โรคเอดส์ การติดต่อ

สาเหตุของโรคเอดส์

โรคเอดส์ หนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกเพราะติดต่อจากคนสู่คนด้วยพฤติกรรมปกติของมนุษย์ ในอดีต โรคนี้มีความรุนแรงมาก แต่ปัจจุบันการรักษาที่ดีทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome; AIDS) หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย

ผู้ที่มีเชื้อโรคสะสมในตัวมาก หรือป่วยเป็นโรค จะมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้มาก แต่หากรักษาจนอาการดีและใช้วิธีป้องกันอย่างเหมาะสม โอกาสแพร่กระจายจะลดลงจนเกือบจะเป็นศูนย์

เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะมีการแบ่งตัวสะสมตามอวัยวะต่างๆ และทำลายอวัยวะเป้าหมายหลัก คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลงจะเกิดอาการของโรค โดยทั่วไประยะจากติดเชื้อจนแสดงอาการจะอยู่ที่ 5-7 ปี

โรคเอดส์ สาเหตุคืออะไร?

การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี มาจากหลายทางโดยติดทางสารคัดหลั่ง หรือเลือด ที่พบบ่อยตามลำดับมีดังนี้

1. ทางเพศสัมพันธ์

เป็นช่องทางที่โรคเอดส์ติดต่อกันมากที่สุด โดยเกิดมากที่สุดกับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายทางทวารหนัก ตามมาด้วยการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงทางช่องคลอด

ส่วนการมีเพศสัมพันธ์แบบหญิงกับหญิงและการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก แม้จะพบน้อยแต่ก็มีรายงานประปราย

เรื่องที่น่าสนใจได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ที่เป็นฝ่ายรับจะมีโอกาสรับเชื้อมากกว่าเป็นฝ่ายสอดใส่ และการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น

2. ทางเลือด ผิวหนัง หรือเยื่อเมือกที่ฉีกขาด

ในอดีตสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อโรคเอดส์ที่พบบ่อย มาจากการใช้เข็มฉีดยาเพื่อเสพสารเสพติดร่วมกัน แต่ปัจจุบันพบลดลงเนื่องจากสารเสพติดเข้าหลอดเลือดดำมีใช้น้อยลงมาก

การติดต่อลักษณะนี้มักพบจากอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำในบุคลากรทางการแพทย์ จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยกระเด็นมาโดยตา ปาก หรือผิวหนังที่เป็นแผล หากมีเลือดปะปนมาด้วย โอกาสติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีการป้องกันโรคหลังจากเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุเข็มทิ่มตำ หรือโดนสารคัดหลั่ง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ (Post exposure prophylaxis) โดยการรับประทานยาต้านไวรัสหลังจากเกิดเหตุการณ์เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยใช้สูตรยาที่มีผลข้างเคียงน้อยเพื่อจะได้รับประทานยาได้ครบกำหนด หลังจากนั้นตรวจติดตามผลที่หกสัปดาห์และสามเดือน

หลังจากรับประทานยาเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ในระหว่างนี้งดบริจาคเลือดและสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

สาเหตุโรคเอดส์จากการรับบริจาคเลือดปัจจุบันถือว่า น้อยมาก เพราะมีการคัดกรองอย่างละเอียด ยกเว้นว่า ผู้บริจาคจะมีปัจจัยเสี่ยงไปรับเชื้อมาในช่วง 1-2 สัปดาห์ ที่จะยังไม่สามารถตรวจหาการติดเชื้อได้

ดังนั้นหากพบว่า ตัวคุณเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ก็ไม่ควรบริจาคเลือดในระยะ 1 เดือน

3. ทางแม่สู่ลูก

อีกสาเหตุของโรคเอดส์ แม่ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีส่งต่อเชื้อผ่านสู่ลูกจากกระบวนการคลอด ที่จะมีเลือดออกพอสมควร

ปัจจุบันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกลดลงอย่างมาก ด้วยมาตรการการคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่มาฝากครรภ์ สามารถตรวจได้และรักษาได้ตั้งแต่เริ่ม

หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบเชื้อ HIV นั้น จะได้รับการรักษาเสมือนผู้ติดเชื้อทั่วไป เพราะปัจจุบันมีการรักษาผู้ติดเชื้อทุกคนเมื่อตรวจพบ แต่จะเลือกยาที่มีผลต่อทารกน้อยมาก

มีการตรวจติดตามระดับไวรัสในเลือดอันเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อ หากสามารถลดปริมาณไวรัสลงได้ดี โอกาสติดเชื้อจะลดลง

เลือกวิธีคลอดที่เกิดบาดแผลน้อยที่สุด อาจคลอดเอง หรือผ่าตัดก็ได้ตามข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์ หลังจากนั้นทารกต้องรับยาต้านไวรัสไปจนกว่าจะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ไม่ติดเชื้อ ด้วยการวัดปริมาณไวรัสในเลือดทารก ส่วนมารดาให้เข้าสู่การรักษาการติดเชื้อตามมาตรฐานและงดให้นมบุตร

ทำไมถุงยางอนามัยถึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้องกันเอดส์?

จะเห็นว่า การติดเชื้ออันไม่ได้มาจากการมีเพศสัมพันธ์พบน้อยมาก และจะมีเหตุการณ์ที่เสี่ยงอย่างชัดเจน

ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะชายกับหญิง หรือ ชายกับชาย (ไม่ว่าจะมีการสอดใส่ หรือร่วมเพศทางช่องทางไหน) จึงเป็นวิธีการหลักในการป้องกันการได้รับเชื้อไวรัส HIV รวมถึงป้องกันการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน

การรักษาเอดส์ในปัจจุบัน

สำหรับวิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในปัจจุบันคือ ให้ยาต้านไวรัสทุกรายเมื่อตรวจพบและพร้อมจะรับยาในระยะยาว

เนื่องจากความสม่ำเสมอในการรับประทานยาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา จึงต้องให้คำปรึกษาให้ผู้ป่วยพร้อมรักษามากที่สุดก่อนจึงเริ่มยา

โดยหวังผลควบคุมปริมาณไวรัสให้น้อยที่สุดและมีผลแทรกซ้อนจากยารักษาน้อยที่สุด ยาต้านไวรัสเอชไอวีจะใข้ยารวม 3-4 ชนิด แล้วแต่สูตรยาและความเหมาะสม มีบริการฟรีสำหรับทุกสิทธิการรักษาในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและสามารถทำได้ง่ายด้วยตนเอง โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง


เขียนโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช

ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

  • WHO, HIV/AIDS (last updated : 15 November 2019) (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hiv-aids), 18 May 2020.
  • สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2560 (file:///C:/Users/USER/Downloads/5911323e1a6c4.pdf), 11 มกราคม 2563.
  • ศศิโศภิณ เกียรติบูรณกุล. การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีแบบผู้ป่วยนอก. พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง. กรุงเทพ: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, มปป.
Scroll to Top