oolong tea

ชาอู่หลง (Oolong tea)

ชาอู่หลง (Oolong tea) คือ ผลิตภัณฑ์ชาที่ผลิตมาจากใบ หน่อ และลำต้นของต้นชาสายพันธุ์คาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) มีสายพันธุ์จากจีนและอินเดีย ปัจจุบันในไทยมีการปลูกชาอู่หลงด้วย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย ชาอู่หลงสามารถแบ่งตามระดับการหมักได้เป็น 3 ชาหลักๆ คือ ชาเขียว (Green tea) ชาอู่หลง (Oolong tea) และชาดำ (Black tea)

บางคนดื่มชาอู่หลงเพื่อบำรุงสมองและเพิ่มความตื่นตัว อีกทั้งยังดื่มเพื่อลดน้ำหนัก ป้องกันมะเร็ง ป้องกันกระดูกเปราะหรือภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน รักษาเบาหวาน โรคหัวใจ คอเลสเตอรอลสูง และภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) แม้ยังคงมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มาสนับสนุนข้อมูลทางสรรพคุณของชาชนิดนี้อย่างจำกัด

ประโยชน์ของชาอู่หลง

ชาอู่หลงประกอบด้วยสารคาเฟอีนที่ส่งผลต่อการคิดและความตื่นตัว คาเฟอีนออกฤทธิ์ด้วยการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system (CNS)) หัวใจ และกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ เมื่อใบชาผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วน ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนได้สารกลุ่มโพลิฟีนอล (Oolong tea polymerized polyphenols (OTPP)) ซึ่งพบว่าช่วยลดระดับไขมันในเลือด ลดการดูดซึมไขมัน โดยการยับยั้งเอนไซม์ย่อยไขมันนหรือเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย รวมไปถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดริ้วรอย ความเครียด และชะลอความแก่ได้

ภาวะที่ใช้ชาอู่หลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ความตื่นตัวทางจิตใจและสมอง การดื่มชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ จะคงความตื่นตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองและจิตใจ การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเข้ากับคาเฟอีน (เครื่องดื่มชูกำลัง) อาจเพิ่มการทำงานของสมองมากกว่าการดื่มคาเฟอีนหรือน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

ภาวะที่อาจใช้ชาอู่หลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ป้องกันมะเร็งรังไข่ ผู้หญิงที่ดื่มชาต่างๆ อย่างชาดำ ชาเขียว หรือชาอู่หลงเป็นประจำจะลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่เคยหรือไม่ค่อยได้ดื่มชา

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานและยังไม่มีข้อสรุปว่าใช้ชาอู่หลงรักษาได้หรือไม่

  • ภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (Eczema) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการดื่มชาอู่หลงจะช่วยลดอาการจากโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นได้ โดยอาจต้องใช้เวลานาน 1 หรือ 2 สัปดาห์กว่าจะเห็นผล
  • เบาหวาน (Diabetesงานวิจัยเพียงบางชิ้นกล่าวถึงการดื่มชาอู่หลงนาน 30 วันอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม การดื่มชาไม่อาจป้องกันการเกิดเบาหวานได้
  • ความดันโลหิตสูง งานวิจัยในประเทศจีนพบว่าการดื่มชาอู่หลงหรือชาเขียวทุกวันจะป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ การดื่มชาปริมาณมากจะยิ่งลดความเสี่ยงภาวะนี้ลงมากขึ้น
  • ภาวะอ้วน (Obesity) งานวิจัยกล่าวว่าการดื่มชาอู่หลงไม่อาจลดน้ำหนักของผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้
  • กระดูกพรุน (Osteoporosisมีหลักฐานไม่มากที่กล่าวว่าการดื่มชาอู่หลงนานถึง 10 ปีเกี่ยวโยงกับการมีกระดูกที่แข็งแรง (มวลแร่ธาตุในกระดูกเพิ่มขึ้น)

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของชาอู่หลง

การดื่มชาอู่หลงในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ส่วนมาก

การดื่มชาอู่หลงมากเกินไป เช่น ดื่ม 3 แก้วต่อวัน อาจจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากก่อให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อบริโภคเป็นปริมาณมาก เช่น ปวดศีรษะ ตื่นเต้น ปัญหาการนอนหลับ อาเจียน ท้องร่วง ฉุนเฉียว หัวใจเต้นผิดปกติ ตัวสั่น แสบร้อนกลางอก วิงเวียน หูอื้อ ชัก และสับสน โดยผลข้างเคียงอาจมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงร้ายแรงในแต่ละคน อีกทั้งผู้ที่ดื่มชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไปอาจเกิดการเสพติดได้

การดื่มชาอู่หลงมากกว่า 10 กรัม ค่อนข้างไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงข้างต้นอย่างรุนแรงและอาจเสียชีวิต

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษในการดื่มชาอู่หลง

  • เด็ก เด็กสามารถดื่มชาอู่หลงได้อย่างปลอดภัยเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม
  • สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร การดื่มชาอู่หลงในคนกลุ่มนี้ควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน เนื่องจากปริมาณคาเฟอีนที่ได้ต่อแก้วคือประมาณ 200 มิลลิกรัม หากมากกว่านี้อาจไม่ปลอดภัยและเกี่ยวโยงต่อความเสี่ยงในการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และผลเสียต่างๆ รวมไปถึงอาการถอนคาเฟอีนในทารกและทำให้เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ เป็นต้น
  • หากคุณกำลังให้นมบุตร การดื่มชาอู่หลงมากกว่า 2 แก้วต่อวันอาจไม่ปลอดภัย ส่งผลให้ทารกมีความฉุนเฉียวและรบกวนการทำงานของลำไส้
  • ภาวะวิตกกังวล คาเฟอีนในชาอู่หลงอาจทำให้ภาวะวิตกกังวลมีอาการมากขึ้นได้
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ มีบางคนเชื่อว่าคาเฟอีนในชาอู่หลงอาจชะลอการเกิดลิ่มเลือด ข้อมูลนี้ไม่พบในมนุษย์ หากคุณมีภาวะเลือดออกผิดปกติควรบริโภคชาอู่หลงอย่างระมัดระวัง
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ คาเฟอีนในชาอู่หลงทำให้หัวใจเต้นผิดปกติในบางคน หากคุณมีภาวะเกี่ยวกับโรคหัวใจ ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
  • เบาหวาน คาเฟอีนในชาอู่หลงอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ หากคุณเป็นโรคเบาหวานอยู่ ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
  • ท้องร่วง ชาอู่หลงมีคาเฟอีน การบริโภคปริมาณมากอาจทำให้อาการท้องร่วงทรุดหนักขึ้น
  • ต้อหิน คาเฟอีนในชาอู่หลงจะเพิ่มแรงดันภายในตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีและคงอยู่นานอย่างน้อย 90 นาที
  • ความดันโลหิตสูง คาเฟอีนในชาอู่หลงอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตได้ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลนี้มักจะไม่เกิดกับผู้ที่มีการบริโภคชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มคาเฟอีนอื่นเป็นประจำอยู่แล้ว
  • กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome (IBS)) ชาอู่หลงมีคาเฟอีน การบริโภคในปริมาณมากอาจทำให้อาการถ่ายท้องทรุดหนักและอาการลำไส้แปรปรวนแย่ลง
  • ภาวะอ้วน คาเฟอีนในชาอู่หลงอาจส่งผลต่อความอ่อนไหวของอินซูลินในร่างกายของผู้ที่มีภาวะอ้วนได้
  • กระดูกพรุน การดื่มชาอู่หลงจะเพิ่มปริมาณแคลเซียมที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ ทำให้กระดูกอ่อนแอ หากคุณเป็นโรคกระดูกพรุนไม่ควรดื่มชาอู่หลงมากกว่า 3 แก้วต่อวัน

การใช้ชาอู่หลงร่วมกับยาชนิดอื่น

ห้ามใช้ชาอู่หลงร่วมกับยาเหล่านี้

  • แอมเฟตามีน (Amphetamines) ยากระตุ้นอย่างแอมเฟตามีนจะเร่งการทำงานของระบบประสาท ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและรู้สึกสั่น คาเฟอีนในชาอู่หลงเองก็อาจเร่งการทำงานของระบบประสาทด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยากระตุ้นอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ อย่างอัตราการเต้นของหัวใจมากเกินไปและความดันโลหิตพุ่งสูง ควรเลี่ยงการรับประทานยากระตุ้นร่วมกับชาอู่หลง
  • อีเฟดรีน (Ephedrine) ยากระตุ้นจะเร่งการทำงานของระบบประสาท คาเฟอีนในชาอู่หลงก็จัดว่าเป็นสารกระตุ้นเช่นกัน ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยากระตุ้นอีเฟดรีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงกับหัวใจได้ ดังนั้นควรเลี่ยงการรับประทานยากระตุ้นอีเฟดรีนร่วมกับชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ

ใช้ชาอู่หลงร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • อะดีโนซีน (Adenosine) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีนที่อาจเข้ายับยั้งผลของยาอะดีโนซีน ที่แพทย์จัดให้คนไข้ก่อนการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Cardiac stress test) ควรเลี่ยงการดื่มชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการทดสอบนี้
  • ยาปฏิชีวนะควิโนโลน (Quinolone antibiotics) ร่างกายจะทำลายคาเฟอีนออกจากร่างกาย โดยยาปฏิชีวนะบางกลุ่มจะลดความเร็วของกระบวนการดังกล่าวลง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงอย่างตัวสั่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วขึ้น และผลข้างเคียงอื่นๆ
  • ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกาย ยาไซเมทิดีนจะลดความเร็วของกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นการรับประทานไซเมทิดีนร่วมกับชาอู่หลงอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากคาเฟอีน อย่างตัวสั่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้
  • ยาโคลซาปีน (Clozapine) ร่างกายจะกำจัดยาโคลซาปีนออกจากร่างกาย ซึ่งคาเฟอีนในชาอู่หลงอาจลดความเร็วของที่ร่างกายจะกำจัดยาโคลซาปีน นั่นคือการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยาโคลซาปีนจะเพิ่มผลข้างเคียงของยาได้
  • ยาไดไพริดาโมล (Dipyridamole) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีนที่อาจเข้ายับยั้งผลของยาไดไพริดาโมลที่แพทย์จัดให้คนไข้ก่อนการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ ควรเลี่ยงการดื่มชาอู่หลงหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการทดสอบนี้
  • ยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram) ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกาย โดยยาไดซัลฟิแรมจะลดความเร็วของกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นการรับประทานยาไดซัลฟิแรมร่วมกับชาอู่หลงอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากคาเฟอีนอย่างตัวสั่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้
  • เอสโตรเจน (Estrogens) ร่างกายกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกาย โดยเอสโตรเจนจะลดความเร็วของกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นการรับประทานเอสโตรเจนร่วมกับชาอู่หลงอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากคาเฟอีน อย่างตัวสั่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอื่นๆ ได้
  • ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนออกไป ยาฟลูวอกซามีนจะลดความเร็วของกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นการรับประทานยาฟลูวอกซามีนร่วมกับชาอู่หลงอาจทำให้มีคาเฟอีนในร่างกายมากเกินไปและเพิ่มผลข้างเคียงจากคาเฟอีนได้
  • Lithium ร่างกายจะทำการกำจัดลิเทียม (Lithium) ออกจากร่างกายเองตามธรรมชาติ ซึ่งคาเฟอีนในชาอู่หลงสามารถเพิ่มความเร็วของกระบวนการกำจัดนี้ หากคุณกำลังบริโภคคาเฟอีนและกำลังใช้ลิเทียมอยู่ ควรหยุดดื่มคาเฟอีนอย่างช้าๆ เนื่องจากการหยุดดื่มชาอู่หลงเร็วเกินไปก็จะเกิดผลข้างเคียงจากลิเทียมเพิ่มขึ้นได้
  • ยาสำหรับภาวะซึมเศร้ากลุ่ม MAOI (Monoamine oxidase inhibitor) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีนที่กระตุ้นร่างกาย ซึ่งยาสำหรับภาวะซึมเศร้าบางตัวสามารถกระตุ้นร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา อย่างหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ตื่นเต้น และอื่นๆ
  • ยาสำหรับชะลอการเกิดลิ่มเลือด (Anticoagulant / Antiplatelet drugs) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีนที่อาจชะลอการเกิดลิ่มเลือดได้ ดังนั้นการรับประทานชาอู่หลงร่วมกับยาสำหรับชะลอการเกิดลิ่มเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟกช้ำและเลือดออกได้
  • นิโคติน (Nicotine) สารกระตุ้นร่างกายอย่างนิโคตินจะเร่งการทำงานของระบบประสาท อาจทำให้ผู้ใช้เกิดอาการตัวสั่นและหัวใจเต้นเร็วขึ้น คาเฟอีนในชาอู่หลงเองก็เร่งการทำงานของระบบประสาทเช่นกัน ดังนั้นการรับประทานยากระตุ้นร่วมกับชาอู่หลงอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงอย่างอัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้นและความดันโลหิตสูงได้ ควรเลี่ยงการใช้ยากระตุ้นร่วมกับคาเฟอีน
  • ยาเพนโทบาร์บิทอล (Pentobarbital) คาเฟอีนในชาอู่หลงสามารถกระตุ้นร่างกายได้ และสามารถเข้ายับยั้งผลจากยาเพนโทบาร์บิทอลได้
  • ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine) คาเฟอีนในชาอู่หลงสามารถกระตุ้นร่างกายได้ ยาฟีนิลโพรพาโนลามีนเองก็ออกฤทธิ์ด้วยการกระตุ้นร่างกายเช่นกัน ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยาฟีนิลโพรพาโนลามีนอาจทำให้เกิดการกระตุ้นมากเกินไปและจะเพิ่มการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และเกิดอาการตื่นเต้นได้
  • ยาริรูโซล (Riluzole) ร่างกายจะกำจัดยาริรูโซลออก ซึ่งการดื่มชาอู่หลงจะลดความเร็วในการกำจัดยาริรูโซลของร่างกาย เพิ่มผลกระทบและผลข้างเคียงของ ยาริรูโซล
  • ยาธีโอฟิลลีน (Theophylline) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีนที่ออกฤทธิ์แบบเดียวกับยาธีโอฟิลลีน อีกทั้งคาเฟอีนยังลดความเร็วในการกำจัดยาธีโอฟิลลีนออกจากร่างกาย ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยาธีโอฟิลลีนอาจเพิ่มผลกระทบและผลข้างเคียงขึ้นได้
  • ยาเวอราปามิล (Verapamil) ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนในชาอู่หลง ซึ่งยาเวอราปามิลสามารถลดความเร็วของกระบวนการนี้ได้ ดังนั้นการรับประทานชาอู่หลงร่วมกับเวอราปามิล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากคาเฟอีน อย่างอาการตัวสั่น ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว

คอยสังเกตอาการเมื่อต้องใช้ชาอู่หลงร่วมกับยาเหล่านี้

  • แอลกอฮอล์ ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนในชาอู่หลง ซึ่งแอลกอฮอล์สามารถลดความเร็วของกระบวนการนี้ ดังนั้นการรับประทานชาอู่หลงร่วมกับแอลกอฮอล์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากคาเฟอีนขึ้น อย่างอาการตัวสั่น ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว
  • ยาคุมกำเนิด (Contraceptive drugs) ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนในชาอู่หลง ซึ่งยาคุมกำเนิดสามารถลดความเร็วของกระบวนการนี้ลง ดังนั้นการรับประทานชาอู่หลงร่วมกับยาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากคาเฟอีน อย่างอาการตัวสั่น ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว
  • ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole (Diflucan)) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีน ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนออกไป แต่ยาฟลูโคนาโซลอาจลดความเร็วของกระบวนการกำจัดคาเฟอีน ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงร่วมกับยาฟลูโคนาโซลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของคาเฟอีนอย่างอาการตื่นเต้น วิตกกังวล และนอนไม่หลับ
  • ยาสำหรับโรคเบาหวาน (Antidiabetes drugs) ชาอู่หลงอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นได้ ส่วนยาเบาหวานใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดลง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดอาจลดประสิทธิภาพของยาเบาหวาน ดังนั้นควรเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดของคุณอย่างใกล้ชิด และอาจต้องปรับปริมาณยาเบาหวานที่ใช้ตามความจำเป็น
  • ยาเม็กซิลีทีน (Mexiletine) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีน ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนออกไป แต่ยาเม็กซิลีทีนลดความเร็วในการกำจัดคาเฟอีนลง ดังนั้นการใช้ยาเม็กซิลีทีนร่วมกับการดื่มชาอู่หลงอาจเพิ่มผลกระทบและผลข้างเคียงจากคาเฟอีนได้
  • ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ชาอู่หลงประกอบด้วยคาเฟอีน ร่างกายจะกำจัดคาเฟอีนออกไป แต่ยาเทอร์บินาฟีนลดความเร็วในการกำจัดคาเฟอีนลง ดังนั้นการใช้ยาเทอร์บินาฟีนร่วมกับการดื่มชาอู่หลงอาจเพิ่มผลกระทบและผลข้างเคียงจากคาเฟอีนอย่างปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว และอื่นๆ ได้

ปริมาณการใช้ชาอู่หลงสำหรับผู้ใหญ่ 

  • สำหรับเพิ่มความตื่นตัวของสมอง ดื่มชา 1 แก้ว มีคาเฟอีน 60 มิลลิกรัม
  • สำหรับผู้รักษามะเร็งรังไข่ ดื่มชาอย่างน้อย 2 แก้วต่อวัน
Scroll to Top