ยา ทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาสำหรับบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง (Moderate to moderately severe pain) ยา Tramadol เป็นยาที่คล้ายกับยาแก้ปวดในกลุ่ม Opioid (narcotic) analgesics ตัวอื่นๆ ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่สมองในการเปลี่ยนแปลงการรับความรู้สึกปวดและการตอบสนองต่อความปวด
สารบัญ
สรรพคุณของยา Tramadol
ผลของยา Tramadol จะเปลี่ยนแปลงวิธีที่สมองและระบบประสาทรับรู้ต่อความเจ็บปวด แล้วยังมีคุณสมบัติที่คล้ายกับยากลุ่ม serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกทางหนึ่ง สรรพคุณยาจึงใช้บรรเทาอาการปวดเป็นหลัก
- บรรเทาอาการปวดแบบเฉียบพลัน ปวดระดับปานกลางขึ้นไป เช่น อาการปวดหลังผ่าตัด ปวดจากการบาดเจ็บ
- บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดเส้นประสาท ปวดจากโรคข้อเสื่อม ปวดจากโรคอักเสบรูมาตอยด์ ปวดหลัง
- บรรเทาอาการปวดอื่นๆ ขึ้นกับการตัดสินใจของแพทย์หรือเภสัชกร
วิธีใช้ยา Tramadol
ยา Tramadol มีหลายขนาด เช่น 50 mg, 100 mg, 200 mg และ 300 mg แบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นกับความเหมาะสม การเลือกขนาดยาและรูปแบบการใช้ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา ไม่ควรหายามาทานด้วยตัวเอง
- ขนาดยา Tramadol สูงสุดคือ 400 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าคุณมีอายุมากกว่า 75 ปี ขนาดยาสูงสุดคือ 300 มิลลิกรัมต่อวัน ห้ามปรับเพิ่มขนาดยา ใช้ยาบ่อยครั้งกว่าที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยาเป็นเวลานานกว่าที่แพทย์สั่ง การหยุดยาอย่างเหมาะสมให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- รับประทานยานี้ตามแพทย์สั่ง โดยทั่วไปจะรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการปวด คุณอาจรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ถ้ามีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้น อาจบรรเทาได้ด้วยการรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร และให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้
- ขนาดยาที่คุณได้รับจะขึ้นกับสภาวะโรคและการตอบสนองต่อการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง แพทย์อาจให้คุณเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำและค่อยๆ ปรับเพิ่มขนาดยาขึ้น จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ยาแก้ปวดจะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเมื่อเริ่มรับประทานขณะที่เริ่มมีอาการปวด หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการปวดเป็นมากขึ้น ยาอาจออกฤทธิ์ได้ไม่ดี
- ถ้าคุณมีอาการปวดเรื้อรัง เช่น อาการปวดข้ออักเสบ (Arthritis) แพทย์อาจสั่งยาในรูปแบบออกฤทธิ์นานให้กับคุณ นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ให้คุณด้วย เช่น ยา Paracetamol, Ibuprofen เป็นต้น ให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยา Tramadol ร่วมกับยาอื่นอย่างปลอดภัย
- ยา Tramadol อาจทำให้เกิดการถอนยาได้ (Withdrawal reactions) โดยเฉพาะถ้าคุณใช้ยานี้เป็นเวลานานติดต่อกันหรือใช้ยาในขนาดสูง หากหยุดใช้ยากะทันหันอาจเกิดอาการถอนยาขึ้นได้ เช่น กระสับกระส่าย น้ำตาไหล น้ำมูกไหล คลื่นไส้ มีเหงื่อออก ปวดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการถอนยา แพทย์อาจปรับลดขนาดยาลงช้าๆ ก่อนหยุดยาให้กับคุณ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมให้สอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร และถ้ามีอาการถอนยาเกิดขึ้นให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
- เมื่อใช้ยา Tramadol ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีดังเดิม ดังนั้นถ้าเกิดอาการนี้ขึ้น ให้แจ้งแพทย์
- แม้ว่ายานี้จะช่วยรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก แต่อาจทำให้เกิดอาการติดยาได้ (Addiction) ซึ่งจะมีโอกาสเกิดมากขึ้นถ้าคุณติดยาเสพติด หรือติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นแนะนำให้รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อลดโอกาสเกิดอาการติดยา และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
- แจ้งแพทย์หากอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง
- อ่านคำแนะนำในการใช้ยาที่ได้รับจากเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ และในทุกครั้งที่มารับยาซ้ำ หากมีคำถามใดๆ ให้สอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร
ผลข้างเคียงของยา Tramadol
- อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยา Tramadol ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เวียนศีรษะ หน้ามืด ง่วงนอน หรือปวดศีรษะ ซึ่งอาการข้างเคียงบางอย่างอาจค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อใช้ยาไปสักระยะหนึ่ง ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
- เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการท้องผูก ให้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกาย คุณอาจจำเป็นต้องรับประทานยาระบาย ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับการเลือกยาระบายที่เหมาะสมสำหรับคุณ
- เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ และอาการหน้ามืด ให้ค่อยๆ ลุกขึ้นช้าๆ เมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งหรือท่านอน
- โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์สั่งยานี้ให้กับคุณ เพราะว่าแพทย์ได้ประเมินแล้วว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากยานี้มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง ผู้ป่วยหลายรายที่ใช้ยานี้ไม่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรงจากยา
- แจ้งแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง ได้แก่ อารมณ์หรือสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป เช่น กระสับกระส่าย ประสาทหลอน, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ปัสสาวะลำบาก, มีอาการภาวะต่อมหมวกไตไม่ทำงาน เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลียผิดปกติ น้ำหนักลด
- ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หากคุณมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมาก ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หน้ามืด มีอาการชัก
- ยา Tramadol อาจเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท Serotonin ซึ่งอาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการที่ร้ายแรงได้ (พบได้น้อย) ซึ่งก็คือกลุ่มอาการซีโรโตนิน หรือ ซีโรโตนินเป็นพิษ (Serotonin syndrome/toxicity) โดยความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้จะเพิ่มขึ้นถ้าคุณใช้ยาอื่นที่เพิ่มปริมาณสาร Serotonin ในร่างกายร่วมด้วย ดังนั้นคุณต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับรายการยาทุกรายการที่กำลังใช้อยู่ และไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการใดๆ ดังนี้: หัวใจเต้นเร็ว ประสาทหลอน สูญเสียการประสานงานกันของร่างกาย เวียนศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้/อาเจียน/ท้องเสียอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อกระตุก มีไข้อย่างไม่ทราบสาเหตุ กระสับกระส่าย กระวนกระวายผิดปกติ
- เมื่อรับประทานยา Tramadol แล้ว ยาทรามาดอลจะถูกเปลี่ยนเป็นยา Opioid ที่ออกฤทธิ์แรงในร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายกระบวนการเปลี่ยนแปลงยานี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมากกว่ากว่าคนทั่วไป ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมาก ดังนั้นให้ไปพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการดังต่อไปนี้: หายใจช้า หายใจตื้น เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ตื่นนอนยาก มีอาการสับสน
- ปฏิกิริยาการแพ้ยานี้ เป็นเรื่องที่พบได้น้อย อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอาการใดๆ ของการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ ผื่น คัน/บวม (โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ) เวียนศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก
- อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ข้อควรระวังในการใช้ยา Tramadol
- ถ้าคุณแพ้ยา Tramadol หรือแพ้สิ่งอื่นๆ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนได้รับยานี้ ผลิตภัณฑ์ยานี้อาจประกอบด้วยสารไม่ออกฤทธิ์อื่นซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแพ้หรือปัญหาอื่นได้ ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
- ยา Tramadol อาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะ หรือง่วงนอน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้คุณมีอาการวิงเวียนศีรษะหรือง่วงนอนได้มากขึ้น ห้ามขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว จนกว่าคุณจะทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ยา Tramadol อาจเป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาว (QT prolongation) หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด QT prolongation เป็นสภาวะที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง (อาจทำให้เสียชีวิตได้) ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีอาการอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะรุนแรง หน้ามืด ซึ่งต้องรีบทำการรักษาทันที
- ความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด QT prolongation อาจเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีโรคบางโรค หรือกำลังใช้ยาบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของ QT prolongation อยู่แล้ว ดังนั้นก่อนใช้ยา Tramadol คุณต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงหากเป็นโรคดังต่อไปนี้ โรคหัวใจบางชนิด (หัวใจวาย, หัวใจเต้นช้า, พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวจากการตรวจ EKG), มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจบางชนิด (พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวจากการตรวจ EKG, คนในครอบครัวเสียชีวิตจากหัวใจวาย)
- การที่ร่างกายมีระดับโพแทสเซียม (Potassium) หรือ แมกนีเซียม (Magnesium) ในเลือดต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด QT prolongation โดยความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นถ้าคุณใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขับปัสสาวะ) หรือมีอาการเหงื่อออกรุนแรง ท้องเสีย หรืออาเจียน ดังนั้นให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีในการใช้ยา Tramadol อย่างปลอดภัย
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับรายการยา อาหารเสริม และสมุนไพรทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่
- ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมากได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ง่วงนอนมากผิดปกติ สับสน หายใจช้า หายใจตื้น หายใจมีเสียงผิดปกติ
- ผู้สูงอายุอาจเกิดอาการข้างเคียงจากยาได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอาการสับสน เวียนศีรษะ ง่วงนอน หายใจช้า หายใจตื้น และหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด QT prolongation
- ระหว่างการตั้งครรภ์ ยานี้ควรใช้เฉพาะในกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริงๆ เพราะยาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์
- ยา Tramadol ผ่านไปยังน้ำนมได้ และอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในทารกที่ดูดนมแม่ เช่น ง่วงนอนผิดปกติ ไม่ยอมดูดนม หรือหายใจลำบาก จึงไม่แนะนำการให้นมบุตรระหว่างใช้ยานี้ และให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการให้นมบุตร
ก่อนการใช้ยา Tramadol ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะถ้าคุณมีอาการเหล่านี้
- เป็นโรคทางสมอง เช่น ได้รับบาดเจ็บที่สมอง มีเนื้องอกในสมอง มีอาการชัก
- มีปัญหาในการหายใจ เช่น หอบหืด หยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnea) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease-COPD)
- เป็นโรคไต
- เป็นโรคตับ
- อารมณ์ สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป เช่น สับสน ซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย
- ตนเองหรือคนในครอบครัวติดสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์
- มีปัญหาที่ลำไส้ หรือกระเพาะอาหาร เช่น มีการอุดตัน ท้องผูก ท้องเสียจากการติดเชื้อ ภาวะลำไส้อืด (Paralytic ileus)
- มีอาการปัสสาวะลำบาก เช่น เกิดจากต่อมลูกหมากโต
- เป็นโรคของถุงน้ำดี
- เป็นโรคตับอ่อนอักเสบ
- มีภาวะอ้วน
คำเตือนในการใช้ยา Tramadol
- ยา Tramadol เป็นยาที่มีความเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิดและเสี่ยงต่อการติดยาได้ นำไปสู่การได้รับยาเกินขนาดและการเสียชีวิต ยา Tramadol อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงทางระบบหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว แพทย์ควรให้คุณใช้ยาในขนาดต่ำที่สุดที่ยังมีประสิทธิภาพในการรักษา และให้ใช้ยาในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอย่างร้ายแรงทางระบบหายใจจะสูงขึ้นในช่วงที่เริ่มใช้ยา หรือเมื่อมีการปรับเพิ่มขนาดยา หรือเมื่อใช้ยาผิดขนาด ผิดความแรง
- การรับประทานยา Tramadol ร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือยาอื่นที่ทำให้มีอาการง่วงนอน หรือมีปัญหาในการหายใจ อาจนำไปสู่การเกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมาก รวมถึงการเสียชีวิต นอกจากนี้ยาอื่นๆ ที่ส่งผลรบกวนการกำจัดยา Tramadol ออกจากร่างกาย อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา Tramadol ด้วย ดังนั้นคุณต้องทราบว่ามีรายการยาบางชนิดที่ไม่สามารถใช้ร่วมกับยา Tramadol ได้ และหากเกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมากเกิดขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ หายใจช้า หายใจตื้น หน้ามืด เวียนศีรษะผิดปกติ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ง่วงนอนอย่างรุนแรง ตื่นนอนยาก
- ให้เก็บยานี้อย่างมิดชิดในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการขโมย การนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือการใช้ผิดวิธี ถ้ามีใครก็ตามที่กลืนยานี้เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ก่อนเริ่มใช้ยา Tramadol ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
- ระหว่างตั้งครรภ์ ยานี้ควรใช้เฉพาะในกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริงๆ ซึ่งยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิดของทารกถ้าใช้ยาในช่วง 2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การใช้ยา Tramadol เป็นเวลานาน หรือใช้ยาในขนาดสูงใกล้กับช่วงวันใกล้คลอด อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ให้ใช้ยา Tramadol ในขนาดต่ำที่สุดที่ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค และใช้ในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ทารกที่คลอดจากมารดาที่ใช้ยา Tramadol เป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการถอนยาอย่างรุนแรง (อาจทำให้เสียชีวิต) ดังนั้นให้แจ้งแพทย์ทันทีถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติในทารกแรกเกิด เช่น ร้องไห้ไม่หยุด หายใจช้า หายใจตื้น หงุดหงิดฉุนเฉียว ตัวสั่น อาเจียน ท้องเสีย ไม่ยอมดูดนม หรือน้ำหนักตัวเพิ่มช้า
- เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้ยา Tramadol หรือยาที่มีส่วนประกอบของ Tramadol
- เด็กอายุระหว่าง 12–18 ปี ไม่ควรใช้ยา Tramadol ภายหลังการผ่าตัดบางชนิด รวมถึงการผ่าตัดต่อมทอนซิล/ต่อมอะนีนอยด์
- นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยา Tramadol ในเด็กอายุ 12–18 ปี ที่มีภาวะอ้วนหรือมีปัญหาในการหายใจ
- เด็กบางรายอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในการหายใจอย่างร้ายแรงได้ ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต เช่น มีอาการหายใจช้า/หายใจตื้น จึงให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ก่อนการใช้ยานี้ในเด็ก
ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยา Tramadol
สภาวะต่อไปนี้ถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยา Tramadol ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์ทราบหากคุณมีสภาวะดังต่อไปนี้
- ต่อมหมวกไตทำงานลดลง
- มีอาการของการถอนแอลกอฮอล์
- มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือทำการฆ่าตัวตาย
- เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism)
- ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol intoxication)
- มีการใช้ยาในทางที่ผิด
- ซึมเศร้า
- มีภาวะกลุ่มอาการซีโรโตนิน (Serotonin syndrome) จากปฏิกิริยาระหว่างยา
- ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการชัก
- เป็นโรคหอบหืด
- การทำงานของปอดลดลง
- กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน
- ตับแข็ง
- มีอาการชัก
- มีปริมาณยาในกลุ่ม Narcotics ในร่างกายมากในระดับที่เป็นพิษ
- เป็นมารดาที่กำลังให้นมบุตร
- เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาในกลุ่ม Benzodiazepine
- มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- เกิดอาการถอนยาเฉียบพลันซึ่งอันตรายถึงชีวิต
- ติดเชื้อในระบบประสาทที่สมอง และไขสันหลัง
- เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Lung Disease)
- เป็นผู้ที่มีการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6 มากผิดปกติ หรือน้อยผิดปกติ
- มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอันเนื่องมาจากการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ
- ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์/ต่อมทอนซิล
- เป็นโรคตับที่มีการทำงานของตับลดลง
- แพ้ยา Tramadol
- แพ้ยาในกลุ่ม Opioids-Morphine
การใช้ยา Tramadol ร่วมกับยาอื่น
การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นคุณต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าคุณกำลังรับประทานยา อาหารเสริม สมุนไพร ใดอยู่ในขณะนี้ อย่าเริ่มยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงขนาดยาต่างๆ เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
รายการยาที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา Tramadol
- ยาในกลุ่ม MAOIs
- Rasagiline, Selegiline
- Dapoxetine
- Naltrexone
- Carbamazepine
- ยาในกลุ่ม 5-HT1D Agonists (Triptans)
- Nalbuphine
- Linezolid
- Butorphanol
- Buprenorphine
- Sodium oxybate
- ยาในกลุ่ม SSRIs, SNRIs
- Buprenorphine
- Butorphanol
- Nalbuphine
- Mirtazapine
- ยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6 บางรายการ
- ยาในกลุ่ม Benzodiazepines
- ยานอนหลับ, ยาระงับประสาท
- ยาคลายกล้ามเนื้อ
- Phenothiazines
- Desmopressin
- Trazodone
- Gabapentinoids
การได้รับยา Tramadol เกินขนาด
- หากมีใครก็ตามที่ได้รับยา Tramadol เกินขนาด จนทำให้เกิดอาการที่ร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669
- อาการของการได้รับยาเกินขนาดอาจได้แก่ หายใจช้า หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ โคม่า มีอาการชัก
หมายเหตุ: ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้, ยานี้ถูกสั่งให้ใช้สำหรับสภาวะโรคปัจจุบันที่คุณเป็นเท่านั้น ห้ามใช้ยานี้สำหรับโรคหรืออาการอื่น เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่นในการรักษาแทน
การเก็บรักษายา Tramadol
เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากแสงแดดและความชื้น เก็บยาทุกชนิดให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่เทยานี้ทิ้งในห้องน้ำหรือในท่อระบายน้ำ ให้ทิ้งผลิตภัณฑ์ยานี้อย่างเหมาะสมเมื่อยาหมดอายุหรือเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้อีก