สังเกตเห็นขาตัวเองมีเส้นเลือดปูดนูนหรือเห็นรอยเส้นเลือดเป็นร่างแหคล้ายใยแมงมุม สงสัยว่าใช่อาการเส้นเลือดขอดหรือไม่ แล้วจะกระทบต่อสุขภาพอย่างไร มาเจาะลึกข้อมูล “โรคเส้นเลือดขอด” ทั้งอาการ ระยะของโรค กลุ่มผู้ที่เสี่ยง วิธีรักษาแบบต่าง ๆ ทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัด มีอะไรบ้าง? ป้องกันโรคนี้ล่วงหน้าได้หรือเปล่า?
ให้ข้อมูลโดย นพ. ชินะภัทร์ วุฒิวนิชย์ หรือ “หมอเบส” ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอเบสได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเบส” และ “หมอบอส” 2 คุณหมอฝาแฝดกับความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก]
สารบัญ
- โรคเส้นเลือดขอดคืออะไร?
- เส้นเลือดขอดเจอบ่อยในคนกลุ่มใด?
- เส้นเลือดขอดแบ่งออกได้กี่ระยะ?
- เป็นเส้นเลือดขอดหากไม่รีบรักษาจะเกิดอะไรขึ้น?
- อาการเส้นเลือดขอดแบบใดที่ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน?
- ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นได้
- การตรวจวินิจฉัยเส้นเลือดขอดทำได้อย่างไรบ้าง?
- การรักษาเส้นเลือดขอดในปัจจุบันมีวิธีอะไรบ้าง?
- การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA คืออะไร?
- ใครเหมาะกับการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- จุดเด่นของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- ข้อจำกัดของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- ขั้นตอนการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยสารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) คืออะไร?
- สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) สามารถอยู่ได้นานแค่ไหน?
- ใครเหมาะกับการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยสารยึดติดทางการแพทย์ (กาว)
- จุดเด่นของการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) รักษาเส้นเลือดขอด
- ข้อจำกัดของการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) รักษาเส้นเลือดขอด
- ขั้นตอนผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว)
- การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก คืออะไร?
- การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกเหมาะกับใคร?
- จุดเด่นของการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
- ข้อจำกัดของการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
- ขั้นตอนการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
- หลังผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกควรดูแลตัวเองอย่างไร?
- หลังผ่าตัดเส้นเลือดขอด มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?
- การดูแลตนเองเพื่อป้องกันเส้นเลือดขอด
- ผ่าตัดเส้นเลือดขอด กับ นพ. ชินะภัทร์ ด้วยบริการจาก HDcare
โรคเส้นเลือดขอดคืออะไร?
เส้นเลือดขอด เป็นอาการที่พบได้บ่อยบริเวณขา โดยความจริงแล้วอาการนี้เป็นหนึ่งในอาการแสดงของกลุ่มโรคใหญ่อย่าง “โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency: CVI)” ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหลอดเลือดดำจนทำให้หลอดเลือดขยายตัวและโป่งพองอย่างเห็นได้ชัดจากผิวกายภายนอก
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ลิ้นหลอดเลือดดำเสื่อมสภาพนั้น ส่วนมากมักเกิดจากอายุของคนไข้ที่มากขึ้น หรือมีลักษณะกิจวัตรประจำวันที่ต้องยืนเป็นเวลานานจนทำให้ลิ้นหลอดเลือดดำเสื่อมตัว มีการไหลย้อนของหลอดเลือดจนโป่งขยาย และปูดนูนจนเห็นได้จากภายนอก
เส้นเลือดขอดเจอบ่อยในคนกลุ่มใด?
กลุ่มอาการเส้นเลือดขอดมักพบได้บ่อยในผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องยืนหรือห้อยขาเป็นเวลานาน ๆ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่ใกล้เข้าสู่วัยสูงอายุ หากยิ่งเคยทำอาชีพที่ต้องยืนหรือห้อยขานาน ๆ มาก่อนก็จะมีความเสี่ยงพบโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป
เส้นเลือดขอดแบ่งออกได้กี่ระยะ?
กลุ่มอาการเส้นเลือดขอดสามารถแบ่งออกได้ 6 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีกลุ่มอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ได้แก่
- ระยะที่ 1: คนไข้จะมองเห็นเส้นเลือดขอดที่คล้ายร่างแหหรือใยแมงมุม (Spider Veins หรือ Telangiectasias)
- ระยะที่ 2: คนไข้เริ่มมองเห็นเส้นเลือดขอดที่ปูดนูนขึ้น เมื่อสัมผัสจะรู้สึกนิ่ม ๆ (Varicose veins)
- ระยะที่ 3: คนไข้เริ่มมีอาการขาบวมร่วมกับเห็นเส้นเลือดขอดที่ปูดนูน
- ระยะที่ 4: ผิวหนังบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเริ่มมีสีคล้ำและแข็งขึ้น
- ระยะที่ 5 และ 6: คนไข้มีแผลเกิดขึ้นบริเวณที่เป็นหลอดเลือดขอด หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ไม่รีบรักษา ความดันของหลอดเลือดดำจะสูงขึ้นจนทำให้แผลแตกได้และมีน้ำเหลืองซึมออกมา
เป็นเส้นเลือดขอดหากไม่รีบรักษาจะเกิดอะไรขึ้น?
อาการเส้นเลือดขอดที่ไม่รีบรักษาจะทำให้อาการของคนไข้รุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือความมั่นใจของคนไข้ได้ เช่น ขาบวมขึ้น ผิวมีสีคล้ำ หรือผิวแตกออกเป็นแผล
ทางที่ดีหากเจอความผิดปกติที่คล้ายกับอาการเส้นเลือดขอดตั้งแต่ระยะแรก ๆ ให้รีบเดินทางมาปรึกษาแพทย์โดยเร็วจะดีที่สุด
อาการเส้นเลือดขอดแบบใดที่ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน?
ภาวะแทรกซ้อนจากอาการเส้นเลือดขอดที่คนไข้ควรรีบมาพบแพทย์โดยทันทีจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ ดังนี้
- มีการแข็งตัวหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นภายในหลอดเลือด คนไข้กลุ่มนี้จะมีอาการอักเสบ ผิวบวมแดงในตำแหน่งที่มีหลอดเลือดขอด และมีไข้
- มีอาการเลือดออกง่าย เมื่อผิวส่วนที่เป็นเส้นเลือดขอดถูกกระแทกระหว่างใช้ชีวิตประจำวันแม้เพียงเบา ๆ แต่คนไข้จะกลับพบว่าผิวบริเวณดังกล่าวนั้นปริแตก มีเลือดไหลซึมออกมาในปริมาณมาก และหยุดเลือดได้ยาก ส่วนมากมักพบในคนไข้ที่มีหลอดเลือดขอดมากและมีขนาดหลอดเลือดค่อนข้างใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นได้
ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอดแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ เช่นเดียวกับกลุ่มอาการที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- เป็นเส้นเลือดขอดและมีการแข็งตัวหรือลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด ทำให้มีอาการอักเสบ บวมแดง และมีไข้
- เป็นเส้นเลือดขอดและมีเลือดไหลมากเมื่อเส้นเลือดถูกกระแทกหรือมีบาดแผล ทำให้เกิดโอกาสเสียเลือดในปริมาณมากได้
การตรวจวินิจฉัยเส้นเลือดขอดทำได้อย่างไรบ้าง?
- การตรวจจากสายตา โดยแพทย์จะตรวจดูลักษณะหรือผิวขาของคนไข้ว่ามีเส้นเลือดขอดปูดนูนอยู่บริเวณใดบ้าง
- ตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดดำที่ขา เป็นการตรวจที่จะเกิดขึ้นหลังจากตรวจดูด้วยสายตาแล้ว และคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเส้นเลือดขอด จัดเป็นการตรวจประเมินเพิ่มเติมเพื่อให้แพทย์ได้เห็นตำแหน่งของหลอดเลือดที่เสียหายและมีการไหลย้อนจนทำให้เกิดเส้นเลือดขอดขึ้น
การรักษาเส้นเลือดขอดในปัจจุบันมีวิธีอะไรบ้าง?
การรักษากลุ่มอาการเส้นเลือดขอดสามารถแบ่งออกได้หลายวิธี โดยแบ่งหลัก ๆ ออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่
-
- วิธีไม่ผ่าตัด เป็นวิธีรักษาเริ่มต้นของอาการเส้นเลือดขอด มักมีวิธีการรักษาต่อไปนี้
- การใส่ถุงน่องทางการแพทย์ โดยถุงน่องจะสามารถช่วยบีบไล่เลือดไม่ให้ไหลไปกองอยู่ที่ขาหรือปลายเท้าเท่านั้น รวมถึงช่วยระบายเลือดให้กลับสู่หัวใจได้มากขึ้น
- การใช้ยา แพทย์จะจ่ายยาเพิ่มความตึงตัวของผนังหลอดเลือดดำและสามารถช่วยบีบไล่เลือดไม่ให้ไหลไปกองอยู่ที่ขามากเกินไป
- วิธีผ่าตัด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้
- การผ่าตัดเส้นเลือดขอดด้วยการสวนหลอดเลือด มีเทคนิคย่อย 2 รูปแบบ ได้แก่
- การผ่าตัดเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- การผ่าตัดอุดเส้นเลือดขอดด้วยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว)
- การผ่าตัดเส้นเลือดขอดด้วยการสวนหลอดเลือด มีเทคนิคย่อย 2 รูปแบบ ได้แก่
- วิธีไม่ผ่าตัด เป็นวิธีรักษาเริ่มต้นของอาการเส้นเลือดขอด มักมีวิธีการรักษาต่อไปนี้
- การผ่าตัดเส้นเลือดขอดด้วยการผ่าตัดแบบเปิด
การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA คืออะไร?
การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA (Radiofrequency Ablation) คือ การผ่าตัดเพื่ออุดเส้นเลือดส่วนที่ขอดด้วยการใช้อุปกรณ์สร้างความร้อนและเผาทำลายหลอดเลือดที่มีการไหลย้อนจากภายในร่างกายคนไข้
ใครเหมาะกับการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA เหมาะกับคนไข้ที่มีอาการเส้นเลือดขอดและมีการไหลย้อนของหลอดเลือดอย่างเห็นได้ชัด สามารถทำได้ในทุกกลุ่มช่วงอายุ เป็นวิธีผ่าตัดที่คนไข้สามารถฟื้นตัวได้ไว เพราะมีแผลผ่าตัดเป็นรูขนาดเล็ก ๆ คนไข้นอนโรงพยาบาลเพียงแค่ 1 คืน หลังจากนั้นก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย
จุดเด่นของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียงรูเข็มอยู่ใกล้หัวเข่า
- เจ็บแผลน้อย
- ฟื้นตัวเร็ว
- พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืนก็เดินทางกลับบ้านได้
ข้อจำกัดของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
การใช้คลื่นวิทยุ RFA อาจมีข้อจำกัดในคนไข้บางกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเทคนิคนี้ได้ เช่น หลอดเลือดขอดมีลักษณะคดเคี้ยวมาก หรือหลอดเลือดขอดอยู่ตื้นชิดกับผิวหนัง ทำให้แพทย์ไม่สามารถใส่อุปกรณ์หรือสายสวนเข้าไปรักษาได้ ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจประเมินหาข้อจำกัดเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนเริ่มวางแผนการรักษา
ขั้นตอนการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- แพทย์ตรวจประเมินสุขภาพเพื่อเช็กความพร้อมในการผ่าตัดให้กับคนไข้
- แพทย์ระงับความรู้สึกคนไข้ด้วยการใช้ยาบล็อกหลังหรือยานอนหลับทางหลอดเลือดซึ่งจะทำให้คนไข้รู้สึกกึ่งหลับกึ่งตื่น ไม่ถึงขั้นเป็นยาสลบ และไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
- แพทย์เจาะรูสอดสายสวนหลอดเลือดเข้าทางหลอดเลือดบริเวณใกล้หัวเข่า
- แพทย์ใส่อุปกรณ์สำหรับเผาทำลายหลอดเลือดขอดผ่านรูแผลเดียวกัน
- แพทย์ปล่อยความร้อนเพื่อเผาทำลายหลอดเลือดขอดจากภายใน
- ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซกันน้ำ
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
- หลังผ่าตัด คนไข้จะต้องพันขาเอาไว้ตั้งแต่ใต้ขาหนีบจนถึงปลายเท้า 1 สัปดาห์เพื่อให้หลอดเลือดที่ไหลย้อนปิดตัวสนิทที่สุด
- ในระหว่างที่พันขา คนไข้สามารถลุกเดินได้ตั้งแต่ 1 วันหลังการผ่าตัด
- สามารถให้แผลโดนน้ำได้ตามปกติ แต่งดการฟอกสบู่หรือถูแผล เนื่องจากอาจทำให้ผ้าก๊อซที่ปิดแผลแบบกันน้ำหลุดออกได้
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากพบอาการขาบวมซึ่งอาจเกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว
การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยสารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) คืออะไร?
การผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ หรือกาว เป็นเทคนิคการรักษาอาการเส้นเลือดขอดด้วยการใช้กาวพิเศษซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ สามารถใช้รักษาโรคภายในหลอดเลือดมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย โดยแพทย์จะหยอดกาวเข้าไปด้านในหลอดเลือดที่ขอด เมื่อกาวได้สัมผัสกับหลอดเลือดก็จะเกิดเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ทำให้เกิดการแข็งตัว และออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดอุดปิดสนิท
สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) สามารถอยู่ได้นานแค่ไหน?
กาวรักษาเส้นเลือดขอดสามารถอุดหลอดเลือดในร่างกายมนุษย์ไปได้ตลอดชีวิต โดย 90% ของคนไข้ที่รักษาด้วยวิธีนี้จะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นเส้นเลือดขอดที่หลอดเลือดเดิมซ้ำอีก แต่ก็อาจมีคนไข้ประมาณ 10% ที่หลอดเลือดมีขนาดใหญ่มาก ๆ ทำให้กาวไม่สามารถอุดปิดหลอดเลือดได้สนิทและต้องกลับมารักษาซ้ำ แต่โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจประเมินความเสี่ยงนี้ก่อนเริ่มทำการรักษา
ใครเหมาะกับการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยสารยึดติดทางการแพทย์ (กาว)
การใช้สารยึดติดทางการแพทย์รักษาเส้นเลือดขอด เหมาะกับคนไข้ที่ไม่ต้องการพันขาหลังผ่าตัด อาจจะมีความรำคาญผ้าพันขาหรือถุงน่องได้ง่าย และมีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่างที่ทำให้พันขาหรือใส่ถุงน่องไม่ได้
จุดเด่นของการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) รักษาเส้นเลือดขอด
- เป็นการรักษาภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องมีการวางยาสลบ ไม่ต้องใช้ยาบล็อกหลัง
- ไม่ต้องพันขาหลังผ่าตัด ทำให้สามารถดูแลตนเองหลังการรักษาได้สะดวกขึ้น
- ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล หลังผ่าตัดสามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย
ข้อจำกัดของการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว) รักษาเส้นเลือดขอด
- คนไข้ที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป อาจไม่สามารถรักษาอาการนี้ด้วยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ได้ เนื่องจากจะมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสูง
- คนไข้ที่มีเส้นเลือดขอดอยู่ชิดกับผิวหนังมากเกินไป หากใช้สารยึดติดทางการแพทย์รักษาก็อาจทำให้คลำเจอก้อนแข็งใต้ผิวหนังภายหลังได้ ทำให้รู้สึกรำคาญหรือไม่สบายใจ แพทย์จึงจะแนะนำวิธีการรักษารูปแบบอื่นให้แทน
- คนไข้บางรายอาจมีอาการแพ้สารยึดติดทางการแพทย์ ทำให้เกิดอาการคัน บวมแดง มีการอักเสบที่หลอดเลือด แต่อาการจะไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาแก้แพ้ที่แพทย์สั่งจ่ายให้
ขั้นตอนผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ (กาว)
การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการใช้สารยึดติดทางการแพทย์ จัดเป็นวิธีรักษาที่มีความเรียบง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับเทคนิคผ่าตัดเพื่อรักษาเส้นเลือดขอดแบบอื่น ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่ในตำแหน่งใกล้หัวเข่า
- แพทย์ใส่อุปกรณ์เข้าหลอดเลือดและใส่สายหยอดกาว
- แพทย์หยอดสารยึดติดทางการแพทย์เพื่ออุดเส้นเลือดขอดให้ปิดสนิทตลอดเส้น
- หลังจากอุดเส้นเลือดเสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนำอุปกรณ์ออกจากรูแผลและปิดด้วยผ้าก๊อซกันน้ำ
- หลังผ่าตัดคนไข้สามารถลุกเดินได้ทันที ไม่ต้องพันขา และเดินทางกลับบ้านได้เลย
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก คืออะไร?
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก คือ การผ่าตัดเพื่อนำหลอดเลือดส่วนที่มีการไหลย้อนและเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดขอดออก โดยหลังผ่าตัด หลอดเลือดส่วนที่ขอดจะยุบตัวลงไปเอง
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกมีเทคนิคการผ่าตัดแบบเดียว นั่นก็คือการผ่าตัดแบบเปิด โดยแพทย์จะผ่าเปิดแผลที่ขาหนีบเพื่อใส่อุปกรณ์ดึงหลอดเลือดที่มีการไหลย้อนออกมา
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกเหมาะกับใคร?
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกเป็นการผ่าตัดที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ สามารถทำได้ในคนไข้ทุกรายและเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนไข้ที่ไม่สามารถผ่าตัดด้วยคลื่นวิทยุ RFA หรือการใช้กาวได้ เช่น คนไข้ที่เส้นเลือดขอดใหญ่มาก คดเคี้ยวมาก หรือเส้นเลือดขอดอยู่ตื้นชิดกับผิวหนัง
จุดเด่นของการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกมีจุดเด่นด้านการผ่าตัดที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ สามารถผ่าตัดได้ในคนไข้ทุกรายและเส้นเลือดขอดทุกรูปแบบ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
เนื่องจากการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกเป็นการผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะต้องใช้อุปกรณ์ดึงเอาหลอดเลือดส่วนที่ไหลย้อนออกมา ทำให้หลังจากผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ คนไข้จึงจะต้องพันขาเอาไว้อย่างแน่นหนาและกระชับอยู่ตลอดเวลาที่แพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันโอกาสเกิดห้อเลือดในตำแหน่งที่ผ่าตัด ซึ่งการพันขาอาจทำให้คนไข้เกิดความรำคาญ หรือใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวกเล็กน้อย
ขั้นตอนการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก
- แพทย์จะระงับความรู้สึกคนไข้ก่อนเริ่มผ่าตัด อาจเป็นการใช้ยาบล็อกหลังหรือการวางยาสลบ
- แพทย์ผ่าเปิดแผลขนาดเล็กและตื้นทั้งหมด 2 แผล ได้แก่ แผลที่ขาหนีบ และแผลที่หัวเข่า
- แพทย์สอดอุปกรณ์สำหรับนำหลอดเลือดที่มีการไหลย้อนเข้าทางแผลหนึ่ง และนำหลอดเลือดออกมาผ่านอีกแผลหนึ่ง
- เย็บปิดแผล ขนาดแผลที่ขาหนีบจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนแผลที่หัวเข่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เซนติเมตร
หลังผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออกควรดูแลตัวเองอย่างไร?
- หลังผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง คนไข้สามารถลุกเดินได้ตามปกติ
- คนไข้ต้องพันขาไว้ตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น โดยพันตั้งแต่ขาหนีบไปจนถึงปลายเท้า
- คนไข้ต้องพันขาไว้อย่างต่อเนื่อง 1 สัปดาห์หรือจนถึงวันที่เดินทางมาตรวจแผลกับแพทย์ โดยให้พันไว้ตลอดในช่วงกลางวัน แต่ช่วงกลางคืนที่เข้านอนสามารถงดพันขาได้ แต่ถ้าหากเมื่อไรที่มีการลุกเดินก็ยังต้องพันขาไว้ตลอด
- คนไข้ต้องพันขาอย่างแน่นหนาและกระชับอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจเกิดโอกาสห้อเลือดในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการขาบวม แผลมีสีม่วงคล้ำ มีรอยห้อเลือดขนาดใหญ่ หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว
หลังผ่าตัดเส้นเลือดขอด มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?
ไม่ว่าคนไข้จะเลือกผ่าตัดเส้นเลือดขอดด้วยเทคนิคใดก็ตาม ทั้งการใช้คลื่นวิทยุ RFA การใช้สารยึดติดทางการแพทย์ หรือการผ่าตัดนำเส้นเลือดขอดออก ผลลัพธ์หลังผ่าตัดจะทำให้คนไข้ไม่กลับมาเป็นเส้นเลือดขอดซ้ำเส้นเดิมอีกในช่วง 5 ปี ถึง 90%
แต่หลังจากผ่านช่วง 5 ปีไปแล้ว คนไข้บางรายอาจกลับมาเป็นเส้นเลือดขอดซ้ำได้ แต่มักจะพบบริเวณเส้นอื่นที่ยังไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน ส่วนเส้นเลือดที่เคยผ่านการรักษามาแล้วจะหายดีอย่างถาวรประมาณ 80-90%
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันเส้นเลือดขอด
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดนั้นค่อนข้างยาก และปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีป้องกันที่เห็นผลได้ชัดเต็มที่ เนื่องจากอาการเส้นเลือดขอดมักเกิดจากโรคที่มีต้นตอหลักมาจากความเสื่อมของอายุคนไข้ สิ่งที่พอจะช่วยบรรเทาความรุนแรงจากโรคนี้ได้คือการหมั่นสังเกตขาของตนเอง หากพบเห็นหลอดเลือดที่ปูดนูนเมื่อไร ให้รีบเดินทางมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยปละละเลยไว้จนมีอาการผิดปกติมากขึ้น
ผ่าตัดเส้นเลือดขอด กับ นพ. ชินะภัทร์ ด้วยบริการจาก HDcare
สังเกตเห็นขาตัวเองคล้ายกับมีเส้นเลือดขอด มีอาการตึงน่อง ปวดบวม ทำให้ใช้ชีวิตไม่สะดวกหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ อย่านิ่งนอนใจ รีบเดินทางมาปรึกษากับแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่า
บริการจาก HDcare สามารถเป็นตัวกลางช่วยนัดหมายให้คุณปรึกษาคุณหมอได้ทั้งที่โรงพยาบาลหรือช่องทางออนไลน์ มีแอดมินนัดคิวให้ สะดวกสบาย ไม่เสียค่าใช้จ่ายจนกว่าจะตัดสินใจรักษา ทักหาแอดมิน HDcare ให้ทำนัดกับคุณหมอได้เลย
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัยกับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาลหรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย