magnesium

Magnesium (แมกนีเซียม)

แมกนีเซียม (Magnesium) คือ แร่ธาตุที่จำเป็นต่อโครงสร้างของกระดูกที่แข็งแรง คนเราสามารถรับแมกนีเซียมได้จากอาหาร แต่บางครั้งอาจต้องได้รับจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแมกนีเซียม ตามความจำเป็นหรือเมื่อมีระดับแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่อยู่ในภาวะขาดแมกนีเซียม นอกจากนี้แมกนีเซียมยังเชื่อมโยงกับโรคต่างๆ อย่างโรคกระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง มือสั่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ลมชัก อ่อนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ และโรคหลอดเลือดสมอง

แมกนีเซียม ควรทานตอนไหน

  • พร้อมอาหาร: เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมและลดโอกาสการเกิดอาการไม่สบายท้อง ควรรับประทานแมกนีเซียมพร้อมอาหาร
  • ก่อนนอน: สำหรับบางคน แมกนีเซียมอาจช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและส่งเสริมการนอนหลับ การรับประทานแมกนีเซียมก่อนนอนอาจเป็นประโยชน์
  • ไม่ควรทานพร้อมยาอื่น: หากจำเป็นต้องรับประทานร่วมกับยาอื่น ควรรับประทานแยกห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการดูดซึมยา

แหล่งอาหารที่มีแมกนีเซียม

อาหารที่มีใยอาหาร (Fiber) สูงมักอุดมไปด้วยแมกนีเซียม เช่น พืชตระกูลถั่ว (Legumes) โดยเฉพาะอัลมอนด์ ธัญพืชทั้งเมล็ด ผักต่างๆ โดยเฉพาะบร็อคโคลี สควอซ หรือก็คือพืชผักกลุ่มฟักทอง ฟัก แฟง แตงชนิดต่างๆ มะระ ซูกินี ชะโยเต บวบ น้ำเต้า และผักใบเขียว เมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ช็อคโกแลต และกาแฟ น้ำที่มีการผสมแร่ธาตุมากมายก็นับว่าเป็นแหล่งของแมกนีเซียมได้เช่นกัน

ประโยชน์ของแมกนีเซียม

แมกนีเซียมจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและบำรุงกระดูก จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย สำหรับกระเพาะอาหารนั้น แมกนีเซียมจะช่วยปรับสมดุลกรดในกระเพาะและทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น

มีคนใช้วิธีรับประทานแมกนีเซียมเพื่อป้องกันภาวะขาดแมกนีเซียม อีกทั้งยังใช้เป็นยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้สำหรับการผ่าตัดหรือการตรวจวินิจฉัยโรค และใช้เป็นยาลดกรด ช่วยภาวะอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย

บางคนใช้แมกนีเซียมสำหรับโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด อย่างอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด (Idiopathic mitral valve prolapse) โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (Coronary artery disease) ภาวะหลอดเลือดสมอง และหัวใจวาย

แมกนีเซียมยังใช้รักษาโรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)), ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome (CFS)), โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia), โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis), ภาวะติดสุรา (Alcoholism), การพักฟื้นหลังผ่าตัด, บรรเทาอาการตะคริวกินขาในช่วงกลางคืนและระหว่างตั้งครรภ์, ปวดศีรษะไมเกรน, อาการปวดระยะยาวที่เรียกว่ากลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่ (Complex regional pain syndrome), กระดูกพรุน (Osteoporosis), กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome (PMS)), ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence), ภาวะที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนและบวมแดงที่แขนขาที่เรียกว่าอีริโทรเมลัลเจีย (Erythromelalgia), กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)), หอบหืด (Asthma), ไข้ละอองฟาง (Hay fever), โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) การป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยิน และมะเร็ง

แมกนีเซียมยังนำไปรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนนักกีฬาใช้เพื่อบำรุงกำลัง แต่ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

บางคนใช้แมกนีเซียมทาผิวเพื่อรักษาแผลติดเชื้อ น้ำร้อนลวก และฝีฝักบัว (Carbuncles) และเพื่อเร่งการสมานแผล การประคบเย็นด้วยแมกนีเซียมใช้รักษาภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังรุนแรงที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือโรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) และใช้ประคบร้อนเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อที่อยู่ใต้ผิวหนังชั้นลึก

การฉีดแมกนีเซียมเข้าร่างกายเพื่อวัตถุประสงค์ด้านโภชนาการและรักษาภาวะขาดแมกนีเซียม มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ตับอ่อน ภาวะผิดปกติด้านการดูดซับแมกนีเซียม และโรคตับแข็ง (Cirrhosis) อีกทั้งมีการฉีดเพื่อใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์อื่นๆ อีกด้วย

การฉีดแมกนีเซียมใช้เพื่อควบคุมอาการชัก รักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติหลังประสบกับภาวะหัวใจวาย และรักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) อีกทั้งการฉีดแมกนีเซียมยังรักษาโรคหอบหืดและภาวะแทรกซ้อนที่ปอดอื่นๆ

นอกจากนี้ยังใช้สำหรับไมเกรนและอาการปวดศีรษะ การได้รับพิษ เจ็บปวด สมองบวม ผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด ได้รับแรงกระแทกที่ศีรษะ เลือดออก โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) ป้องกันโรคสมองพิการ (Cerebral palsy) และเพื่อรักษาบาดทะยัก (Tetanus) อีกด้วย

ภาวะที่ใช้แมกนีเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ท้องผูก (Constipation) การรับประทานแมกนีเซียมสามารถช่วยระบายอาการท้องผูกและใช้เตรียมลำไส้ก่อนเข้ารับกระบวนการทางการแพทย์ต่างๆ ได้
  • ภาวะอาหารไม่ย่อย (Indigestionการรับประทานแมกนีเซียมเป็นยาลดกรด (Antacid) จะช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกได้ องค์ประกอบของแมกนีเซียมหลายประเภทสามารถใช้ได้ แต่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จะออกฤทธิ์เร็วที่สุด
  • ภาวะขาดแมกนีเซียม (Magnesium deficiencyการรับประทานแมกนีเซียมสามารถช่วยรักษาและป้องกันภาวะขาดแมกนีเซียมได้ดี ภาวะนี้มักจะเกิดกับผู้ป่วยโรคตับ หัวใจล้มเหลว อาเจียนหรือท้องร่วง ไตทำงานผิดปกติ และภาวะสุขภาพอื่นๆ
  • ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia กับ Eclampsiaการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดจัดว่าเป็นการรักษาหลักของการลดความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia) และภาวะครรภ์เป็นพิษ (Eclampsia) งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมจะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการชักได้
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า Torsades de pointes การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า Torsades de pointes ได้

ภาวะที่อาจใช้แมกนีเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะหรืออาร์ริทเมีย (Arrhythmiasการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า อาร์ริทเมียได้
  • หอบหืด (Asthma) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยรักษาอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้อาจจะให้ผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยการใช้แมกนีเซียมในรูปของยาพ่นอาจช่วยเรื่องการหายใจของผู้ป่วยหอบหืดได้ดี โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาร่วมกับยาซาลบูทามอล (Salbutamol) แต่ ณ ขณะนี้ยังมีข้อสรุปของผลการสำรวจที่ขัดแย้งกันอยู่ การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดช่วยลดอาการกำเริบได้ในเด็ก แต่ควรเป็นการเสริมเพิ่มไปจากการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) และยาซาลบูทามอล
  • อาการเจ็บปวดจากความเสียหายที่ประสาทจากโรคมะเร็ง การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากความเสียหายที่เส้นประสาทจากมะเร็งได้หลายชั่วโมง
  • โรคสมองพิการ (Cerebral palsyมีหลักฐานว่าการให้แมกนีเซียมกับสตรีมีครรภ์ก่อนคลอดก่อนกำหนดจะลดความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาพร้อมโรคสมองพิการได้
  • อาการปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Cluster headacheการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์หรือปวดเป็นชุดๆ แต่ละครั้งนาน 1 ชั่วโมง เป็นเวลาเดิมของทุกวันหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจรุนแรงหลายเดือน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล น้ำมูกไหล ลืมตาลำบาก ปวดขมับ ปวดเบ้าตา เป็นต้น
  • อาการเจ็บหน้าอก (Anginaเนื่องจากหลอดเลือดแดงอุดตัน อาจช่วยลดอาการปวดหน้าอกจากลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) ได้
  • โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosisงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมทุกวันนาน 8 สัปดาห์จะช่วยให้ปอดของเด็กที่ป่วยเป็นโรคซิสติก ไฟโบรซิสแข็งแรงขึ้น
  • เบาหวาน (Diabetesการรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน แม้งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของแมกนีเซียมในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังคงมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น แมกนีเซียมอาจชะลอการเกิดปัญหาทางประสาทที่เกิดจากเบาหวานได้
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgiaการรับประทานแมกนีเซียมร่วมกับกรดมาลิก (Malic acid (Super Malic tablets)) อาจช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้ อีกทั้งการรับประทานแมกนีเซียมซิเตรท (Magnesium Citrate) ทุกวันนาน 8 สัปดาห์ก็อาจช่วยลดอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน
  • สูญเสียการได้ยิน การรับประทานแมกนีเซียมอาจป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยินของผู้ที่จำเป็นต้องอยู่ในที่เสียงดัง อีกทั้งการรับประทานแมกนีเซียมยังช่วยลดอาการไม่ได้ยินของผู้สูญเสียการได้ยินกะทันหันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงดังได้ การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดยังช่วยให้ภาวะสูญเสียการได้ยินกะทันหันดีขึ้นด้วย
  • คอเรสเตอรอลสูง (High cholesterol) การรับประทานแมกนีเซียมคลอไรด์ (Magnesium chloride) และแมกนีเซียมออกไซด์ (Magnesium oxide) ช่วยลดระดับสารลิโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density lipoprotein: LDL) หรือเรียกว่าไขมันเลว และระดับคอเรสเตอรอลโดยรวม และยังช่วยเพิ่มสารลิโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (High-density lipoprotein: HDL) หรือไขมันดี ในคนที่มีระดับคอเรสเตอรอลสูง
  • โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndromeความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ คนที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงมากกว่าผู้ที่มีระดับแมกนีเซียมตามปกติ 6-7 เท่า การบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงยังมีผลต่อการลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนลงพุงในผู้หญิงและกลุ่มวัยรุ่น
  • โรคลิ้นหัวใจ (Mitral valve prolapse) อาจช่วยลดการเกิดโรคลิ้นหัวใจในผู้ป่วยที่มีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำได้
  • กระดูกพรุน (Osteoporosis) อาจช่วยป้องกันการสูญเสียกระดูกในผู้หญิงสูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนได้ อีกทั้งการรับประทานร่วมกับเอสโทรเจนและแคลเซียมกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามินรวมยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกในกลุ่มผู้หญิงสูงวัยได้ดีกว่าการใช้เอสโทรเจนเพียงอย่างเดียว
  • ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดมดลูก (Hysterectomyการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเอามดลูกออกได้ ยังมีหลักฐานว่าการใช้แมกนีเซียมในปริมาณมากที่ 3 กรัม ตามด้วย 500 มิลลิกรัม/ชั่วโมง สามารถลดความไม่สบายตัวหลังจากนั้นได้อีก อย่างไรก็ตาม หากเป็นการใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่านี้อาจไม่มีประสิทธิภาพใดๆ และอาจจะเพิ่มความเจ็บปวดขึ้นได้
  • ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด เมื่อฉีดแมกนีเซียมร่วมกับยาระงับประสาทหรือให้คนไข้หลังผ่าตัด อาจยืดระยะเวลาก่อนที่จะเกิดความเจ็บปวดขึ้นได้ และยังลดความจำเป็นของการใช้ยาแก้ปวดหลังผ่าตัดลงอีกด้วย
  • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome (PMS)การรับประทานแมกนีเซียมบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างอารมณ์แปรปรวนและท้องอืดได้ และยังช่วยป้องกันอาการปวดไมเกรนก่อนมีประจำเดือนอีกด้วย
  • อาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากการบีบเกร็งของหลอดเลือด (Vasospastic anginaการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยป้องกันการบีบเกร็งของหลอดเลือดในผู้ที่มีอาการปวดหน้าอกจากเส้นเลือดแดงที่ขนส่งเลือดไปยังหัวใจได้

ภาวะที่แมกนีเซียมอาจไม่สามารถรักษาได้

  • มะเร็งลำไส้และทวารหนัก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียมช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ กลับกล่าวว่าแมกนีเซียมอาจลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ได้จริง แต่ไม่ใช่กับมะเร็งทวารหนัก
  • คอเลสเตอรอล และไขมัน LDL การได้รับประทานแมกนีเซียมไม่มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญกับการลดระดับไขมัน LDL และคอเลสเตอรอล
  • หัวใจวาย โดยทั่วไปแล้วการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดหรือการรับประทานนั้นไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังประสบกับภาวะหัวใจวายได้
  • เมาที่สูง (Altitude sicknessงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียมซิเตรททุกวันโดยแบ่งเป็น 3 ครั้ง เริ่มที่ 3 วันก่อนปีนเขา ไปจนถึงตอนลงเขา ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเมาที่สูงได้ (ควรใช้ยาเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) และยาอะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)
  • เสริมประสิทธิภาพด้านกีฬา งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียมจะช่วยลดผลจากการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพด้านกีฬา งานวิจัยอื่นกล่าวอีกว่าการรับประทานแมกนีเซียม (Easymag, Sanofi-Aventis) ทุกวันนาน 12 สัปดาห์จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินของผู้หญิงสูงอายุได้ แต่การรับประทานแมกนีเซียมนั้นไม่อาจเพิ่มความทนทานหรือกำลังระหว่างกิจกรรมด้านกีฬาได้แต่อย่างใด
  • อาการปวดเรื้อรังหลังบาดเจ็บ งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดเป็นเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน นาน 5 วัน ไม่อาจลดอาการปวดของผู้ที่มีอาการเจ็บปวดหลังการบาดเจ็บ
  • แมงกะพรุนต่อย งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานยาเฟนตานิล (Fentanyl) ในขณะที่กำลังได้รับแมกนีเซียมทางเส้นเลือดไม่อาจลดอาการปวดหลังถูกแมงกะพรุนต่อยได้
  • กล้ามเนื้อบีบรัด/ตะคริว แมกนีเซียมไม่อาจลดความถี่หรือความรุนแรงของอาการตะคริวได้
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาครีมแมกนีเซียม (MagPro) ที่กล้ามเนื้อนาน 1 สัปดาห์ไม่อาจเพิ่มความยืดหยุ่นและความทนทานของกล้ามเนื้อได้
  • ความเสียหายที่ประสาทจากการใช้ยารักษามะเร็ง Oxaliplatin งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมไม่อาจป้องกันความเสียหายที่เส้นประสาทจากการใช้ยารักษามะเร็งตัวนี้ได้
  • ตะคริวกินขาในช่วงกลางคืน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมนาน 4 สัปดาห์ ไม่ได้ป้องกันอาการตะคริวในช่วงกลางคืนได้
  • ถูกกระทบกระแทกที่ศีรษะ งานวิจัยกล่าวว่า แมกนีเซียมไม่อาจช่วยหรือลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงที่ศีรษะได้
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell diseaseงานวิจัยพบว่าการฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate) เข้าเส้นเลือดทุกชั่วโมงในปริมาณ 8 โดสไม่ได้ส่งผลดีต่อเด็กที่ป่วยเป็นโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวแต่อย่างใด
  • ตายคลอด (Stillbirths) การรับประทานแมกนีเซียม ระหว่างตั้งครรภ์ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการตายคลอดของทารกได้
  • บาดทะยัก (Tetanusการรับประทานแมกนีเซียม ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยบาดทะยักได้แม้จะเทียบกับการรักษาตามปกติ อย่างไรก็ตาม การรับประทานแมกนีเซียมอาจลดระยะเวลาที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้ข้อมูลนี้ยังคงขัดแย้งกันอยู่ก็ตาม

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานและยังไม่มีข้อสรุปว่าใช้แมกนีเซียมรักษาได้หรือไม่

  • โรคพิษสุรา (Alcoholism) การรับประทานแมกนีเซียม อาจเพิ่มคุณภาพการนอนหลับของผู้ที่ติดสุราและกำลังอยู่ในช่วงการเลิกสุรา อย่างไรก็ตาม การฉีดแมกนีเซียมอาจไม่สามารถลดอาการถอนพิษสุราได้
  • ได้รับพิษอะลูมินัมฟอสไฟด์ (Aluminum phosphide poisoning) มีงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียม จะลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับพิษอะลูมินัมฟอสไฟด์ได้ แต่งานวิจัยอื่นๆ กลับแย้งว่าแมกนีเซียมไม่มีผลต่อพิษชนิดนี้แต่อย่างใด
  • ภาวะวิตกกังวล (Anxietyงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียม ผลซานจา (Hawthorn) และแคลิฟอร์เนียป็อปปี้ เพียงช่วยรักษาภาวะวิตกกังวลชนิดอ่อนถึงปานกลาง แต่ไม่อาจใช้รักษาระดับรุนแรงได้
  • โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอาจมีระดับแมกนีเซียมต่ำ งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียม สามารถช่วยรักษาเด็กกลุ่มอาการนี้ที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำได้ แต่ไม่เห็นผลการวิจัยในระยะยาว
  • โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorderงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีซิโอการ์ด (Magnesiocard) อาจให้ผลคล้ายกับการใช้ลิเทียม (Lithium) ในผู้ป่วยอารมณ์สองขั้วได้เพียงบางราย
  • โรคหัวใจ งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของการบริโภคแมกนีเซียมในอาหารกับโรคหัวใจยังคงไม่สอดคล้องกัน บ้างก็กล่าวว่าการเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ แต่งานวิจัยอื่นกลับกล่าวว่าการเพิ่มปริมาณการบริโภคไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจ บ้างก็ว่าไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างการบริโภคแมกนีเซียมกับโรคหัวใจ
  • ภาวะซึมเศร้า (Depressionงานวิจัยพบว่าการรับประทานแมกนีเซียม นาน 6 สัปดาห์สามารถลดอาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่มีอาการอ่อนถึงปานกลางได้ แต่การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดเพียงโดสเดียวนั้นไม่อาจลดอาการใดๆ ลงได้เมื่อเทียบในช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์ให้หลัง ผู้ที่ได้รับแมกนีเซียมทุกวันในอาหารที่ 76-360 มิลลิกรัม อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ส่วนผู้ที่ได้รับในปริมาณที่มากหรือน้อยกว่านั้นจะไม่ลดความเสี่ยงต่อภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะบอกว่า การรับประทานแมกนีเซียม สามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้หรือไม่
  • ความดันโลหิตสูง งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียม สามารถลดเลขตัวล่างของความดันโลหิตลงได้ (Diastolic blood pressure) ประมาณ 2 mmHg การลดลงนี้อาจจะมีค่าน้อยเกินที่จะส่งผลต่อความดันโลหิต อีกทั้งยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แมกนีเซียมกับเลขความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) ที่ขัดแย้งซึ่งกันและกันอยู่
  • สมองเสียหายจากการขาดออกซิเจนในทารก งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยทารกที่มีความเสียหายที่สมองจากการขาดออกซิเจนในระยะสั้นได้เท่านั้น ไม่อาจช่วยในระยะยาวได้
  • นิ่วในไต การรับประทานแมกนีเซียม อาจป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำซากได้ แต่การใช้ยาอย่าง Chlorthalidone (Hygroton) อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
  • ปวดหลังส่วนล่าง งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดทุกๆ 4 ชั่วโมงนาน 2 สัปดาห์ในขณะที่กำลังรับประทานแมกนีเซียม ทุกวันนาน 4 สัปดาห์อาจช่วยลดอาการปวดหลังของผู้ที่มีปัญหาปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังได้
  • ภาวะมาเนีย (Mania) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียม ร่วมกับยาเวอราปามิล (Verapamil) สามารถลดอาการมาเนียได้ดีกว่าการใช้ยาเวอราปามิลเพียงอย่างเดียว งานวิจัยอื่นๆ กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดสามารถลดปริมาณการใช้ยาอื่นๆ ในการควบคุมอาการมาเนียชนิดรุนแรงลงได้ แต่ยังคงขาดหลักฐานในการรักษาที่หายขาด
  • ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headachesการรับประทานแมกนีเซียมปริมาณมากอาจช่วยลดความถี่ของการเกิดไมเกรนลง แต่งานวิจัยอื่นกล่าวว่าแมกนีเซียมไม่ได้ส่งผลต่ออาการไมเกรน ซึ่งมีงานวิจัยไม่กี่ชิ้นที่กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจลดอาการไมเกรนลงได้ แม้ว่างานวิจัยอื่นๆ จะกล่าวถึงการไม่บรรเทาอาการปวดแม้ใช้เข้าเส้นเลือดก็ตาม
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis (MS)การรับประทานแมกนีเซียมอาจลดอาการตึงหรือแข็งของกล้ามเนื้อในผู้เป็นปลอกประสาทเสื่อมแข็งได้ แต่ไม่อาจรักษาได้
  • การพักฟื้นหลังผ่าตัด งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานลูกอมยาแมกนีเซียม (Magnesium lozenge) ก่อนผ่าตัด 30 นาที จะลดอาการเจ็บคอจากการสอดท่อช่วยหายใจได้ แต่ไม่อาจบรรเทาอาการอื่นๆ หลังผ่าตัดได้
  • ตะคริวที่ขาของหญิงตั้งครรภ์ งานวิจัยเรื่องการใช้แมกนีเซียมกับอาการตะคริวที่ขาจากการตั้งครรภ์ยังคงไม่สอดคล้องกัน บ้างกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียม อาจลดอาการตะคริวระหว่างตั้งครรภ์ได้ บ้างก็กล่าวว่าแมกนีเซียมไม่ส่งผลใดๆ ต่ออาการนี้
  • คลอดก่อนกำหนด การให้แมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจป้องกันการบีบรัดตัวของมดลูกเมื่อคลอดก่อนกำหนดได้ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าแมกนีเซียมสามารถชะลอการคลอดได้นาน 48 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับการใช้ยาปกติ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ยังเชื่อว่าแมกนีเซียมอาจส่งผลเสียต่อแม่และเด็กได้เช่นกัน
  • ภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)การรับประทานแมกนีเซียม อาจลดปริมาณการเคลื่อนไหวและเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับของผู้ป่วยโรคขาอยู่ไม่สุขได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทของแมกนีเซียมกับโรคนี้ยังคงไม่แน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้บางรายจะมีระดับแมกนีเซียมในเลือดสูงอยู่แล้วก็ได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ยังคงมีหลักฐานเกี่ยวกับผลจากการใช้แมกนีเซียม หรือรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียมกับโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สอดคล้องซึ่งกันและกันอยู่ แต่ก็มีรายงานว่าแมกนีเซียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ชายได้ ขณะนี้จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการรับประทานแมกนีเซียม จะให้ผลเช่นใด บ้างก็กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่งานวิจัยอื่นกลับกล่าวว่าคนส่วนมากไม่สามารถใช้แมกนีเซียมในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือพิการจากโรคหลอดเลือดสมองได้
  • ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhageยังคงมีหลักฐานที่ปนเปกันอยู่เกี่ยวกับผลของการใช้แมกนีเซียมควบคุมอาการตกเลือดในสมองบ้างก็กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดจะลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและภาวะเจ้าหญิง-เจ้าชายนิทรา (Vegetative state) ลงได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ กลับแย้งว่าแมกนีเซียมไม่ได้มีประโยชน์เช่นนี้
  • เสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน (Sudden cardiac deathงานวิจัยเบื้องต้นบางชิ้นกล่าวว่าการบริโภคแมกนีเซียมปริมาณมากนั้นมีโอกาสน้อยที่จะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่แน่ชัดว่าการรับประทานแมกนีเซียม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะนี้ได้หรือไม่ ก็แม้กระทั่งการให้แมกนีเซียมทางเส้นเลือดอาจไม่ส่งผลดีด้วยเช่นกัน (ควรใช้แมกนีเซียมกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Torsade de pointes))
  • ภาวะพิษจากยาต้านเศร้า (Tricyclic antidepressant drugs) งานวิจัยกล่าวว่าการให้แมกนีเซียมในยาทางเส้นเลือดไม่อาจช่วยผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกได้
  • ลดน้ำหนัก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม และแลคทูโลส (Lactulose) นาน 1 ปีสามารถลดไขมันร่างกายได้เล็กน้อย แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่อาจลดน้ำหนัก อัตราส่วนไขมัน หรือขนาดรอบเอวได้ เพราะส่วนที่ลดลงไปคือปริมาณน้ำในกระแสเลือด
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinenceงานวิจัยไม่สามารถสรุปว่ามีความเกี่ยวพันระหว่างปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome (CFS)การฉีดแมกนีเซียมอาจช่วยลดอาการเหนื่อยล้าได้ แต่ประโยชน์ข้อนี้ยังคงเป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของการใช้แมกนีเซียม

แมกนีเซียมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมหรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ใช้วิธีฉีดเข้าร่างกายในปริมาณและขนาดที่ถูกต้อง บางคนอาจประสบกับผลข้างเคียงจากการใช้แมกนีเซียม อย่างอาการปวดท้อง หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และผลข้างเคียงอื่นๆ ได้

สำหรับผู้ใหญ่ โดยมากปริมาณแมกนีเซียมที่น้อยกว่า 350 มิลลิกรัม/วัน (310-420 มิลลิกรัม) นั้นจัดว่าปลอดภัย หากบริโภคในปริมาณมากอาจจะไม่ปลอดภัยเนื่องจากแมกนีเซียมสามารถเข้าสะสมในร่างกายจนทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ได้ อย่างหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตตกลง สับสน หายใจช้าลง โคม่า และเสียชีวิต

คำเตือนและข้อควรระวังในการทานแมกนีเซียม

  • สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร แมกนีเซียมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์หรือแม่ที่ต้องให้นมบุตรเมื่อบริโภคในปริมาณที่น้อยกว่า 350 มิลลิกรัม/วัน แมกนีเซียมในรูปแบบยาฉีดหรือฉีดเข้าเส้นเลือดช่วงก่อนคลอดมีความปลอดภัย แต่อาจไม่ปลอดภัยหากให้ใช้ในปริมาณมาก
  • เด็ก เด็กส่วนมากสามารถรับแมกนีเซียมได้อย่างปลอดภัย โดยปริมาณที่ปลอดภัยนั้นได้แก่ สำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี มีปริมาณที่น้อยกว่า 80 มิลลิกรัม/วัน, สำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี คือ 130 มิลลิกรัม และ สำหรับเด็กอายุ 9-13 ปีขึ้นไป คือ 240 มิลลิกรัม หากเป็นการใช้แมกนีเซียมปริมาณที่มากกว่านี้จะไม่ปลอดภัย
  • โรคพิษสุรา การติดสุราจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะขาดแมกนีเซียมขึ้น
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ แมกนีเซียมอาจชะลอการเกิดลิ่มเลือดได้ ซึ่งทางทฤษฎีแล้วการรับประทานแมกนีเซียม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลือดออกหรือฟกช้ำในกลุ่มผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติได้ง่ายขึ้น
  • เบาหวาน เบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะขาดแมกนีเซียมขึ้น หากเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีจะลดปริมาณแมกนีเซียมที่ร่างกายดูดซึมลง
  • ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดแมกนีเซียมมากขึ้นเนื่องจากร่างกายดูดซับแมกนีเซียมได้น้อยลง และมักประสบกับโรคภัยที่ส่งผลต่อการดูดซึมนี้บ่อยครั้ง
  • สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัด (Heart block) ไม่ควรให้แมกนีเซียมปริมาณมากกับผู้ที่มีปัญหาภาวะนี้
  • โรคที่ส่งผลต่อการดูดซึมแมกนีเซียม การดูดซับแมกนีเซียมของร่างกายจะลดลงได้จากหลายๆ ภาวะ เช่น การติดเชื้อที่กระเพาะอาหาร โรคภูมิคุ้มกัน โรคลำไส้อักเสบ และอื่นๆ
  • ปัญหาที่ไตอย่างโรคไตวาย อวัยวะไตที่ทำงานไม่ดีจะทำการกำจัดแมกนีเซียมออกจากร่างกายได้ยาก การรับประทานแมกนีเซียมเข้าไปมากขึ้นจะยิ่งทำให้แมกนีเซียมสะสมในร่างกายมากจนอาจไปถึงระดับที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้นหากคุณมีปัญหาที่ไตไม่ควรรับแมกนีเซียม
  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome) ผู้ป่วยภาวะนี้อาจมีระดับแมกนีเซียมสูงในร่างกาย ซึ่งยังคงไม่แน่ชัดว่าแมกนีเซียมเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะนี้หรือไม่ เนื่องจากก็มีผู้ป่วยภาวะนี้บางรายก็มีปัญหาขาดแมกนีเซียมเช่นกัน

แมกนีเซียมห้ามกินร่วมกับยาบางชนิด

ใช้แมกนีเซียมร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

  • ยาปฏิชีวนะอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside antibiotics) ยาปฏิชีวนะบางตัวส่งผลต่อกล้ามเนื้อ โดยยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เรียกว่ายาอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) แมกนีเซียมเองก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อเช่นกัน ดังนั้นการรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้กับฉีดยาแมกนีเซียมอาจทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อขึ้นได้ ตัวอย่างยาปฏิชีวนะอะมิโนไกลโคไซด์ มีทั้ง Amikacin, Gentamicin, Kanamycin, Streptomycin, Tobramycin  และอื่นๆ
  • ยาปฏิชีวนะเตตระไซคลิน (Tetracycline antibiotics) แมกนีเซียมสามารถเข้ายึดเกาะกับยาเตตระไซคลินในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งจะลดปริมาณยาเตตระไซคลินที่ร่างกายสามารถดูดซึมลง ดังนั้นการรับประทานร่วมกับ tetracyclines จะลดประสิทธิภาพของยา tetracyclines ลง เพื่อเลี่ยงการตีกันเช่นนี้ควรรับประทานแคลเซียม 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 4 ชั่วโมงหลังทานยา tetracyclines ตัวอย่าง tetracyclines มีทั้ง demeclocycline, minocycline, และ tetracycline
  • ยาปฏิชีวนะควิโนโลน (Quinolone antibiotics) แมกนีเซียมสามารถเข้ายึดเกาะกับยาควิโนโลนในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งจะลดปริมาณยาควิโนโลนที่ร่างกายสามารถดูดซึมลง ดังนั้นการรับประทานร่วมกับยาควิโนโลนจะลดประสิทธิภาพของยา เพื่อเลี่ยงการตีกันเช่นนี้ควรรับประทานแคลเซียม 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 4 ชั่วโมงหลังรับประทานยาควิโนโลน ตัวอย่างยาควิโนโลนมีทั้ง Ciprofloxacin, Enoxacin, Norfloxacin
  • ยาลดกรด: การใช้ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียมร่วมกับยาลดกรดชนิดอื่นที่มีอลูมิเนียมหรือแคลเซียม อาจทำให้ระดับแมกนีเซียมในเลือดสูงเกินไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ร่วมกัน
  • ยาเพื่อการรักษาโรคกระเพาะอาหาร, ยา Proton Pump Inhibitors (PPIs) เช่น Omeprazole และ Esomeprazole การใช้ PPIs ร่วมกับแมกนีเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดแมกนีเซียมในระยะยาว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ร่วมกัน
  • ยาเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง, ยากลุ่ม ACE inhibitors และ ARBs: ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้แมกนีเซียมร่วมกับยากลุ่มนี้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อระดับแมกนีเซียมในร่างกาย
Scroll to Top