วิธีลดความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

วิธีลดความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันที่เกิดขึ้นบ่อยในฤดูหนาว

จากการสำรวจสถิติการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) ในแต่ละปี พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการที่หัวใจวายเฉียบพลันในฤดูหนาวจำนวนไม่น้อย ส่วนมากมักเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งร่างกายปรับตัวไม่ทัน รวมถึงผู้ขาดแคลนเครื่องกันหนาว

มีคำถามเกี่ยวกับ หัวใจวาย? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

บทความนี้จะพาไปหาคำตอบว่า เพราะอะไรภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจึงมีโอกาสเกิดในฤดูหนาวได้มากกว่าฤดูอื่นๆ และควรหาแนวทางป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับตนเอง หรือคนที่คุณรัก

สาเหตุที่ทำให้หัวใจวายเฉียบพลันมักเกิดขึ้นในฤดูหนาว

การสัมผัส หรืออยู่ท่ามกลางอุณหภูมิต่ำเป็นเวลานานๆ 

ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตหลายอย่าง ได้แก่ ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงกว่าปกติ เลือดมีความหนืดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหลอดเลือดแดงจะมีการหดตัวในช่วงที่อากาศเย็น ทำให้การลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจยากมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และส่งกลับไปฟอกยังปอดให้ได้ปริมาณตามปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตและปริมาณโปรตีนในเลือดสูงขึ้นได้

การที่ปริมาณโปรตีนในเลือดสูงขึ้นนี้เป็นสาเหตุให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มๆ และขัดขวางการลำเลียงเลือดไปยังหัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้

มีรายงานว่า อุณหภูมิที่ลดต่ำลงทุก 1 องศาเซลเซียส สามารถเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันได้ถึง 2%

หลักๆ แล้วผู้ที่เป็นโรคหัวใจและผู้ที่อยู่ในภาวะอุณหภูมิภายในร่างกายต่ำ (Hypothermia) มีโอกาสเสี่ยงหัวใจวายมากที่สุดในช่วงที่อากาศเย็น แต่ผู้ที่ไม่เป็นโรคเหล่านี้ก็มีโอกาสเสี่ยงหัวใจวายได้เช่นกัน

คำแนะนำ:

มีคำถามเกี่ยวกับ หัวใจวาย? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เช่น หมวกไหมพรม ผ้าพันคอ เสื้อกันหนาว ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้าโดยเฉพาะเวลาที่ต้องอยู่นอกอาคารบ้านเรือน หรือเดินทางไปในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น
  • หากบ้านมีช่องลม หรือหน้าต่างมาก ควรปิดบางส่วนเพื่อป้องกันความหนาวเย็น
  • ควรรับประทานอาหารอุ่นๆ ร้อนๆ รวมทั้งอาหารที่ปรุงด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ขิง ข่า กะเพรา โหระพา ใบมะกรูด พริกไทย เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นภายในร่างกาย ลดการทำงานของหัวใจ และป้องกันไม่ให้เส้นเลือดแดงหดตัว

การรับแสงแดดไม่เพียงพอ

นักวิจัยหลายท่านให้เหตุผลว่า การที่สถิติโรคหัวใจวายสูงมากในฤดูหนาวเมื่อเทียบกับสถิติในฤดูร้อน เพราะในช่วงหน้าหนาวมีแสงแดดน้อย อีกทั้งดวงอาทิตย์ก็ตกเร็วกว่าช่วงฤดูร้อน

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด (วิตามินดี 3) ไม่เพียงพอ จึงทำให้มีโอกาสเกิดอาการหัวใจวายได้มากกว่าฤดูอื่นๆ นั่นเอง

ประโยชน์ของวิตามินดีในแสงแดด (วิตามินดี 3)

  • ช่วยเสริมสร้างระบบการต้านการอักเสบที่เซลล์ได้
  • ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  • ช่วยยับยั้งการแข็งตัวของหลอดเลือด
  • ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดบีบตัว
  • ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีรายงานว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/ml จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า
  • ช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินออกมามากขึ้น มีผลช่วยลดความเครียด และอาการซึมเศร้าได้

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมากกว่าคนทั่วไปได้แก่ ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง กลุ่มคนทำงานที่ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่แต่ในที่ทำงาน

คำแนะนำ:

  • ปรับไลฟ์สไตล์ทั้งการทำงานและการออกกำลังกายให้มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดยามเช้า (06.00-09.00 น.) และบ่าย (15.00-17.00 น.) มากยิ่งขึ้น อย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน เนื่องจากช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่แดดยังไม่แรง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น กลุ่มปลาที่มีไขมันสูง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ไข่ หอยนางรม
  • รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของวิตามินดี (Vitamin D Supplementation)
  • ควรตรวจเช็คปริมาณวิตามินดีอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะหากมีปริมาณวิตามินดีต่ำเกินไปจะได้รีบหาทางแก้ไข ระดับวิตามินปกติคือ 30-100 ng/ml

เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จะมีความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันได้มากกว่าคนทั่วไป ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • โรคเบาหวาน ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่นจึงบีบตัวได้ไม่ดีนัก
  • โรคความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น หรือหัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และเสี่ยงหัวใจวายได้
  • โรคไขมันในเลือดสูง ทำให้มีโอกาสอุดตัน หรือตีบที่หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันได้

คำแนะนำเพื่อป้องกันหัวใจวายเฉียบพลันในฤดูหนาว

  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรไปพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาอย่างเคร่งครัด และควบคุมโรคให้ดี ไม่ให้อาการกำเริบ
  • ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นด้วยการสวมเสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ สวมหมวกไหมพรม สวมถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยเฉพาะเวลาที่อยู่นอกอาคารบ้านเรือน หรือเมื่อเดินทางไปยังสถานที่ที่มีอากาศหนาวเย็น
  • ทาโลชั่นเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ลดการสูญเสียน้ำ
  • ควรรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นภายในร่างกาย เพื่อช่วยลดการทำงานของหัวใจและป้องกันไม่ให้เส้นเลือดแดงหดตัว เช่น อาหารอุ่นร้อน อาหารต้ม อาหารที่มีสมุนไพร หรือเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อนเป็นส่วนประกอบ เช่น ไก่ผัดขิง ผัดกระเพรา น้ำขิง ปลาผัดพริกไทยดำ
  • รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง อาหารเค็มจัด อาหารหวานจัด อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาความหนาวเย็น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
  • เตรียมห้องนอนและบ้านเรือนให้อบอุ่น ไม่เปิดหน้าต่างให้ลมพัดผ่านมากจนเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • รับแสงแดดยามเช้า (06.00-09.00 น.) และบ่าย (15.00-17.00 น.) ให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากนอนกรนรุนแรง ควรระมัดระวังภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ความกดดัน หรือรู้จักวิธีผ่อนคลายความเครียด ความกดดัน
  • ไม่สูบบุหรี่
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ อย่านิ่งนอนใจ เช่น หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจหอบ เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ควรต้องไปพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้คิดว่า “เดี๋ยวก็หาย”
  • หมั่นตรวจสุขภาพทั่วไปและสุขภาพหัวใจเป็นประจำหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือหากสามารถตรวจสุขภาพประจำปีได้ยิ่งดี

จริงๆ แล้วอาการหัวใจวายเฉียบพลันสามารถมาเยือนได้ทุกฤดู เพียงแต่ในฤดูหนาวจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรดูแลหัวใจตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูหนาวแล้วจึงหันมาดูแล เพราะหากมีแนวโน้มจะมีอาการ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้วจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

มีคำถามเกี่ยวกับ หัวใจวาย? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ