หลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยร้ายไม่รู้ตัว แต่อันตรายถึงชีวิต


รวมข้อมูลเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง 3-5 เท่า แต่แม้จะอันตรายและมีคนเป็นจำนวนมาก แต่โรคหลอดเลือดหัวใจก็สามารถป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงได้จากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

ในบทความนี้ HDmall.co.th จึงรวบรวมทั้งอาการ สาเหตุ และวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เหมาะสมยิ่งขึ้น


เลือกอ่านข้อมูลหลอดเลือดหัวใจตีบได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


หลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease: CAD หรือ Coronary Heart Disease) คือ การอักเสบและการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารี โดยประมาณ 95% ที่หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ มีไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังเส้นเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหนาขึ้น และดีบตัน จนเลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

หากเกิดกรณีไขมันในผนังหลอดเลือดแตกตัวเป็นลิ่มเลือด ไหลไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เสียชีวิตกะทันหันได้ ทั้งนี้หลอดเลือดแดงโคโรนารี จะเกิดอาการตีบหรือตันได้ใน 2 ลักษณะ คือ หลอดเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี และหลอดเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากตระกรันไขมันเกิดการปริแตก

เช็กราคาตรวจหลอดเลือดหัวใจ

หลอดเลือดหัวใจตีบอาการเป็นอย่างไร?

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจมีดังนี้

  • เจ็บปวด เสียด หรือแน่นกลางหน้าอก หรือค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • ปวดร้าวบริเวณกราม คอ ท้ายทอย ขากรรไกร หัวไหล่ หรือแขนด้านใน เมื่อมีการใช้กำลังของร่างกายแต่จะดีขึ้นหลังจากได้พัก
  • รู้สึกเมื่อย และเหนื่อยง่ายขณะออกแรงมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เดินขึ้นที่สูง ยกของ เป็นต้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน ตัวซีด และเหงื่อออกท่วมตัว
  • ในผู้สูงอายุบางราย อาจมีอาการหอบเหนื่อย ซึม ใจสั่น และเป็นลมหมดสติ
  • ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
  • หมดสติและหัวใจหยุดเต้น

ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจเหนื่อยหอบเมื่อออกแรงมากขึ้น แต่อาการมักจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อนั่งพักสักระยะ แต่หากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก ผู้ป่วยอาจเหนื่อยหอบแม้จะนั่งพักอยู่เฉยๆ ก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวแม้จะในระยะเริ่มต้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

หลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไร?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากหลอดเลือดหลักที่เรียกว่า หลอดเลือดโคโรนารี ที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบ แคบลง เนื่องจากมีการสะสมของไขมันและหินปูนเกาะภายในผนังหลดเลือด 

ทำให้ปริมาณเลือดไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ หรือทำให้เกิดการอุดตันจนเลือดไหลผ่านไม่สะดวก เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน สามารถแยกย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี หรือหลอดเลือดหัวใจตีบแบบสะสม เรื้อรัง หรือค่อยเป็นค่อยไป มีสาเหตุมาจากการที่หลอดเลือดมีไขมัน คอเลสเตอรอล ตะกรัน หรืออื่นๆ เกาะตัวตามผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ และเลือดไปเลี้ยงหัวใจทำได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมักมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และเร็วขึ้นขณะทํากิจกรรมที่ปกติเคยทํา เช่น เดินขึ้นบันได ยกของ หรืออาจเจ็บเหมือนมีอะไรทับบนอก ปวดร้าวไปที่กราม หรือทางแขนด้านซ้าย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะสะสมใช้ระยะเวลานาน ประมาณ 7-10 ปี
  • กลุ่มที่หลอดเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากตระกรันไขมันเกิดการปริแตก หรือหลอดเลือดหัวใจแตกแบบเฉียบพลัน เป็นกลุ่มอาการที่อันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว มีอาการเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี ทำให้เกิดการเกาะตัวของเกร็ดเลือดในหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว จนอุดตันหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตกระทันหันแม้ว่าจะไม่เคยมีอาการมาก่อนก็ตาม เช่น ขณะออกกําลังกาย ซึ่งปัจจุบันการเสียชีวิตประเภทนี้มีอัตราการเกิดค่อนข้างสูง

ใครเสี่ยงเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ?

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายปัจจัย ดังนี้

  • ผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น อาจมีไขมันเริ่มเกาะและสะสมที่ผนังหลอดเลือดด้านใน หากปล่อยไว้อาจเกิดการปริแตกของหลอดเลือด จนเกล็ดเลือดหลุดเข้าไปอุดตันทางเดินหลอดเลือด และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ผู้ที่มีโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีญาติสายตรงมีการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดตีบ ได้แก่ บิดา มารดา พี่น้อง เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะเครียด หรือภาวะซึมเศร้า
  • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวมาก อ้วนและลงพุง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมการบริโภค อาหารรสหวาน มัน เค็มและรสจัดมาก
เช็กราคาตรวจหลอดเลือดหัวใจ

หลอดเลือดหัวใจตีบรักษาอย่างไร?

ปัจจุบันการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า การสวนหัวใจผ่านข้อมือ เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยและพิจารณาหาแนวทางการรักษาได้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งทำได้โดยการใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าไปที่เส้นเลือดแดงบริเวณข้อมือ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีเอกซ์เรย์เข้าทางสายสวนหัวใจ และถ่ายภาพเพื่อตรวจเช็กการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยเลือกแนวทางการรักษาต่อไป โดยสามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาป้องกันหลอดเลือดอุดตัน หรือ ยาสลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น วิธีมักใช้ในกรณีที่มีหลอดเลือดตีบเพียงบางส่วน
  • การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ กรณีมีหลอดเลือดตีบมาก หรือหลอดเลือกมีการอุดตัน หรือเป็นผู้มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • การรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ ในกรณีที่ไม่สามารถขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหัวใจได้แล้ว หรือกรณีมีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง

โดยปกติแล้ว ผู้มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ มากกว่า 80% จะสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา ส่วนอีกประมาณ 15% จะรักษาด้วยการทำบอลลูน และมีเพียง 5% เท่านั้นที่จำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

ทั้งนี้การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาแบบไหนของแพทย์ จะวินิจฉัยจากหลายปัจจัย เช่น ขนาดของการตีบหลอดเลือด จำนวนเส้นของหลอดเลือดที่ตีบ และสาเหตุอาการของการตีบหลอดเลือด เป็นต้น

สำหรับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ ส่วนใหญ่แพทย์จะตัดสินใจรักษาวิธีนี้เมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป แต่หากเป็นกรณีผู้มีไขมันเกาะโดยไม่มีหินปูนและมีอายุ 30–40 ปี หรือมีหลอดเลือดอุดตันเส้นเดียว อาจรักษาด้วยการรับประทานยาในการช่วยให้ไขมันลดลง หรือใช้วิธีใส่ขดลวดบอลลูน

หลอดเลือดหัวใจตีบรักษาหายไหม?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ หากพบอาการเริ่มแรกและทำการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยและพิจารณาการรักษาให้เหมาะกับระยะอาการของผู้ที่เป็น แต่ทั้งนี้อาการตีบของหลอดเลือดก็สามารถกลับมาเป็นได้อีกตลอดเวลา 

หากไม่มีการดูแลและป้องกันด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชึวิต เนื่องจากอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง โดยแนวทางการการลดความเสี่ยงและป้องกันสามารถทำได้ ดังนี้

  • ควบคุมเบาหวานสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ควบคุมความดันโลหิตสำหรับผู้มีโรคความดันโลหิตสูง
  • ควบคุมไขมันสำหรับผู้มีโรคเกี่ยวกับไขมัน
  • เลิกสูบบุหรี่ และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มจัด
  • เพิ่มการรับประทานผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานจัด
  • ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ลดความเครียด หรือมีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก หากพบสิ่งปกติสามารถวางแผนการป้องกันอย่างเหมาะสมได้

หลอดเลือดหัวใจตีบห้ามกินอะไร?

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงของกิน ดังต่อไปนี้

  • อาหารรสจัดต่างๆ โดยเฉพาะเค็มจัด หวานจัด
  • อาหารที่มีไขมันสูง และคอเรสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ขาหมู หมูสามชั้น หนังไก่ทอด เครื่องใน ฯลฯ
  • อาหารดองหรือทำเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม กุ้งแห้ง ผักดอง ผลไม้ดอง ฯลฯ
  • ขนมหรือผลไม้รสหวาน ได้แก่ ขนมหวาน น้ำหวาน ผลไม้รสหวานต่างๆ เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ฯลฯ
  • ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ซึ่งอาจมีผลกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องงดโดยเด็ดขาด
เช็กราคาตรวจหลอดเลือดหัวใจ

เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบดูแลตัวเองอย่างไร?

กรณีพบว่า มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันที่ลดความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว ควรดูแลตัวเองเพิ่มเติม ดังนี้

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและพบแพทย์ตามตารางนัดทุกครั้ง
  • รับประทานผัก ผลไม้ มากขึ้น และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
  • ไม่รับประทานอาหารอิ่มเกินไป และหลังจากรับประทานเสร็จควรพักประมาณ 30-60 นาที
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ลดความเครียด ด้วยการทำจิตใจให้สงบ และหาโอกาสพักผ่อนในสถานที่ผ่อนคลาย

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ฉับพลันไม่รู้ตัว แต่หากผู้เริ่มมีอาการ คอยสังเกตตัวเอง และรู้ตัวได้เร็วแล้วเริ่มต้นดูแลตัวเองอย่างดี โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นการลดความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการเข้าตรวจรักษาจากแพทย์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม จะช่วยยืดอายุให้ยาวนานขึ้น

เช็กราคาการตรวจหลอดเลือดหัวใจตีบ จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Healthline.com, What Is Coronary Artery Disease?, (https://www.healthline.com/health/coronary-artery-disease).
  • Webmed.com, What Is Coronary Artery Disease?, (https://www.webmd.com/heart-disease/coronary-artery-disease), 5 June 2022.
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ(สสส.), โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, (https://www.thaihealth.or.th/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ/).
  • RAMA Channel คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, หลอดเลือดหัวใจตีบ ดูแลดี ต่อชีวิตได้อีกไกล, (https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/หลอดเลือดหัวใจตีบ-ดูแลต/).
@‌hdcoth line chat