ปวดหัวเหมือนโดนบีบขมับ วิธีแก้รักษาปวดขมับ ?

ปวดศีรษะเหมือนมีใครมาบีบขมับ ปวดบริเวณขมับ เป็นหนึ่งในอาการปวดหัวที่หลายคนเคยเจอ และมีคนปรึกษาแพทย์บ่อยมาก บางรายเจ็บรุนแรง หรือปวดต่อเนื่อง หากทานยาบรรเทาอาการปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างที่เกียวกับศีรษะและสมอง การกินยาแก้ปวดหัวเป็นวิธีแก้แค่เบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถรักษาบางโรคได้ ต้องตรวจโดยละเอียด วิธีแก้ปวดหัวเหมือนโดนบีบ ต้องทำอย่างไร ตอบโดยแพทย์

ปวดหัวบริเวณขมับทั้งสองข้าง

มีอาการปวดหัวบริเวณขมับทั้งสองข้าง มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว คล้ายเป็นไข้แต่ไม่มีไข้ ควรต้องทานยาอะไรและดูแลสุขภาพอย่างไรครับ ?

การวินิจฉัยปวดหัว ควรต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายจากเเพทย์ครับ เนื่องจากปวดหัวมีได้หลายโรคมาก บางครั้งมีสาเหตุซ่อนอยู่ บางครั้งก็ไม่มีสาเหตุ

1. การปวดหัวที่ไม่ได้มีพยาธิสภาพซ่อนอยู่ พวกนี้มักไม่ได้อันตราย เเต่จะรำคาญ รบกวนชีวิตประจำวัน เช่น

  • ไมเกรน พวกนี้มักจะปวดหัวข้างเดียว (หรือสองข้างก็ได้) เเบบตุ้บๆ เหมือนชีพจรเต้นได้ มีคลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการเช่น เห็นเเสงวาบ ได้ยินเสียงผิดปกติ
  • ปวดหัวเเบบ Tension จะปวดเหมือนมีอะไรมารัดหัว หนักหัว ปวดขมับได้ หรือเส้นเลือดบริเวณขมับอักเสบ พวกนี้ปวดตุ้บๆ ที่ขมับได้ เเต่มักเกิดในคนอายุเยอะ มีอาการร่วมเช่นปวดกรมเวลาเคี้ยว ตาดับมองไม่เห็นบางครั้ง เห็นภาพซ้อน ไข้ต่ำๆครับ
  • ปวดเส้นประสาทใบหน้า พวกนี้จะปวดเเปล๊บๆ ปวดเเสบร้อน ตามเเนวเส้นประสาท ตามหน้าผาก ตามกราม
  • ปวดหัวเเบบ Cluster จะปวดทั่ว มักมีอาการเช่นคัดจมูก น้ำตาไหลร่วมด้วย

ปวดหัวอื่นๆ เช่น

  • ปวดกล้ามเนื้อเเล้วร้าวมาหัว เช่น Myofascial pain syndrome พวกนี้จะเกิดในคนนั่งทำงานออฟฟิซ อาการคือจะมีปวดคอปวดบ่าปวดท้ายทอย ร้าวมาศีรษะได้ ซึ่งกรณีนี้ ควรพบเเพทย์สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู พิจารณาฝังเข็มครับ (Dry needling)
  • ปวดหัวจากการใช้สายตามาก สายตาล้า มีสายตาสั้นอยู่เดิม
  • หรือสาเหตุจากโรคอื่นๆเช่น ไซนัสอักเสบ บางทีมีไข้ เช่นพวกไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ก็มีปวดหัวทั่วๆ ได้

พวกนี้กินยาจะพอบรรเทาได้ครับ หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ถ้าอาการเป็นเเบบกลุ่มนี้หาเวลาไปพบเเพทย์ครับ

2. การปวดหัวที่อาจมีพยาธิสภาพ เช่น ปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งวันหลังๆ ยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อย มีไข้สูง มีเเขนขาอ่อนเเรงยกไม่ขึ้นมีปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว หรือปวดมากจนทนไม่ไหวเลยใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ หรือมีประวัติศีรษะกระเเทกรุนเเรงมาก่อน พวกนี้ต้องไปพบเเพทย์ทันทีครับ อาจมีพยาธิสภาพซ่อนอยู่ เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเลือดออกในสมองเป็นต้นครับ

เบื้องต้นถ้าไม่ได้มีอาการอันตราย ลองซื้อยา Paracetamol มารับประทาน ถ้ายังไม่หาย ปวดศีรษะไม่ทุเลา เเนะนำ หาเวลาไปพบเเพทย์ครับ

ยาบรรเทาอาการปวดหัวอีกกลุ่มที่พอใช้ได้ เเละสามารถซื้อได้จากร้านขายยา คือ ยากลุ่ม NSAID เช่น Ibuprofen Naproxen Etoricoxib Celecoxib

แต่ต้องระวัง คือห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่สงสัยภาวะไข้เลือดออกครับ อาการคือ ไข้ ปวดหัวทั่วๆ ปวดกระบอกตา ปวดตัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น

ถ้าสงสัยไข้เลือดออกเเนะนำให้พบเเพทย์ เเละกินยา Paracetamol จะปลอดภัยกว่าครับ

ถ้ามีอาการเเพ้ยา เช่น ปากบวม ผื่นลอก หายใจลำบาก ให้พบเเพทย์ทันที

ตอบโดย นพ. วชิรวิทย์ สุทธิศักดิ์

ปวดศีรษะเป็นได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น ปวดศีรษะจากความเครียด โดยลักษณะการปวดจะเป็นบีบรัดรอบศีรษะ อาจมีปวดท้ายทอย ร้าวมาที่ขมับ เบ้าตาได้ครับ, ปวดศีรษะจากไมเกรน โดยลักษณะการปวดจะปวดข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ แบบตุบๆ มักปวด เป็นๆหายๆ แต่ละครั้งนานประมาณ 4-72 ชม. คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยได้ ไม่ชอบอยู่ในที่มีแสงสว่างและเสียงดัง และอาจมีอาการเตือน เช่น แสงกระพริบ/ซิกแซก ตาพร่ามัว เป็นต้นครับ

ถ้าอาการเหมือนปวดศีรษะจากความเครียด เบื้องต้นลองผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ อาจลองรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล (ถ้าไม่ได้เป็นโรคตับ)

ถ้าไม่ดีขึ้น อาการเหมือนโรคไมเกรน หรือมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ปวดศีรษะมากแบบไม่เคยปวดมาก่อน มีอาเจียนพุ่ง แขนขาอ่อนแรง ชัก สับสน มีไข้ เบื่ออาหารน้ำหนักลด มีประวัติอุบัติเหตุทางศีรษะและคอก่อนปวด อาการปวดรบกวนการนอนจนต้องตื่นขึ้นมาเพราะปวดศีรษะ อายุมากกว่า 50 ปี มีโรคประจำตัวเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง มะเร็ง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันอยู่ แนะนำไปพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย อย่างละเอียดจะดีกว่าครับ เพื่อแยกโรคปวดศีรษะที่ร้ายแรงอื่นๆ ครับ

ตอบโดย นพ. ชินไตร ถาวรลัญฉ์

วิธีแก้ปวดหัวเหมือนโดนบีบ

มีอาการปวดหัวข้างเดียวตามขมับ รู้สึกหนักๆหัว และรู้สึกจี๊ดๆจากเบ้าตาถึงท้ายทอยค่ะ เหมือนโดนบีบหัว เป็นบ่อยครั้งเวลาที่อากาศเย็นไป ร้อนไป และรวมถึงเวลาที่ได้กลิ่นธูป อยากทราบการรักษาค่ะ หรือวิธีบรรเทา ?

อาการปวดศีรษะ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น

  • มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อศีรษะที่มากเกินไป จะทำให้มีอาการปวดศีรษะแบบบีบๆ และอากรก็มักสัมพันธ์กับความเครียด การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
  • โรคไมเกรน จะทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตุ้บๆข้างเดียว โดยที่อาการปวดอาจมีการสลับข้างได้ในแต่ละครั้ง อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย การมองเห็นแสงสว่างหรือได้ยืนเสียงดังๆอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
  • ไซนัสอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดตามโพรงไซนัส เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม มักมีอาการคัดแน่นจมูก มีน้ำมูกเหนียวข้นร่วมด้วย
  • มีความผิดปกติภายในสมองบางอย่าง มักจะทำให้มีอาการปวดศีรษะอยู่ที่ตำแหน่งเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่ง อาจมีอาการปวดรุนแรงจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก อาจทำให้มีอาการตามัว เห็นภาพไม่ชัด มีอาการอาเจียนร่วมด้วยได้

ในกรณีนี้ หมอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์อายุรกรรมเพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อนเพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์

ปวดหัวเหมือนโดนบีบ

อาการปวดศีรษะปวดเหมือนมีอะไรมากดทับเกิดจากสาเหตุอะไรคะ ?

ปวดศีรษะเป็นอาการที่มีคำถามพบบ่อยและเป็นหนึ่งในอาการที่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์มากที่สุด สาเหตุอาจเกิดจากโรคร้ายแรง เช่น เนื้องอกในสมอง หรือความดันในสมองสูง ซึ่งพบได้น้อยกว่า และมักมีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว หรือลานสายตาแคบลงจนทำให้เดินชนสิ่งต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะเรื้อรังที่เป็น ๆ หาย ๆ พบได้บ่อยกว่า เช่น ปวดตุบ ๆ ปวดต้นคอ ปวดขมับ ปวดเบ้าตา หรือปวดศีรษะข้างเดียว อาการเหล่านี้พบได้มากกว่า 80% ของผู้ที่มาปรึกษาแพทย์

หากมีอาการปวดตาหรืออาการเกี่ยวกับสายตา ควรตรวจสายตาว่ามีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียงหรือไม่ และหากใช้สายตาในการอ่านหนังสือหรือเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ด้วยการมองไปไกล ๆ หรือหลับตา

อาการปวดศีรษะอาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ซึ่งมักเกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวล หากเครียดมาก อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น หน้ามืด หรือวูบได้ อีกทั้งอาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น นอนไม่หลับ

การรักษาเบื้องต้นสามารถใช้ยาแก้ปวดศีรษะที่ไม่อันตราย เช่น พาราเซตามอล ในระยะยาว ควรหาวิธีจัดการกับความเครียด เช่น การทำสมาธิ การฝึกไบโอฟีดแบค หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพกายและจิตดีขึ้นและลดอาการปวดศีรษะได้ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด

ตอบโดย นพ. ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล (หมอเปี๊ยก)


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top