือโปรตีนส่วนเกินที่เหลือจากกระบวนการเผาผลาญพลังงาน โดยแปลงเป็นของเหลวที่มีชื่อว่า ยูเรีย (Urea) และขับออกในรูปของน้ำปัสสาวะ 
  • สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต เสริมสร้างกระดูก กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เป็นต้น

ทั้งนี้การทำงานของไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยร่างกายไม่สามารถสร้างทดแทนส่วนที่เสื่อมไปได้ ซึ่งหากไตเสื่อมการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดโรคไตเสื่อม หรือไตวายตามมา

โรคไต ไตเสื่อม ไตวาย คืออะไร มีกี่ระยะ?

โรคไต (Kidney Disease) คือ โรคที่เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ หรือเสื่อมถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบ เช่น ทำให้สารพิษบางส่วนตกค้างในร่างกาย เกิดภาวะการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ ฮอร์โมน และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

ไตวายเฉียบพลัน VS ไตวายเรื้อรัง คืออะไร ต่างกันอย่างไร?

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไตที่พบได้บ่อยคือ ภาวะไตวาย ซึ่งภาวะไตวายนี้ ยังแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ โรคไตวายเฉียบพลัน และโรคไตวายเรื้อรัง

1. ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 1-2 วันเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

    • ร่างกายสูญเสียสารน้ำหรือเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง เช่น ท้องเสียรุนแรง หากไม่ได้รับน้ำหรือเกลือแร่ได้ทันเวลา อาจทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้
    • ร่างกายสูญเสียเลือดปริมาณมาก เช่น ประสบอุบัติเหตุ การคลอดบุตรที่ผิดปกติ เกิดจากโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับการรักษา จนเกิดภาวะ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด แล้วไม่ได้รับเลือดอย่างรวดเร็ว ทันเวลา จนเกิดภาวะช็อก ไตได้รับเลือดไม่เพียงพอ
    • ร่างกายได้รับสารพิษ ซึ่งอาจเกิดได้จากแมลง สัตว์ กัด ต่อย การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด การได้รับสารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง เป็นต้น การกินยาแก้ปวดบางชนิดที่เป็นพิษต่อไต หรือการฉีดยาแก้อักเสบบางชนิดติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ 
    • ร่างกายติดเชื้อที่รุนแรง จนเกิดภาวะช็อก ทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ 

ภาวะไตวายเฉียบพลันนี้ ถือเป็นภาวะที่ร้ายแรง ต้องได้รับการรักษาในทันที ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยา หรือหากร่างกายไม่ตอบสนอง ก็จะใช้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อกำจัดของเสียหรือสารพิษออกไปโดยเร็ว จนกว่าไตจะเริ่มฟื้นตัว มักใช้เวลารักษาสั้นๆ ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ไตก็จะเริ่มกลับมาทำงานได้ตามปกติ

2. โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมการทำงานลงอย่างช้าๆ มักใช้เวลานานเป็นปีๆ ซึ่งการเสื่อมในรูปแบบนี้ ไตจะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ เหมือนภาวะไตวายเฉียบพลัน ต้องใช้วิธีรักษาโดยการประคับประคองอาการ ให้ไตเสื่อมลงช้าที่สุด

โรคไตวายเรื้อรังนี้ คือ ‘โรคไตเสื่อม หรือโรคไต’ ที่เราคุ้นเคยกันดี และเป็นโรคที่จะพูดถึงในบทความนี้นั่นเอง

โรคไต ไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง มีกี่ระยะ?

การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังนั้น จะใช้ ค่าอัตราการกรองของเสียของไต เป็นเกณฑ์ หรือเรียกว่าค่า eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate) คือ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที (หน่วย มล./นาที/1.73 ตร.ม.)โดยมีเกณฑ์การแบ่งระยะของโรค เป็น 5 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ค่า eGFR > 90 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่อัตราการกรองยังปกติ
  • ระยะที่ 2 ค่า eGFR 60-89 หมายถึง ไตมีภาวะผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย
  • ระยะที่ 3a ค่า eGFR 45-59 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ระยะที่ 3b ค่า eGFR 30-44 อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก
  • ระยะที่ 4 ค่า eGFR 15-29 อัตราการกรองลดลงมาก
  • ระยะที่ 5 ค่า eGFR < 15 ไตวายระยะสุดท้าย

สาเหตุของโรคไต ไตวายเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของไตเอง เกิดจากผลกระทบจากโรคอื่นๆ หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

  • มีโรคประจำตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเก๊าท์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง 
  • เกิดความผิดปกติที่ไต เช่น โรคไตอักเสบ โรคถุงน้ำที่ไต หรือมีภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ 
  • เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ที่มีเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือมีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง 
  • มีภาวะไตผิดปกติ หรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น มีไตข้างเดียว ไตฝ่อ เป็นต้น
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ มีโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต
  • ดื่มน้ำน้อย เกิดภาวะขาดน้ำจนไตทำงานบกพร่อง
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของหมักดอง น้ำซุป น้ำจิ้ม
  • รับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ติดต่อกันเป็นเวลานาน 

ทั้งนี้ตามปกติ ไตจะเสื่อมการทำงานลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น คือส่วนสำคัญที่เร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น จนเกิดโรคไตเรื้อรังในที่สุด

อาการของโรคไต โรคไตวายเรื้อรัง

ส่วนใหญ่โรคไตวายเรื้อรังในระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าไตจะเสื่อมการทำงานไปมากกว่า 50% ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่ผู้ป่วยจะเริ่มมาพบแพทย์ มีดังนี้

  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง หรือมีเลือดปน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ขาบวม เท้าบวม หรือใบหน้าบวม เมื่อลองกดแล้วเนื้อบุ๋มลงไป ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีเกลือ หรือน้ำคั่งในร่างกาย
  • รู้สึกปวดบริเวณหลัง หรือบั้นเอว
  • ความดันโลหิตสูง
  • รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • รู้สึกขมปาก เบื่ออาหาร
  • คันตามร่างกาย
  • ในผู้หญิงอาจประจำเดือนมาผิดปกติ ในผู้ชายการสร้างอสุจิอาจลดลง ความรู้สึกทางเพศลดลง

กรณีไตวายระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย อาจแสดงอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้น เช่น กินอาหารไม่ได้ จนมีภาวะขาดสารอาหาร โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สะอึก ตัวบวม เหนื่อยหอบ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจจะซึม ไม่รู้สึกตัวและชัก จนอาจเสียชีวิตได้

ฉี่บ่อยตอนกลางคืน ขาบวมผิดปกติ เบื่ออาหาร…อาการแบบนี้ ใช่โรคไตวายเรื้อรัง หรือเปล่า อยากปรึกษาคุณหมอให้มั่นใจ ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางได้ที่นี่

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคไต ไตวายเรื้อรัง

วิธีการตรวจคัดกรองโรคไตในเบื้องต้นนั้น ทำได้โดยการ ตรวจการทำงานของไต (Kidney Function Tests) ซึ่งมีทั้งการตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพในการทำงาน และตรวจหาความผิดปกติ โดยค่าไตที่นิยมตรวจได้แก่

  • การตรวจเลือดหาค่า BUN (Blood Urea Nitrogen)
  • การตรวจเลือดหาค่า Creatinine
  • การตรวจเลือดหาค่า eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate)
  • การตรวจปัสสาวะเบื้องต้น (Urine Examination)
  • ตรวจปัสสาวะหาค่า UMA (Urine Microalbumin)

นอกจากนี้ในแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไตอาจมีการตรวจหาค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไตด้วย เช่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA1C) เป็นต้น และอาจมีการตรวจอัลตราซาวด์ดูลักษณะของไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ เพิ่มเติม

ตรวจไต ต้องตรวจอะไรบ้าง ค่าเลือด ค่าปัสสาวะแต่ละค่า หมายความว่าอะไร อ่านบทความเจาะลึกเกี่ยวกับการตรวจไตได้ที่นี่ อ่านต่อคลิกเลย

วิธีรักษาโรคไต ไตวายเรื้อรัง

การรักษาโรคไต หรือภาวะไตวายเรื้อรังนั้น มีวิธีที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระยะของโรคที่เป็น ร่วมทั้งโรคร่วมที่มีอยู่ด้วย โดยแนวทางการรักษาแบ่งเป็น 3 แนวทางหลักๆ ได้แก่

  • การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต วิธีนี้แพทย์จะโดยการรับประทานยา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 
  • จำกัดปริมาณการกินโปรตีน โดยแนะนำให้เลี่ยงเนื้อแดง เช่น หมู เนื้อวัว เน้นรับประทานโปรตีนจากปลา หรือไข่ขาวแทน 
  • ลดการบริโภคอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็มจัด หวานจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง 
  • ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน
  • เลิกสูบบุหรี่ 
  • ลดน้ำหนัก 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • หลีกเลี่ยงการกินยาสมุนไพร อาหารเสริมทุกชนิด หรือซื้อยากินเอง เพราะอาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
  • ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น คุมระดับน้ำตาล คุมระดับความดันโลหิต คุมระดับไขมันให้ปกติ
  • การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต วิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ไตทำงานได้น้อยมาก โดยวิธีที่แพทย์แนะนำมักเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ จะต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจการทำงานของไต และติดตามอาการ หากมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์อาจปรับเปลี่ยนวิธีรักษา หรือปรับยาเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ให้เสื่อมช้าลงที่สุด

วิธีป้องกันโรคไต ไตวายเรื้อรัง

โรคไตเป็นโรคเรื้อรัง ที่รักษาไม่หาย หากไตเสื่อมแล้ว จะไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมการทำงาน จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ 
  • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น หมูยอ กุนเชียง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งของหมัก ของดองต่างๆ เพราะมักใช้เกลือเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด เลี่ยงการซดน้ำซุป น้ำจิ้ม ลดการใส่เครื่องปรุงเพิ่มในอาหาร เช่น น้ำปลา น้ำตาล เป็นต้น
  • ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ 
  • งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามค่าไต และความผิดปกติอื่นๆ ในภาพรวม

โรคไต เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และเป็นโรคเรื้อรังที่หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงชะลอไม่ให้เสื่อมลงเท่านั้น และหากอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว ขั้นตอนการรักษา เช่นการฟอกไต จะกระทบกับการใช้ชีวิตอย่างมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต 

ทั้งนี้สาเหตุของโรคไตล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ดังนั้นถ้าเริ่มปรับพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ ที่ไตยังมีสุขภาพดีอยู่ จะช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังได้ดีที่สุด

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไตไหม? อยากคุยกับคุณหมอ นัดตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top