ความดันโลหิตสูง อาการ สาเหตุ วิธีการรักษา แนวทางป้องกัน

ก่อนจะรู้จักนิยามของภาวะความดันโลหิตสูง มาทำความรู้จัก “ความดันเลือด” (blood pressure หรือ BP) กันก่อน ความดันเลือด คือความดันจากเลือดแดง ซึ่งตรวจพบได้จากการหมุนเวียนของระบบเลือดภายในผนังหลอดเลือด เป็นตัวแสดงให้เห็นถึงสัญญาณชีพจรว่าร่างกายกำลังทำงาน มีการถ่ายเทออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

สารบัญ

ความหมายของภาวะความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูง จึงหมายถึง การที่ค่าความดันในหลอดเลือดแดงมีค่าสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งหากค่าความดันโลหิตยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างต่อร่างกายได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น

ความหมายของความดันเลือด

“ความดันเลือด คือ ความดันที่เกิดขึ้นจากการไหลเวียนของ “เลือดแดง” ภายในร่างกาย ซึ่งจะพาดผ่านเส้นเลือดหัวใจแต่ละเส้น จะมีความดันสูงสุดเมื่อหัวใจบีบตัว และความดันต่ำสุดเมื่อหัวใจคลายตัว

ถ้าเราต้องการตรวจวัดระดับความดันเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ จะตรวจจากความดันเลือดเฉลี่ยในการไหลเวียนเลือดจากการสูบของหัวใจที่มีการบีบและคลายตัว ความดันเฉลี่ยที่พบจึงขึ้นอยู่กับความดันเลือด และความต้านทานภายในหลอดเลือด

ค่าความดันเลือด

การตรวจวัดความดันโลหิตจะแปลผลได้ 2 ค่า มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตรปรอท ได้แก่

  • ค่าความดันซิสโทลิก (Systolic Pressure) คือค่าความดันในเส้นเลือดแดงเมื่อหัวใจบีบตัว
  • ค่าความดันไดแอสโทลิก (Diastolic Pressure)) คือค่าความดันในเส้นเลือดแดงช่วงที่หัวใจคลายตัว

ตัวอย่างค่าความดันเลือด 120/80

ค่า 120 คือความดันซีสโตลิก ส่วนค่า 80 คือความดันไดแอสโตลิก

การวัดความดันจะวัดที่แขนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแขนซ้ายหรือแขนขวา ล้วนให้ค่าความดันเท่ากัน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถตรวจพบว่าร่างกายมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นในผนังเลือด หรือหัวใจหรือไม่ หากค่าความดันที่ตรวจวัดได้นั้นไม่ตรงตามค่ามาตรฐาน

อย่างไรก็ตามคนปกติก็สามารถตรวจพบความดันเลือดสูงได้ เช่นในช่วงออกกำลังกาย เป็นไข้ ตื่นเต้น โกรธ หวาดกลัว หรือกินยาบางชนิด ดังนั้นในการตรวจจึงอาจจะต้องวัดซ้ำอีกครั้งในสภาวะปกติเพื่อยืนยันความดันที่แน่นอน

ภาวะความดันโลหิตสูงพบได้บ่อยเพียงใด?

ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว ประชากร 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่หรือประชากรมากกว่า 76 ล้านคนได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง

อาการของโรค ในระยะแรกผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงจะไม่มีอาการ แต่อาจพบว่ามีความดันเลือดสูงเป็นครั้งคราว เนื่องจากอาการของโรคจะเกิดกับหลอดเลือดในหัวใจ ไต สมอง และตาอย่างช้า ๆ และจะมีไขมันมาเกาะหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น เอออร์ตา หลอดเลือดแดงโคโรนารี เป็นต้น ทำให้ผนังชั้นในตีบแคบ และเลือดที่ต้องไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะลดลง หลอดเลือดอาจฉีกขาดทำให้มีเลือดออก

1. ความดันเลือดสูงปฐมภูมิ หรือความดันเลือดสูงชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Essential หรือ Primary hypertension) พบมากกว่าร้อยละ 90 เกิดจากเลือดไปปะทะกับผนังของหลอดเลือด

การควบคุมความดันเลือดเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับการควบคุมของไตและระบบประสาท โดยไตควบคุมการคั่งของน้ำและโซเดียม ส่วนระบบประสาทควบคุมความตึงตัวของหลอดเลือด ตามปกติ ความดันเลือดในหลอดเลือดแดง (Arterial blood pressure: ABP หรือ BP) จะเกิดจากความต้านทานปลายทางรวมของหลอดเลือด (Total peripheral resistance; TPR) และปริมาตรเลือดที่หัวใจบีบออกจากหัวใจต่อนาที (Cardiac output; CO) 

CO จะเพิ่มขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับอัตราการเต้นของหัวใจใน 1 นาที (Heart rate: R) และปริมาตรเลือดที่หัวใจบีบออกมาในแต่ละครั้ง (Stroke volume: SV) หรือทั้ง 2 อย่าง

ความต้านทานปลายทางของหลอดเลือดสามารถเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ความหนืดของเลือดเพิ่มขึ้น ขนาดของหลอดเลือด เป็นต้น หากหลอดเลือดหดตัวจะทำให้ความต้านทานของหลอดเลือดสูง หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลผ่านไปได้ ส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้น

แต่หากหลอดเลือดขยายความต้านทานของหลอดเลือดจะลดลง และความดันเลือดจะลดลงตามไปด้วย ดังสมการ ต่อไปนี้

  • BP = CO x TPR
  • CO = SV x HR

การหดตัวหรือขยายตัวของหลอดเลือดส่วนปลายจะควบคุมโดยระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System: SNS) และระบบเรนินแองจิโอเทนซิน (renin-angiotensin system: RAS) เมื่อระบบประสาทซิมพาเทติกถูกกระตุ้น จะมีการหลั่งสารแคทีโคลามีน (Catecholamines) เช่น อิพิเนฟริน นอร์อิพิเนฟริน เป็นต้น ซึ่งจะไปกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวมากขึ้น ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจและแรงบีบตัวของหัวใจห้องล่างเพิ่มขึ้น

ส่วนระบบเรนินแองจิโอเทนซินนั้น เรนินเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากไต ซึ่งจะเปลี่ยนแองจีโอเทนซินที่สร้างมาจากตับให้เป็นเองจิโอเทนซิน 1 และจะถูกเปลี่ยนเป็นแองจิโอเทนซิน 2 โดยเอนไซม์ทำให้หลอดเลือดหดตัว และควบคุมการหลั่งอัลโดสเตอโรน หากมีการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก แองจิโอเทนซิน 2 จะยับยั้งการขับโซเดียมออก ซึ่งความดันเลือดจะสูง ส่วนการหลั่งเรนินออกมามากจะทำให้ความต้านทานปลายทางรวมของหลอดเลือดสูงขึ้นจากปอด

2. ความดันเลือดสูงทุติยภูมิ หรือความดันเลือดสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ (secondary hypertension) เกิดจากความผิดปกติหรือโรคบางอย่าง ที่ทำให้มีการหลั่งแคทีโคลามีนและเรนินเพิ่มขึ้น รวมถึงโรคที่ทำให้น้ำ และโซเดียมคั่งในร่างกายมากขึ้น ความผิดปกติที่สำคัญซึ่งมีผลทำให้ความดันเลือดสูง มีดังนี้

   2.1 ความผิดปกติที่ไต เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันเลือดสูงทุติยภูมิมากที่สุด จะพบมากในเด็ก โดยอาการของโรคดังกล่าวจะไปกระตุ้นการทำงานของระบบเรนินแองจิโอเทนซิน และอัลโดสเตอโรน มีผลทำให้เกิดการคั่งของน้ำและโซเดียมเพิ่มขึ้น เช่น การตีบของหลอดเลือดแดงที่ไต เนื้องอกที่ไต (Wilms’ tumor) การอักเสบที่ไต (Glomerulonephritis) เป็นต้น

   2.2 ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ มีดังนี้

  • ความผิดปกติของต่อมหมวกไต ทำให้เกิดความดันเลือดสูงทุติยภูมิได้ ซึ่งมาจากการผลิตอัลโดสเตอโรนคอร์ติซอล และแคทีโคลามีนที่มากเกินไป โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต (Primary aldosterone) ก็ทำให้ความดันเลือดสูงได้เช่นกัน เนื่องจากส่วนคอร์เท็กซ์ของต่อมหมวกไตจะมีการหลั่งอันโดสเตอโรนออกมามาก ทำให้โซเดียมคั่ง พลาสมามีปริมาตรเพิ่มขึ้นนอกจากนี้โรค Cushing’s syndrome ก็ทำให้ความดันเลือดสูงได้เช่นกัน เนื่องจากคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตในส่วนคอเท็กซ์ทำให้โซเดียมเกิดคั่ง แองจิโอเทนซิน 2 เพิ่มขึ้น และเกิดการตอบสนองของหลอดเลือดต่ออิพิเนฟริน ส่วนโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตส่วนเมดัลลา (Pheochromocytoma) ทำให้ความดันเลือดสูงชนิดร้ายแรงได้ เพราะมีการหลั่งอิพิเนฟรินและนอร์อิพิเนฟรินออกมามากเกินไป ทำให้หลอดเลือดหดตัว
  • ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ เช่น โรคร่างกายสูงใหญ่ไม่สมส่วน (Acromegaly) ทำให้มีอัลโดสเตอโรนมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการคั่งของน้ำและโซเดียม
  • ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยหรือมากเกินไป (Hypothyroidism หรือ Hyperthyroidism)
  • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ภาวะที่มีเลือดออกในสมอง (Intracranial hemorrhage) ทำให้มีความดันในสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีความดันเลือดสูงขึ้น

   2.3 การใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น Sympathomimetics amines, Glucocorticoids, Cyclosporin, Amphetamine, Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เอสโตรเจนเป็นต้น

   2.4 การตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of pregnancy)

สาเหตุของโรคความดันเลือดสูง

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน คือ

  1. เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้เป็นไปได้สูงมาก ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันสูงอยู่แล้ว โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากเป็นเครือญาติที่ใกล้ชิด
  2. เกิดจากโรคอ้วนหรือร่างกายมีน้ำหนักที่เกินตัว เนื่องจากโรคชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดต่างๆ จนทำให้เกิดภาวะตีบจากไขมันที่ไปเกาะผนังหลอดเลือด เมื่อเกิดโรคชนิดนี้ขึ้นในร่างกาย จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้ง่าย
  3. เกิดจากการเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากโรคชนิดนี้จะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์ และฮอร์โมนที่มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต
  4. เกิดจากการมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีปริมาณสารพิษอยู่ในควันสูงมาก โดยสารพิษนี้จะส่งผลทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการตีบตันของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดไต อีกทั้งยังส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจด้วย
  5. เกิดจากการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราจะส่งผลทำให้หัวใจของคนเราเกิดภาวะเต้นเร็วกว่าปกติ และส่งผลต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุรา
  6. เกิดจากการทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำ เพราะความเค็มที่ร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
  7. เกิดจากการไม่หมั่นออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายจะส่งผลต่อการเป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวานได้ หากเผชิญกับโรคทั้งสองชนิดนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้
  8. เกิดจากผลข้างเคียงของการทานยา เช่น การทานยาที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์

ยาที่มีผลต่อโรคความดันโลหิตสูง  

การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการเจ็บป่วยหรือภาวะต่างๆ เช่น ข้ออักเสบ ชัก หรือยารักษาไข้หวัด ภูมิแพ้เหล่านี้สามารถส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และยาดังกล่าวยังสามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการรักษาของยาลดอาการความดันโลหิตสูงให้แย่ลงได้ ยาที่มีผลต่อความดันโลหิต ประกอบด้วย

1. สเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาสำหรับลดอาการอักเสบ มักถูกจ่ายเพื่อรักษาภาวะข้ออักเสบ หอบหืด หรือโรคเรื้อรังบางชนิด ตัวอย่างของยาชนิดนี้ได้แก่

  • Prednisolone (เพรดนิโซโลน) เช่น Sterapred (สเตอราเพรด)
  • Methylprednisolone (เมทิลเพระนิโซโลน) เช่น Medrol (เมอร์ดรอล) Meprolone (เมโพรลีน)
  • Dexamethasone (เด้กซาร์เมทาโซน) เช่น Decadron (เดอคารอน)
  • Cortisone (คอร์ติโซน)

2. ยารักษาอาการซึมเศร้าชนิดไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) นอกเหนือจากการใช้รักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาอาการซึมเศร้าชนิดไตรไซคลิกมักถูกใช้ในการรักษาโรคไมเกรน (Migraine) และยังเป็นที่รู้กันว่า สามารถเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้ ตัวอย่างของยาชนิดนี้ได้แก่

  • Desipramine (เดซิพรามีน) เช่น Pertofrane (เพอโตเฟรน) Norpramin (นอร์พรามีน)
  • Protriptyline (โปรทริปทีลีน) เช่น Vivactil (วีแวคทีล)
  • Amitriptyline (อมิทริปทีลีน) เช่น Elavil (เอลาวิล)
  • Endep (เอนเดพ) – Vanatrip (แวนาทริป)
  • Nortryptyline (นอร์ทริปทีลีน) เช่น Pamelor (พาเมลอร์) Aventyl (อะเวนทีล) NSAIDS (Non-steroidal anti-inflammatory drugs: ยาเอ็นเสด)

3. ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์โดยการลดการอักเสบ เป็นชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และเป็นยาที่นิยมใช้ในการรักษาข้ออักเสบ รวมไปถึงอาการเจ็บปวดทั่วไป เช่น

  • Ibuprofen (ไอบูโพรเฟน) เช่น Motrin (โมทริน) Advil (แอดวิล)
  • Naproxen (นาพรอกเซน) เช่น Aleve (แอลีฟ) Naprosyn (นาโพรซิน)
  • Aspirin (แอสไพริน)

4. ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ยาชนิดนี้นิยมใช้ในการรักษาไข้หวัดและภูมิแพ้ แต่ก็สามารถเพิ่มระดับความดันโลหิต และมีผลต่อประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตได้ด้วย เช่น

  • Diphenhydramine (ไดเฟนไฮดรามีน) เช่น Benadryl (เบนาดริล) Unisom (ยูนีซัม) Sominex (โซมีเนกซ์)
  • Pseudoephedrine (ซูโดเอฟิดรีน) เช่น Sudafed (ซูดาเฟด) Contac (คอนแทค)
  • Phenylephrine (ฟีนิลเอฟรีน) เช่น Sudafed PE (ซูดาเฟด พีอี)

5. ยารักษาโรคไมเกรน ผลข้างเคียงของยารักษาไมเกรนจะทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง มักเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง เช่น

  • Zolmitriptan (โซลมีทริปแทน) เช่น Zomig (โซมิก)
  • Isometheptene (ไอโซเมเท้พทีน) เช่น Midrin (มิดริน)
  • Ergotamine (เออร์โกตามีน) เช่น Cafergot (คาเฟอร์กอต)
  • Dihydroergotamine (ไดไฮโดรเออร์โกตามีน) เช่น Migranal nasal spray (ยารักษาไมเกรนชนิดฉีดพ่นในจมูก)
  • Almotriptan (แอลโมทริปแทน) เช่น Axert (แอกเซิร์ท)
  • Sumatriptan (ซูมาทริปแทน) เช่น Imitrex (อิมิเทรกซ์)

6. การใช้ฮอร์โมนเพื่อรักษาอาการของภาวะประจำเดือนหมด หรือวัยทอง การใช้ฮอร์โมนสามารถเพิ่มระดับความดันโลหิตส่วนซิสโทลิกให้สูงขึ้นเล็กน้อย หากทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง แต่ต้องการรักษาด้วยฮอร์โมน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงวิธีที่ดีที่สุดในการคุมความดันของโลหิต

นอกจากนี้ยาเสพติดชนิดต่างๆ เช่น โคเคน Ecstasy (เอ็กซ์ตาซี) หรือยาบ้า ก็ทำให้ความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง

ปัจจัยดังต่อไปนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

  • อายุ: ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปีและผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี
  • เชื้อชาติแอฟริกัน – อเมริกัน: พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคเร็วกว่าและรุนแรงกว่า และหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจะอันตรายกว่ามาก
  • ประวัติครอบครัว: ความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะสืบทอดทางพันธุกรรมได้
  • ความอ้วน: โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบแคบ และทำให้ค่าความดันโลหิตสูงขึ้นได้
  • พฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ: การที่ร่างกายเฉื่อยชา ไม่ได้ออกกำลังกาย มักมีความเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และอัตราการเต้นของหัวใจที่มากขึ้น ซึ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
  • การสูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่: สารเคมีในบุหรี่สามารถทำลายผนังหลอดเลือดแดงได้ ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง นำไปสู่ความดันโลหิตที่สูงขึ้น
  • การเลือกรับประทานอาหาร: อาหารบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงได้ เช่น
    • อาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำเข้าไปมากและเกิดภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราว
    • อาหารที่มีโพแทสเซียมน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถรักษาระดับของโซเดียมในเซลล์ได้ ทำให้เกิดภาวะโซเดียมเกินในเลือด
    • วิตามินดี การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีน้อยไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง
    • การดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่มากกว่า 170 มิลลิลิตรสำหรับผู้ชาย และ 85 มิลลิลิตรสำหรับผู้หญิง
  • ความเครียด: ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวได้
  • โรคเรื้อรัง: เช่น โรคไตเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือโรคเบาหวาน
  • การตั้งครรภ์
  • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

อาการของโรคความดันเลือดสูง

ผู้ป่วยความดันเลือดสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการมาก่อน บางรายอาจปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล หูอื้อ เวียนศีรษะ เป็นลม แต่จุดสำคัญที่ต้องทราบไว้คือ ผู้ป่วยส่วนมากที่มารับการตรวจแล้วพบว่าความดันเลือดสูงนั้น ไม่มีอาการมาก่อนเลย ดังนั้นการตรวจวัดความดันเลือดจึงเป็นสิ่งควรกระทำ แม้จะไม่มีอาการ อย่างน้อยละปี 2 ครั้ง

จะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง?

วิธีเดียวที่จะทราบถึงภาวะความดันโลหิตสูง คือการวัดระดับความดันโลหิตเท่านั้น การตรวจวัดที่นิยมกันทั่วไปคือการวัดความดันด้วย Stethoscope (เสต็ธโทสโคป) และเครื่องความดันรัดแขน (Blood Pressure Cuff) โดยเจ้าหน้าที่จะนำแผ่นวัดมาพันรัดรอบแขนของผู้ตรวจในท่านั่ง จากนั้นจะวัดความดันโดยใช้ เกจวัดความดัน (Pressure-measuring Gauge)

เนื่องจากความดันโลหิตจะไม่คงระดับตลอดวัน แพทย์จึงต้องทำการตรวจวัดความดัน 2-3 ครั้งเพื่อยืนยันผลการตรวจ ในบางครั้งแพทย์จะต้องทำการวัดความดันที่แขนทั้งสองข้างเพื่อเปรียบต่างระดับความดัน

การวัดค่าความดันสามารถแปลผลออกมาได้ 4 ประเภท 

  1. ความดันระดับปกติ ค่าความดันจะน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากค่าความดันโลหิตสูงกว่าจำนวนดังกล่าว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  2. ความดันก่อนภาวะความดันโลหิตสูง (Prehypertension) คือ ค่าความดันซิสโทลิกที่อยู่ระหว่าง 120-139 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันไดแอสโทลิกที่อยู่ระหว่าง 80-89 มิลลิเมตรปรอท
  3. ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 มีค่าความดันซิสโทลิกอยู่ระหว่าง 140-159 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันไดแอสโทลิกอยู่ระหว่าง 90-99 มิลลิเมตรปรอท
  4. ความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 มีค่าความดันซิสโทลิกเท่ากับหรือมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันไดแอสโทลิกเท่ากับหรือมากกว่า 100 มิลลิเมตรปรอท

นอกจากนี้ยังมีภาวะความดันโลหิตสูงอีกประเภทหนึ่ง ที่มีค่าความดันซิสโทลิกสูงเพียงอย่างเดียว (Isolated Systolic Hypertension) ซึ่งระดับความดันซิสโทลิกจะขึ้นสูงแต่ความดันไดแอสโทลิกอยู่ในระดับปกติ ความดันโลหิตประเภทต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นผลการจำแนกจากประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

การตรวจวัดแบบอื่นๆ ที่ควรตรวจมีอะไรบ้าง?

หากพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง แพทย์อาจต้องส่งตรวจอาการเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาสัญญาณป่วยของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนี้

  1. ตรวจปัสสาวะ
  2. ตรวจเลือด
  3. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  4. ตรวจค่าไขมัน cholesterol (คอเลสเทรอล)

การวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง

เพื่อการแปลผลค่าความดันโลหิตที่แม่นยำขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้บันทึกค่าความดันโลหิตระหว่างอยู่ที่บ้าน หรือขณะทำงานลงในมอนิเตอร์วัดความดันโลหิต การกระทำดังกล่าว สามารถช่วยให้ตรวจสอบได้ว่าการรักษาดำเนินไปด้วยดี หรือว่าโรคนั้นเลวร้ายลงหรือไม่

ภาวะความดันโลหิตสูงในเด็ก

ปัจจุบันตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงในเด็กและวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • โรคไตหรือโรคหัวใจ
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด การไม่ออกกำลังกาย
  • เด็กที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันและเม็กซิกันอเมริกัน มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
  • เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กผู้หญิง

ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะความดันโลหิตสูงจะสามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น

  • โรคหลอดเลือดในสมองตีบ/แตก
  • โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • หัวใจล้มเหลว
  • ไตวาย
  • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม

ความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โอกาสที่คุณจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งนั้นมีอยู่สูงมาก ซึ่งโรคชนิดนี้จะส่งผลต่อการทำให้สมองอยู่ในภาวะของการขาดเลือด หรือบางครั้งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกได้

ในส่วนของอาการที่จะคอยเตือนให้คุณรู้ตัวในขณะที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต่อการเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งจะมีดังนี้

  • มักมีอาการชาหรืออาการอ่อนแรงในบริเวณแขนขา หรือบางครั้งจะเกิดขึ้นในบริเวณของใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีอาการตามัว หรือมองภาพไม่ชัดเจนในข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีอาการพูดลำบากหรือบางครั้งพูดไม่ได้ ซึ่งถือเป็นอาการเดียวกับโรคอัมพาต

การรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ใช้ยา

ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางรายที่มีระดับไม่สูงมากนัก แพทย์อาจยังไม่ให้ยารักษาในทันทีแต่จะเป็นการเฝ้าสังเกตอาการก่อน และแนะนำวิธีการลดความดันโลหิตโดยไม่ใช้ยาให้ ซึ่งมีวิธีที่พิสูจน์แน่ชัดแล้วว่าได้ผลอยู่ 3 วิธีคือ

  1. วิธีจำกัดเกลือ
  2. วิธีลดน้ำหนัก
  3. วิธีออกกำลังกาย

และยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่อาจลดความดันโลหิตได้บ้าง เช่นการลดความเครียด การทำสมาธิ การงดบุหรี่ เป็นต้น

วิธีจำกัดเกลือ

ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานเกลือแกงได้ไม่เกินวันละประมาณ 5 กรัมต่อวัน ซึ่งจะทำได้โดยเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เค็มจัดทุกชนิด และไม่เติมเกลือ หรือน้ำปลาในอาหารมากจนเป็นนิสัย

วิธีลดน้ำหนัก

วิธีนี้จะใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่อ้วนเกินไปเท่านั้น และจะใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่ผอมอยู่แล้ว การลดน้ำหนักกระทำได้โดยลดปริมาณอาหารประเภทไขมันและแป้งลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น งดรับประทานอาหารว่างนอกเหนือจากอาหารมื้อประจำ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม

วิธีออกกำลังกาย

ควรเลือกการออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ เช่น วิ่ง เดิน ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเล่นเทนนิส เป็นต้น แต่ไม่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมากๆ เช่น ยกน้ำหนัก เพาะกาย และควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมออย่างน้อยประมาณสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาทีเป็นอย่างน้อย

การใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง

ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งยารักษาเท่านั้น ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเพราะยาในกลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงบางอย่างที่ร้ายแรง โดยคนไข้แต่ละคนจะเหมาะกับยาลดความดันที่ต่างกัน และอีกประการหนึ่ง การซื้อยารับประทานเองอาจรักษาความดันโลหิตสูงไม่ได้ผล หรือกลับทำให้ความดันโลหิตลดต่ำเกินไปได้

ในรายที่ความดันสูงไม่มาก ก่อนรักษาด้วยการใช้ยา แพทย์จะให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมโดยการ ออกกำลังกาย และคุมอาหารก่อน หากไม่สำเร็จจึงค่อยเริ่มใช้ยา โดยยารักษาความดันโลหิตสูงในปัจจุบันมีหลายชนิดมาก แพทย์จะสั่งให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยดูสภาพความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน และดูระดับความดันโลหิตก่อนรักษาเป็นเกณฑ์ ผู้ป่วยจะเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนักในการรักษา

ในปัจจุบันแพทย์สามารถควบคุมความดันโลหิตสูงให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยถ้าความดันโลหิตผู้ป่วยไม่สูงมากอาจใช้เงินรักษาเพียงวันละไม่เกิน 1 บาท ไปจนถึง 4-5 บาท/วัน แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ในผู้ป่วยรายที่ความดันโลหิตสูงมาก อาจต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งผู้ป่วยอาจเสียค่ายาถึงวันละ 15-20 บาท/วัน แต่ก็จำเป็นมากที่ต้องรักษา เนื่องจากในผู้ป่วยประเภทนี้ถ้าไม่รีบรักษา ผลตามมาภายหลังจะรุนแรงและต้องหมดเปลืองค่ารักษาภายหลังมากกว่านี้อีกหลายเท่า

ระยะเวลาของการรักษา

  • ผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงมาก อาจต้องรักษาไปตลอดชีวิต
  • ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงปานกลาง อาจหยุดยาได้หลังจากรักษาไประยะเวลาหนึ่ง เช่น 1-2 ปี แต่ยังต้องมาพบแพทย์เพื่อวัดความดันเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ และอาจต้องเริ่มรักษาอีกครั้งถ้าความดันโลหิตกลับขึ้นสูงอีก

วิธีการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

ในส่วนของการป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถทำได้โดยการหมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ และดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ 

  • ทานอาหารที่ให้คุณค่าสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่ทุกๆ วัน โดยทานอาหารแต่ละหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ทำให้สุขภาพร่างกายเกิดภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ และควรจัดการอาหารประเภทที่ให้ไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารรสชาติเค็มทิ้งไป โดยเพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ชนิดที่ไม่หวานมากแทน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ รวมทั้งการหมั่นทำให้จิตใจสงบและมีสติยิ่งขึ้น
  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพราะการตรวจหาโรคความดันโลหิตสูงนั้น สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี เมื่อมีโอกาสเสี่ยงกับโรคดังกล่าวจะได้สามารถรับมือได้ทัน โดยการขอคำแนะนำจากแพทย์

วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลอย่างเคร่งครัดและถูกวิธี และควรทานยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง
  • งดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน อาหารรสเค็ม หมั่นจำกัดและควบคุมปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วนหรือร่างกายที่มีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการสูดดมกลิ่นควันบุหรี่
  • งดดื่มสุรา รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ไม่ทำให้สุขภาพจิตต้องเผชิญกับความเครียด กดดัน หรือเป็นกังวลมากเกินไป เพราะจะทำให้อาการทรุดลงได้
  • เข้าพบแพทย์ตามนัดเสมอ แต่หากมีอาการที่ผิดปกติเช่น ปวดศีรษะรุนแรง มีอาการเหนื่อยผิดปกติ เจ็บแน่นในบริเวณหน้าอก มีอาการใจสั่น เหงื่อออกเป็นจำนวนมาก แขนและขาเกิดอาการอ่อนแรง ปากเบี้ยว และคลื่นไส้อาเจียน ก็ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง

การดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

  • ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ให้ยาลดความดันโลหิต และติดตามผลข้างเคียงของยา
  • ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนท่าการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ และหลีกเลี่ยงอากาศร้อน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากยาลดความดันโลหิต
  • สอนให้ผู้ป่วยวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยให้หมั่นวัดความดันโลหิตอยู่เสมอ
  • เปลี่ยนสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร หมั่นออกกำลังกาย กระตุ้นให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักเพื่อป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว
  • งดสูบบุหรี่ รวมทั้งดูแลให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวล และคลายเครียด
  • คอยเน้นย้ำให้ผู้ป่วยทราบว่า ความดันเลือดสูงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้
  • ติดตามผลการตรวจเลือดหา Electrolytes BUN Creatinine Lipid profile และการตรวจโปรตีนในปัสสาวะ
  • ให้ความรู้ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับยา การมาตรวจตามนัด การลดกิจกรรม การงดสูบบุหรี่ การลดการดื่มสุรา และการลดอาหารที่มีโซเดียม

ภาวะความดันโลหิตสูงมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ นอนไม่เพียงพอ ชอบรับประทานของทอด ของหวาน หรือเครียดสะสมจากการทำงาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้

อย่างไรก็ตามผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูง รวมถึงบุคคลทั่วไป ควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อดูว่า มีสิ่งใดที่ต้องระวังหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าความดันโลหิต ค่าระดับน้ำตาลในเลือด ค่าระดับไขมันในเลือด และอื่นๆ อีกมากมาย


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top