ผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยการส่องกล้อง กับ นพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา ด้วยบริการจาก HDcare

โรคไส้เลื่อน พบได้ทุกเพศทุกวัย แล้วรักษาได้อย่างไร พร้อมตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน

โดยนพ. ณัฐพล อภิกิจเมธา หรือหมอณัฐ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง มีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องทางเดินอาหารมามากกว่า 2,500 เคส

อ่านประวัติหมอณัฐได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอณัฐ” ศัลแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และการส่องกล้องทางเดินอาหาร]

สารบัญ

โรคไส้เลื่อน คือความผิดปกติของอะไร? มีกี่ชนิด?

โรคไส้เลื่อน​ (Hernia) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของผนังหน้าท้องที่อ่อนกำลังลงหรือมีรูเปิดในช่องท้องที่ผิดปกติ จนทำให้ลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้องยื่นดันออกมา สามารถแบ่งออกได้ 5 ชนิด ได้แก่

  • โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ เกิดจากความอ่อนแอหรือการหย่อนตัวของผนังหน้าท้อง จนทำให้ลำไส้ปูดบวมออกมาที่ตำแหน่งขาหนีบ ในผู้ชายบางรายอาจพบลำไส้ปูดลงมาถึงลูกอัณฑะ เป็นประเภทของโรคไส้เลื่อนที่พบได้ตั้งแต่กำเนิดหรือในเด็กเล็กด้วย
  • โรคไส้เลื่อนที่หน้าท้อง สามารถเกิดได้ที่ตำแหน่งใดของหน้าท้องก็ได้ เช่น บริเวณสะดือ บริเวณแผลผ่าตัดที่เคยผ่าบริเวณหน้าท้อง มักเกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้องเช่นกัน 
  • โรคไส้เลื่อนที่กระบังลม เกิดจาก “กระบังลม” ซึ่งเป็นอวัยวะที่กั้นระหว่างช่องท้องกับช่องอกดันทะลุขึ้นไปบนช่องอก ในโรคไส้เลื่อนประเภทนี้คนไข้จะไม่พบไส้เลื่อนดันปูดออกมาจากผิวหนัง แต่จะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น แสบร้อนที่ช่วงอก คลื่นไส้อาเจียน เรอเปรี้ยว มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกแรงๆ หรือเป็นแต่กำเนิด แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
  • โรคไส้เลื่อนข้างหลอดอาหารในช่องท้อง เกิดจากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรืออวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องเลื่อนผ่านช่องเล็กๆ ที่หลอดอาหารใช้ลอดผ่านช่องอกลงไปที่ช่องท้องกลับขึ้นมาที่ช่องอกอีก
  • โรคไส้เลื่อนในช่องเชิงกราน เกิดจากการอ่อนตัวของผนังหน้าท้องที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ทำให้ลำไส้หรืออวัยวะในช่องท้องเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องเล็กๆ ของกระดูกเชิงกราน พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโอกาสพบได้ต่ำ

เป็นโรคไส้เลื่อน ไส้ตรงไหนที่เลื่อน?

โดยส่วนมากลำไส้ที่เลื่อนมักเป็นลำไส้เล็กที่เลื่อนผ่านช่องหรือรูที่ผนังหน้าท้อง แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องที่มีการเคลื่อนที่จนเกิดเป็นโรคไส้เลื่อนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร มดลูก รังไข่

ใครเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อนสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย แต่อาจพบในบางเพศหรือบางช่วงวัยได้บ่อยกว่าตามแต่ชนิดของโรคไส้เลื่อน เช่น 

  • โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง
  • โรคไส้เลื่อนที่หน้าท้อง ที่สะดือ หรือที่แผลผ่าตัด พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายเท่าๆ กัน
  • โรคไส้เลื่อนที่เชิงกราน พบได้บ่อยในผู้หญิงสูงอายุ

อายุเท่าไร เสี่ยงเป็นไส้เลื่อนมากกว่า?

โรคไส้เลื่อนพบได้ในคนทุกเพศทุกวัยก็จริง แต่จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุมากกว่า เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ความแข็งแรงของผนังหน้าท้องอ่อนกำลังลงแล้ว

พฤติกรรมแบบใดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไส้เลื่อน

พฤติกรรมหรืออาการที่เพิ่มความดันในช่องท้องสามารถเพิ่มโอกาสทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้ เช่น

  • อาการไอเรื้อรัง
  • อาการท้องผูกหรือปัสสาวะลำบาก จนต้องออกแรงแบ่งมากขึ้นระหว่างขับถ่าย
  • ภาวะต่อมลูกหมากโต
  • การออกกำลังกายหรือการทำงานที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ จนทำให้เกิดการเกร็งของหน้าท้อง

ข้อบ่งชี้เป็นโรคไส้เลื่อน

อาการที่สังเกตเห็นได้เมื่อเกิดโรคไส้เลื่อน คือ มีก้อนปูดขึ้นมาที่หน้าท้องหรือขาหนีบ โดยก้อนที่ปูดมักจะยุบลงเวลานอนลง แต่จะยื่นออกมาเวลาเดิน นอกจากนี้คนไข้ยังอาจมีอาการปวดหน่วงหรือรู้สึกอึดอัดที่ท้องได้

การตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน

หากเกิดโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือหน้าท้อง แพทย์จะใช้มือคลำดูก้อนที่ปูดนูนและซักประวัติคนไข้เกี่ยวกับการยุบและปูดขึ้นของก้อนดังกล่าว หากนอนแล้วยุบ เดินแล้วปูด ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคไส้เลื่อน

แต่หากแพทย์ตรวจร่างกายและซักอาการแล้ว แต่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน หรือคนไข้มีข้อบ่งชี้เป็นโรคไส้เลื่อนที่กระบังลม แพทย์จะส่งตัวคนไข้ไปตรวจเอกซเรย์ ทำ CT Scan ทำ MRI หรือส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อหารอยโรคในการวินิจฉัยเพิ่มเติม

เป็นโรคไส้เลื่อนแล้วไม่รักษา อันตรายหรือไม่?

อันตรายมาก เนื่องจากลำไส้หรืออวัยวะที่ดันตัวขึ้นมาอาจถูกรูภายในช่องท้องบีบรัดจนขาดเลือด และทำให้เกิดอาการติดเชื้อภายในช่องท้องได้ 

การรักษาไส้เลื่อนมีกี่วิธี?

โรคไส้เลื่อนมีวิธีรักษาวิธีเดียวคือ วิธีผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกได้ 2 เทคนิคได้แก่ 

  • การผ่าตัดแบบเปิดแผล
  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

แม้จะแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 แบบ แต่ก็มีหลักการรักษาคล้ายกัน คือ แพทย์ผ่าตัดเข้าไปซ่อมแซมรูที่ลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ยื่นออกมา และวางแผ่นตะข่ายเพื่อเป็นผนังหน้าท้องเทียมที่มีความแข็งแรง ไม่ทำให้ลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ปูดยื่นออกมาอีก

ข้อดีและข้อจำกัดของการผ่าตัดไส้เลื่อน

1. การผ่าตัดแบบเปิด

การผ่าตัดแบบเปิดเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบดั้งเดิม นิยมใช้ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดจนผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ รวมถึงคนไข้ที่เคยผ่าตัดแบบส่องกล้องและเป็นโรคไส้เลื่อนซ้ำอีก ส่วนมากในการผ่าตัดครั้งถัดไปแพทย์ก็จะประเมินให้ผ่าตัดแบบเปิดแทน เนื่องจากผ่าตัดง่ายกว่า 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบเปิดจะทำให้คนไข้เกิดแผลขนาดใหญ่ จึงทำให้เจ็บแผลมากกว่า และใช้เวลาฟื้นตัวช้ากว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องทำให้เกิดแผลขนาดเล็กกว่า คนไข้จึงเจ็บแผลน้อยกว่า และฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว นอกจากนี้ยังเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ทำได้ในคนไข้แทบทุกคน 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเทคนิคส่องกล้องก็มีข้อจำกัดในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรง เช่น โรคหัวใจ ในกรณีนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ แพทย์จึงจะพิจารณาให้ผ่าตัดแบบเปิดแทน

รวมถึงคนไข้ที่เคยผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องไปแล้วกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำ หากต้องผ่าตัดเปิดแผลใหม่อีก แพทย์ก็มักไม่นิยมใช้เทคนิคแบบส่องกล้องอีกครั้ง เนื่องจากทำให้ผ่าตัดได้ยากขึ้น แต่จะใช้เทคนิคแบบเปิดแผลปกติแทน 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง

  • ตรวจสุขภาพก่อนผ่าตัด เช่น เจาะเลือด เอกซเรย์ปอด เช็กระดับโรคประจำตัวให้อยู่ในระดับที่สามารถผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย (ถ้ามี) เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต
  • งดน้ำและงดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • งดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ

ขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง

ระยะเวลาในการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องจะอยู่ที่ 40-60 นาที

  • วิสัญญีแพทย์วางยาสลบคนไข้
  • แพทย์กรีดเปิดแผลเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อใส่กล้องผ่าตัดเข้าไปด้านในช่องท้อง
  • แพทย์กรีดเปิดแผลอีก 2 แผลในขนาดครึ่งเซนติเมตร เพื่อใส่อุปกรณ์ผ่าตัดอื่นๆ และเพื่อเลาะถุงใส่ไส้เลื่อนออกจากแผล
  • หลังเลาะถุงใส่ไส้เลื่อนออกแล้ว แพทย์วางแผ่นตะข่ายสำหรับเป็นผนังหน้าท้องเทียม และยึดให้แน่นด้วยหมุดสำหรับผ่าตัด
  • เย็บปิดแผล หากคนไข้มีเนื้อเยื่อพังผืดรอบๆ ไส้เลื่อนด้วย แพทย์จะนำออกด้วยในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน แต่ระยะเวลาผ่าตัดอาจนานขึ้น

การดูแลตนเองหลังผ่าตัด 

  • คนไข้นอนโรงพยาบาลประมาณ 1-2 คืน หากสามารถลุกเดินได้ ไม่มีอาการเจ็บแผลที่รุนแรง ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
  • ควรพักฟื้นต่อที่บ้านอีก 1-2 สัปดาห์ 
  • กินอาหารทุกชนิดได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม
  • กลับมาตรวจแผลหลังผ่าตัดกับแพทย์ โดยส่วนมากนัดหมายจะอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด หากแผลไม่มีร่องรอยการอักเสบหรือบวม แพทย์จะไม่ได้นัดมาตรวจแผลอีก
  • งดยกของหนักและงดออกกำลังกาย 1-2 เดือนหลังผ่าตัด
  • หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น คนไข้ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมและรักษาอาการที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้อง เช่น ท้องผูก ปัสสาวะยาก ไอเรื้อรัง ภาวะต่อมลูกหมาก การยกของหนักบ่อยๆ

ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  • ภาวะแผลติดเชื้อ มีเลือดออกมาก แต่มีโอกาสเกิดค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องเป็นเทคนิคที่คิดค้นขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้อยู่แล้ว
  • อาการปวดหรือชาที่ขาหนีบ มักพบในการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ แต่มีโอกาสเกิดได้ต่ำเช่นกัน 
  • และมักเกิดเพียงชั่วคราว เนื่องจากแพทย์จะระวังต่อการบาดเจ็บที่เส้นประสาทที่ขาหนีบระหว่างผ่าตัดอยู่แล้ว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน

  1. การออกกำลังกายทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนใช่หรือไม่?
    ตอบ: ไม่จริง
  1. โรคไส้เลื่อนในผู้ชายและผู้หญิง เพศไหนอันตรายกว่ากัน
    ตอบ: พอๆ กัน เนื่องจากมีผลกระทบจากการเกิดโรคเหมือนกัน คือ มีโอกาสที่ลำไส้จะขาดเลือดจาการถูรูในช่องท้องรัดและติดเชื้อได้
  1. ผ่าตัดไส้เลื่อน มีโอกาสเป็นซ้ำได้หรือไม่?
    ตอบ: เป็นซ้ำได้ แต่มีโอกาสเกิดได้น้อยแค่ 1-2% เท่านั้น โดยมักเกิดจากคนไข้ได้มีพฤติกรรมหรือมีอาการผิดปกติที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้องอีก เช่น ท้องผูก มีการเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ ยกของหนักบ่อยๆ

ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง กับ นพ. ณัฐพล ด้วยบริการจาก HDCare

สังเกตเห็นช่องท้อง หน้าท้อง ขาหนีบมีผิวปูดนูน มีอาการบ่งชี้คล้ายกับเป็นโรคไส้เลื่อน อยากปรึกษากับแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไส้เลื่อนแล้ว และอยากผ่าตัดกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ทีมงาน HDCare ยินดีให้บริการนัดหมายแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาโรคไส้เลื่อนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงประสานงานกับแพทย์และโรงพยาบาลเพื่อดำเนินการรักษาให้คุณ

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top