ใจสั่น Heart Palpitations scaled

ใจสั่น (Heart Palpitations)

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) หรือ “A-Fib” เกิดจากการที่หัวใจห้องบนไม่ผลักดัน หรือสูบฉีดเลือดมายังหัวใจห้องล่างตามปกติ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างเร็วผิดปกติ หัวใจห้องบนและห้องล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน

มีคำถามเกี่ยวกับ ใจสั่น? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ภาวะนี้พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ และพบในประชากรทั่วไปราว 1-2%

การแบ่งกลุ่มของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

  • Paroxysmal Atrial Fibrillation: PAF) มีอาการเป็นๆ หายๆ มักจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง แม้จะไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดๆ แต่หากเกินกว่านั้นก็ไม่เกิน7 วัน
  • Persistent Atrial Fibrillation มีอาการนานกว่า 7 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี และไม่สามารถหายไปเองหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยา หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า
  • Longstanding Persistent Atrial Fibrillation มีอาการนานกว่า 1 ปี
  • Permanent Atrial Fibrillation มีอาการจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี และไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ด้วยวิธีใดๆ แต่จะควบคุมอัตราการเต้นหัวใจเท่านั้น
  • Recurrent Atrial Fibrillation มีอาการเกิดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง
  • Lone Atrial Fibrillation มักเกิดในผู้ที่ไม่มีภาวะผิดปกติทางหัวใจ ไม่มีโรคความดันโลหิตสูง

อาการของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

ผู้ป่วยอาจมี หรือไม่มีอาการแสดงก็ได้ จึงพบว่า ผู้ป่วยหลายรายตรวจพบภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วโดยบังเอิญ เช่น ตรวจร่างกายตามปกติ หรือระหว่างการตรวจหาภาวะสุขภาพอื่นๆ แต่บางรายก็มาพบแพทย์ด้วยอาการต่อไปนี้

  • อาการใจสั่น (Palpitations) ที่เกิดจากการเต้นของหัวใจที่เร็วและไม่สม่ำเสมอ
  • เหน็ดเหนื่อย (ไม่สามารถออกกำลัง หรือออกแรงตามปกติได้)
  • อ่อนเพลีย อ่อนแรง
  • หายใจไม่สะดวก
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • วิงเวียน
  • รู้สึกเหมือนจะเป็นลม

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่พบได้บ่อย อีกทั้งยังพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดภาวะนี้ สันนิษฐานว่า อาจมีสาเหตุจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ โดยแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าที่ผิดปกติจะถูกปล่อยเข้าไปในห้องบนของหัวใจ  (Atrium) อย่างกะทันหันทำให้เกิดแรงกระตุ้นขึ้นมา แรงกระตุ้นนี้จะไปกลบตัวกระตุ้นหัวใจตามธรรมชาติจนทำให้ไม่สามารถควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจได้ ส่งผลให้เอเตรียมบีบรัดตนเองอย่างสุ่มๆ บางครั้งเอเตรียมอาจเกิดการรัดตัวเร็วเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถคลายตัวรับเลือดได้ทัน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง และทำให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ
  • ผลจากการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพภายในหัวใจ เช่น มีพังผืดเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้าของเซลล์หัวใจ ทำให้การนำไฟฟ้าผิดปกติ
  • ผลจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจบางชนิด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • ผลจากการอายุที่เพิ่มขึ้นและการเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอดเรื้อรัง โรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ผลจากการผ่าตัดหัวใจ
  • ผลจากความเครียด ความวิตกกังวล
  • ผลจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผลจากการได้รับสารกระตุ้นการทำงานของหัวใจมากเกินไป เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์โดยเฉพาะการดื่มอย่างหนักในช่วงเวลาอันสั้น (Binge Drinking) การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
  • ผลจากการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน

ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักไม่ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ป่วยหลายรายสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจรู้สึกไม่สบายตัวบ่อยครั้งและอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการเป็นระยะๆ
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วทำให้หัวใจห้องบนไม่ผลัก หรือฉีดเลือดลงมายังหัวใจห้องล่างได้ตามปกติ ทำให้มีเลือดค้างอยู่และกลายเป็นลิ่มเลือดได้ โดยลิ่มเลือดเหล่านั้นอาจหลุดเข้าไปในหัวใจห้องล่าง (Ventricles) และเข้าสู่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปอด หรือระบบไหลเวียนเลือดทั่วไปได้
  • ภาวะเช่นนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischaemic Attack: TIA) หรือภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke)ได้มากถึงประมาณ 2-7 เท่า ตัวเลขเหล่านี้จะสูงขึ้นอีกในกลุ่มผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจพิการ
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะนี้จะกระตุ้นหัวใจห้องล่างให้เต้นเร็วกว่าปกติ อาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงตามมา

วิธีการตรวจภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเบื้องต้นด้วยตัวเอง

  • คุณสามารถตรวจภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ด้วยการวัดอัตราการเต้นหัวใจ วิธีคือ ให้สัมผัสชีพจรบนลำคอ หรือข้อมือเพื่อนับการเต้นของหัวใจ
  • อัตราการเต้นของหัวใจปกติขณะพักผ่อน (ไม่วิ่ง หรือออกกำลังกาย) ควรอยู่ที่ระหว่าง 60-100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 140 ครั้ง/นาทีได้
  • หากคุณมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 140 ครั้ง/นาที ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอีกครั้ง การค้นพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

หากสังเกตว่า หัวใจของคุณมีการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ และมีอาการเจ็บหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ การตรวจร่างกายเบื้องต้น

หากแพทย์สันนิษฐานว่า คุณมีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหลังประเมินอาการต่างๆ แล้ว คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจต่างๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสมได้แก่

1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ การทดสอบที่บันทึกการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ด้วยการติดแผ่นไฟฟ้า (Electrode) ขนาดเล็กที่แขน ขา และหน้าอกของผู้ป่วย

โดยทุกครั้งที่หัวใจเต้น หัวใจจะปล่อยสัญญาณไฟฟ้าขนาดเล็กออกมา อุปกรณ์ ECG จะแสดงสัญญาณเหล่านั้นออกมาบนแผ่นกระดาษ การตรวจนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และตัดความเป็นไปได้ของภาวะอื่นๆ ลง

2. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: Echo)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงจะเป็นการส่งผ่านคลื่นอัลตราซาวด์ลงไปยังหัวใจ เมื่อเดินทางผ่านอะไรจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับมาแตกต่างกัน เช่น น้ำ เนื้อเยื่อ จากนั้นจึงประมวลผลออกมาเป็นภาพหัวใจ ประโยชน์ที่ได้คือ สามารถประเมินโครงสร้างกับการทำงานของหัวใจได้ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้

มีคำถามเกี่ยวกับ ใจสั่น? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

3. การเอกซเรย์ทรวงอก (X-ray)

การเอกซเรย์ทรวงอกอาจนำมาใช้เพื่อระบุปัญหาและภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับภายในทรวงอกได้

4. การตรวจเลือด

ตรวจเพื่อหาระดับเกลือแร่ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะแตกต่างกันออกไปตามบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุ ประเภทของภาวะ อาการ และสาเหตุ ผู้ป่วยบางคนอาจสามารถรักษาได้กับแพทย์ทั่วไป ในขณะที่บางคนอาจต้องเข้ารักษาตัวกับนักหทัยวิทยาแทน

ขั้นตอนในการรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มี 2 กรณี คือ

1. กรณีที่ตรวจพบสาเหตุ

หากแพทย์ตรวจพบสาเหตุ หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แพทย์จะรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้โดยตรง ซึ่งก็อาจจะเพียงพอต่อการรักษาแล้ว

2. กรณีที่ตรวจไม่พบสาเหตุ

หากแพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จะรักษาตามวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • ใช้ยาควบคุมภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จำเป็นต้องคุมอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักไม่ให้เกิน 110 ครั้ง/นาที โดยใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดปกติ (Anti-Arrhythmics) เพื่อฟื้นฟูจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ เช่น ฟลีเคไนด์ (Flecainide) เบต้า บล็อคเกอร์ (Beta-blocker) อะมิโอดาโรน (Amiodarone)
  • ใช้ยาลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือตีบ เนื่องจากภาวะนี้จะทำให้คุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองได้ โดยรักษาด้วยยาวาร์เฟริน (Warfarin) เพื่อต้านการแข็งตัวของเลือด แต่ถ้าหากไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ แพทย์อาจพิจารณายาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบใหม่ เช่น ดาบิกาทราน (Dabigatran) ไรโวโรซาเบน (Rivoroxaban) อะพิซาเบน (Apixaban)
  • ใช้สายสวนจี้ไฟฟ้า (catheter ablation) เป็นกระบวนการเข้ารบกวนวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติของหัวใจ และเป็นทางเลือกการรักษาที่ดำเนินการในกรณีที่การใช้ยาไม่ได้ผล หรือเกิดการดื้อยาขึ้น
  • สวมใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) คือ การฝังอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กเข้าที่หน้าอก ตำแหน่งใต้กระดูกไหปลาร้า เพื่อทำให้หัวใจเต้น เมื่อหัวใจไม่สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง หรือกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่หัวใจเต้นช้าลงมากให้กลับมาเป็นปกติ

แม้จะมีการรักษาหลายแบบ แต่ในแต่ละแบบนั้นมีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน และมีโอกาสประสบความสำเร็จแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แพทย์จึงต้องวินิจฉัยตามระดับความรุนแรงของอาการและความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

มีคำถามเกี่ยวกับ ใจสั่น? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ