กรดไหลย้อน

10 เทคนิคแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วน

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) มีสาเหตุสำคัญจากการที่มีกรดออกมามากเกินไปในขณะย่อยอาหาร หรืออาจเกิดจากการที่หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวผิดปกติ ทำให้กรดส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ เป็นอาการที่พบบ่อยในปัจจุบัน แต่สามารถรักษา บรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

อาการของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนยอดอก (Heartburn) แสบคอ ไอ เรอเปรี้ยว จุกแน่นคล้ายมีอะไรติดคอ ท้องอืด อาการที่เกิดขึ้นแม้ไม่ใช่อาการร้ายแรงที่ส่งผลถึงกับชีวิตในทันที แต่ก็สร้างความทรมานและกระทบกับการใช้ชีวิตไม่น้อย แสบร้อนกลางอกเพราะกรดไหลย้อนมักสร้างปัญหาให้ได้ง่าย หลายคนจึงพยายามหาวิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วนและไม่ใช้ยาเพื่อให้หายจากอาการนี้

ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการแสบร้อนเกิดขึ้นกลางหน้าอกค่อนไปข้างล่าง ทำให้รู้สึกว่า “รอบๆ หัวใจมีอาการแสบร้อนเหมือนถูกไฟไหม้” จึงทำให้เข้าใจผิดคิดว่า เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจแต่อย่างใด

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

ผู้คนส่วนมากที่ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนมักมีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ รับประทานอาหารมากเกินไป หรือเร็วเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” เป็นวิธีสำคัญที่สามารถป้องกันและรักษาโรคกรดไหลย้อนได้

10 วิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วนด้วยตนเอง

1. อย่ารับประทานมากเกินไป

ควรแบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อต่อวัน หรือรับประทานเป็นอาหารหลัก 3 มื้อเล็กๆ และอาหารเสริมอีก 3 มื้อก็ได้ การรับประทานแบบนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป ทำให้ลดอาการแสบร้อนยอดอกได้เป็นอย่างดี

2. อย่ารับประทานเร็วเกินไป

การรับประทานเร็วเกินไป เคี้ยวน้อยลง จะทำให้ระบบทางเดินอาหารต้องทำงานหนักมากขึ้นแถมยังทำให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และกรดไหลย้อนตามมาได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้ช้าลงและเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน

แนะนำให้เคี้ยวอาหาร 20 ครั้ง หรือนับให้ถึง 20 ครั้งก่อนที่จะรับประทานคำถัดไป

3. ไม่รับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน

อาหารหลายชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ อาหารเหล่านั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 อาหารที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวในเวลาที่ไม่ควร

  • อาหารทอด อาหารมันๆ
  • เนื้อติดมันมาก
  • ซอสครีม
  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมันเนย
  • ช็อกโกแลต
  • เปปเปอร์มินต์
  • เครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม กาแฟ ชา และโกโก้

ประเภทที่ 2 อาหารที่ทำให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป

  • เครื่องดื่มมีคาเฟอีน
  • น้ำอัดลม
  • แอลกอฮอล์
  • อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด
  • พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ

4. เตรียมตัวให้พร้อม เมื่อต้องออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

ไม่ว่าจะรับประทานอาหารที่ไหนๆ ก็ควรเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่กระตุ้นให้กรดไหลย้อน ที่สำคัญอย่ารับประทานมากจนเกินไป และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน

5. อย่าเข้านอนทันที หลังเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ

การนอนในขณะที่กระเพาะอาหารยังเต็มแน่นไปด้วยอาหารทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างถูกดันให้คลายตัว ส่งผลให้อาหารและกรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นไป หลังจากนั้นจะเกิดอาการกรดไหลย้อนตามมา

ทางที่ดีหลังรับประทานอาหารเสร็จ ควรรออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง แล้วจึงเข้านอน พยายามหลีกเลี่ยงขนมมื้อดึก หากวันไหนจำเป็นต้องรับประทานอาหารมื้อใหญ่ควรเลือกให้เป็นมื้อกลางวันมากกว่ามื้อเย็นเพราะกระเพาะอาหารจะมีโอกาสย่อยได้นานกว่า

6. อย่านอนหงายราบเวลานอน

เมื่อรู้สึกมีอาการของกรดไหลย้อน ไม่ควรนอนหงายราบเพราะอาหารในกระเพาะจะกดทับหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้กรดไหลย้อน แนะนำให้หนุนที่นอนตั้งแต่ช่วงอก ไหล่ และศีรษะให้สูงขึ้นจะช่วยลดแรงกดดังกล่าวได้

วิธีเสริมที่นอนให้สูงขึ้น

  • วางก้อนอิฐ หิน หรืออะไรก็ตามที่แข็งแรงมั่นคง รองขาเตียงฝั่งหัวนอนให้สูงขึ้น
  • ใช้หมอนรูปลิ่มหนุนบริเวณศีรษะและไหล่

หมายเหตุ: อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการเอาหมอนรองเท่านั้น เพราะจะยิ่งทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและไม่ช่วยลดอาการกรดไหลย้อนด้วย

7. งดสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายและกรดไหลย้อนก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีบางชนิดในบุหรี่เพิ่มโอกาสในการเป็นกรดไหลย้อนได้ ด้วยกลไกดังนี้

  • ลดการสร้างน้ำลาย น้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่างและช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ เมื่อเรากลืนน้ำลายลงคอ น้ำลายจะชะล้างกรดในกระเพาะที่ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารให้กลับเข้าสู่กระเพาะเหมือนเดิม แต่การสูบบุหรี่จะลดการสร้างน้ำลายลง ทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นกรดไหลย้อนได้
  • เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร การสูบบุหรี่เพิ่มการสร้างกรดในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ยังอาจกระตุ้นให้เกลือน้ำดี (Bile salt) จากลำไส้มายังกระเพาะอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารก่ออันตรายได้มากขึ้น
  • ทำให้การทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างแย่ลง การสูบบุหรี่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (ทำหน้าที่กั้นรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร) เกิดการคลายตัวอย่างผิดปกติ อาหารในกระเพาะอาหารจึงล้นกลับไปในหลอดอาหารได้
  • การสูบบุหรี่จะทำอันตรายต่อหลอดอาหารได้โดยตรงมากกว่าโรคกรดไหลย้อนเสียอีก

8. อย่าดื่มหนักเกินไป

แอลกอฮอล์เพิ่มปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหารและทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์บ้างสามารถเลือกวิธีต่อไปนี้

  • เลือกเบียร์ หรือไวน์ชนิดปราศจากแอลกอฮอล์
  • จำกัดการดื่มไว้ที่เหล้าผสมไม่เกินหนึ่งถึงสองแก้ว ไวน์ไม่เกินสิบหกออนซ์ และเบียร์ไม่เกินสามแก้ว
  • ดื่มไวน์ขาวแทนไวน์แดง
  • เจือจางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยน้ำ หรือโซดา
  • สังเกตว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดที่ทำให้มีอาการกรดไหลย้อนและหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หมายเหตุ: เมื่อทราบแล้วว่า แอลกอฮอล์มีโทษต่อโรคกรดไหลย้อนมากกว่าประโยชน์ แนะนำให้หลีกเลี่ยง หรือดื่มให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้จะดีกว่า

9. อย่าใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป

การแต่งกายด้วยเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่รัดแน่นบริเวณท้อง เช่น เข็มขัด หรือสายรัดเอว อาจบีบกระเพาะอาหารให้ดันอาหารและกรดผ่านหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้

10. อย่าเครียดเกินไป

ความเครียดส่งผลให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ และหลอดอาหารทำงานน้อยลง แต่มีการหลั่งกรดมากขึ้น หากคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารดึกๆ รับประทานเสร็จแล้วนอนทันที หรือไม่มีเวลาออกกำลังกาย จะยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

ทางที่ดีควรหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียดบ้าง เช่น นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียดได้ ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ช่วยแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วน รวดเร็ว เห็นผลไว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้ง 10 วิธีนี้หากนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการตนเองเป็นประจำก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อน และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้อีกด้วย แต่หากคุณมีอาการกรดไหลย้อนรุนแรงมากขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารโดยตรงเพื่อตรวจประเมินร่างกายและรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมจะดีที่สุด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top