ปั๊มนม เก็บไว้ให้ลูก ดีจริงหรือไม่ รวมคำแนะนำการสต๊อกนม scaled

ปั๊มนม เก็บไว้ให้ลูก ดีจริงหรือไม่ รวมคำแนะนำการสต๊อกนม

เมื่อกล่าวถึงนมแม่ เราทราบกันดีว่าการดูดโดยตรงจากเต้านมแม่ดีที่สุด จะได้คุณภาพของน้ำนมครบถ้วน แต่กรณีความจำเป็นในปัจจุบัน คุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือทารกมีปัญหาในการดูดนมจากเต้า เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีปัญหาสุขภาพ การปั๊มเก็บนมสต็อกไว้ในตู้เย็นจึงเป็นทางเลือก

แม้คุณภาพจะลดลงกว่าเดิมบ้าง แต่ภูมิคุ้มกัน สารอาหารดีๆ จำนวนมากที่มีนั้น ก็ยังคงคุณค่ามากกว่านมผงมากมายนัก คุณแม่ที่ออกไปทำงานต้องมีการวางแผนการให้นม โดยอาจต้องเตรียมตัวตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ เพราะแม้จะแยกจากกันชั่วคราว แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะช่วยให้แม่ลูกยังใกล้ชิดกัน และลูกมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีได้

ประโยชน์ของนมแม่ 

นมแม่มีประโยชน์มากมาย สรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีนในอัตราส่วนที่เหมาะสมต่อไตของทารก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดเวย์ (Whey)  ในเวย์โปรตีนนี้จะประกอบด้วยโปรตีนที่สำคัญเช่น อัลฟาแลกตาบูมิน นิวคลีโอไทด์โปรตีนที่มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ทอรีนที่สำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท จอตา นอกจากนี้นมแม่ยังมีเคซีน (Casein) ชนิดเบต้า ซึ่งย่อยง่ายกว่าเคซีนชนิดอัลฟาซึ่งพบในนมวัว
  2. น้ำนมแม่มีฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก
  3. นมแม่ย่อยและดูดซึมง่ายกว่านมผง ช่วยระบบขับถ่าย ลดอาการท้องอืด โคลิกและช่วยให้ทารกอุจจาระง่าย
  4. นมแม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยเฉพาะน้ำนมช่วงแรกหลังคลอด (Colostr um) มีวิจัยพบว่า กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนช่วยลดอัตราความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ ติดเชื้อทางเดินหายใจ และหากให้นมแม่ครบ 4 เดือนก็จะลดการเกิดโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ เช่น อาการผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหืดหอบ ในช่วง 2-3 ขวบปีแรก ในเด็กกลุ่มเสี่ยง (เด็กที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นภูมิแพ้)
  5. นมแม่มีกรดไขมันจำเป็นที่สำคัญคือ  DHA ช่วยให้สมองและระบบประสาทของทารกเจริญเติบโต พัฒนาการดีและเฉลียวฉลาด มีระดับไอคิวหรือเชาว์ปัญญาสูงกว่าทารกที่กินนมผสม และมีการศึกษาว่า สมองของทารกที่ได้นมผงจะมีปริมาณ DHA ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสมองทารกที่กินนมแม่
  6. คาร์โบไฮเดรตหลักในนมแม่คือ แลคโตส ซึ่งย่อยง่าย และมีมากกว่าเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป นอกจากนี้ยังมี HMO (Human Milk Oligosaccharide) ซึ่งจะคงในทางเดินอาหาร มีบทบาทสำคัญป้องกันการติดเชื้อในลำไส้และทางเดินหายใจ
  7. การกินนมแม่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่อีกด้วย
  8. นมแม่มีปริมาณแร่ธาตุครบถ้วนและเพียงพอ เช่น แคลเซียม ส่วนธาตุเหล็กในนมแม่จะมีปริมาณเพียงพอสำหรับทารกในช่วง 4-6 เดือนแรก แต่หลัง 6 เดือน แร่ธาตุตัวนี้อาจลดลงไป ดังนั้นจึงอาจพิจารณาให้อาหารเสริมต่างหากแก่ทารก

คำแนะนำเกี่ยวกับการให้นมและปั๊มนม

ควรให้แม่เริ่มให้นมให้เร็วที่สุดหลังคลอด โดยใน 1-2 วันแรก ถ้าลูกดูดได้ให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อยๆ หากทารกดูดนมไม่ได้ ให้บีบกระตุ้นทุก 2-3 ชั่วโมง เฉลี่ยครั้งละอย่างน้อย 30 นาที

การให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียว สม่ำเสมอ จะกระตุ้นให้แม่มีน้ำนมเพียงพอในช่วงหลังคลอด 1-2 เดือน และจะมีมากพอให้แม่เก็บไว้ให้ลูก และควรให้คนเลี้ยงฝึกป้อนนมด้วยถ้วย (Cup feeding) เพื่อจะให้ลูกกินในมื้อที่แม่ให้ไม่ได้ หรือต้องไปทำงาน

ก่อนให้นม ให้ล้างมือให้สะอาด  ทำการประคบและนวดเต้านมด้วยน้ำอุ่นทั้งสองข้าง ข้างละ 3-5 นาที  นวดเป็นวงกลมรอบๆ จากขอบนอกมาถึงหัวนม นาน 3-5 นาที ต่อมาบีบเต้านมสลับ ซ้าย-ขวา ข้างละ 15 นาที แล้วกลับมาประคบอีกข้าง ข้างละ 3-5 นาที ทำสลับไปมา 3-4 รอบ รวมเวลาทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง

การนวดเต้านมด้วยมือเป็นการเลียนแบบการหลั่งและการสร้างน้ำนมที่ใกล้เคียงธรรมชาติ แต่หากน้ำนมยังมาน้อย อาจพิจารณาใช้เครื่องปั๊มน้ำนมเสริมได้

เพื่อรักษาคุณภาพนมแม่ เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้แบ่งบรรจุในภาชนะที่กินพอดีสำหรับ 1 มื้อ โดยใช้ขวดนมที่สะอาดหรือถุงเก็บน้ำนมแม่ และปิดภาชนะทันที ถ้าเป็นขวดให้เหลือที่ว่างในขวดประมาณ ¼- ½ นิ้ว ปิดฝาขวดให้สนิท แต่ไม่ต้องแน่นมากเกินไป ถ้าเป็นถุงเก็บน้ำนม ให้รูดซิปปิดให้สนิท โดยเหลือที่เล็กน้อยเผื่ออากาศในถุง เพราะน้ำนมที่แช่แข็งจะเกิดการขยายตัว อย่าลืมเขียนวันเวลาที่เก็บไว้ให้ชัดเจน

ถ้ามีน้ำนมมากพอให้เก็บสำรองไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

ปั๊มนมไว้ เมื่อไรจะหมดอายุ?

  1. ตู้แช่แข็ง (อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 6 เดือนดีที่สุด แต่ยอมรับได้ถึง 1 ปี
  2. ช่องแช่แข็งของตู้เย็น 2 ประตู (-18 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-6 เดือน ขึ้นกับการเปิด-ปิดบ่อยหรือไม่ และมีการเก็บร่วมกับอาหารอื่นหรือไม่ ยิ่งมีการเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ระยะเวลาการเก็บจะยิ่งน้อยลง
  3. ที่ช่องแช่แข็งของตู้เย็นประตูเดียว (-15 องศาเซลเซียส ) เก็บได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ ขึ้นกับการเปิด-ปิดบ่อยหรือไม่ และมีการเก็บร่วมกับอาหารอื่นหรือไม่
  4. ที่ตู้เย็นทั่วไป (4 องศาเซลเซียส)  เก็บใกล้ช่องแช่แข็ง ไม่ใช่ที่ฝาประตู (เนื่องจากจะสูญเสียความเย็นได้ง่าย) เก็บได้นาน 3-5 วัน
  5. อุณหภูมิห้อง (ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส) เก็บได้ 4 ชั่วโมง
  6. กระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งหล่อตลอดเวลา เก็บได้ประมาณ 1 วัน

คำแนะนำเพิ่มเติมจากศูนย์นมแม่ ให้รายละเอียดของก้อนเก็บความเย็นดังนี้

ถุงพลาสติกใส่ก้อนทำความเย็น (น้ำแข็งแหนม) 100 มิลลิเมตร 4, 6, 8 ก้อน

  • ในกระติก รักษาความเย็นได้ 12, 15 และ 17 ชั่วโมง ตามลำดับ
  • ในกระเป๋าพลาสติกรักษาความเย็นได้ 8, 10 และ 11 ชั่วโมง ตามลำดับ

ฟองน้ำใส่น้ำแข็ง 100 มิลลิลิตร 4, 6, 8 ก้อน

  • ในกระติก รักษาความเย็นได้ 11, 14 และ 16 ชั่วโมง ตามลำดับ
  • ในกระเป๋าพลาสติกรักษาความเย็นได้11, 14 และ 16 ชั่วโมง ตามลำดับ

น้ำแข็งเทียม (Icebrick) 1 และ 2 ก้อนในกระติกน้ำแข็ง รักษาความเย็นได้ 4 และ 17 ชั่วโมง ตามลำดับ

เจลประคบร้อนเย็น (Coldhotpack) 1 และ 2 ชิ้นในกระติกน้ำแข็งและกระเป๋าพลาสติก รักษาความเย็นได้ที่ 2 ชั่วโมง

คำแนะนำทั่วไปในการนำนมแช่เย็นมาใช้ 

นมที่เก็บในช่องแช่เย็นธรรมดา เมื่อจะใช้ให้นำมาวางนอกตู้เย็นให้หายเย็นก่อน หากรีบให้แช่ในน้ำอุ่น ห้ามต้มหรือเข้าไมโครเวฟ เพราะจะเสียภูมิต้านทานในนมแม่ไป

ส่วนนมแช่แข็ง ให้ย้ายมาอยู่ตู้ธรรมดา 1 คืน พอละลายแล้วนำไปอุ่นใช้ได้ปกติและนมที่อุ่นแล้ว ห้ามนำไปแช่เย็นเพื่อเก็บไว้ใช้ใหม่ หากกินไม่หมดต้องทิ้งไป

มีบางกรณีที่ตู้เย็นอาจปิดไม่สนิท หรือไฟดับ ทำให้มีปัญหานมละลาย แต่ยังมีความเย็นอยู่ ทันทีที่ทราบให้รีบเสียบปลั๊กกลับไปทำให้แข็งเหมือนเดิม แต่ถ้านมสูญเสียความเย็นไปแล้วโดยสิ้นเชิงต้องทิ้งไปเลย กรณีที่นมแข็งครั้งใหม่นี้ อายุของนมที่เก็บจะไม่นานเท่าเดิม หากจะใช้นมจะต้องทำการชิมทุกครั้งว่าเปรี้ยวหรือไม่ ถ้าเปรี้ยวหรือไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรนำมาให้ลูกกิน ให้ทิ้งไปเลยเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว การจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ประสบความสำเร็จ ต้องใช้ความพยายามและกำลังใจอย่างสูง กำลังใจจากครอบครัว และคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อที่จะพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล

Scroll to Top