การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาโรคนิ้วล็อคที่ต้นตอ และช่วยบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บจากโรคนิ้วล็อคในระดับที่รุนแรง หรือไม่สามารถกำแบนิ้วเองได้อีก แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดนิ้วล็อคในปัจจุบันเป็นการผ่าตัดเล็ก มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาในการผ่าตัดเพียงประมาณ 10-45 นาที และสามารถกลับบ้านได้ทันที ในปัจจุบันแบ่งเทคนิคที่ได้รับความนิยมออกเป็น 2 เทคนิค ได้แก่
สารบัญ
- 1. การผ่าตัดแบบเปิด
- 2. การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
- การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด มีแผลขนาดเท่าไร?
- การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
- การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด เหมาะกับใคร?
- ข้อดีของการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
- ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
- ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
1. การผ่าตัดแบบเปิด
การผ่าตัดโรคนิ้วล็อคแบบเปิด (Open Trigger Finger Release Surgery) เป็นการผ่าเปิดแผลเพื่อให้แพทย์เห็นปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่อักเสบ และตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนนั้นออก เพื่อขยายเส้นเอ็นที่อยู่ด้านในปลอกให้กลับมามีความยืดหยุ่น สามารถเคลื่อนไหวทั้งงอและเหยียดได้อย่างอิสระ มีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์ทำความสะอาดผิวส่วนที่จะผ่าเปิดแผล
- ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณนิ้วที่ต้องผ่าตัด
- แพทย์ผ่าเปิดแผลเล็กๆ บริเวณโคนนิ้วที่ล็อค จนเห็นปลอกอุ้มเส้นเอ็นที่มีการอักเสบจนบวม
- แพทย์ผ่าตัดนำปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่บวมออก
- ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะบอกให้ผู้ป่วยงอและเหยียดนิ้วช้าๆ ซ้ำๆ ไปด้วย การผ่าตัดจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยสามารถกำและแบมือได้อย่างอิสระดังเดิม ไม่มีอาการติดขัดที่นิ้วอีก
- จากนั้นจะเย็บปิดแผล
การผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบเปิด มีแผลขนาดเท่าไร?
แผลผ่าตัดแบบเปิดจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 มิลลิเมตร
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดแบบเปิด
- หลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้น ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- หมั่นยกแขนสูงประมาณ 1-3 วันแรก
- งดให้แผลโดนน้ำและงดสัมผัสสิ่งสกปรกประมาณ 7-10 วัน
- สามารถใช้นิ้วที่ผ่าตัดทำกิจกรรมเบาๆ ตามปกติได้เลย แต่ในส่วนของกิจกรรมหนักๆ ที่ต้องงอและเหยียดนิ้วมากๆ แนะนำให้งดไปก่อนประมาณ 2 สัปดาห์
- กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- แพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดหรือหมั่นบริการกล้ามเนื้อนิ้วมือ ข้อมือ และแขนด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ
การผ่าตัดแบบเปิด เหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นในระดับที่รุนแรง หรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบวมแดงมาก
- ผู้ป่วยมีอาการนิ้วล็อค แต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งของอาการอักเสบหรืออาการบวมได้อย่างชัดเจน
ข้อดีของการผ่าตัดแบบเปิด
- ช่วยให้แพทย์มองเห็นตำแหน่งการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้อย่างชัดเจน
- แม้เป็นการผ่าตัดเปิดแผล แต่แผลยังมีขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นแผลไม่นาน
- ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 30-45 นาที
- ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบเปิด
- ต้องดูแลสุขอนามัยแผลผ่าตัดนานกว่าแผลจากการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังเล็กน้อย เนื่องจากขนาดแผลใหญ่กว่า
- ต้องทำหัตถการในห้องผ่าตัด
- หลังผ่าตัดต้องมีการตัดไหม
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแบบเปิด
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการผ่าตัดนิ้วล็อค แต่ไม่รุนแรงนัก ได้แก่
- เส้นประสาทใกล้กับนิ้วที่ล็อคได้รับบาดเจ็บ
- มีอาการชาบริเวณข้างๆ นิ้วที่ผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วคราว และหายได้เอง นอกจากนี้ก็ยังมีอาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัด แต่ส่วนมากมักพบได้น้อยและอาการไม่รุนแรง เนื่องจากแผลผ่าตัดนิ้วล็อคมีขนาดเล็กมาก เช่น ภาวะแผลติดเชื้อ แผลบวมช้ำ มีเลือดซึมออกจากแผล
ราคาค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแบบเปิด
ค่าบริการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคแบบเปิดจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-12,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง
มีปัญหานิ้วล็อครุนแรง งอไม่ได้ เหยียดก็ลำบาก อยากรักษาให้หายเร็วๆ ปรึกษาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอได้เลย
2. การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
การผ่าตัดโรคนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด (Percutaneous Trigger Finger Knife) เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่มีขั้นตอนคล้ายกับแบบเปิด แต่ไม่มีการผ่าเปิดแผล ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มข้อได้เปรียบให้การดูแลแผลหลังผ่าตัดที่ง่ายขึ้น และระยะเวลาฟื้นตัวของแผลยังเร็วกว่าแบบเปิด มีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์ทำความสะอาดผิวส่วนที่จะมีการเจาะผิวหนัง
- แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณนิ้วที่ต้องผ่าตัด
- แพทย์ใช้มีดผ่าตัดที่มีลักษณะเป็นเข็มขนาดเล็กเจาะรูบริเวณโคนนิ้วที่ล็อค เพื่อตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่อักเสบออก ในขั้นตอนนี้อาจมีการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยนำทางให้แพทย์มองเห็นเส้นเอ็นภายในข้อนิ้วด้วย
- ระหว่างการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องงอและเหยียดนิ้วตามที่แพทย์สั่งไปด้วย การผ่าตัดจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยสามารถกำและแบนิ้วได้อย่างอิสระดังเดิม ไม่มีอาการติดขัดที่นิ้วอีก
- เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมาก จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด มีแผลขนาดเท่าไร?
ขนาดรูแผลจากการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิดจะอยู่ที่ 2 มิลลิเมตร
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
หลังจากผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ส่วนการดูแลตนเองส่วนอื่นๆ นั้นเหมือนกับเทคนิคแบบเปิดทุกประการ แต่ระยะเวลาที่ต้องงดให้แผลโดนน้ำและงดสัมผัสสิ่งสกปรกนั้นสั้นกว่า โดยงดเพียง 3 วันก็เพียงพอ
การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด เหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยที่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดโรคนิ้วล็อคได้อย่างชัดเจน
- ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบในระดับปานกลาง ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบวมแดงมาก
ข้อดีของการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
- ผ่าตัดในห้องตรวจได้เลย ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด
- ระยะเวลาผ่าตัดสั้นกว่า โดยอยู่ที่ 15-20 นาทีเท่านั้น
- มีขนาดแผลที่เล็กมาก เจ็บแผลน้อยกว่า
- ดูแลแผลได้ง่ายกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
- มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้ต่ำกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
ผู้ป่วยที่อาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นอย่างรุนแรง หรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบวมแดงมาก ไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ ต้องใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเหมือนกับการผ่าตัดแบบเปิด เช่น เส้นประสาทใกล้กับนิ้วที่ล็อคได้รับบาดเจ็บ มีอาการชาบริเวณข้างๆ นิ้วที่ล็อค แต่จะมีโอกาสเกิดได้ต่ำกว่ามาก เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กกว่า
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด
ค่าบริการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคด้วยเทคนิคเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิดจะอยู่ที่ประมาณ 8,900-15,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง
การผ่าตัดโรคนิ้วล็อคทั้ง 2 เทคนิคล้วนเป็นการผ่าตัดเล็กที่มีขั้นตอนไม่ได้ซับซ้อน มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กไม่ถึง 1 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังช่วยแก้ไขการอักเสบให้หายได้โดยทันทีหลังการผ่าตัด
ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกระบวนการรักษาที่ยุ่งยาก หรืออาการเจ็บที่รุนแรงจากการผ่าตัดแต่อย่างใด แนะนำให้รีบรักษา เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อยากเช็กให้ชัวร์ ว่าอาการแบบนี้ผิดปกติหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย