breast cancer screening selfcheck

วิธีตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self-examination) เป็นหนึ่งในวิธีตรวจสุขภาพเต้านมเบื้องต้นที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ และเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย เพราะมักเป็นวิธีการที่ทำให้ตรวจพบก้อนที่เต้านมเป็นครั้งแรก จนนำไปสู่การไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และวางแผนรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม การตรวจเต้านมด้วยตนเองมีขั้นตอนอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย!

ตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยตนเองได้ไหม?

เราสามารถตรวจความผิดปกติของเต้านม ด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ เนื่องจากความผิดปกติในเต้านมส่วนใหญ่ มักมีอาการที่สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ ไม่ว่าจะเป็น ก้อนที่เต้านม มีของเหลวไหลออกจากเต้านม หัวนมบุ๋ม มีการดึงรั้ง สีผิว หรือขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลงไปจนเห็นได้ชัด เป็นต้น

ข้อจำกัดในการตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยตัวเอง

แม้ว่าเราจะตรวจเต้านมด้วยตนเองได้ แต่อาการผิดปกติส่วนใหญ่ที่ตรวจพบ อาจเป็นอาการของโรคในระยะที่เริ่มรุนแรงแล้ว ดังนั้นแม้จะตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็ควรต้องเข้ารับการตรวจเต้านมเป็นประจำ ตามช่วงวัยที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอด้วย

ควรเริ่มต้นตรวจความเต้านมตัวเองตอนไหน? เมื่อไหร่ต้องไปตรวจที่ รพ.

ผู้หญิงควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง เมื่ออายุครบ 20 ปีขึ้นไป โดยควรตรวจอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนการตรวจสุขภาพเต้านมทางการแพทย์โดยทั่วไป จะมีรายละเอียดดังนี้

  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านม ควรเข้ารับการตรวจเมื่ออายุครบ 20 ปี โดยตรวจทุก 3 ปี และหลังจากอายุครบ 40 ปีแล้ว ให้ตรวจทุก 1 ปี
  • ตรวจแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวด์ ควรตรวจหลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยตรวจทุก 1-2 ปีแต่ถ้ามีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ จะต้องตรวจเร็วกว่ากำหนด โดยให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุญาติที่พบมะเร็ง นำมาลบออก 5 ปี เช่น หากญาติตรวจพบมะเร็งช่วงอายุ 35 ปี เราก็ควรเริ่มตรวจแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวด์ เมื่ออายุ 30 ปี เป็นต้น
  • ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แพทย์จะให้ตรวจในรายที่มีความเสี่ยงสูง หรือเต้านมมีความหนาแน่นมาก ซึ่งวิธีนี้จะมีโอกาสตรวจพบมะเร็งได้มากกว่าแมมโมแกรม

3 วิธีตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยตนเอง

สำหรับผู้หญิงที่มีอายุครบ 20 ปีแล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองวิธีไหนดี สามารถนำ 3 ท่าตรวจเต้านมด้านล่างนี้ไปปรับใช้ได้เลย

1. ตรวจเต้านมขณะอาบน้ำ

  • ผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็ก ให้ยกแขนข้างที่จะตรวจเต้านมขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำบริเวณเต้านม โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ (ห้ามบีบเนื้อเต้านม) หลังจากนั้นให้สลับไปทำอีกข้าง
  • ผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่ ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจประคองด้านล่าง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำจากด้านบน
  • หลังจากที่ตรวจเสร็จแล้ว ให้บีบลานนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่

ตรวจเต้านมขณะอาบน้ำ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

2. ตรวจเต้านมขณะยืนหน้ากระจก

  • ยืนตรงหน้ากระจก ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวสบายๆ แล้วสังเกตดูว่า เต้านมทั้งสองข้างมีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติอื่นๆ หรือไม่
  • จากนั้นให้ยกแขนเหนือศีรษะ และโน้มตัวไปด้านข้างหน้า แล้วดูว่ามีการดึงรั้งของหัวนมหรือไม่
  • คลำเต้านมเพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยจะมีอยู่ 3 ท่า ดังนี้
    1. คลำในแนวก้นหอย ให้เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านม เริ่มจากบริเวณใกล้หัวนม วนตามแนวก้นหอยจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
    2. คลำในแนวรูปลิ่ม ให้เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วกลับขึ้นสู่ยอด ทำไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
    3. คลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม ให้เริ่มคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วเต้านม

3 ท่า คลำตรวจเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

3. ตรวจเต้านมด้วยท่านอนราบ

  • นอนราบบนเตียงนอน จากนั้นให้ยกแขนข้างที่ตรวจเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ
  • ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างหนึ่ง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้
  • ในระหว่างที่คลำ ห้ามบีบเต้านมเด็ดขาด เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจลก้อนเนื้อ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้
  • เมื่อตรวจเสร็จแล้ว ให้สลับไปทำอีกข้างหนึ่ง

วิธีตรวจเต้านมด้วยท่านอนราบ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ความผิดปกติในเต้านมที่ต้องไปพบแพทย์ทันที

หากตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว พบความผิดปกติเหล่านี้ ให้รีบไปแพทย์ทันที

  • ตรวจพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ ไม่ว่าจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือไม่ก็ตาม
  • ผิวหนังบริเวณเต้านม หรือรักแร้เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการนูนของผิว บวมแดง ร้อน มีรอยบุ๋ม มีการหดรั้ง หรือมีผิวเหมือนเปลือกส้ม
  • มีอาการคัน หรือมีผื่นขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม
  • หัวนมบุ๋ม หรือมีการดึงรั้งเข้าไป
  • มีของเหลวไหลออกจากหัวนม ไม่ว่าจะเป็น สีใส สีขุ่น สีดำ เลือด หรือน้ำนม
  • มีแผลเรื้อรังบริเวณเต้านมและหัวนม

เช็กให้ชัวร์ ต้องตรวจเต้านมโดยแพทย์ที่โรงพยาบาลชั้นนำ

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นเพียงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจะตรวจพบก็ต่อเมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มก่อตัวเอ็นก้อนเนื้องอก หรือเข้าสู่ระยะที่ 1 หรือ 2 แล้ว ส่งผลให้รักษาได้ยากขึ้น เพื่อการดูแลสุขภาพเต้านมที่ดีที่สุด แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตามช่วงวัยที่เหมาะสม เช่น การทำแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์ แม้ว่าจะมี หรือไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม

สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top