จะงอนิ้ว หรือขยับนิ้วก็ติดขัดไปหมด หรือจะกำและแบมือ นิ้วกลับไม่ขยับอย่างที่ใจต้องการ อาการเหล่านี้คือสัญญาณของโรคนิ้วล็อค อีกปัญหาโรคเกี่ยวกับไขข้อที่มีสาเหตุหลักมาจากการใช้งานนิ้วมือมากเกินไป
สารบัญ
โรคนิ้วล็อคคืออะไร?
โรคนิ้วล็อค (Trigger Finger) คือ กลุ่มอาการที่คนไข้ไม่สามารถขยับใช้งานนิ้วมือได้อย่างคล่องตัว โดยมักมีอาการติดขัดที่ข้อนิ้วอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้งอและเหยียดนิ้วไม่ได้ตามปกติ สามารถเกิดได้เพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วได้เช่นกัน
สาเหตุของโรคนิ้วล็อค
โรคนิ้วล็อคเกิดจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วที่เกิดการอักเสบ จึงเกิดอาการบวมและหนาตัวขึ้นจนเส้นเอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น จนเกิดเป็นอาการนิ้วล็อค ทำให้มีปัญหาข้อนิ้วติดขัดเมื่อคนไข้เหยียดหรืองอนิ้ว
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการอักเสบที่ปลอกหุ้มเส้นเอ็น มาการใช้งานนิ้วมืออย่างหนักและเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ซึ่งมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตดังต่อไปนี้
- การใช้นิ้วกดพิมพ์คีย์บอร์ด แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง
- การใช้นิ้วจับสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
- การใช้นิ้วยกของหนักเป็นประจำ
- การทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องเกร็งข้อนิ้ว การเหยียด หรืองอข้อนิ้วเป็นประจำ ซึ่งสามารถเกิดได้ในแทบทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน คนสวน นักกีฬา นักดนตรี ช่างฝีมือ ช่างเย็บผ้า
- โรคนิ้วล็อคพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัย 40-50 ปีมักมีความเสี่ยงมากกว่า
- โรคประจำตัวบางชนิดมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อคมากกว่ากลุ่มคนทั่วไปถึง 4 เท่า เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
อาการของโรคนิ้วล็อค
อาการที่เด่นชัดของโรคนิ้วล็อค ได้แก่
- งอและเหยียดนิ้วได้ลำบาก มักจะรู้สึกติดขัดเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้กับที่
- เวลาแบนิ้วออก จะรู้สึกเหมือนมีแรงดีดดันข้อนิ้วจนสะบัดหลุดออกไป
- มีอาการปวดเจ็บที่โคนนิ้วเป็นตำแหน่งหลัก ไม่ลุกลามไปยังตำแหน่งอื่นของฝ่ามือ
- หากกำมือหรือลองงอนิ้วเข้าออก เมื่อลองกดลงที่โคนนิ้ว จะรู้สึกเหมือนมีก้อนบางอย่างวิ่งผ่านข้อนิ้วเป็นลูกๆ
- อาการของโรคมักหนักหน่วงขึ้นในช่วงเช้า และจะค่อยๆ บรรเทาลงเมื่อเริ่มขยับใช้งานนิ้วอีกครั้ง
โรคนิ้วล็อคยังสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1: ปวดตึงที่ข้อนิ้ว เมื่องอนิ้วจะรู้สึกสะดุดในบางครั้ง และเริ่มมีอาการกดเจ็บที่โคนนิ้วทางด้านหน้า (ด้านฝ่ามือ) แต่ยังงอและเหยียดนิ้วได้ตามปกติ
- ระยะที่ 2: ปวดตึงที่ข้อนิ้วรุนแรงขึ้น เมื่อขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้วจะเริ่มรู้สึกสะดุดบ่อยขึ้นจนเริ่มสังเกตตนเองได้
- ระยะที่ 3: มีอาการนิ้วล็อคอย่างเห็นได้ชัด คนไข้ไม่สามารถกำและแบมือออกได้เองอีก ต้องใช้นิ้วช่วยง้างข้อนิ้วให้แบออกเท่านั้น
- ระยะที่ 4: มีอาการนิ้วบวม กล้ามเนื้อนิ้วอักเสบ ไม่สามารถกำมือและเหยียดนิ้วตรงได้อีก ระหว่างพยายามเหยียดนิ้วให้ตรงก็จะมีอาการปวดที่รุนแรงมาก ในคนไข้บางรายอาจมีลักษณะนิ้วที่ผิดรูประหว่างพยายามงอนิ้วมือด้วย
นั่งพิมพ์งานทั้งวัน ต้องกดมือถือทุกชั่วโมง นิ้วเริ่มติดขัด งอหรือเหยียดยากขึ้น อยากปรึกษาคุณหมอให้มั่นใจ ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางได้ที่นี่
วิธีรักษาโรค
แนวทางรักษาโรคนิ้วล็อคจะเป็นไปตามระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การรักษาด้วยตนเอง
จัดเป็นแนวทางการรักษาแบบเริ่มต้นในผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการนิ้วล็อค หรือเพิ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคนิ้วล็อคในระดับที่ไม่รุนแรง จึงยังไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวิธีรักษากับแพทย์ก็ได้ เช่น
- การหมั่นพักการใช้งานนิ้วอยู่เรื่อยๆ หรือในคนไข้บางรายอาจต้องงดการทำกิจกรรมที่ใช้นิ้วหนักๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น งดยกของหนัก งดออกกำลังกาย งดเล่นกีฬาหรือทำงานในลักษณะที่ต้องงอและเหยียดนิ้วเป็นประจำ
- การประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมแดงและอาการอักเสบ
- การแช่น้ำอุ่นหรือประคบอุ่นเมื่อมีอาการนิ้วล็อค
2. การรักษากับแพทย์
หากรักษาโรคนิ้วล็อคด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม คนไข้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนวิธีรักษาที่เหมาะสมและเห็นผลได้เร็วขึ้น เช่น
- การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว เพื่อให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อนิ้วได้พักการใช้งาน รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้เกร็งนิ้วโดยไม่รู้ตัว และเพื่อคงลักษณะนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป
- การใช้ยา ส่วนมากมักเริ่มต้นด้วยการจ่ายยาแก้อักเสบแบบยากินก่อน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะปรับเป็นวิธีฉีดยาสเตียรอยด์ หรือการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่นิ้วเพื่อลดการอักเสบ ทำให้คนไข้ขยับนิ้วได้ง่ายขึ้นชั่วคราว
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อเสริมความยืดหยุ่นให้เส้นเอ็น โดยจะเป็นการรักษาร่วมกับแพทย์และนักกายภาพบำบัด
- การผ่าตัด เพื่อผ่าเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่บวมให้ขยายตัวออก ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่นและไม่ติดขัดอีก แบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 วิธี ได้แก่
- เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด (Open Trigger Finger Release Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะผ่าเปิดแผลขนาด 3-7 มิลลิเมตรที่นิ้วเพื่อตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่บวมออก
- เทคนิคการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด (Percutaneous Trigger Finger Knife) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ โดยแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดที่มีลักษณะคล้ายเข็มขนาด 2 มิลลิเมตร เจาะผ่านผิวหน้าเพื่อเข้าไปตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่บวมโดยไม่ต้องผ่าเปิดแผล
การป้องกันโรคนิ้วล็อค
โรคนิ้วล็อคสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ เช่น
- หมั่นพักการใช้งานนิ้วระหว่างวัน
- หมั่นทำกายบริหารนิ้วเป็นครั้งคราว
- งดใช้นิ้วยกของหนักหรือรับน้ำหนักมากๆ เป็นประจำ
- งดการหัก ดัด หรือเหยียดนิ้วจนสุด เนื่องจากเป็นการเพิ่มโอกาสการอักเสบของเส้นเอ็น
- งดทำกิจกรรมที่ทำให้นิ้วต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนที่หนักหน่วง รวมถึงกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วกำสิ่งของหรืออุปกรณ์แน่นๆ เป็นเวลานาน
- หากต้องใช้นิ้วจับอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีเนื้อแข็งเกินไป เช่น ไม้กอล์ฟ อุปกรณ์การช่างที่ทำจากเหล็ก ควรใส่ถุงมือหรือใส่ด้ามจับที่มีนิ้วเนื้อนุ่มก่อน หากไม่มีให้ใช้ผ้าขนหนูหนาๆ หุ้มก่อน
โรคนิ้วล็อคที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น การหยิบจับสิ่งของ การขับรถ การพิมพ์งานกับคอมพิวเตอร์ การเล่นกีฬา
หากพบอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคนิ้วล็อค ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งมีโอกาสหายขาดสูง
ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคนิ้วล็อครึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย