อาการแพ้ตามฤดูกาล

อาการแพ้ตามฤดูกาล

เมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิมีการปรับสูงต่ำตามฤดูกาล จึงเป็นสาเหตุให้ร่างกายของหลายๆ คนมีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเกิดอาการแพ้ขึ้นด้วย

สำหรับสาเหตุที่อาการภูมิแพ้มักจะกำเริบในช่วงที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงนั้น นั่นก็เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้น มาจากอากาศที่อยู่รอบตัวเราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับความชื้น ความแห้งของอากาศ ความหนาแน่นของฝุ่น ความอบอุ่นของร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม อาการภูมิแพ้จึงเกิดขึ้นได้

อาการของโรคภูมิแพ้เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง

อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง มักจะใกล้เคียงกับโรคภูมิแพ้อากาศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอากาศรอบตัวผู้ป่วยโดยตรง เช่น

  • จามบ่อย
  • หายใจไม่สะดวก
  • มีน้ำมูกมากและไหลลงคอ
  • คัดจมูก
  • ไอเรื้อรัง
  • มีเสมหะในคอ
  • หงุดหงิดง่ายขึ้น
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลียง่าย
  • หูอื้อ
  • แสบตาและอาจมีน้ำตาไหลมาก

วิธีรักษาอาการภูมิแพ้เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง

1. รักษาโดยใช้ยา

ยาสำหรับรักษาโรคภูมิแพ้จะแบ่งออกได้หลักๆ 2 ประเภท คือ ประเภทรับประทาน และประเภทพ่นจมูก

สำหรับตัวยาสำหรับรับประทานส่วนมากจะเป็นยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ซึ่งเป็นยาที่จะไปยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่คอยกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ต่างๆ

ตัวยาต้านฮิสตามีนนั้นจะแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่

  • ยาต้านฮิสตามีนรุ่นแรก หรือกลุ่มดั้งเดิม (First generation antihistamine) เป็นกลุ่มยาแก้อาการภูมิแพ้รุ่นแรกที่ยังมีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม อ่อนเพลีย และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือสารเคมีไม่ควรับประทานยากลุ่มนี้ เช่น
  • ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 (Second generation antihistamine) เป็นยาแก้อาการภูมิแพ้ที่พัฒนามาจากยาต้านฮิสตามีนรุ่นแรกไม่ให้รบกวนระบบประสาทส่วนกลางจนทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิรีซีน (Cetirizine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)

นอกจากยาต้านฮิสตามีน และยาพ่นจมูกแล้ว การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) ยังเป็นอีกวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ให้ดีขึ้นได้

รวมถึงวิธีการผ่าตัด แต่วิธีการรักษานี้จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยวิธีอื่นเท่านั้น หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) โรคผนังกั้นโพรงจมูกคด (Deviated nasal septum)

2. รักษาโดยการดูแลตนเอง

ถึงแม้จะรับประทานยาดีแค่ไหน แต่หากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวคุณยังเอื้อต่อการเกิดสารก่อภูมิแพ้ โอกาสที่อาการภูมิแพ้ของคุณจะดีขึ้นก็ยังน้อยอยู่ดี

คุณสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนอกจากการรักษาแล้ว คุณยังสามารถใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ทุกช่วงฤดูกาลด้วย

  • คอยฟังการพยากรณ์อากาศ หรืออุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน เพื่อที่คุณจะได้เตรียมตัวรับมือกับอาการภูมิแพ้ที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
  • ปิดประตู หน้าต่าง ช่องลมในบ้านในวันที่มีลมพัดแรง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองด้านนอกพัดเข้ามาในบ้าน วิธีนี้สำคัญอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสร หรือฝุ่น
  • หาพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิห้องเย็นสบายในวันที่อากาศร้อนจั เพราะในช่วงฤดูร้อน จะเป็นช่วงที่มลภาวะเป็นพิษค่อนข้างสูง และอาจทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศรวมถึงภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจอาการทรุดลงกว่าเดิม
  • ดูแลสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัยของคุณให้ห่างไกลจากสารก่อภูมิแพ้ เพราะการอยู่ในที่ร่มมักจะทำให้อาการภูมิแพ้ของคุณแย่กว่าเดิมเสมอ ดังนั้นเพื่อให้สะดวกต่อการหลบอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้านนอก คุณสามารถปฏิบัติตามได้ดังต่อไปนี้
    • ใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาดเพื่อไม่ให้ฝุ่นคลุ้ง
    • เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน พรมเช็ดเท้า รวมถึงทำความสะอาดผ้าม่านเพื่อไม่ให้เป็นที่รวมตัวของฝุ่นและเชื้อโรค และหากนอกบ้านมีแดด ให้คุณนำผ้าที่ซักไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อด้วย
    • หาเครื่องกรองอากาศมาใช้หากจำเป็น เพื่อให้ร่างกายของคุณรับแต่อากาศที่สะอาด
    • กำจัดแมลงภายในบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกัดต่อย หรือทิ้งมูลไว้ในบ้านของคุณจนกลายเป็นสารก่อภูมิแพ้
    • ทำความสะอาดร่างกายสัตว์เลี้ยงหากคุณเลี้ยงไว้ในบ้าน เพื่อไม่ให้ขนและเชื้อโรคบนตัวสัตว์เลี้ยงกลายเป็นสารก่อภูมิแพ้ต่อคุณ
    • ทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ใบพัดลม แผ่นกรองเครื่องปรับอากาศ ไม่ให้เป็นแหล่งรวมของฝุ่นละออง
    • กำจัดเชื้อราตามที่ชื้นภายในบ้าน เช่น ใต้อ่างล้างจาน รอบเครื่องปรับอากาศ ใต้พรม เพราะหากสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่จมูกคุณแล้ว คุณอาจเกิดอาการภูมิแพ้ หรืออาการหอบหืดได้
  • ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ และควรใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี พยายามหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์เพราะอาจมีไรฝุ่นติดอยู่จนเกิดอาการภูมิแพ้
  • รับประทานอาหารอย่างเหมาะสมกับฤดูกาล และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่เพียงพอ เพราะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหารในบางฤดูกาล
  • ลดน้ำหนัก เนื่องจากหากคุณมีน้ำหนักตัวกับไขมันรอบท้องมากเกินไป จะทำให้ปอดขยายได้ไม่สุด และทำให้กระบังลมเคลื่อนลงต่ำไม่ได้เท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ลึกเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ยิ่งหากคุณเป็นผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว คุณยิ่งต้องมีเวลาให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดความอ่อนเพลีย เพราะร่างกายที่อ่อนเพลีย ถือว่ามีความเสี่ยงจะเกิดโรคภูมิแพ้ได้มากกว่าคนปกติ
  • สระผมและทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะละอองฝุ่น หรือละอองเกสรดอกไม้อาจติดอยู่ที่ผม โดยเฉพาะหากวันนั้นคุณใส่เจลตกแต่งทรงผม แล้วไม่ได้สระผมให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน ฝุ่นละอองที่ติดอยู่ตามตัวจะทำให้มีอาการไอ และคัดจมูกได้ตลอดคืน
  • ลองดื่มชา เช่น ชาเปปเปอร์มินท์ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบได้ หรือชาคาโมไมล์ ที่มีสรรพคุณช่วยแก้แพ้ตามธรรมชาติได้

นอกจากนี้ คุณอาจซื้อวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินซี แร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) แร่ธาตุซีลีเนียม (Selenium) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงด้วย

ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปีเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ดังนั้นการปรับตัว และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้อาการของโรคภูมิแพ้ไม่รบกวนชีวิตประจำวันของคุณ

นอกจากนี้ หากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น ไม่เพียงแต่อาการภูมิแพ้ที่จะทุเลาลงเท่านั้น แต่ความสะอาด และสุขอนามัยของสภาพแวดล้อมรอบตัวคุณยังจะดีขึ้นกว่าเดิมด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top