Penicillin (เพนิซิลิน) เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ฝี ปอดบวม โรคติดเชื้อของตาและหู
Penicillin สามารถแบ่งย่อยได้หลายชนิด เช่น
- Penicillin V (เพนิซิลิน วี) พบในรูปแบบยารับประทาน
- Penicillin G (เพนิซิลิน จี) Procaine penicillin (โปรเคนเพนนิซิลิน) และ Benzathine penicillin (เบนซาธีนเพนิซิลิน) พบในรูปแบบยาฉีด
Penicillin เป็นกลุ่มยาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนอาจทำให้แบคทีเรียบางชนิดดื้อยา
ปัจจุบันจึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพของยา Penicillin ให้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ดีกว่าเดิม อย่างยากลุ่ม Aantistaphylococcal penicillins (แอนตี้สแตปไฟโตคอกคัล เพนิซิลิน) และ Antipseudomonal penicillins (แอนตี้ซูโดโมนอลเพนิซิลิน)
สารบัญ
- ยา Penicillin ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง
- กลไกการออกฤทธิ์ของยา Penicillin
- รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Penicillin
- ข้อควรระวังในการใช้ยา Penicillin
- การใช้ยา Penicillin ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
- ถ้าลืมกินยา Penicillin ต้องทำอย่างไร
- ผลข้างเคียงจากยา Penicillin
- ประเภทของยา Penicillin ตามองค์การอาหารและยาประเทศไทย
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา Penicillin
ยา Penicillin ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง
Penicillin ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น
- รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไซนัสอักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หนองในแท้
- รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อในกระดูกและข้อต่อ เช่น ข้ออักเสบ กระดูกอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น แผลติดเชื้อ ฝี หนอง
- รักษาการติดเชื้อในหู เช่น หูชั้นกลางอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อ Streptococcus (สเตร็ปโตคอกคัส) ในทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงโรคอีดำอีแดง (Scarlet fever)
- รักษาการติดเชื้อ Furospirochete ในช่องปากและลำคอ
- รักษาการติดเชื้อ Staphylococcus (สแตฟฟิโลคอกคัส) ที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
- รักษาการติดเชื้อ Pneumococcus (นิวโมคอคคัส) ในระบบทางเดินหายใจ และอาการหูชั้นกลางอักเสบ
- ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
และที่สำคัญ Penicillin ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไม่ได้
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Penicillin
Penicillin เป็นยาต้านแบคทีเรียที่ยับยั้งกระบวนการสร้าง Peptidoglycan (เพปทิโดไกลแคน) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์แบคทีเรีย ทำให้การสังเคราะห์ผนังเซลล์ของแบคทีเรียหยุดลง จึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
ยาเพนนิซิลลินเหมาะกับการใช้รักษาการติดเชื้อในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และอาจมีฤทธิ์ต่ำลงเมื่อใช้ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ (Gram negative bacteria)
รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Penicillin
รูปแบบยารับประทาน
รักษาการติดเชื้อ Streptococcus (สเตร็ปโตคอกคัส) ในทางเดินหายใจส่วนบน และโรคอีดำอีแดง (Scarlet fever)
ผู้ใหญ่ ขนาด 125–250 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน
รักษาการติดเชื้อ Furospirochete ในช่องปากและลำคอ และการติดเชื้อ Staphylococcus (สแตฟฟิโลคอกคัส) ที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
ผู้ใหญ่ ขนาด 250–500 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง
รักษาการติดเชื้อ Pneumococcus (นิวโมคอคคัส) ในระบบทางเดินหายใจ และหูชั้นกลางอักเสบ
ผู้ใหญ่ ขนาด 250–500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
ผู้ใหญ่ ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
รักษาการติดเชื้ออื่น ๆ
ผู้ใหญ่ ขนาด 250–500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
ข้อควรระวังในการใช้ยา Penicillin
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยา
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับ Nadolol (นาโดลอล) และ Propranolol (โพรพาโนลอล)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคไตระดับรุนแรง ผู้มีครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร
การใช้ยา Penicillin ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม Category B หมายความว่า ค่อนข้างปลอดภัยต่อการใช้ในผู้มีครรภ์
ถ้าลืมกินยา Penicillin ต้องทำอย่างไร
ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)
กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
ผลข้างเคียงจากยา Penicillin
Penicillin อาจก่อให้ผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บปาก เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ต่ำ ตับอักเสบ ดีซ่าน มีผื่นลมพิษหรือผื่นแดงขึ้น
ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้ Penicillin รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ก่อนใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ
ประเภทของยา Penicillin ตามองค์การอาหารและยาประเทศไทย
ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
ส่วน Penicillin ผงสำหรับละลายน้ำ ให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2–8 องศาเซลเซียส
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา Penicillin
ก่อนใช้ยา Penicillin ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลก่อนเสมอ โดยต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียด เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยและได้ผลดี
- แจ้งข้อมูลการใช้ยาทั้งหมด เช่น ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานไปก่อนหน้านี้ อาหารเสริมที่รับประทาน อย่างวิตามิน หรือสมุนไพร กรณีที่มียาประจำตัวหลายตัว ให้พกยามา แพทย์หรือเภสัชกรจะได้ตรวจสอบให้ก่อนจ่ายยาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายระหว่างยาใหม่และยาที่ใช้อยู่
- แจ้งอาการแพ้ต่าง ๆ ทั้งประวัติการแพ้ยา อาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหาร (ยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม หรือยีสต์) เช่น บวม ผื่นขึ้น หายใจลำบาก เวลาที่ไปใช้บริการสุขภาพ ให้นำบัตรแพ้ยาพกติดตัวไป และแสดงบัตรนี้ให้แพทย์หรือเภสัชกรตรวจสอบก่อนเสมอ
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่ตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง