ประจำเดือนมามาก เกิดจากอะไร

ประจำเดือนมามาก เกิดจากอะไร

ประจำเดือน (Menstruation) เป็นเลือดซึ่งเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้นเพื่อรอรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิแล้ว แต่หากไข่ตกรอบนั้นไม่ได้มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

ประจำเดือนปกติของผู้หญิงทุกคนจะเกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 28-35 วัน และมีระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน และประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสียอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาเมื่อไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นเท่านั้น

ผู้หญิงแต่ละคนจะมีลักษณะ ปริมาณ สี และระยะเวลาที่ประจำเดือนมาแตกต่างกันไป ซึ่งประจำเดือนก็เป็นอีกสัญญาณที่สามารถบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายได้

ความหมายของประจำเดือนที่มากกว่าปกติ

ประจำเดือนที่มามากกว่าปกติ (Menorrhagia) เป็นหนึ่งในอาการผิดปกติของประจำเดือนที่ผู้หญิงทุกคนต้องสังเกตทุกๆ รอบเดือน โดยสามารถสังเกตได้จากปริมาณเลือดที่ออกมา

หากต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 1-2 ชั่วโมงโดยที่ผ้าอนามัยชุ่มเลือดทั้งแผ่น หรือต้องใช้ผ้าอนามัย มากกว่า 6-7 แผ่นต่อวัน หรือเปลี่ยนผ้าอนามัยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว แต่ปริมาณเลือดก็ยังมีมากอยู่ ถือว่า ประจำเดือนอยู่ในปริมาณมากผิดปกติ

ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยว่า ร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่

นอกจากประจำเดือนที่มามากกว่าปกติ คุณยังสามารถสังเกตความผิดปกติอื่นๆ ของประจำเดือนได้อีก เช่น

  • ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน
  • ตลอดระยะเวลาที่ประจำเดือนมา ปริมาณเลือดประจำเดือนยังคงมามาก และไม่ลดลงเลย
  • ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ
  • เลือดประจำเดือนที่ออกมามีก้อนเลือด หรือลิ่มเลือดปนออกมาด้วย
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอตามรอบ
  • มีอาการเวียนศีรษะ และอ่อนเพลียตลอดระยะเวลาที่ประจำเดือนมา

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามาก

มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ประจำเดือนมามากผิดปกติได้ เช่น

  1. ความผิดปกติของฮอร์โมน ฮอร์โมนซึ่งเกี่ยวข้องกับการมาของประจำเดือน ได้แก่ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
    หากฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ทำงานผิดปกติ หรือมีการหลั่งฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป ก็สามารถนำไปสู่ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ซึ่งทำให้ประจำเดือนมีปริมาณมากกว่าปกติได้ นอกจากนี้ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) ซึ่งเป็นฮอร์โมนอีกตัวที่ควบคุมการทำงานเกือบทุกระบบของร่างกายก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติได้เช่นกัน
  2. โรคเลือดออกง่าย ตัวอย่างเช่น “โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease)” ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้หญิงบางคนมีเลือดประจำเดือนมามากกว่าปกติได้
  3. โรคเกี่ยวกับมดลูก ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ก็นำไปสู่อาการประจำเดือนมามากกว่าปกติได้ทั้งหมด นอกจากนี้โรคเหล่านี้ยังอาจทำให้เกิดอาการเจ็บท้องน้อยระหว่างมีประจำเดือน รวมถึงมีอาการปวดหลัง อ่อนเพลียมาก คลำพบก้อนเนื้อ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัย และรีบรักษาก่อนที่อาการจะลุกลาม
  4. ระยะเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน (Perimenopause) ฮอร์โมนของผู้หญิงที่เข้าใกล้วัยทอง หรือวัยใกล้หมดระดูจะมีความแปรปรวน ซึ่งส่งผลให้มีประจำเดือนมามากได้ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
  5. การตั้งครรภ์ ประจำเดือนที่มาหลังคลอดบุตรอาจมีปริมาณมากซึ่งมีสาเหตุมาจากแผลคลอดภายในมดลูกหลังจากคลอดบุตร น้ำคาวปลา น้ำคร่ำ น้ำเลือดจากการคลอดบุตรที่ปนออกมาพร้อมกับประจำเดือนด้วย โดยน้ำคาวปลา คือ ของเหลวที่ยังตกค้างอยู่ข้างในมดลูก
    นอกจากนี้ภาวะแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูกก็สามารถทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติได้ โดยระยะเวลาที่ประจำเดือนมามากจากสาเหตุนี้อาจยาวนานมากถึง 1 เดือนเต็ม
  6. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านเกล็ดเลือด สามารถส่งผลข้างเคียงต่อปริมาณของประจำเดือนให้มามากกว่าปกติได้ แต่อาจเกิดขึ้นแค่ในช่วงวันแรกๆ ที่ประจำเดือนมาเท่านั้น

การวินิจฉัยอาการประจำเดือนมามาก

การวินิจฉัยหากประจำเดือนมามากกว่าปกติ ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพผู้ป่วย ระยะเวลาของการมีประจำเดือนโดยปกติ รวมถึงอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ป่วยมีประจำเดือน เช่น อาการปวดท้องน้อย อาการอ่อนเพลีย

หลังจากนั้นแพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นลักษณะของมดลูกว่า มีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น

  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรืออาจทำร่วมกับการฉีดน้ำเกลือในโพรงมดลูกด้วย (Saline Infusion Sonohysterography: SIS)
  • การเก็บชิ้นเนื้อโพรงมดลูกเพื่อส่งตรวจ (Endometrial biopsy)
  • การฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingogram)

การวินิจฉัยอาการประจำมามากกว่าปกติจะแม่นยำมากขึ้น หากผู้ป่วยมาพบแพทย์พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับการมาของประจำเดือน เช่น

  • ประจำเดือนปกติมากี่วัน?
  • ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไร?
  • ปริมาณประจำเดือนมามากกว่าปกติได้กี่วันแล้ว?
  • อาการประจำเดือนมามากส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากแค่ไหน? เช่น ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ปวดท้องน้อยตลอดเวลา อ่อนเพลียมาก

การรักษาอาการประจำเดือนมามาก

วิธีรักษาอาการประจำเดือนมามากจะขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เป็นปัจจัยทำให้ประจำเดือนมามาก เช่น

  1. การรับประทานยาคุมกำเนิด เพื่อให้การหลั่งของฮอร์โมนสมดุลมากขึ้น
  2. การผ่าตัด หากปัจจัยทำให้ประจำเดือนมามากเกิดจากก้อนเนื้อ หรือติ่งเนื้อ
  3. การขูดมดลูก (Dilation and curettage) เป็นวิธีรักษาที่แพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น การขูดมดลูกจะทำเพื่อกำจัดเอาผนังมดลูกส่วนนอกที่มีเนื้อเยื่อส่วนที่ผิดปกติออกไป
  4. การตัดมดลูกออก (Hysterectomy) เป็นวิธีรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องกำจัดมดลูกออกเพื่อหยุดอาการลุกลามของโรค แต่ผลกระทบที่ตามมาของการรักษาแบบนี้คือ ผู้ป่วยจะไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

นอกจากการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมก็สามารถช่วยให้ประจำเดือนมาในปริมาณปกติได้ด้วย ได้แก่

  • ลดความเครียด ความวิตกกังวล
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่
  • งดบริโภคแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  • หมั่นไปตรวจสุขภาพ หรือหากตนเองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ซึ่งมักส่งผลต่อการมาของประจำเดือน ก็ควรเข้ารับการตรวจภายในด้วย โดยผู้หญิงสามารถตรวจภายในได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี

ปริมาณของประจำเดือนอาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุร้ายแรงเสมอไป บางครั้งการใช้ชีวิตประจำวันที่มีปัจจัยทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอลง หรือฮอร์โมนเกิดความแปรปรวนก็สามารถทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติได้

หากประจำเดือนมามากกว่าปกติ อย่าเพิ่งตกใจ และให้รอสังเกตอาการว่า ปริมาณประจำเดือนมามากผิดปกติเป็นระยะเวลานานเท่าไร มีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ แต่หากรู้สึกไม่มั่นใจ ให้ไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามที่เกี่ยวข้อง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top