ตะคริว

ตะคริว เกิดจากอะไร ป้องกันและรักษาอย่างไรให้หายไว

ตะคริว เกิดจากการหดและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างกระทันหัน ส่วนที่พบมากที่สุด คือ ตะคริวกล้ามเนื้อขา ผู้ที่เคยมีประสบการณ์การเป็นตะคริวจะทราบดีถึงความเจ็บปวด เมื่อกล้ามเนื้อบีบตัวแน่น จนไม่สามารถขยับเขยื้อนขาได้เลย แม้จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น อาการจะเป็นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว

การสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อไปเพียงไม่กี่อึดใจเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด หากเกิดขึ้นตอนที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ขณะว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาโลดโผน

ตะคริวจึงเป็นหนึ่งในภัยร้ายที่สามารถคร่าชีวิตได้รวดเร็วไม่แพ้โรคติดต่อชนิดอื่นๆ

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตะคริว

สาเหตุของการเป็นตะคริวยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจน จากการสำรวจพบว่า ตะคริวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็เกิดขึ้นในขณะที่ออกกำลังกาย บ้างก็เกิดขึ้นในขณะที่นอนอยู่เฉยๆ และบางคนเป็นตะคริวติดต่อกันหลายครั้งมากในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์

การเป็นตะคริวมักมีความเกี่ยวเนื่องกับปัจจัย ดังต่อไปนี้

  1. กล้ามเนื้อทำงานหนัก หรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ ตะคริวกล้ามเนื้อขามักเกิดขึ้นหลังจากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน ยืนบนพื้นที่แข็งมาก นั่งท่าเดิมนานๆ หรือนอนในลักษณะที่ขาไม่ได้เหยียดคลาย พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้อเกิดความล้ามาก และเกร็งตัวในที่สุด
  2. เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย บางทฤษฎีอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ทำให้หดรั้ง และเกร็งเมื่อใช้งานบ่อยๆ
  3. ร่างกายได้รับแร่ธาตุหรือน้ำที่ไม่เพียงพอ ปัจจัยหนึ่งที่พบมากในผู้ที่เป็นตะคริว คือการขาดแร่ธาตุ และน้ำในร่างกาย หรือแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งมักเกิดในสตรีมีครรภ์ เพราะแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ถูกดึงไปใช้ในการพัฒนาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อีกทั้งการตั้งครรภ์ยังเบียดกระเพาะปัสสาวะให้ต่ำลงกว่าปกติ ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะได้ง่าย ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้งมาก และนำมาซึ่งการขาดน้ำ
  4. สัมผัสกับความเย็นนานๆ กล้ามเนื้อก็เหมือนกับผิวหนัง เมื่อสัมผัสความเย็นจะทำให้หดตัวอย่างรวดเร็วจนรู้สึกแน่นและตึงได้ ส่วนใหญ่แล้วตะคริวมักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสัมผัสอากาศหนาวมาก หรือน้ำเย็นจัดเป็นเวลานาน
  5. ปัญหาสุขภาพแทรกซ้อน ปัญหาสุขภาพบางประเภทสามารถทำให้เกิดตะคริวได้ เช่น ปัญหาการหมุนเวียนเลือดต่างๆ เช่น โรคไต โรคไทรอยด์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  6. เกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอ มักพบในคนที่เป็นโรคเรื้อรังที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน
  7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง อาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการรับประทานยาบางกลุ่ม เช่น กลุ่มยาระงับอาการทางจิต ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ ยาสลายไขมันในเลือด และสเตียรอยด์

วิธีรับมือเมื่อเป็นตะคริว

ในเบื้องต้น ควรหยุดใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นทันที ส่วนวิธีบรรเทาอาการมีดังนี้

ยืดกล้ามเนื้อและนวด

นวดกล้ามเนื้อ ควรค่อยๆทำอย่างช้าๆ ไปควรยืดออกเร็วเป็น เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ลักษณะการยืดกล้ามเนื้อนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นตะคริว ดังมีวิธีต่อไปนี้ ได้แก่

  • ตะคริวที่ต้นขาด้านหน้า: ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง หรือนอนคว่ำหน้าลงบนพื้น จากนั้นใช้มือพับขาข้างที่ปวดเข้าหาตัวจากทางด้านหลัง กล้ามเนื้อบริเวณหน้าขาจะรู้สึกตึง ยืดค้างไว้จนกว่าอาการปวดจะหาย
  • ตะคริวที่ต้นขาด้านหลัง: นอนหงายและเหยียดขาขึ้นในมุมตั้ง จากนั้นงอข้อเท้าเข้าหาตัว แล้วใช้มือดึงขาข้างที่ยกเข้าหาตัวให้มากที่สุดจนรู้สึกตึง ดึงค้างไว้จนกว่าอาการปวดจะหาย
  • ตะคริวที่น่อง: นั่งลงบนพื้น และเหยียดขาไปด้านหน้าให้ตรง จากนั้นใช้มืองอปลายเท้าเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงที่บริเวณน่อง ควรทำค้างไว้จนกว่าจะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว
  • กรณีที่เป็นตะคริวขณะว่ายน้ำ: หากขาสามารถแตะพื้นสระน้ำได้ให้หยุดยืนและนวดกล้ามเนื้อ แต่หากอยู่ในตำแหน่งที่ลึก ให้หงายตัวขึ้นและลอยอยู่ที่ผิวน้ำ จากนั้นยืดขาออกในลักษณะที่ไม่เกร็งมาก งอข้อเท้าเข้าหาตัว และทำค้างไว้จนหายดี

หลังจากอาการปวดทุเลาลง หรือหายไปแล้ว ให้นวดเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น

วิธีประคบร้อนและประคบเย็น

  • ประคบร้อน: ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น หรือแผ่นประคบร้อน กดลงไปในบริเวณที่ปวด ความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้เร็วขึ้น
  • ประคบเย็น: ใช้น้ำแข็ง หรือแผ่นเจล แช่แข็งประคบไว้ในบริเวณที่ปวด โดยมีผ้าสะอาดคั่นระหว่างอุปกรณ์ประคบเย็นและผิวหนัง การประคบเย็นจะช่วยให้รู้สึกชา บรรเทาอาการปวดลงได้จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว

การรับมือตะคริวด้วยวิธีอื่นๆ

  • รับประทานยาแก้ปวด: โดยรับประทานตามที่ระบุไว้บนฉลาก หรือตามที่แพทย์จัดไว้ให้ในกรณีที่เป็นตะคริวบ่อยครั้ง และได้เคยปรึกษาแพทย์แล้ว
  • ดื่มน้ำให้มาก: น้ำและเครื่องดื่มสำหรับการเล่นกีฬาก็สามารถคลายตะคริวได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบของเกลือแร่
  • หมั่นยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ: โดยเฉพาะก่อนออกกำลังกาย หรือก่อนทำงานหนัก และก่อนเข้านอน
  • ออกกำลังกายอย่างพอดี: ไม่หักโหมเกินไป จนเป็นตะคริว
  • สวมใส่รองเท้าที่นุ่ม: รองเท้าควรมีความยืดหยุ่นพอสมควร
  • อาหารช่วยป้องกันตะคริว: รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุกลุ่ม แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม

หากกำลังรับประทานยากลุ่มที่อาจทำให้เกิดตะคริวได้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับยาชนิดอื่นแทน

วิธีป้องกันตะคริวในหญิงตั้งครรภ์ช่วงใกล้คลอด

เนื่องจากหญิงคั้งครรภ์จะต้องมีการแบกรับน้ำหนักของครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานหนัก ส่งผลให้เป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น ควรมีการยืดกล้ามเนื้อขา บีบนวดคลายการยึดเกร็ง และเดินออกกำลังขาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำอื่นๆ อีกดังนี้

ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ

คุณแม่ตั้งครรภ์จะสูญเสียน้ำได้ง่ายจากการปัสสาวะบ่อย เมื่อร่างกายรับน้ำไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดตะคริวได้ง่าย หากเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ใกล้คลอด ภาวะดังกล่าวจะรุนแรงมากกว่าปกติ
ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 7-10 แก้ว ถ้าไม่อยากให้ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ให้ดื่มน้ำในช่วงเช้า และบ่ายให้เพียงพอ ส่วนตอนเย็นใช้วิธีจิบเล็กน้อย จะได้ทำให้นอนหลับสบายตลอดคืน

เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง

คุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะทำให้แคลเซียมในร่างกายขาดแคลนได้ เนื่องจากร่างกายต้องนำแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อของลูกน้อยในครรภ์

เมื่อภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็เสี่ยงต่อการเป็นตะคริว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้มากขึ้น ซึ่งพบได้มากในบล็อคโคลี่ ถั่วพลู ผักใบเขียวเข้ม ปลาตัวเล็กที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก นม ถั่วเหลือง งา โยเกิร์ต และชีส

รับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย

ในช่วงของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะต้องการพลังงานจากอาหารมากขึ้นจากปกติถึง 300 กิโลแคลอรี่ โดยอาหารที่เลือกรับประทานควรให้มีความหลากหลาย ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อช่วยลดการเกิดตะคริวในระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตะคริวแม้จะเป็นอาการที่สร้างความเจ็บปวดได้ยาวนานและอาจเป็นอันตรายได้ในบางราย แต่ตะคริวก็สามารถป้องกันได้ไม่ยาก เพียงใส่ใจร่างกายของตนเอง


บทความแนะนำ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง

Scroll to Top