โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhoeae) โดยเชื้อแบคทีเรียนี้เป็นเชื้อดื้อยา เรียกว่า ซุปเปอร์บั๊ก (Superbug) ทำให้การรักษาโรคหนองในแท้นั้นทำได้ยากขึ้น
สารบัญ
สถิติการเกิดโรคหนองในแท้
หน่วยป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) คาดการณ์ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคหนองในแท้รายใหม่ประมาณ 820,000 รายต่อปี โดย 570,000 รายนั้นอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี แต่จากรายงานในปี 2013 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหนองในแท้เพียง 333,004 ราย ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการประมาณการติดเชื้อทั้งหมดที่เราสามารถตรวจพบและมีการรายงาน
โรคหนองในแท้นี้ยังเป็นปัญหาต่อทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้ประมาณไว้ว่ามีผู้ป่วยโรคหนองในแท้รายใหม่จำนวน 106 ล้านรายต่อปี
โรคหนองในแท้ติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?
โรคหนองในแท้ติดต่อได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางช่องปาก โดยอาจเป็นเพศสัมพันธ์ที่มีหรือไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุปากมดลูก เยื่อบุมดลูก และเยื่อบุปีกมดลูกในผู้หญิง และเยื่อบุท่อปัสสาวะทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุปาก ช่องคอ ตา และทวารหนักได้อีกด้วย
นอกจากนี้โรคหนองในแท้ยังสามารถติดต่อผ่านทางเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อเอชไอวี (HIV) มากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้ คือ โรคหนองในแท้แบบแพร่กระจาย (Disseminated gonococcal infection หรือ DGI) ที่จะส่งผลให้มีอาการของข้ออักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ และผิวหนังอักเสบ
อ่านเพิ่มเติม: อาการโรคหนองใน
อาการของโรคหนองในแท้
โรคหนองในแท้ในผู้หญิง
จากการอ้างอิงของ CDC ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโรคหนองในแท้มักจะไม่มีอาการใดๆ หรือหากมีก็จะมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้มักจะได้รับการวินิจฉัยคลาดเคลื่อน โดยเข้าใจว่าเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซะส่วนใหญ่
อาการของโรคหนองในแท้ในผู้หญิงที่พบได้ คือ
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะแสบขัด
- เจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
- เจ็บคอ
- มีไข้ และปวดท้องด้านล่างอย่างรุนแรง
- หากการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังปีกมดลูกและบริเวณกระเพาะอาหาร
ไม่ว่าผู้หญิงที่เป็นโรคหนองในแท้นั้นมีอาการอะไร หรือมีความรุนแรงแค่ไหน ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease หรือ PID) ซึ่งจะทำให้มีอาการต่อไปนี้
- มีไข้และปวดท้อง
- เกิดฝีหนองภายในร่างกาย และปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก หากปีกมดลูกถูกทำลายอย่างรุนแรง
- หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปยังบุตรได้ในระหว่างที่คลอดบุตร ซึ่งจะทำให้ทารกตาบอด ติดเชื้อที่ข้อ หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
โรคหนองในแท้ในผู้ชาย
ผู้ชายส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโรคหนองในแท้มักจะไม่มีอาการใดๆ เช่นเดียวกับในผู้หญิง อาการที่อาจพบได้มีดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะแสบขัด
- มีหนองสีขาว เหลือง หรือเขียว ออกมาจากท่อปัสสาวะ โดยจะเกิดภายใน 14 วันแรกของการติดเชื้อ
- รูเปิดท่อปัสสาวะแดงหรือบวม
- เจ็บคอ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในแท้ในผู้ชายที่พบได้ คือ การอักเสบของท่อเก็บเชื้ออสุจิในถุงอัณฑะ (Epididymitis) ซึ่งจะทำให้เจ็บอัณฑะ เจ็บถุงอัณฑะ และในบางรายอาจทำให้เป็นหมันได้
การติดเชื้อหนองในแท้ที่ทวารหนักและช่องปาก
การติดเชื้อหนองในแท้ที่ทวารหนักและช่องปากสามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยการติดเชื้อหนองในแท้ที่ทวารหนักอาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ คัน มีเลือดออก มีสารคัดหลั่งไหลออกจากทวารหนัก รวมทั้งรู้สึกปวดเวลาลำไส้เกิดการเคลื่อนตัว ส่วนการติดเชื้อหนองในแท้ในช่องปากก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ เลยได้เช่นกัน แต่บางครั้งก็อาจทำให้มีอาการเจ็บคอได้
โรคหนองในแท้สามารถแพร่เชื้อผ่านทางการจูบ และการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปากได้ แม้ว่าการแพร่เชื้อของโรคนี้ที่ทวารหนักและช่องปากจะพบได้น้อยมากก็ตาม
การรักษาโรคหนองในแท้ และเชื้อดื้อยา (Superbug)
หน่วยป้องกันและควบคุมโรค (CDC) รายงานว่าการดื้อยาของเชื้อหนองในแท้เป็นที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากเชื้อหนองในแท้นั้นสามารถพัฒนาตัวเองให้ทนทานต่อยาฆ่าเชื้อที่นำมาใช้รักษาโรคมากขึ้น และจากข้อมูลในบทความเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทั่วโลก (The Journal of Global Infectious Diseases) ปี ค.ศ. 2010 รายงานว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื้อหนองในแท้ได้ทนทานต่อยาฆ่าเชื้อหลายๆ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) กลุ่มยาเพนิซิลิน (Penicillins) กลุ่มยาเตตราซัยคลิน (Tetracyclines) และกลุ่มยาควิโนโลน (Quinolones)
เดิมทีการรักษาโรคหนองในแท้นั้นใช้ยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) เป็นหลัก แต่ต่อมาเกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1990-2009 ทำให้เหลือยาเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถใช้รักษาโรคหนองในแท้ได้ คือ กลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
ในปี ค.ศ. 2007 หน่วยป้องกันและควบคุมโรคแนะนำว่า ใครก็ตามที่ได้รับการรักษาโรคหนองในแท้ ควรได้รับการรักษาโรคหนองในเทียมร่วมด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อที่สามารถพบร่วมกันได้ โดยเชื้อหนองในเทียมเป็นเชื้อแบคทีเรีย ชื่อคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) และยังแนะนำว่าการรักษาโรคหนองในแท้ควรใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน โดยฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) หรือกินยาเซฟฟิซีม (Cefixime) ร่วมกับกินยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรือยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ซึ่งยาทั้งคู่นี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหนองในแท้ทั้งคู่ แต่ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) จะมีประสิทธิภาพดีกว่า
อย่างไรก็ตามเชื้อหนองในแท้ก็ได้ทนทานต่อยาเซฟฟิซีมมากขึ้น ทำให้หน่วยป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกาต้องปรับปรุงแนวทางการรักษาโรคหนองในแท้อีกครั้งในปี ค.ศ. 2012 นั่นคือ การรักษาโรคหนองในแท้และหนองในเทียมโดยการฉีดยาเซฟไตรอะโซน 250 มก. 1 ครั้ง ร่วมกับกินยาอะซิโธรมัยซิน 1 มก. 1 ครั้ง หรือกินยาดอกซีไซคลิน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ยกเว้นในรายที่ไม่สามารถทนต่อการใช้ยาเซฟไตรอะโซนได้ โดยในขณะที่ได้รับการรักษาโรคหนองในแท้อยู่ ผู้ที่ได้รับการรักษาควรละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางช่องปากด้วย ฃ
หากเชื้อหนองในแท้ที่ดื้อต่อกลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) แพร่หลายมากขึ้น หน่วยป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (PID) มากขึ้น 75,000 ราย โรคท่อเก็บเชื้ออสุจิอักเสบ (Epididymitis) มากขึ้น 15,000 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) มากขึ้น 222 ราย ภายในระยะเวลา 10 ปี
ยารักษาหนองใน
ให้ยาปฏิชีวนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ พร้อมกับแนะนำให้ส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์
- เซฟิซีม (Cefixime) 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- ซีฟาคลอร์ (Cefaclor) ขนาด 1 กรัม ครั้งเดียว
- เอซิโธรมัยชิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว
- ไซโปรฟล็อกซาชิน (Ciprofloxacin) 500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- โอฟล็อกซาชิน (Ofloxacin) 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
- ลีโวฟล็อกซาชิน (Levofloxacin) 250 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
คำแนะนำที่ควรสำหรับผู้ป่วยระหว่างการรักษาหนองในแท้
- งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีผลต่อยาคุมกำเนิด
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ที่ไม่งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีโอกาสเป็นหนองในเทียมได้ง่าย
- ในเพศชาย ห้ามรีดท่อปัสสาวะ เพราะทำให้ปัสสาวะช้ำ หายช้า
หากสงสัยว่า ตัวคุณ หรือคู่นอน อาจมีอาการของโรคหนองในแท้ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในทุกช่องทาง และไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป อบ่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหนองใน ด้วยการงดมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีพฤติกรรมสำส่อน เปลี่ยนคู่นอน และควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง: ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD)
คำถามจากผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหนองในแท้
มีอาการเจ็บๆ แสบๆ คันๆ ตรงช่องคลอดมีเหมือนตกขาวไหลออกมาเป็นสีเขียวเยอะมากค่ะ เสี่ยงเป็นหนองในมั้ยคะ
คำตอบ: สงสัยมีการติดเชื้อครับ ต้องไปพบแพทย์ทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาต่อไปครับ ไม่แนะนำให้ซื้อยากินเองครับ – ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)
สอบถามครับหากรู้ตัวเองว่าเป็นหนองในเทียมควรปฏิบัติตัวอย่างไร และจะมีวิธีรักษาเบื้องต้นอย่างไรบ้างครับ
คำตอบ: หนองในเทียมรักษาโดยการกินยาครับ แต่ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาการแยกยากกับหนองในแท้ การตรวจยืนยันคือนำหนองที่อวัยวะเพศไปย้อมสีครับ – ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)
รู้สึกแสบเวลาปัสสะวะมากค่ะ และมีน้ำขาวๆ เหลืองๆ ออกตลอด และตรงแคมเป็นตุ่มๆ ก่อนแล้วกลายเป็นเหมือนแผล ร่วมกับปวดท้องน้อย ปวดใกล้ๆ มดลูกทั้งสองข้างเลยค่ะ เป็นหนองในรึเปล่าคะ
คำตอบ: ให้ไปพบสูตินรีแพทย์ค่ะ เพราะจากอาการที่เล่ามาช่องคลอดอาจอักเสบจากการติดเชื้อ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจต้องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ และอาจต้องให้คู่นอนมาตรวจด้วย และถ้ามีการติดเชื้อจริง แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อมากินค่ะ – ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
อาการเริ่มต้นคือแสบตอนปัจสาวะ และมีหนองออกมานิดหน่อยตอนปัจสาวะเสร็จ แบบนี้ซื้อยามากินจะหายไหมครับ
คำตอบ 1: อาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อเก็บปัสสาวะตรวจและเก็บหนองที่ไหลออกมาไปตรวจด้วยว่าเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือว่าโรคหนองใน ซึ่งการใช้ยาฆ่าเชื้อต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ด้วยค่ะ เพื่อป้องกันการดื้อยาค่ะ – ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)
คำตอบ 2: อาการเช่นนี้แสดงว่ามีการติดเชื้อของท่อทางเดินปัสสาวะ ต้องไปพบแพทย์ครับ เพื่อตรวจวินิจฉัย ย้อมหนองหาเชื้อก่อโรค จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องครับ ไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานเอง – ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)