ผกากรอง Lantana camara

ผกากรอง (Lantana camara)

ผกากรอง เป็นพืชชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมีสีสันสวยงาม ดึงดูดสายตาคนมอง แต่ทราบหรือไม่ว่า ผกากรองสวยๆ นั้นก็มีพิษซ่อนอยู่เช่นกัน ผกากรองเป็นพืชในวงศ์ Verbenaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Lantana camara Linn. และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น เบญจมาศป่า มะจาย ก้ามกุ้ง สาบแร้ง ยี่สุ่น

ลักษณะของผกากรองคือเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักมน มีขนปกคลุม ดอกช่อออกแบบกระจุก มีหลากหลายสี ทั้งสีขาว เหลืองนวล ชมพู ส้ม แดง หรืออาจมีหลายสีในช่อเดียว ดอกมีกลิ่นฉุน ผลกลมขนาดเล็ก ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ

สรรพคุณของผกากรอง

ส่วนต่างๆ ของผกากรองมีสรรพคุณดังนี้

  • ใบสด มีรสขม ใช้ประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มดื่ม ช่วยขับลม แก้อาการบวม หรือนำใบสดนำมาตำ คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับเหล้า พอกบรรเทาอาการปวด บวม ฟกช้ำ ถอนพิษ ช่วยรักษาฝี รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน และสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรไล่แมลงศัตรูพืช
  • ดอก นำมาต้มดื่ม ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด
  • ราก ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม หรือรากสดประมาณ 35-70 กรัม นำมาต้มดื่ม ช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ แก้ไข้หวัด

ข้อควรระวังของการใช้ผกากรอง

ผกากรองเป็นพืชมีพิษ ควรใช้อย่างระมัดระวัง และการใช้สมุนไพรควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์เด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียถึงชีวิต

พิษของผกากรอง

พิษของผกากรองพบในผลแก่ที่ยังไม่สุก โดยจะมีสารไตรเตอร์พีน (Triterpenes) ชื่อลานทาดีนเอและบี (Lantadene A และ B) ลานทาดีนเอมีพิษมากกว่าลานทาดีนบี ซึ่งเป็นพิษต่อคนและสัตว์

ผู้ที่ได้รับพิษจากผกากรองจะแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยจะอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ไม่มีแรง ไม่สามารถยืนได้ มึนงง อาเจียน รูม่านตาขยาย ตัวเขียว ท้องเสีย หมดสติ หายใจลึกแต่ระดับการหายใจจะช้าลง ขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตในที่สุด หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันท่วงที โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่นำผลผกากรองมารับประทาน

สัตว์เลี้ยงก็สามารถได้รับพิษจากผกากรองได้เช่นกัน โดยจะมีอาการซึม ไม่อยากอาหาร ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หลังจากนั้น 1-2 วัน จะพบอาการเหลือง ขาดน้ำตามเนื้อเยื่อเมือก กล้ามเนื้ออักเสบ ตาอักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบแบบที่เรียกว่าพิงก์โนส (Pink nose) เจ็บ

อาการอักเสบนี้อาจลุกลามไปถึงโพรงจมูก ตา ปาก เกิดเป็นแผลบวม ปลายจมูกแข็ง หนังตาบวม หูหนาและแตก คันหน้า จนสัตว์เลี้ยงถูบ่อยทำให้เป็นแผลหรือตาบอดได้ โดยมากได้รับพิษประมาณ 1-4 สัปดาห์ก็อาจตายได้

การรักษาเมื่อได้รับพิษผกากรอง

เมื่อทราบว่ามีการรับประทาน หรือได้รับสารพิษจากผกากรอง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หากรับประทานไปไม่เกิน 30 นาที แพทย์จะให้รับประทานน้ำเชื่อมไอปีแคค (Ipecac syrup) เพื่ออาเจียนเอาเศษชิ้นส่วนของพืชออกไป ผู้ใหญ่รับประทาน 2 ช้อนโต๊ะ เด็กอายุ 1-12 ปี รับประทาน 1 ช้อนโต๊ะ

หากไม่ได้ผลต้องทำการล้างท้อง ยกเว้นในเด็กที่ได้รับพิษเกินกว่า 3 ชั่วโมง อาจล้างท้องไม่ได้ผล จะได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อะดรีนาลีน (Adrenaline) ให้ออกซิเจน และรักษาตามอาการ

ผกากรองเป็นพืชที่มีประโยชน์หลายด้าน แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็จะเกิดโทษมหันต์ ดังนั้นเมื่อได้ทราบอันตรายจากผกากรองแล้ว ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่อาจนำผกากรองมาเล่นหรือรับประทานโดยไม่ทราบว่ามีสารพิษอยู่ นอกจากนี้หากจะนำผกากรองมาใช้เป็นยา ควรปรึกษาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง


เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top