ไขความเข้าใจ สบู่ผิวขาวคืออะไร scaled

ไขความเข้าใจ สบู่ผิวขาวคืออะไร

สบู่เพื่อผิวขาวกระจ่างใส เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากในยุคนี้ ราคาของผลิตภัณฑ์มีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักหลายร้อยบาทเลยทีเดียว แต่เมื่อใช้แล้วจะช่วยให้ผิวขาวได้จริงหรือไม่ มีสารอะไรในสบู่ที่ช่วยปรับสีผิว

บางคนผิวคล้ำ บางคนผิวขาว เกิดจากอะไร?

ก่อนที่จะทราบว่า สบู่ผิวขาวใช้แล้วจะได้ผลจริงหรือไม่ ควรทำความเข้าใจเรื่องกลไกการเกิดสีผิวเสียก่อน

สีผิวของคนเราต่างกัน มีที่มาจาก “เม็ดสีผิว” หรือเมลานิน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในผิวชั้นหนังกำพร้า อยู่ภายในเมลาโนไซต์หรือเซลล์ผิว หากถูกแสงแดดกระตุ้น เม็ดสีผิวก็จะเข้มขึ้น

เมลานินในผิวหนังของแต่ละคนจะมี 2 ชนิด ได้แก่

  1. ยูเมลานิน (Eumelanin) มีสีดำหรือน้ำตาล
  2. ฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) มีสีแดง ชมพู

ในแต่ละคนจะมีสัดส่วนเมลานินทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกัน ทำให้มีสีผิวแตกต่างกันนั่นเอง

นอกจากนี้ในผิวหนังยังมีเอนไซม์หลักที่เรียกว่า ไทโรซิเนส (Tyrosinase) หากเอนไซม์นี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้ผิวหนังผิดปกติ เกิดเป็นจุดด่างดำ รอยฝ้า และกระขึ้นได้

ปัจจัยที่มีผลต่อสีผิว

ปัจจัยที่มีผลต่อสีผิว มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

ปัจจัยภายใน ได้แก่ พันธุกรรม เชื้อชาติ และอายุ ส่วนนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด ฝุ่นควัน มลภาวะ เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ รวมถึงการผลัดเซลล์ผิวส่วนที่หมองคล้ำออก ก็ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้นได้เช่นกัน โดยในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ที่เรียกกันว่า “สบู่ผิวขาว” เป็นทางเลือกน่าสนใจ

ส่วนผสมของสบู่ผิวขาว

ในสบู่ผิวขาวที่วางขายกันนั้น มักมีสารต่าง 3 กลุ่มนี้เป็นส่วนผสม

  1. สารทำให้ผิวขาว (Whitening agents) ส่วนใหญ่มีผลต่อการผลิตเม็ดสีเมลานิน ลดการสร้างเม็ดสีผิว และเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น อาร์บูติน สารสกัดจากชะเอม กรดโคจิก วิตามินอี(Tocopherol) วิตามินซี (Ascorbic acid)สารเหล่านี้สามารถผสมในเครื่องสำอางได้ จะจัดอยู่ในกลุ่มของเวชสำอาง เนื่องจากก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและมีผลข้างเคียงน้อย
  2. สารเร่งการผลัดเซลล์ผิว (Keratolytic agents) เป็นสารที่มีผลต่อผิวหนังชั้นหนังกำพร้า โดยจะผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดออกไป ทำให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น ช่วยลดการอุดตันรูขุมขน ทำให้ผิวดูอ่อนกว่าวัย ตัวอย่างสารที่มีฤทธิ์นี้ เช่น เอเอชเอ (AHA) กรดจากผลไม้ กรดจากสารสกัดมะขาม(Tartaric acid)สารเหล่านี้ค่อนข้างปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย แต่อาจทำให้เกิดอาการแสบผิวหนังเนื่องจากกรดได้บ้างนอกจากนี้ยังมีสครับจากเม็ดบีสต์ สครับกาแฟ ใยบวบ และเกลือสปาต่างๆ ซึ่งมีข้อดีเรื่องความปลอดภัย แต่ใช้กลไกการขัด เพื่อขจัดผิวชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ออกไป อาจทำให้ผิวบางและระคายเคืองได้ง่าย
  3. สารฟอกสี (Blenching agents) ส่วนใหญ่เป็นสารที่มีผลต่อผิวชั้นนอกสุด (Epidermis) และเม็ดสีเมลานิน เช่น ปรอทแอมโมเนีย สเตียรอยด์ ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอและฟีนอล เป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอางและสบู่ เนื่องจากก่อให้เกิดอาการระคายเคือง และมีผลข้างเคียงที่รุนแรง

สารฟอกสีในสบู่ผิวขาว อันตรายอย่างไร?

สารฟอกสีในสบู่ผิวขาว มีอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้

  • ปรอทแอมโมเนีย (Ammoniated mercury) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase-เอนไซม์สำคัญในการสร้างเม็ดสีผิว) ให้ทำงานน้อยลง ส่งผลให้สีผิวดูกระจ่างใสขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แต่มีผลทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวบางได้ เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานจะเกิดการสะสมของปรอท และดูดซึมเข้าสู่กระเเสเลือด กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมองและไต ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ
  • สเตียรอยด์ (Steroid) ออกฤทธิ์โดยควบคุมการสังเคราะห์โปรตีน โดยจะยับยั้งเซลล์ การสร้าง และการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จึงมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดอาการคัน ลดสิว และมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ในเครื่องสำอางเช่นครีมและสบู่ผิวขาวมักจะผสมสารนี้ เนื่องจากใช้แล้วเห็นผลเร็ว แต่หากใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ผิวบาง ผิวแดง เห็นเส้นเลือด ติดเชื้อราหรือแบคทีเรียได้ง่าย หากใช้ปริมาณมาก จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง กดภูมิคุ้มกัน และกดการทำงานของไต
  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ออกฤธิ์โดยลดการสร้างเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนังชั่วคราว แต่ไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี ทำให้ผิวขาวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางการแพทย์จะใช้เพื่อการรักษาฝ้า กระ แต่การใช้สารนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือใช้ความเข้มข้นสูงแล้วหยุดใช้กระทันหัน จะทำให้เกิดฝ้าถาวรได้
  • กรดวิตามินเอ (Retinoid Tretinoin หรือ Adapalene) ออกฤทธิ์โดยลดการอุดตันของรูขุมขน เร่งการแบ่งตัวของเซลล์หนังกำพร้า ทำให้สิวอุดตันหายไป และลดการอักเสบของผิว แต่หากใช้สารในกลุ่มนี้ต้องระวังอาการผิวอักเสบ แดง ผิวแห้งสารนี้มีข้อห้ามใช้ในขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะทำให้เกิดอันตรายต่อทารก

ยังมีสารอื่นๆ ที่มักเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ช่วยปรับสีผิว หรือในสบู่ผิวขาว ได้แก่

  • คอลลาเจน (Collagen) คอลลาเจนคือโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบหลักเป็นกรดอะมิโน พบได้ในเนื้อปลา เนื้อสัตว์ กระดูก และกระดูกอ่อนของสัตว์นอกจากนี้ยังพบได้มากในผิวหนังของคน มีหน้าที่ความเต่งตึงของผิวหนัง ลดรอยเหี่ยวย่น ผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อมักมีส่วนผสมของคอลลาเจน มีคำโฆษณาว่าจะช่วยให้ผิวเต่งตึง กระจ่างใส ความจริงแล้ว คอลลาเจนเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยสลายได้ง่ายมากโดยน้ำย่อย และดูดซึมได้ยาก เนื่องจากมีโมเลกุลขนาดใหญ่ แต่อาจดูดซึมได้บ้างหากเป็นคอลลาเจนที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก ดังนั้นการรับประทานจึงยังเห็นผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจนนัก ส่วนผลิตภัณฑ์ผสมคอลลาเจนที่ใช้ภายนอก เช่น ครีม โลชั่น หรือแม้แต่สบู่ผิวขาว คอลลาเจนในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่สามารถซึมผ่านผิว ช่วยได้แค่บำรุงผิวชั้นหนังกำพร้าให้มีความชุ่มชื้นขึ้น และไม่ได้มีส่วนช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นแต่อย่างใด
  • กลูตาไธโอน (Glutathione) กลูตาไธโอนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถสังเคราะห์ได้เองภายในร่างกาย ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสารพิษ และช่วยตับในการขจัดสารพิษ จุดเริ่มต้นของการนำกลูตาไธโอนมาใช้เพื่อผิวขาว เกิดจากการนำสารนี้มาทดลองใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งการรักษาจะต้องฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำ ทำให้พบพบผลข้างเคียงคือสีผิวของผู้ป่วยขาวขึ้น เนื่องจากกลูตาไธโอนสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ส่งผลให้เม็ดสีผิวเปลี่ยนจากสีน้ำตาลดำเป็นสีที่ขาวขึ้น แต่คุณสมบัติเปลี่ยนสีผิวนี้ผู้ใช้จะต้องได้รับกลูตาไธโอนโดยการฉีดผ่านหลอดเลือดดำเท่านั้น การรับประทาน หรือการใช้ภายนอก ไม่สามารถทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีได้เช่นเดียวกันกับคอลลาเจน

กลูตาไธโอนมีผลข้างเคียงหรือไม่?

การใช้กลูตาไธโอนต้องใช้ในรูปแบบฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดำเท่านั้น เนื่องจากตัวยาไม่คงตัวในกระแสเลือด การฉีดเพื่อหวังผลให้ผิวขาวแพทย์มักฉีดร่วมกับวิตามินซี และใช้ในความเข้มข้นสูงเนื่องจากตัวยาไม่คงตัวดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หายใจติดขัด หลอดลมตีบ มีอันตรายถึงชีวิตไ้ด้ การฉีดกลูตาไธโอนนานๆจะส่งผลให้เม็ดสีเมลานินลดลงทั้งที่ผิวหนังและจอประสาทตา จึงเสี่ยงต่อการมองเห็นภาพในอนาคตหรือเกิดอาการตาบอดขึ้นได้นั่นเอง

ใช้สบู่แล้วผิวขาวด่วนภายใน 7 วัน เป็นไปได้หรือไม่?

การที่ผิวคนเราจะสามารถเปลี่ยนสีอย่างรวดเร็วภายใน 7 วัน สามารถเป็นไปได้ ด้วยกระบวนการหลายขั้นตอน ได้แก่ การลอกเซลล์ที่ตายแล้วที่ชั้นหนังกำพร้าด้วยการขัด ถู หรือสครับ จากนั้นบำรุงผิวด้วยมอยซ์เจอไรเซอร์ผสมสารทำให้ผิวขาว (Whitening) ให้ผิวชุ่มชื้น พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวสัมผัสแสงแดด หรือหากต้องโดนแดด ควรทาครีมกันแดดก่อน 30 นาทีเพื่อเป็นเกราะป้องกันผิว และควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพในการปกป้องผิวได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามการเร่งให้ผิวดูขาวขึ้นอย่างเร่งด่วนอาจทำให้ผิวบาง ระคายเคือง และอักเสบได้

ทางที่ดีที่สุดคือการค่อยๆดูแลผิวจากภายใน เช่นการดื่มน้ำ รับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอ ซี อี ปริมาณสูง รวมถึงพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผิวได้พักผ่อนและฟื้นฟูสภาพอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงมลภาวะและสารพิษต่างๆ เช่นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ ควันพิษ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้ผิวหมองคล้ำ ผิวเสีย และเหี่ยวย่นไว

อย่างไรก็ตาม หากผิวเดิมไม่ใช่ผิวสีขาว ก็ไม่สามารถทำให้ขาวได้ เพียงแค่บำรุงให้หมองคล้ำน้อยลงได้เท่านั้น

ข้อแนะนำเมื่อใช้จะใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาว

หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือสบู่ผิวขาว ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  • ดูให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ควรมีฉลากที่มีข้อมูลและเลขที่จดแจ้งผลิตภัณฑ์ชัดเจน สามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ที่ http://www.fda.moph.go.th
  • สังเกตส่วนผสมในเครื่องสำอาง ว่าไม่มีสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ และสารประกอบของปรอท
  • สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ หากมีความผิดปกติควรหยุดใช้ทันทีและไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษา

คนทุกคนถูกกำหนดสีผิวโดยเม็ดสีเมลานิน พันธุกรรมของชาวไทยคือ ผิวสีแทน ผิวสองสี และอาจมีผิวขาวเหลืองบ้าง การใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ผิวขาว จะช่วยให้เรามีสีผิวขาวได้เท่ากับผิวส่วนที่ไม่โดนแสงแดดเท่านั้น หากใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วรู้สึกว่าผิวขาวขึ้นเร็วผิดปกติ ขาวภายใน 3-7 วัน พึงระวังส่วนผสมอันตรายที่อยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น


เขียนบทความโดย ทีมเภสัชกร HD


ที่มาของข้อมูล

  • Agnes E. Coutinho and Karen E. Chapman, The anti-inflammatory and immunosuppressive effects of glucocorticoids, recent developments and mechanistic insights,(https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3047790/), 15 มีนาคม 2011.
  • กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอาง พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558,(http://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/SitePages/Laws.aspx), 2558.
  • รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล, กลูตาไธโอน ตอนที่ 2 ยาฉีด ยากิน และยาทา,(https://www.pharmacy.mahidol.ac.th), 21 เมษายน 2556.
Scroll to Top