หลายคนอาจมองข้ามการตรวจสุขภาพไปด้วยหลายสาเหตุ บางคนกลัวเสียค่าใช้จ่าย บางคนคิดว่าร่างกายยังแข็งแรง แต่รู้หรือไม่ว่า การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาโรคร้าย แต่เป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมสุขภาพในแต่ละคน ค้นหาปัจจัยเสี่ยง และป้องกันโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
สารบัญ
- การตรวจสุขภาพประจำปี คืออะไร
- ทำไมควรตรวจสุขภาพประจำปี
- ก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
- ตรวจสุขภาพพื้นฐาน ต้องตรวจอะไรบ้าง
- วัดความดันโลหิต
- การตรวจระดับไขมันในเลือด
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
- การตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซี
- การตรวจตาทั่วไป
- การตรวจการได้ยินทั่วไป (Finger Rub Test)
- การตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
- การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
- การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย
- ตรวจสุขภาพประจำปี ต้องตรวจทุกปีไหม ตรวจบ่อยแค่ไหน
การตรวจสุขภาพประจำปี คืออะไร
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการตรวจสุขภาพร่างกายตอนที่ยังแข็งแรงดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ การไปโรงพยาบาลตอนเจ็บป่วยหรือไปตามนัด เพื่อติดตามโรคที่เป็นอยู่จะไม่นับเป็นการตรวจสุขภาพ จุดนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเมื่อไปโรงพยาบาลอยู่แล้ว ถ้ามีปัญหาสุขภาพก็ต้องตรวจเจอก่อน หรือร่างกายก็แข็งแรงดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพก็ได้ จริง ๆ แล้วการตรวจสุขภาพไม่ใช่แค่การเจาะเลือด แต่เป็นการตรวจดูสุขภาพร่างกายโดยรวม และตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมกับอายุและความเสี่ยงในแต่ละช่วงวัย
ทำไมควรตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพจะช่วยให้พบโรคในระยะแรกที่ไม่มีอาการหรืออาการของโรคยังน้อยอยู่ ทำให้รักษาได้ทันก่อนโรคลุกลามหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน บางโรคอาจรักษาให้หายได้ก่อน นอกจากนี้ ยังช่วยค้นหาปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้เกิดโรคในภายหลัง เช่น กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย โรคประจำตัว และการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงเจ็บป่วย เมื่อทราบความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว จะได้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงให้มากขึ้น หรือหาทางป้องกันได้ก่อนเกิดโรค
ก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
การเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพประจำปีเหมือนการตรวจโรคทั่วไป คือ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- ถ้าต้องตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ให้งดอาหาร เครื่องดื่มอื่น ๆ ยกเว้นน้ำเปล่า อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนการตรวจ (บางสถานพยาบาลอาจไม่จำเป็นต้องงด)
- คนที่มีโรคประจำตัวต้องใช้ยาเป็นประจำ ไม่ต้องงดยา และให้นำยาไปในวันตรวจสุขภาพด้วย
ตรวจสุขภาพพื้นฐาน ต้องตรวจอะไรบ้าง
ทุกครั้งก่อนเริ่มตรวจสุขภาพ แพทย์จะซักประวัติ สอบถามข้อมูลพื้นฐานและประวัติสุขภาพโดยรวม เพื่อประเมินความเสี่ยงจากโรค เช่น กิจวัตรประจำวัน การกินอาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และใช้สารเสพติด ประวัติการเจ็บป่วยของตัวคุณเองและคนในครอบครัว สภาพแวดล้อมการทำงาน พฤติกรรมทางเพศ การได้รับวัคซีน เป็นต้น
ถัดมาจะเป็นการตรวจร่างกายพื้นฐาน ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง วัดเส้นรอบเอว ดูดัชนีมวลกาย (BMI) ว่าผอมหรืออ้วนเกินไปไหม และวัดสัญญาณชีพ เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และปัจจัยเสี่ยงต่อโรค การตรวจพื้นฐานเหล่านี้ ร่วมกับการซักประวัติจะช่วยให้แพทย์รู้ว่าคนนั้นควรตรวจอะไรบ้าง หรือตรวจรายการไหนเพิ่ม ทำให้โปรแกรมการตรวจสุขภาพต่างกันไปตามอายุและความเสี่ยง โดยการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ควรตรวจสำหรับคนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีรายละเอียดดังนี้
วัดความดันโลหิต
- ค่าความดันเหมาะสมของคนทั่วไปจะไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท คนสุขภาพดีและมีค่าความดันปกติ ควรวัดความดันโลหิตทุก 3-5 ปี แต่เมื่อเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป ควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- คนที่วัดความดันโลหิตได้ระหว่าง 121-139/80-89 มิลลิเมตรปรอท และคนที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคอ้วน หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรวัดความดันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะความดันเริ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- คนที่วัดความดันโลหิตได้มากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ควรวัดความดันให้บ่อยขึ้นหรือตามคำแนะนำแพทย์
การตรวจระดับไขมันในเลือด
การเจาะเลือดดูระดับโคเลสเตอรอล (Cholesterol) ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ไขมันโคเลสเตอรอลดี (HDL) และไขมันโคเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) จะช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และควรตรวจซ้ำทุก 5 ปี แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงของโรคหรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น มีปัญหาน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ รวมถึงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจไขมันในเลือดให้บ่อยขึ้นหรือตามคำแนะนำแพทย์
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
การเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลจะช่วยคัดกรองโรคเบาหวานหรือภาวะเสี่ยงเบาหวาน คนอายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ควรเข้ารับการตรวจน้ำตาลในเลือดทุก 3 ปี แต่คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เช่น มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน อยู่ในภาวะเสี่ยงเบาหวาน (Prediabetes) มีประวัติเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจน้ำตาลในเลือดให้บ่อยขึ้นหรือตามคำแนะนำแพทย์
เบาหวานรู้ก่อนได้ ไม่ต้องรอ หาโปรตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานพื้นฐานจาก HDmall.co.th รู้ผลไว ราคาไม่แพงอย่างที่คิด แถมมีส่วนลดทุกครั้งที่จอง คลิกเลย หรืออยากตรวจเพิ่มเติมให้ครอบคลุมโรคเบาหวาน แชทถามแอดมินผ่านไลน์ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่นี่
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
เป็นการเจาะเลือดดูความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย แนะนำให้คนที่ไม่เคยตรวจเลือดมาก่อน ตรวจอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงอายุ 18-60 ปี
การตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซี
เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิต่อต้านไวรัสตับอักเสบซีหรือ Anti-HCV แนะนำให้ตรวจอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุ 18-60 ปี
การตรวจตาทั่วไป
การตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์จะช่วยคัดกรองความผิดปกติทางสายตา เช่น ภาวะความดันลูกตาสูง โรคต้อหิน และความผิดปกติอื่น ๆ แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี โดยเฉพาะคนอายุ 40-65 ปี เพราะมักเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางตาสูงขึ้น และคนที่เป็นโรคเบาหวานให้ตรวจตาทุกปี
การตรวจการได้ยินทั่วไป (Finger Rub Test)
การตรวจการได้ยินโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ถูกันเบา ๆ ห่างจากรูหูประมาณ 1 นิ้ว ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ทีละข้าง และควรทำในสถานที่เงียบ ๆ ถ้าไม่ได้ยินหรือได้ยินไม่ชัดเจน แสดงว่าหูข้างนั้นอาจมีปัญหา แนะนำให้ตรวจในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ปีละ 1 คร้ัง
การตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
การติดเชื้อในช่องปากสามารถแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เช่น สมอง ปอด หรือหัวใจ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ระบบอื่นในร่างกายได้ จึงควรตรวจสุขภาพช่องปากและฟันจากทันตแพทย์ทุกปี
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง แนะนำให้ตรวจในคนอายุ 50 ปีขึ้นไปปีละ 1 คร้ังด้วยการตรวจอุจจาระ การตรวจด้วยการส่องกล้องทุก 5 ปี และตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดทุก 10 ปี แต่คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค เช่น เคยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงก่อนอายุ 50 ปี
การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน
แนะนำให้คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองความหนาแน่นของกระดูก โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน เช่น น้ำหนักตัวน้อย สูบบุหรี่ ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน และดื่มแอลกอฮอล์หนัก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose Computed Tomography: LDCT) เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งปอด แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปีในคนอายุ 50-80 ปี มีประวัติการสูบบุหรี่จัด เพิ่งเลิกสูบบุหรี่ในช่วง 15 ปีก่อนหน้า ยังคงสูบบุหรี่อยู่ หรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ประวัติสมากชิกคนในครอบครัว การทำงาน สัมผัสฝุ่นละออง เคมีหรืออื่นๆ
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง
ผู้หญิงอายุระหว่าง 25-40 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง และผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจนอายุ 70 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ยกเว้นมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรตรวจเต้านมก่อนถึงอายุที่คนในครอบครัวตรวจพบโรคนี้ และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น คนในครอบครัวเป็นะเร็งเต้านม มียีนที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยการอัลตราซาวด์และเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพิ่มเติมด้วย
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Conventional Pap Smear) ทุก 3 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 30 ปี ควรตรวจทุก 5 ปี ไปจนถึงอายุ 65 ปี ยกเว้นคนที่ผ่าตัดเอามดลูกหรือปีกมดลูกออกไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจ
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย
ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจหาสารชี้บ่งมะเร็งต่อลูกหมาก (PSA) ทุกปี โดยเฉพาะคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ให้เข้ารับการตรวจก่อนช่วงอายุที่คนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้
การตรวจสุขภาพข้างบนเป็นเพียงตัวอย่างการตรวจสุขภาพพื้นฐาน การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพแบบไหนต้องดูตามเพศ อายุ และปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของตัวคุณเองด้วย หรือสามารถเลือกตามช่วงอายุ ซึ่งแต่ละสถานพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชน จะมีจัดเป็นแพ็กเกจไว้ให้
ตรวจสุขภาพประจำปี ต้องตรวจทุกปีไหม ตรวจบ่อยแค่ไหน
แม้จะเรียกว่าตรวจสุขภาพประจำปี แต่ทุกคนอาจไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนคนอายุน้อยที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ควรตรวจสุขภาพปีเว้นปี หรือทุก 2-3 ปี แต่ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง ควรตรวจสุขภาพเร็วขึ้นหรือตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ถ้าคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเร็วขึ้น หรือตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์
การตรวจสุขภาพควรตรวจตามความจำเป็น ให้เหมาะสมกับวัย เพศ ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยของแต่ละคน รวมถึงไม่ควรตรวจสุขภาพแบบเหมารวมทุกครั้ง เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว อาจเกิดผลข้างเคียงจากการตรวจ หรือการตรวจบางอย่างยังไม่แม่นยำ ทำให้ได้ผลการตรวจไม่ตรงกับความเป็นจริง
ไม่แน่ใจเลือกแพ็กเกจแบบไหนให้ครอบคลุม แชทถามแอดมินผ่านไลน์ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่นี่ หรือหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคาดูก่อน HDmall.co.th มีให้พร้อม จ่ายครบหรือจ่ายผ่อนก็เลือกได้ แถมได้ส่วนลดทุกครั้งที่จอง คลิกเลย