เสียงในหู Tinnitus

ภาวะหูอื้อ ได้ยินเสียงในหู (Tinnitus)

ภาวะเสียงในหูหรือหูอื้อ (Tinnitus) คือ อาการที่หูคนเราได้ยินเสียง โดยไม่มีแหล่งกำเนิดเสียงจากภายนอกด้วยสาเหตุจากร่างกายเราเอง ในบางกรณีควรไปพบแพทย์เพื่อรับการแก้ไขก่อนจะเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา

เสียงรบกวนในหู

ผู้มีปัญหาจะได้ยินเสียงหลายแบบ แตกต่างกันไป เช่น เสียงวี๊ด, เสียงหึ่ง, เสียงฮัม, เสียงสะท้อน, เสียงก้อง, เสียงดังคลิก, เสียงคล้ายจิ้งหรีดร้อง, เสียงลม, เสียงตุ๊บๆ ตามจังหวะชีพจร เสียงรบกวนอื่นๆ

เสียงดังในหูของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ในแง่ของระดับเสียงมีตั้งแต่เสียงต่ำไปจนถึงเสียงสูง อาจเกิดขึ้นกับหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และมักจะได้ยินชัดเจนขึ้นในสถานที่เงียบ

ภาวะเสียงในหูมีความร้ายแรงหรือไม่?

ภาวะเสียงดังในหู มักจะไม่ใช่สัญญาณของภาวะสุขภาพที่ร้ายแรง บางคนอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ และสร้างความรำคาญเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจเกิดขึ้นเรื้อรังจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยกรณีที่เป็นรุนแรงอาจส่งผลต่อระดับสมาธิและสร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ภาวะนอนไม่หลับ (insomnia) และภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นต้น

ในบางกรณี อาการเสียงดังในหู เสียงวี๊ดในหู อาจหายได้เองโดยไม่ต้องแก้ไขใดๆ แต่ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูก เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการและทำการรักษาจะดีที่สุด

สาเหตุของอาการได้ยินเสียงในหู

ภาวะเสียงดังในหูสามารถเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นอย่างกะทันหันก็ได้ ยังไม่มีข้อมูลอธิบายว่าเหตุใดจึงเกิดอาการนี้ขึ้น แต่ก็มักจะเกิดขึ้นร่วมกับภาวะสูญเสียการได้ยิน

บ่อยครั้งที่อาการหูอื้อ เสียงวี๊ดในหู เกี่ยวข้องกับ

  • ภาวะสูญเสียการได้ยินจากอายุ
  • ความเสียหายที่หูชั้นในจากการได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ทำงานในโรงงานที่มีเครื่องจักร
  • การสะสมกันของขี้หู
  • ภาวะติดเชื้อในหูชั้นกลาง
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière’s disease)
  • โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otosclerosis)
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การได้ยินเสียงดังกะทันหัน หรือได้ยินเสียงที่ดังมากๆ เช่น เสียงยิงปืนหรือเสียงระเบิด
  • โรคโลหิตจาง (Anaemia) ภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลง จนทำให้เลือดไหลเวียนเร็วขึ้นจนเกิดเสียง
  • การใช้ยาบางประเภท ที่เป็นพิษต่อระบบประสาทการได้ยิน เช่น การใช้ยาสำหรับเคมีบำบัด (chemotherapy), ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาขับปัสสาวะ (Diuretics), ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs), และแอสไพริน (Aspirin)
  • โรคเนื้องอกบนเส้นประสาทหู (Acoustic neuroma)
  • ภาวะความดันโลหิตสูงและการตีบของเส้นเลือดแดง (Atherosclerosis)
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมาก (Hyperthyroidism) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยไป (Hypothyroidism)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • โรคพาเก็ท (Paget’s disease) ซึ่งภาวะที่ทำให้กระบวนการซ่อมแซมและการฟื้นฟูกระดูกถูกขัดขวาง

ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรทำให้เกิดภาวะเสียงดังในหูขึ้น แต่ก็มีสมมติฐานว่า เมื่อมีการสูญเสียการได้ยินในความถี่ที่แตกต่างกัน สมองจึงตีความผิดปกติและเกิดการสังเคราะห์เสียงในความถี่นั้นๆ ทดแทน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

คุณควรไปพบแพทย์ หากมีอาการได้ยินเสียงวี๊ดในหูบ่อยครั้งหรือต่อเนื่องระยะยาว แพทย์จะทำการตรวจหูของคุณโดยละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

การวินิจฉัยอาการได้ยินเสียงในหู

1. แพทย์จะซักประวิติเพิ่มเติมอย่างละเอียด เช่น

  • เสียงที่ได้ยินเป็นแบบมาๆ หายๆ หรือเกิดขึ้นตลอดเวลา?
  • เสียงนั้นๆ ดังในหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง?
  • ปัญหานี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณหรือไม่?
  • คุณสังเกตว่ามีอาการอื่น ๆ หรือไม่ เช่น เวียนศีรษะบ้านหมุน หรือสูญเสียการได้ยิน?

แพทย์อาจต้องการทราบว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่ด้วย เนื่องจากการใช้ยาบางประเภท (เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือแอสไพรินปริมาณสูง) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการหูอื้อได้เช่นกัน

2. แพทย์จะตรวจภายในและภายนอกช่องหู เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

3. แพทย์อาจส่งตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยประเมินเรื่องเสียงดังในหู เช่น

  • ตรวจการได้ยินโดยเครื่องไฟฟ้า (Audiometry) เพื่อดูการบกพร่องทางการได้ยิน
  • ตรวจแยกเสียงและการได้ยินของปลายประสาทรับเสียงในหูชั้นใน โดยวัด SISI Score (Recruitment Test)
  • ตรวจแยกเสียงและการได้ยินส่วนประสาทรับเสียง และความล้าของสมอง (Tone Decay Test)
  • ตรวจวัดการได้ยินด้วยวิธีพิเศษ เพื่อแยกตำแหน่งรอยโรค (Bekesy Audiomety)
  • ตรวจวัดการได้ยินในระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response)

การรักษาอาการได้ยินเสียงในหู

ยังไม่มีวิธีรักษาอาการเสียงดังในหูที่ได้ผลกับทุกคน แต่การศึกษาในปัจจุบัน ค้นพบวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพอยู่เรื่อยๆ

หากตรวจพบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเสียงดังในหู การจัดการกับสาเหตุนั้นๆ อาจช่วยลดอาการหูอื้อ เสียงวี๊ดในหู ลงได้

แต่หากไม่พบสาเหตุใดๆ การรักษาจะเน้นไปที่การช่วยเหลือให้รับมือกับอาการนี้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น

  • การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงดัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) สำหรับผู้ที่มีเสียงดังในหูร่วมกับมีการสูญเสียการได้ยินค่อนข้างมาก ช่วยให้การได้ยินดีขึ้น และลดอาการเสียงดังในหู
  • การบำบัดด้วยเสียง (Sound therapy) เป็นการฟังเสียงธรรมชาติเพื่อดึงความสนใจของคุณจากเสียงในหู เช่น การเปิดหน้าต่างรับเสียง เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุค้างไว้ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตเครื่องเล่นเสียงชนิดพิเศษสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสียงดังในหูโดยเฉพาะ
  • การให้คำปรึกษา เป็นการบำบัดที่ช่วยให้คุณทำความเข้าใจอาการหูอื้อมากขึ้น และสอนให้คุณรับมือกับอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนักบำบัดการได้ยิน นักโสตประสาทวิทยา หรือแพทย์
  • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioural therapy: CBT) เป็นการบำบัดที่ช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนวิธีการคิดเกี่ยวกับอาการของตนเอง ทำให้คุณยอมรับกับเสียงที่ดังในหูของตนเอง จนคุณจะเริ่มไม่สังเกตถึงเสียงดังกล่าว
  • Tinnitus retraining therapy (TRT) เป็นการบำบัดที่ช่วยคงสภาพการตอบสนองทางสมองของคุณกับอาการหูอื้อ เพื่อให้คุณเริ่มปรับเสียงที่มาจากภายในร่างกาย จนทำให้คุณสังเกตถึงอาการน้อยลง แต่การบำบัดรูปแบบนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วเท่านั้น

การดูแลสุขภาพหู

การดูแลสุขภาพหูเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ซึ่งทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  • อย่าฟังเสียงดังเกินไป หรือนานเกินไป
  • ไม่ควรใส่หูฟังเวลานอนหลับ หรือในที่ที่เสียงดังมาก เนื่องจากต้องเร่งเสียงให้ดังขึ้นกว่าปกติ
  • อย่าปั่นหรือแคะหู

หากพบปัญหาเรื่อง หูอื้อ เสียงวี๊ดในหู แบบติดต่อกันหลายวัน ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยอาการและรักษาอย่างถูกวิธี


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ


ที่มาของข้อมูล

  • David T., Carol B. and Gordon S.. Clinical Practice Guideline: Tinnitus. American Academy of Otolaryngology-Head and Neck Surgery, 2014.
  • Carol B.,Tinnitus and Hyperacusis. Cummings otolaryngology–head & neck surgery, Sixth edition: 2336-2344, 2015.
Scroll to Top