เมื่อพูดถึงโรคกระดูกพรุน หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว อายุไม่เยอะยังไม่เป็น หรือคนอายุเยอะแล้ว คงทำไรไม่ได้แล้ว จริง ๆ แล้ว ข้อมูลมากมายที่เรารู้มาอาจไม่จริงเสมอไป อาจจะจริงแค่บางส่วน ลองมาดูเรื่องราวของโรคกระดูกพรุนกัน เรื่องไหนที่คนมักเข้าใจผิดกัน
สารบัญ
- ความเชื่อ: เป็นโรคกระดูกพรุนจะรู้สึกได้ ปวดกระดูกบ่อย ๆ
- ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนเกิดจากอายุที่มากขึ้น
- ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนป้องกันไม่ได้ อายุเยอะเป็นอยู่แล้ว
- ความเชื่อ: ทุกคนควรตรวจกระดูกทุกปี
- ความเชื่อ: ต้องล้มกระดูกพรุนถึงหัก
- ความเชื่อ: เคยกระดูกหักจากอุบัติเหตุ ไม่เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน
- ความเชื่อ: ตากแดดแรงรับวิตามินดี ป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ความเชื่อ: ผู้สูงอายุกินแคลเซียมประจำ ไม่เสี่ยงโรคกระดูกพรุน
- ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนไม่ร้ายแรง
ความเชื่อ: เป็นโรคกระดูกพรุนจะรู้สึกได้ ปวดกระดูกบ่อย ๆ
ความจริง: โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป มีโอกาสแตกหักได้ง่าย อาการจะค่อยเป็นค่อยไป มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ถ้าไม่มีการแตกหักเกิดขึ้นจะไม่ได้ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นวิธีเดียวที่จะรู้ได้ว่ากระดูกแตกหักหรือไม่ และยังเป็นการป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ได้ผลดี เพราะสามารถตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนได้ตั้งแต่ระยะต้น แนะนำให้เริ่มตรวจตอนอายุ 60 ปี หากมีความเสี่ยงให้ตรวจเร็วขึ้น
ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนเกิดจากอายุที่มากขึ้น
ความจริง: อายุอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มวลกระดูกลดลง ผู้สูงอายุเลยมักจะเป็นโรคกระดูกพรุนกันมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า คนอายุน้อย ๆ จะเป็นโรคกระดูกพรุนไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัยเอื้อให้เกิดโรคกระดูกพรุน
โดยเฉพาะการได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีประวัติพ่อแม่เคยกระดูกสะโพกหัก หากเป็นกังวลสามารถปรึกษาแพทย์ในการดูแลสุขภาพเพิ่มเติม
ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนป้องกันไม่ได้ อายุเยอะเป็นอยู่แล้ว
ความจริง: การป้องกันกระดูกพรุนทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องรอให้อายุเยอะ โดยให้หลีกเลี่ยงปัจจัยทำให้มวลกระดูกลดลง และเสริมความแข็งแรงของกระดูกควบคู่ไปด้วย ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารแคลเซียมสูง
- โดนแสงแดดอ่อน ๆ เพื่อให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินช่วยในการดูดซึมแคลเซียม
- ระวังการใช้ยา เพราะยาบางตัวอาจมีผลต่อกระดูก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เน้นประเภทที่มีการลงน้ำหนักลงบนกระดูก (Weight bearing exercise) เช่น เดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้น หรือยกน้ำหนัก
- เมื่ออายุ 60 ปี ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นกระดูก
ความเชื่อ: ทุกคนควรตรวจกระดูกทุกปี
ความจริง: คนที่ไม่มีความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน หรืออาการผิดปกติใด ๆ แนะนำให้ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกตอนอายุ 60 ปีขึ้นไป
คนที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจความหนาแน่นกระดูกเร็วขึ้น เช่น เคยมีประวัติกระดูกหักในครอบครัวจากภาวะกระดูกพรุน รับประทานยาสเตียรอยด์หรือยาบางชนิดเป็นประจำ
ความเชื่อ: ต้องล้มกระดูกพรุนถึงหัก
ความจริง: กระดูกสามารถหักได้แม้ไม่ล้ม การล้มเป็นเพียงปัจจัยทำให้กระดูกหัก เพราะด้วยสภาพกระดูกอันเปาะบางของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน แม้แค่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน น้ำหนักตัวที่กดลงบนกระดูกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้กระดูกหักได้ ส่วนมากจะเกิดกับกระดูกสันหลัง
กรณีที่กระดูกหักจากการหกล้ม ส่วนมากจะเป็นกระดูกส่วนอื่น ไม่ใช่กระดูกสันหลัง เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกแขน หรือกระดูกสะโพก
ความเชื่อ: เคยกระดูกหักจากอุบัติเหตุ ไม่เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน
ความจริง: อุบัติเหตุที่รุนแรงสามารถทำให้กระดูกหักได้จริง อีกมุมก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเกิดกระดูกหักในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนแต่เนิ่น ๆ
ความเชื่อ: ตากแดดแรงรับวิตามินดี ป้องกันโรคกระดูกพรุน
ความจริง: วิตามินดีเป็นสารอาหารที่ช่วยป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน ส่วนใหญ่แล้ว ร่างกายจะสังเคราะห์วิตามินดีได้มากจากแสงแดดโดยตรง ใต้ผิวหนังเราจะมีสารต้นกำเนิดของวิตามินดี เมื่อแดดมากระทบผิวหนังจะเปลี่ยนสารต้นกำเนิดนั้นไปเป็นวิตามินดี
อย่างไรก็ตาม ควรเลือกช่วงเวลาโดนแดดที่ไม่แรงเกินไป อาจเป็นช่วงเช้าที่แดดอ่อน ๆ หรือช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
ผู้สูงอายุที่ผิวไม่แข็งแรงเหมือนตอนหนุ่มสาว อาจเกิดการระคายเคืองผิวได้ ส่วนมากจะมีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุรับประทานวิตามินดีในรูปแบบยาหรืออาหารเสริมมากกว่า
ความเชื่อ: ผู้สูงอายุกินแคลเซียมประจำ ไม่เสี่ยงโรคกระดูกพรุน
ความจริง: แคลเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญช่วยให้กระดูกแข็งแรง การได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ยิ่งเป็นวัยผู้สูงอายุที่มีการสลายของกระดูกมาก และขับแคลเซียมออกจากร่างกายมาก จึงต้องรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การรับประทานแคลเซียมอย่างเดียวไม่ได้รับรองว่าจะไม่เป็นโรคกระดูกพรุน บางคนที่มีอัตราการสลายกระดูกและขับแคลเซียมมากเกินไป ยังเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้อยู่ อาจจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนตามแพทย์แนะนำร่วมด้วย
ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนไม่ร้ายแรง
ความจริง: ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีโอกาสกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงแค่โดนแรงกระแทกเบา ๆ ไอ จาม บิดเอี้ยวตัวทันทีทันใด หรือลื่นล้ม ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา และคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง
กระดูกพรุนเสี่ยงได้ทุกวัย ตรวจกระดูกตามความเสี่ยงกับคุณหมอเฉพาะทาง ลองดู โปรตรวจกระดูก จองผ่าน HDmall.co.th รับราคาพิเศษ พร้อมดูรีวิว และเปรียบเทียบราคาในเว็บเดียว