ไตวายเรื้อรังเป็นโรคเรื้อรังที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็เป็นโรคไตไปเสียแล้ว มารู้จักและทำความเข้าใจโรคไตวายเรื้อรังไปพร้อม
สารบัญ
ไตวายเรื้อรัง เป็นอย่างไร
โรคไตเรื้อรังหรือภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease: CKD) เป็นภาวะไตเสื่อมลงช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง นานเกิน 3 เดือนขึ้นไป นานเป็นเดือนไปจนถึงหลายปี ทำให้ไตมีขนาดเล็กลง ทำงานไม่ได้ตามปกติ เมื่อปล่อยไว้ไม่รักษาจะทำให้ไตเสื่อมจนเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย
ความรุนแรงของโรคแบ่งได้เป็น 5 ระยะ ตามตามอัตราการกรองของไต เรียกตัวย่อว่า eGFR (Estimated glomerular filtration rate) คือ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที (มล./นาที/1.73 ตร.ม.) ซึ่งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีค่า eGFR ผิดปกติหรือไม่ก็ได้
- ระยะที่ 1 ค่า eGER ตั้งแต่ 90 ขึ้นไป หมายถึง ไตปกติ
- ระยะที่ 2 ค่า eGER ระหว่าง 60–90 หมายถึง ไตทำงานลดลงเล็กน้อย
- ระยะที่ 3a ค่า eGER ระหว่าง 45–59 หมายถึง ไตทำงานลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
- ระยะที่ 3b ค่า eGER ระหว่าง 30–44 หมายถึง ไตทำงานลดลงปานกลางถึงมาก
- ระยะที่ 4 ค่า eGER ระหว่าง 15–29 หมายถึง ไตทำงานลดลงมาก
- ระยะที่ 5 ค่า eGER น้อยกว่า 15 หมายถึง ไตวายระยะสุดท้าย
อาการไตวายเรื้อรัง สังเกตอย่างไร
ปกติแล้ว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในช่วงแรก ๆ มักไม่มีอาการ หรือมีเพียงแค่เล็กน้อย บางคนอาจตรวจเจอจากการไปตรวจรักษาโรคอื่น หรือตรวจสุขภาพประจำปี เพราะจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมารับการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ
เมื่อการทำงานของไตลดลง อาการของโรคจะเริ่มแสดงออกมา โดยสัญญาณเตือนไตวายเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่
- ปัสสาวะผิดปกติไป เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะน้อยตอนกลางวัน ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติตอนกลางคืน
- บวมตามร่างกาย เมื่อกดลงไปแล้วเป็นรอยบุ๋ม เช่น ใบหน้าบวม หนังตาและตาบวม แขนบวม ขาบวม
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ นอนราบไม่ได้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร ขมปากขมคอ ปากไม่รับรส
- คันตามตัว ผิวหนังซีด ผิวแห้ง มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
- เป็นตะคริวตอนกลางคืน
- ปวดหลังหรือบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่ง
- น้ำหนักลด หรือน้ำหนักขึ้น แล้วแต่ราย
- ความดันโลหิตสูง
- มีภาวะโลหิตจาง
เมื่อสังเกตถึงความผิดปกติในข้อใดข้อหนึ่ง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุ
สาเหตุของไตวายเรื้อรัง เกิดจากอะไร
ไตวายเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังนี้
โรคทางพันธุกรรม อาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือค่อย ๆ แสดงอาการภายหลังก็ได้ เช่น โรคถุงน้ำที่ไตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยจะเกิดถุงน้ำหรือซีสต์จำนวนมาก พอขยายใหญ่จะไปเบียดเนื้อไตปกติจนเกิดความเสียหาย
โรคที่มีผลกระทบกับไต หรือทำให้ไตอีกเสบ เช่น
- โรคเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่ไตและเนื้อไต มักจะเกิดหลังจากเป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป
- โรคความดันโลหิตสูง เมื่อความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนัก เส้นเลือดทั่วร่างกายเสื่อม รวมถึงเส้นเลือดที่ไตด้วย
- โรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรคลูปัส (SLE) เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดการอักเสบ ทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
- โรคนิ่วในไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ไตเป็นส่วนหนึ่งของระบบปัสสาวะ เมื่อเกิดการอุดตันจากนิ่วจะกระทบต่อการทำงานของไต
- โรคอ้วน ทำให้ไตทำงานหนักในการกรองของเสีย เร่งให้ไตเสื่อมไว และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคไตวายเรื้อรังอีกด้วย
การกินอาหารรสจัด รสจัดในที่นี้ ไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม รวมไปถึงหวานจัด มันจัด หรือเผ็ดจัด ล้วนทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดหรือสารบางตัว เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการทำงานไตในระยะยาว เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ รวมถึงยาจีน ยาแผนโบราณ อาหารเสริม และสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งอาจมีแร่ธาตุหรือสารเคมีตัวสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายกับไต
การสูบบุหรี่ จะทำให้ความดันโลหิตผิดปกติ ส่งผลต่อระบบหลอดเลือดทั้งร่างกายรวมทั้งที่ไต ทำให้ไตได้รับความเสียหาย
รู้ได้อย่างไรว่าไตวายเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรคไตวายเรื้อรังมักจะใช้การตรวจต่อไปนี้
- การตรวจเลือดดูค่าไตจะช่วยประเมินการทำงานของไต (Glomerular filtration rate: GFR) ส่วนมากจะวัดจากปริมาณไนโตรเจน (Blood nitrogen urea: BUN) และครีเอตินิน (Creatinine: Cr) ซึ่งเป็นของเสียที่ตกค้างอยู่ในเลือด จะมีปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐาน
- การตรวจปัสสาวะ ถ้าไตมีความผิดปกติ มีการทำงานบกพร่อง จะตรวจพบโปรตีนอัลบูมิน (หรือโปรตีนรั่ว) และเม็ดเลือดแดงปนอยู่ในปัสสาวะ
- การตรวจอัลตราซาวด์ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) กรณีพบความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุที่กระทบต่อการทำงานของไต เช่น เนื้องอก นิ่ว หรือก้อนเนื้อ โดยอาจเกิดที่ไตหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพไต
ไตวายเรื้อรังรักษาอย่างไร เป็นแล้วหายไหม
การรักษาไตวายเรื้อรังจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิด ระยะของโรค และโรคที่เป็นอยู่ตอนนั้น
การรักษาต้นเหตุและชะลอการเสื่อมของไต
กรณีพบโรคหรือสาเหตุที่ทำให้ไตวายเรื้อรัง แพทย์จะรักษาสาเหตุที่ทำได้ก่อน และหาทางชะลอความเสื่อมของไต เช่น
- ควบคุมโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวที่กระทบต่อการทำงานของไต จะต้องควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อไต โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่เป็นสาเหตุหลักนำไปสู่ไตวายเรื้อรัง
- ควบคุมอาหาร เมื่อไตทำงานบกพร่อง ทำให้การกำจัดของเสียออกจากร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องคุมอาหาร เพื่อลดการทำงานของไตลง เช่น ไม่กินอาหารรสจัด กินโปรตีนพอเหมาะ กินปริมาณพอดี ไม่มากเกินไป จำกัดปริมาณโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส
- รักษาด้วยยา แพทย์อาจให้ใช้ยาช่วยควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดน้ำตาลในเลือด ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ใช่ยาหรือสารต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น
การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต
เมื่อเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ทำให้ไตไม่สามารถทำงานเองได้ เกิดของเสียคั่งในร่างกาย ถ้าไม่ได้รักษาจะส่งผลให้ระบบในร่างกายผิดปกติและเสียชีวิต จึงต้องอาศัย การบำบัดทดแทนไต หรือการบวนการรักษาที่เข้ามาทำหน้าที่แทนไต มีอยู่ 3 ทางเลือก ได้แก่
- ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดออกจากร่างกายไปกรองผ่านเครื่องไตเทียม ทำให้เลือดสะอาด ปรับสมดุลแร่ธาตุและน้ำให้สมดุล ก่อนส่งกลับเข้าสู่ร่างกาย โดยระยะเวลาการฟอกเลือดอยู่ที่ 4–5 ชั่วโมงต่อครั้ง และต้องทำสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง
- ล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) เป็นการใช้เยื่อบุช่องท้องของเราเองในการกรองของเสียในเลือด โดยใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องผ่านสายที่ฝังไว้ถาวร เมื่อครบกำหนดเวลา จะปล่อยน้ำยาล้างไตที่มีแต่ของเสียทิ้ง แล้วใส่น้ำยาใหม่เข้าไปแทนที่ โดยต้องทำต่อเนื่องกันทุกวัน วันละ 4–6 รอบ
- ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นการนำไตที่ยังทำงานได้ดีจากผู้บริจาค มาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยไม่จำเป็นต้องนำไตเก่าออก ทำให้ไตทำงานได้ใกล้เคียงกับไตปกติ แต่ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้ร่างกายปฏิเสธไตที่ปลูกถ่ายใหม่
ไตวายเรื้อรังป้องกันได้
ไตวายเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุสามารถป้องกันได้เมื่อดูแลและรักษาแต่เนิ่น ๆ คือ การควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
รวมถึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดโรคหรือทำให้ไตทำงานหนัก เช่น
- ดูแลน้ำหนักให้เหมาะสม โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลายชนิด รวมถึงโรคไต การลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยง
- ไม่กินอาหารรสเค็มจัด กินอาหารให้ถูกหลัก เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ของทอด ไขมันสูง เพิ่มการกินผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 8–10 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยให้ไตขับของเสียได้ตามปกติ
- ไม่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาชุด ยาหม้อ และไม่ซื้อยาที่โฆษณาว่าเป็น “ยาบำรุงไต” มากิน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ สารนิโคตินและแอลกอฮอล์จะเข้าไปทำลายไต
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยควบคุมความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัว
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด เพื่อเช็กสุขภาพไตและตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย
ไตมีเพียงคู่เดียว อย่าลืมเช็กสุขภาพไตเป็นประจำ HDmall.co.th คัดสรร โปรตรวจสุขภาพไต เลือกตรวจที่รพ. และคลินิกใกล้บ้านคุณ เช็กราคา และจองโปรราคาพิเศษก่อน พร้อมค่อยใช้