ผิวแพ้ง่าย ผิวแพ้ง่ายมาก เกิดจากอะไร

ผิวแพ้ง่าย ผิวแพ้ง่ายมาก เกิดจากอะไร

ผิวแพ้ง่าย เป็นปัญหาของหลายๆ คน โดยมักมีประวัติใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแล้วรู้สึกแสบ แดง คัน ที่ผิว หรือบางทีอาจไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์อะไร แต่โดนฝุ่นละอองหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกบางอย่าง ก็มีอาการผื่นผิวหนังเกิดขึ้นได้

อาการผิวแพ้ง่ายมีหลากหลาย ตั้งแต่เป็นผื่นปื้นแดง ผิวแห้ง เป็นขุย ตุ่ม หรือกระทั่งตุ่มหนอง และทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคผิวหนังได้หลายชนิด เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหน้าแดง

ชนิดของผิวแพ้ง่าย

โดยทั่วไป แพทย์ผิวหนังแบ่งชนิดของผิวแพ้ง่ายออกเป็น 4 ชนิดหลักๆ ได้แก่

ชนิดที่ 1 ผิวแพ้ง่ายชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดสิว (Acne type) คือ ผิวที่มักเกิดสิวได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสิวอุดตัน สิวหัวแดง สิวหัวหนอง หรือสิวที่เป็นซีสต์

ชนิดที่ 2 ผิวแพ้ง่ายชนิดหน้าแดง (Rosacea type) ผิวจะเกิดอาการแดงได้ง่ายจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ รวมทั้งความร้อน

ชนิดที่ 3 ผิวแพ้ง่ายชนิดแสบระคาย (Stinging type) ผิวจะเกิดอาการแสบระคายเคือง หรือรู้สึกคล้ายผิวไหม้ได้ง่าย

ชนิดที่ 4 ผิวแพ้ง่ายชนิดภูมิแพ้ (Allergic type) ผิวจะแดง คัน หรือเป็นขุยได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้นภายนอก

ผิวแพ้ง่าย เป็นเพราะอะไร สาเหตุคืออะไร?

ผิวแพ้ง่ายเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

1. โรคผิวหนังบางชนิดที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้

โดยอาจเป็นภูมิแพ้ภายใน เช่น เซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) หรือเกิดจากการแพ้สัมผัสจากภายนอกโดยตรง เช่น Allergic contact dermatitis หรือโรคหน้าแดง (Rosacea)

2. ผิวแห้ง หรือเกิดการบาดเจ็บบางอย่างต่อผิวหนัง

ทำให้ผิวหนังมีความผิดปกติในการทำหน้าที่ปกป้อง เกิดปฏิกิริยาแพ้ขึ้น

3. ผิวถูกปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้นหรือทำลายอย่างต่อเนื่องหรือปริมาณมาก

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เช่น แสงแดด ลม ความร้อนความเย็นที่มากเกินไป ฝุ่นละออง

นอกจากนี้อาจมีปัจจัยอื่นๆ มีส่วนบ้างเช่น กรรมพันธ์ เพศ อายุ เชื้อชาติ

ดังนั้นการจะบอกถึงสาเหตุของผิวแพ้ง่ายในแต่ละราย อาจต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือทดสอบผิวหนังบางอย่าง (Patch testing) เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดผิวแพ้ง่ายในกรณีที่สงสัยและจำเป็น

ผิวแพ้ง่ายมาก เป็นผด เป็นผื่นคัน ควรทำอย่างไร?

เนื่องจากผิวแพ้ง่ายเกิดได้จากหลายสาเหตุ เมื่อมีอาการจึงควรรับการตรวจจากแพทย์ผิวหนังโดยตรง เพื่อการวินิจฉัยและกำหนดแนวทางการรักษาต่อไป

แพทย์อาจให้ยาทาลดการอักเสบ หากประเมินว่าเกิดจากผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ และมักต้องอาศัยการดูแลบำรุงผิวอย่างถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ

ถ้าผิวแพ้ง่าย ควรใช้สบู่ ครีม หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวอย่างไรดี?

คนผิวแพ้ง่าย ควรเลือกผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง ดังนี้

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม เนื่องจากจะผสมน้ำหอมในปริมาณที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ ควรใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่ายโดยตรง และยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการขัดถูใบหน้า

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรต้องใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเนื่องจากจะช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ลดความแห้งกร้าน และทำให้ผิวทำหน้าที่ปกป้องได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะครีมที่มีส่วนผสมของเซราไมด์

โดยทั่วไป ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผิวมักมีส่วนประกอบไม่มากนัก และมีน้ำหอมผสมในปริมาณน้อย หรือปราศจากน้ำหอมเลย

หากผิวแห้งในหน้าหนาวควรบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม มิเนอรัลออยล์ กรดไลโนเลอิก เซราไมด์ ไดเมทิโคน หรือกลีเซอรีน ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด หรือใช้น้ำอุ่นจัดในการทำความสะอาดผิวหน้า

หลังจากอาบน้ำ หรือล้างทำความสะอาดแล้ว ให้ทาครีมบำรุงผิวทันที

นอกจากนี้คนที่มีผิวแพ้ง่ายยังควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สารฆ่าเขื้อแบคทีเรีย น้ำหอม หรือยาทาบางประเภทที่อาจระคายเคืองต่อผิว เช่น ยาที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ (Retinoids) กรดผลไม้ (Alpha-hydroxy acids: AHA) หรือยาที่อาจระคายเคืองต่อผิวชนิดอื่นๆ

แม้ผลิตภัณฑ์จะเขียนว่าเป็น “Hypoallergenic” หรือไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็ตาม แต่ก็อาจยังทำให้แพ้ได้อยู่ ดังนั้นหากใช้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นกัน

ครีมกันแดด

ในคนที่มีผิวแพ้ง่าย บางครั้งอาจมีปฏิกิริยาการแพ้ต่อสารในครีมกันแดดบางอย่าง ซึ่งมักเป็นครีมกันแดดประเภทเคมี (Chemical sunscreen) จึงแนะนำว่า อาจใช้ครีมกันแดดประเภทฟิสิคอล (Physical sunscreen) แทน

เนื่องจากครีมกันแดดประเภทฟิสิคอลจะทำให้เกิดการสะท้อนของรังสียูวีออกไป โดยไม่ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง ครีมกันแดดประเภทนี้ยังมักมีส่วนประกอบเป็นซิงก์ออกไซด์ (Zinc oxide) หรือไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) เท่านั้น

ควรใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด และอาจนำมาซึ่งผื่นแพ้ที่เกี่ยวข้องกับแสงแดด

เครื่องสำอาง

ในคนที่มีผิวแพ้ง่าย มีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องสำอางจาก American Academy of Dermatology คร่าวๆดังนี้

  • ในการเลือกแป้ง ควรเลือกที่มีสารกันเสียปริมาณน้อย เพื่อลดโอกาสการเกิดปฏิกิริยาระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ใช้รองพื้นที่มีการใช้เบสเป็นซิลิโคน (Silicone-based foundation) เพื่อลดโอกาสการเกิดปฏิกิริยาระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ไม่ควรใช้เครื่องสำอางที่กันน้ำ (Waterproof cosmetics) เนื่องจากอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะในการล้างเครื่องสำอางออก
  • ในการเลือกที่เขียนขอบตา (Eyeliner) หรือที่ปัดขนตา (Mascara) ควรเลือกสีดำ เนื่องจากมีโอกาสแพ้น้อยที่สุดเทียบกับสีอื่นๆ
  • เลือกที่เขียนขอบตา หรือที่เขียนคิ้วที่เป็นแบบดินสอ เนื่องจากผลิตภัณ์ที่เป็นแบบน้ำอาจมีสารประเภทลาเท็กซ์ (Latex) ผสมอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อผิวหนังได้
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางที่เก็บไว้เป็นเวลานาน หรือใกล้หมดอายุ เนื่องจากอาจเกิดการเปลี่ยนสภาพ หรือมีสารปลอมปนและทำให้เกิดการแพ้ได้

ทั้งนี้ในการจะเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ใดๆ กับผิวหนัง ในผู้ที่มีปัญหาผิวแพ้ง่ายควรปฏิบัติดังนี้

  • ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กับผิวหนังในบริเวณที่ต้องการ ควรทำการทดสอบในปริมาณน้อยๆ ที่บริเวณหลังหู หรือท้องแขน โดยทาทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออก ทำเช่นนี้หลายๆ วันติดกัน
  • หากไม่พบอาการระคายเคือง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับหน้า อาจทำการทดสอบเช่นเดิมซ้ำที่ใบหน้าในบริเวณที่บอบบางมากขึ้น โดยเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน
  • หากไม่พบอาการระคายเคืองจึงเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์บนผิวในบริเวณที่ต้องการต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิวแพ้ง่าย ผดผื่นแดง ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อการใช้ยาทาลดการอักเสบที่เหมาะสมกับสภาพผิวของคุณต่อไป และหากมีอาการคันมากสามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการร่วมด้วยได้

ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ช่วยให้ปัญหาผิวหนังของคุณกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ที่อาจยังไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ถึงคลินิก หรือโรงพยาบาล


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ


ที่มาของข้อมูล

  • Stephanie S. Gardner, MD, 20 Common Questions About Sensitive Skin (https://www.webmd.com/beauty/sensitive-skin-20-questions#1), 1 June 2018.
  • DERMSTORE EDITORS, 10 Signs You Have Sensitive Skin in https://www.dermstore.com/blog/signs-of-sensitive-skin-symptoms/, 28 July 2016. Bolognia, JL., Jorizzo, JJ., Schaffer, JV., Callen, JP., Cerroni, L., Heymann, WR., Schwarz, T. (2012). Dermatology, 3rd edition. London: Elsevier.
  • Sewon Kang, Masayuki Amagai, Anna L. Bruckner, Alexander H. Enk, David J. Margolis, Amy J. McMichael, Jeffrey S. Orringer, Fitzpatrick’s Dermatology, 9th edition, McGraw-Hill Education, 2019.
Scroll to Top