การมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เช่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย เปลี่ยนคู่นอนหลายคน อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
หากใครที่เคยมีพฤติกรรมดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ตรวจ STD (Sexually-transmitted-diseases) เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคู่นอน เนื่องจากหากติดเชื้อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นด้วย
สารบัญ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หมายถึง โรคที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือติดต่อทางช่องทางอื่นๆ เช่น การสัมผัสกับสารคัดหลั่ง การติดต่อทางเลือด เป็นต้น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นที่รู้จัก เช่น โรคหนองใน โรคแผลริมอ่อน โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หรือโรคไวรัสตับอักเสบบี
ทำไมต้องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD
การติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์นั้นมีทั้งแบบไม่แสดงอาการและแสดงอาการ เช่น
- แบบไม่แสดงอาการ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย นานนับสิบปี กว่าจะแสดงอาการก็อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว
- แบบแสดงอาการ เช่น โรคซิฟิลิส ที่ผู้ติดเชื้อจะมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก
ในเบื้องต้น หากรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกาย เช่น
- ผู้ชาย จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ขาหนีบบวม หรือเป็นฝี เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผล บริเวณอวัยวะเพศ มีเมือกใส หรือหนองไหลออกมา
- ผู้หญิง จะรู้สึกเจ็บท้องน้อย ขาหนีบบวม หรือเป็นฝี เจ็บปวด คันอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผลบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวสีเหลือง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
สิ่งแรกที่ควรทำคือ งดการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และควรพบแพทย์ทันทีเพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันโรคลุกลามและป้องกันภาวะแทรกซ้อน
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โรคบางโรคกว่าจะแสดงอาการให้รับรู้ก็นานนับปีและก็อาจจะอยู่ในระยะรุนแรงจนรักษายากแล้ว ขณะเดียวกันระหว่างที่คุณอยู่ในระยะไม่แสดงอาการก็มีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หรือคนที่คุณรักได้โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD จึงมีความสำคัญมากนั่นเอง
ใครควรตรวจ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD
สำหรับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจโรค คือ
- ผู้ที่กำลังวางแผนจะแต่งงาน หรือมีบุตร เพื่อป้องกันเชื้อแพร่สู่คู่รักและลูก เนื่องจากโรคบางโรคอาจแพร่สู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย เปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ทุกคนที่มีอายุระหว่าง 13-64 ปี ควรได้รับการตรวจเชื้อเอชไอวีอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD ต้องตรวจอะไรบ้าง?
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า หากต้องการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD ควรตรวจอะไรบ้าง โดยปกติ โรงพยาบาลรัฐ เอกชน รวมถึงคลินิกนิรนาม (คลินิกที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคทางเพศโดยเฉพาะ) จะมีบริการโปรแกรมตรวจโรคทางเพศไว้โดยเฉพาะ
รายการพื้นฐานที่จำเป็นต้องตรวจมีดังนี้
- ตรวจเชื้อเอชไอวี
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส
- ตรวจหาเชื้อหนองในแท้ หนองในเทียม
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนแต่งงาน อาจมีรายการตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี หรือซี เพิ่มเติม รวมทั้งตรวจหาธาลัสซีเมีย หรือภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันด้วย เพราะเชื้อเหล่านี้สามารถส่งต่อสู่คู่รัก หรือทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจเชื้อเริม และเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วย
ตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD ได้ที่ไหนบ้าง?
ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนมีบริการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์แทบทุกแห่ง ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับรายการตรวจที่กำหนด โดยหากตรวจเพียงบางรายการ อาจมีราคาหลักร้อย แต่หากตรวจตามโปรแกรมก็อาจสูงถึงหลักพันบาทได้
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกไปตรวจที่โรงพยาบาล ก็มีคลินิกหลายแห่งที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน โดยรู้จักกันในหลากหลายชื่อ เช่น คลินิกนิรนาม หรือคลินิกกามโรค คลินิกเหล่านี้จะให้บริการผู้ป่วยโดยปกติข้อมูลเป็นความลับ เพื่อความสบายใจของผู้ใช้บริการ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากตรวจพบเร็ว การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอีกด้วย หากคุณเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจ STD เป็นประจำทุกปี
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือตรวจ STD
ที่มาของข้อมูล
- รศ.นพ.ภัทรภูมิ โพธิพงษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=147, 7 October 2010
- Which STD Tests Should I Get? (https://www.cdc.gov/std/prevention/screeningreccs.htm)
- STD testing: What’s right for you? (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sexually-transmitted-diseases-stds/in-depth/std-testing/art-20046019), 1 August 2017