อาการปวดเกร็งท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อยในหลายๆ โรค หลายครั้งก็มักจะมาพร้อมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ท้องร่วง อาเจียน มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด อาการปวดเกร็งท้องนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเกิดจากสาเหตุรุนแรงอาจเป็นอันตรายได้ควรรีบรักษา
สารบัญ
สาเหตุของอาการปวดเกร็งท้อง
1. ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
ความแปรปรวนในระบบทางเดินอาหาร และความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้องเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งท้อง สาเหตุ หรือโรคที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้มีอาการปวดท้องและจุกเสียดที่แถบเหนือสะดือค่อนไปด้านซ้าย รวมถึงมักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน และอาหารไม่ย่อยด้วย
- โรคกรดไหลย้อน เป็นอาการที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร ทำให้มีอาการปวดเกร็งท้อง จุกแน่นลิ้นปี่ ร่วมกับมีอาการแสบระคายเคืองช่วงอกและลำคอ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย รวมถึงคลื่นไส้อาเจียนด้วย
- โรคลำไส้อักเสบและอาหารเป็นพิษ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือโปรโตซัวที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ทำให้มีอาการปวดเกร็งท้อง หรือปวดบิดรุนแรงร่วมกับอาการท้องร่วง ท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและอ่อนเพลียร่วมด้วยซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำได้
- ไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการปวดเกร็งตรงกลางท้อง หรือด้านล่างขวาใต้สะดือรุนแรง เมื่อกดมือลงไปแล้วจะรู้สึกเจ็บ สาเหตุเกิดจากการอักเสบของไส้ติ่ง รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ท้องเสีย หรือท้องอืด หากไม่ได้รับการผ่าตัดนำไส้ติ่งออก อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- โรคตับอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคตับอักเสบจะทำให้ปวดเสียดท้องอย่างรุนแรงบริเวณด้านขวาบนและอาจปวดร้าวจนถึงหลัง หรือใต้สะบัก รวมถึงมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย
- มีนิ่วในถุงน้ำดี หากนิ่วมีขนาดเล็กก็มักไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา แต่หากมีขนาดใหญ่ก็มักทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านขวาบนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน เช่นเดียวกับโรคตับอักเสบ
2. ปัญหาในระบบสืบพันธุ์
อาการปวดเกร็งท้องเนื่องมาจากปัญหาของระบบสืบพันธุ์ มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ภาวะที่พบบ่อย ได้แก่
- อาการระหว่างมีประจำเดือน ขณะผู้หญิงมีประจำเดือน มดลูกจะมีการบีบตัวทำให้มีอาการปวดเกร็งที่ท้องน้อยซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้บ่อย แต่หากอาการรุนแรงมากก็อาจต้องรับประทานยาแก้ปวด หรือฉีดยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
- อาการจากการตั้งครรภ์ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นทำให้มีการยืดตัวของเส้นเอ็นและดันกล้ามเนื้อหน้าท้องออก รวมถึงเมื่อมดลูกมีการเคลื่อนไหว หรือบีบตัวก็อาจทำให้รู้สึกปวดเกร็งท้องได้ ซึ่งเป็นอาการปกติในช่วงตั้งครรภ์ ไม่อันตรายแต่อย่างใด
- การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคหนองใน อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเชื้อราในช่องคลอด การติดเชื้อเหล่านี้มักทำให้ปวดท้องน้อยรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับรู้สึกเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีสีและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- สาเหตุอื่นๆ เช่น มีซีสต์ หรือเนื้องอกในมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย
3. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหน้าท้อง
การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ยกของหนัก หรือเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องบาดเจ็บจนมีอาการปวดเกร็งท้องได้เช่นกัน หากเป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เมื่อพักใช้กล้ามเนื้อสักระยะหนึ่ง อาการปวดก็จะดีขึ้นเอง
แต่หากเกิดการบาดเจ็บรุนแรง หรือส่งผลต่ออวัยวะภายใน ผู้ป่วยควรไปต้องพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอาการบาดเจ็บให้หายตั้งแต่เนิ่นๆ
4. ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
อาการปวดเกร็งท้องจากความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะนั้นสามารถพบได้ในผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นผลมาจากการกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือรักษาสุขอนามัยไม่ดี อาการที่พบคือ ปวดเกร็งท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวกะปริดกะปรอย ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น หรือพบเลือดปนในปัสสาวะ
- โรคนิ่วไต เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทยเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการของโรคนิ่วไตคือ ปวดท้องบริเวณบั้นเอวและสีข้าง ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ยิ่งก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ อาการก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น
5. ความผิดปกติของหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ถูกกัดเซาะ
- โรดเส้นเส้นเลืดแดงใหญ่โป่งพอง
6. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น โรคลำไส้แปรปรวน
7. กลุ่มที่เกิดจากโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ
8. กลุ่มที่เกิดจากการเจ็บป่วยที่อวัยวะอื่นแต่มีอาการปวดท้อง เช่น อัณฑะบิดตัว เส้นประสาทที่หลังอักเสบ
9. กลุ่มที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายผิดปกติ
การบรรเทาและรักษาอาการปวดเกร็งท้อง
การบรรเทาอาการปวดเกร็ง
โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวด ปวด ซึ่งชนิดของยาแก้ปวดขึ้นอยู่กับกลไกของโรค เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หากอาการปวดเป็นอาการปวดทั่วไป หรือให้ยา hyoscine เพื่อลดการบีบตัวของลำไส้
การรักษาที่สาเหตุ
วิธีการรักษาประเภทนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ เช่น หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินอาหาร หรือทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจต้องให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา
แต่หากสาเหตุมาจากกรดในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาลดกรด เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) หรือในบางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อรักษา เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ซีสต์ในมดลูก นิ่วในไต
การป้องกันอาการปวดเกร็งท้อง
เนื่องจากอาการปวดเกร็งท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่สามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ วิธีป้องกันจึงแตกต่างกันไปตามต้นเหตุ เช่น
- การป้องกันจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร สามารถทำได้โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่รับประทานครั้งละมากๆ หรือเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และล้างมือก่อนรับประทานอาหารเสมอ
- การป้องกันอาการที่เกิดจากระบบสืบพันธุ์ นั่นคือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ หรือปวดรุนแรงขณะมีประจำเดือนและปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการที่แน่ชัด
- การป้องกันจากอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องออกแรงกดที่หน้าท้องมากๆ เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป และระวังการเกิดอุบัติเหตุที่มีการกระแทกรุนแรง
- การป้องกันจากความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยให้หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน และดูแลสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ
อาการปวดเกร็งท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุก็อาจรุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้ หมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ตัวหากมีอาการปวดท้องบ่อยๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด