dyspepsia

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย พะอืดพะอม ร่วมกับอาการต่างๆ

อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นภาวะผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนต้น บริเวณรอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กส่วนต้น ภาวะนี้ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนทั่วไป อาหารไม่ย่อยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น พะอืดพะอม เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย แสบร้อนการอก แต่ละแบบมีวิธีแก้ไขที่แตกต่างกันไป รักษาตามอาการ

นอกจากนี้ อาการของอาหารไม่ย่อยยังสามารถเป็นร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น ดังนั้นการซักประวัติอย่างครอบคลุม เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุหลักของปัญหา และได้รับการรักษาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาภาวะนี้

สาเหตุของอาหารไม่ย่อย

  • รับประทานอาหารมากและเร็วเกินไป
  • ดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป
  • รับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด
  • สูบบุหรี่
  • ถุงน้ำดีอักเสบ
  • กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  • ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
  • แผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ
  • การรับประทานยาแอสไพริน
  • การใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • โรคแผลในกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อ
  • ไส้เลื่อนที่กระบังลม

อาการของอาหารไม่ย่อย

อาการทั่วไปที่พบได้

อาการร่วมอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงโรคที่มีความรุนแรง

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการปวดท้องมากผิดปกติ
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป และไม่เคยมีอาการอาหารไม่ย่อยมาก่อน

อาการที่ควรพบแพทย์ทันที

  • อาเจียนมีเลือดปน หรือมีเลือดสีเหมือนกาแฟ
  • อาเจียนเป็นเลือดสด

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้พะอืดพะอม

หากอาการจุกเสียดแน่นท้อง มาพร้อมกับอาการพะอืดพะอมคลื่นไส้ โดยไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย ให้สงสัยว่า ปัญหาหลักอาจเกิดจากกระเพาะอาหาร

ถ้าอาการเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อาจเกิดจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือรับประทานอาหารปริมาณมากและเร็วเกินไป ทำให้กระเพาะย่อยไม่ทัน แต่หากมีอาการบ่อยๆ สาเหตุอาจเกิดจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบก็ได้

การรักษาอาหารไม่ย่อยร่วมกับมีอาการคลื่นไส้พะอืดพะอม

  • รับประทานยาลดกรดกลุ่ม PPIs (Proton pump inhibitor) หรือเอชทูบล็อกเกอร์ H2 blocker เพื่อยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
  • หากเป็นกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดกรดด้วย ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการรักษา

การป้องกันอาหารไม่ย่อยร่วมกับมีอาการคลื่นไส้พะอืดพะอม

  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากหรือรวดเร็วเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรดในกระเพาะมากเกินไป

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย ร่วมกับมีอาการท้องเสีย

หากมีอาการอาหารไม่ย่อยพร้อมด้วยอาการท้องร่วง ถ่ายเหลววันละหลายๆ ครั้ง บางครั้งถ่ายมีมูกเลือดปนและปวดท้องบิดรุนแรง มักเกิดจากลำไส้อักเสบและโรคบิด ซึ่งสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ และโปรโตซัว ที่ปนเปื้อนมากับอาหาร

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมา คือ ภาวะร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ รวมถึงอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารด้วย

การรักษา

  • เน้นป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ โดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
  • หากสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ หรือให้ยาทางเส้นเลือด เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก อาหารรสจัด นมวัว เครื่องดื่มคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อาหารเก่าค้างคืน และอาหารสุกๆ ดิบๆ

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย ร่วมกับมีอาการแสบร้อนกลางอก

สาเหตุของอาการจุกเสียดแน่นท้องและแสบร้อนกลางอก มักมาจากโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างผิดปกติ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นมายังหลอดอาหารได้ ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ เรอบ่อย และรู้สึกถึงรสเปรี้ยวๆ ในปากด้วย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนมีมากมาย เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารมากเกินไป นอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ และภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน เป็นต้น

การรักษา

  • ยาลดกรด หรือยายับยั้งการหลั่งกรด ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต และการควบคุมน้ำหนัก

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการนอนทันที หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ
  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย ร่วมกับมีภาวะดีซ่าน

ภาวะดีซ่าน คือ ภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดจากความผิดปกติของตับและท่อน้ำดี ตับทำหน้าที่ผลิตน้ำดีที่เป็นตัวช่วยให้ไขมันจากอาหารแตกตัวในกระบวนการย่อย

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ โรคพยาธิใบไม้ตับ นิ่วในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน และมะเร็งท่อน้ำดี มักมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ร่วมกับมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองด้วย

การรักษา

โรคเกี่ยวตับและท่อน้ำดีนั้นมีหลายโรค ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างกัน ดังนั้น การรักษาจึงแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความผิดปกตินั้นๆ เช่น

  • หากเป็นตับอักเสบจากไวรัส จะให้ยาต้านไวรัส
  • ถ้าเป็นตับอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ ก็อาจให้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อยับยั้งการอักเสบ
  • มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี จะรักษาด้วยวิธีฉายรังสีและเคมีบำบัด

การป้องกัน

  • งดดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันภาวะตับอักเสบจากพิษแอลกอฮอล์
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ และนิ่วในถุงน้ำดี
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาน้ำจืดเกล็ดขาวดิบๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย ร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ

สาเหตุหลักของอาหารไม่ย่อยที่มาพร้อมกับอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ นั้นเกิดจากความเครียด เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด การบีบตัวของอวัยวะในทางเดินอาหารและการหลั่งน้ำย่อยจะผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง จุกเสียด และเบื่ออาหารด้วย

การรักษา

  • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง นอนหลับ นั่งสมาธิ สวดมนต์ เป็นต้น
  • หากมีภาวะเครียดเรื้อรัง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิตได้
  • ใช้ยารักษา เช่น ยาเบตาบล็อกเกอร์ (Beta-blocker) ที่ช่วยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวกับความเครียด และยาไดอะซีแพม (Diazepam) ซึ่งเป็นยาคลายความเครียด แต่การรับประทานยาคลายเครียดต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

การป้องกัน

  • หากิจกรรมทำยามว่างที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ หรือออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คน
  • หากทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียดบ่อยๆ หรือผ่านเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ ควรพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา เพื่อป้องกันภาวะเครียดเรื้อรังซึ่งจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า

วิธีแก้อาหารไม่ย่อย ปวดท้องรุนแรง และเบื่ออาหาร

อาการปวดจุกเสียดท้องรอบๆ สะดือและท้องน้อยด้านขวาเป็นพักๆ หรือปวดตลอดเวลา ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ และมีไข้ เป็นอาการที่เด่นชัดของภาวะไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งหากเกิดไส้ติ่งแตกก่อนพบแพทย์ อาการปวดท้องจะยิ่งรุนแรง พร้อมทั้งมีไข้สูง ร้ายแรงที่สุด คือ เสียชีวิต

การรักษา

หากมีภาวะไส้ติ่งอักเสบ ควรรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นการผ่าแบบเปิดหน้าท้องหรือแบบส่องกล้องก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ

การป้องกัน

ไส้ติ่งอักเสบมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงไม่สามารถหาวิธีป้องกันได้ แต่หากมีอาการดังที่กล่าวข้างต้นก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะไส้ติ่งแตก และการติดเชื้อจากการอักเสบ

สรุป 

อาการอาหารไม่ย่อยสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เมื่อเกิดแล้วมักส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น และยังสามารถเกิดร่วมกับภาวะ หรือโรคอื่นๆได้ด้วย ดังนั้น การรักษาและการป้องกันที่ดีที่สุด คือการปรับพฤติกรรมต่างๆ ร่วมกับการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอถ้าจำเป็น เพื่อผลการรักษาที่ดี และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้อย่างยั่งยืน


บทความที่เกี่ยวข้อง


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top