คุณกำลังเสี่ยงป่วยเป็นโรคไทรอยด์หรือเปล่า? คนในครอบครัวเคยป่วยเป็นไทรอยด์ หรือพบสัญญาณผิดปกติของร่างกาย เช็กเองแล้วยังไม่ชัวร์ อยากตรวจกับคุณหมอให้แน่ชัด แต่ไม่รู้จะเลือกตรวจวิธีไหนดี เรารวบรวมข้อมูลการตรวจไทรอยด์ทุกวิธี อธิบายขั้นตอนอย่างชัดเจน ให้คุณตัดสินใจได้ง่ายที่สุดเอาไว้แล้ว
สารบัญ
- การตรวจไทรอยด์คืออะไร
- ใครควรตรวจไทรอยด์
- การตรวจไทรอยด์มีกี่วิธี?
- วิธีที่ 1 การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง
- วิธีที่ 2 การตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Antibodies)
- วิธีที่ 3 การตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound Thyroid)
- วิธีที่ 4 การตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ (Fine Needle Aspirate: FNA)
- วิธีที่ 5 การตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
การตรวจไทรอยด์คืออะไร
การตรวจไทรอยด์ เป็นการตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยจะมีการตรวจหลายวิธี เช่น ตรวจเลือดดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในร่ายกาย ตรวจแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ การตรวจอัลตราซาวด์ดูความผิดปกติของก้อนไทรอยด์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าระดับอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับใด ซึ่งการตรวจบางวิธีอาจจะต้องให้คุณหมอเฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาสั่งตรวจ
อยากเช็กตัวเองในเบื้องต้น ว่าเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์ไหม คลิกอ่านเลย 2 วิธีง่ายๆ ตรวจไทรอยด์ด้วยตัวเอง ทำตามขั้นตอน 1 นาทีรู้ผล! คลิกอ่านต่อ
ใครควรตรวจไทรอยด์
โรคไทรอยด์เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มอาการ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะพบโรคไทรอยด์ และควรตรวจคัดกรองความเสี่ยงมีดังนี้
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
- มีอาการกลืนน้ำลายและอาหารลำบาก
- มีอาการหายใจเข้า-ออกได้ไม่เต็มปอด
- เสียงแหบ เปล่งเสียงได้ไม่สุด
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
- เหงื่อออกง่าย และออกมากผิดปกติ
- นอนไม่หลับ สมาธิสั้น เครียด
- มีอาการท้องเสียบ่อย ขับถ่ายผิดปกติ
- มีลำคอโตผิดปกติ หรือมีก้อนเนื้อที่ลำคอ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ
- เคยมีประวัติต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
- เคยรักษาโรคไทรอยด์มาก่อน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1
- ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก
- คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคไทรอยด์
การตรวจไทรอยด์มีกี่วิธี?
การตรวจไทรอยด์มีทั้งหมด 5 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะเหมาะกับอาการ และความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่การตรวจคัดกรองเบื้องต้น ในผู้ที่มีความเสี่ยง หรือกังวลว่าจะป่วยเป็นโรคไทรอยด์ ไปจนถึงผู้ที่ตรวจพบโรคไทรอยด์แล้ว หรือพบก้อนเนื้อ และต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งต่อไป โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้
วิธีที่ 1 การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง
วิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน เพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด รวมทั้งตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมองที่มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์
การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์
การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ไทรอยด์ (Thyroid Hormones) เป็นการตรวจปริมาณฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine: T4) ซึ่งทั้งมีหน้าที่แปลงสภาพสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานแก่ร่างกาย
การตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) เป็นการวัดการทำงานของปริมาณฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อีกทอดหนึ่ง
อยากตรวจไทรอยด์ ราคาไม่แพง ทักหา HDcare ค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย
ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 3 ชนิดมีดังนี้
- TSH ค่าปกติอยู่ระหว่าง 0.5-5.0 mU/L
- T3 ค่าปกติอยู่ระหว่าง 80-200 ng/dL
- T4 ค่าปกติอยู่ระหว่าง 4.5-12.5 µg/dL
ตัวอย่างการอ่านค่าอย่าง เช่น
- หากผลเลือด T3 หรือ T4 สูงกว่าปกติ แต่ TSH ต่ำกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)
- หากผลเลือด T3 หรือ T4 ต่ำกว่าปกติ แต่ TSH สูงกว่าปกติ แสดงว่าร่างกายเกิดอาการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroid)
ทำความรู้จักโรคไทรอยด์ รวมทั้งวิธีรักษาโรคไทรอยด์แบบเจาะลึก คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ ไทรอยด์ คืออะไร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา ครบ จบในที่เดียว คลิกอ่านต่อ
การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์
- ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจเลือด
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
- งดดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1-2 วัน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว และกินยารักษาโรคอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและหลวม เพื่อความสะดวกในการเจาะเลือด
ขั้นตอนการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของต่อมไทรอยด์
- ผู้รับบริการนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดบริเวณที่จะเจาะเลือด สำหรับเด็กอาจเจาะบริเวณหลังมือ เพื่อทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง
- ใช้เข็มเจาะและเก็บตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ
- นำเข็มออก ปลดสายรัด ปิดแผล
การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไทรอยด์วิธีนี้ ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากวิธีไม่ซับซ้อน และให้ผลค่อนข้างแม่นยำ สามารถนำผลไปใช้ตรวจเพิ่มเติม วินิจฉัยอาการ หรือวางแผนการรักษาเบื้องต้นได้ โดยการตรวจไทรอยด์วิธีนี้ พบได้ในแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์โดยทั่วไป
สงสัยใช่ไหม? อาการที่เป็นอยู่ใช่ไทรอยด์หรือเปล่า อยากตรวจให้แน่ใจ ปรึกษาทีม HDcare ช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย
วิธีที่ 2 การตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Antibodies)
วิธีนี้เป็นการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย หากค่าแอนติบอดีผิดปกติ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งจะทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบ
การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับคนทั่วไป หรือผู้ที่พบความผิดปกติและต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์เพิ่มเติม
การวัดระดับปริมาณแอนติบอดี สามารถวัดได้ 2 ชนิด ได้แก่ Anti-Thyroglobulin Antibody (Anti-Tg) และ/ หรือ Anti-Thyroid Peroxidase Antibody (Anti-TPO)
ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 2 ชนิดมีดังนี้
- Anti-Tg น้อยกว่า 115 IU/ml
- Anti-TPO น้อยกว่า หรือเท่ากับ 34 IU/ml
หากผลเลือดพบว่า ค่า Anti-Tg และ/หรือ Anti-TPO สูงกว่าค่าปกติ หมายถึงแอนติบอดีมีการทำงานผิดปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความเสี่ยงเป็น โรคฮาชิโมโต หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
การเตรียมตัว และขั้นตอนการตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ เหมือนกับการตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง และเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานสากล มีความแม่นยำสูงเช่นเดียวกัน
การตรวจไทรอยด์วิธีนี้อาจพบได้ไม่บ่อยในแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ทั่วไป เว้นแต่เป็นแพ็กเกจเฉพาะทาง หรือแพทย์พบความผิดปกติของร่างกายแล้วสั่งตรวจเพิ่มเติม
อยากตรวจคัดกรองความเสี่ยงไทรอยด์ ราคาดี ใกล้บ้าน ตรวจที่ไหนได้บ้าง? ทักหาทีม HDcare ช่วยเลือกแพ็กเกจที่เหมาะกับคุณที่สุด คลิกเลย
วิธีที่ 3 การตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound Thyroid)
วิธีนี้จะเป็นการตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ใช้สำหรับผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์โต คลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ จะให้รายละเอียด ขนาดก้อน ลักษณะภาพของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งรายละเอียดของอวัยวะข้างเคียงโดยรอบได้ค่อนข้างชัดเจน
ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่า ก้อนที่พบบริเวณต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติชนิดใด มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่ และยังสามารถตรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้ด้วย
การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์
- ไม่ต้องงดอาหารและน้ำ
- งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
- ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า
- งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด
ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์
- ผู้รับบริการนอนหงายบนเตียง จากนั้นแพทย์จะใช้เจลทาผิวหนังบริเวณที่จะตรวจ
- แพทย์กดหัวเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ บริเวณที่ได้ทาเจลไว้ และเคลื่อนไปตามตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งจะรู้สึกเย็นๆ ไม่เจ็บ
- เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะเช็ดเจลออกให้จนหมด และรอแพทย์อ่านผลต่อไป
การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค ทำให้เห็นลักษณะของก้อนที่ผิดปกติได้โดยละเอียด
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากพบว่าลักษณะของก้อน เป็นของแข็ง ขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน มีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณก้อนมาก แพทย์อาจสันนิษฐานได้ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้
หากพบลักษณะดังกล่าว แพทย์อาจจะเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมในคราวเดียวกัน เพราะการอัลตราซาวด์ มีประโยชน์ในการช่วยหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการเจาะชิ้นเนื้อไทรอยด์อีกด้วย
ต่อมไทรอยด์โต คลำพบก้อน ไม่แน่ใจใช่ไหมว่าเป็นไทรอยด์หรือเปล่า? อยากตรวจให้แน่ใจ ทักหาทีม HDcare ช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย
วิธีที่ 4 การตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ (Fine Needle Aspirate: FNA)
วิธีนี้คือการใช้เข็มที่มีระบบพิเศษในการตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตรออกมา โดยส่วนใหญ่จะใช้ร่วมกับเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อระบุตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อให้แม่นยำ เพื่อนำส่งตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ต่อไป
เทคนิคนี้เป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ เพื่อประเมินชนิดของก้อนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยเทคนิคนี้มีความแม่นยำสูงถึง 95% แพทย์จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่คลำพบก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ รวมทั้งผู้ที่ตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์แล้วพบว่า ก้อนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง
การเตรียมตัวก่อนตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ
- งดอาหารและน้ำ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1-2 วัน
- งดยาบางชนิดที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) อย่างน้อย 7 วัน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาใดๆ อยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือมีประวัติเลือดออกผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
- งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหรือผลตรวจผิดพลาดได้
- งดใส่เครื่องประดับทุกชนิดในวันตรวจ
- ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า
- ต้องพาญาติหรือผู้ติดตามมาด้วย เพื่อช่วยดูแลและพากลับบ้าน
ขั้นตอนการตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ
- ผู้ป่วยเตรียมตัวในห้องทำหัตถการ
- แพทย์จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนัง และฉีดยาชาเฉพาะที่
- แพทย์จะสอดเข็มผ่านผิวหนัง ไปยังก้อนเนื้อที่ต้องการเก็บตัวอย่าง โดยจะมองเห็นเข็มที่สอดเข้าไปได้อย่างชัดเจน ผ่านจอภาพ ซึ่งมาจากเครื่องอัลตราซาวด์ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ แพทย์จะตัดชิ้นออกมา
- ขณะที่เจาะชิ้นเนื้อ ห้ามพูดหรือกลืนน้ำลาย เพราะทำให้ตำแหน่งก้อนที่ต่อมไทรอยด์เคลื่อนที่ อาจทำให้ผลผิดพลาด
- ปิดแผลบริเวณที่ใช้เข็มเจาะ และส่งชิ้นเนื้อไปตรวจยังห้องปฏิบัติการต่อไป
การดูแลตัวเองหลังตรวจไทรอยด์ด้วยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ
- หลังทำเสร็จ ผู้ป่วยอาจต้องนอนทับรอยแผลเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดออก จากนั้นก็สามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- เปลี่ยนผ้าพันแผล โดยปิดพลาสเตอร์ขนาดเล็กไว้อีก 1-2 วัน โดยไม่ต้องทำความสะอาดแผล
- หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด
- หากแผลมีลักษณะอักเสบหรือบวมผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันที
ถ้าคุณกังวลหรือมีคำถามเกี่ยวกับไทรอยด์ ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางไทรอยด์กับ HDcare ได้ทางไลน์วันนี้ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) คลิกเลย!
วิธีที่ 5 การตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
วิธีนี้เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยการใช้ ‘สารเภสัชรังสีไอโอดีน’ ร่วมกับการใช้เครื่องสแกน (Thyroid Scan) เพื่อตรวจสอบต่อมไทรอยด์ว่า มีการอักเสบหรือไม่ มีการผลิตหรือหลั่งฮอร์โมนมากขึ้นหรือไม่ หรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่
หลักการทำงานของสารเภสัชรังสีไอโอดีน คือ เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปจับกับต่อมไทรอยด์ จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องสแกนรังสี ตรวจหารังสีที่ถูกเปล่งออกมาจากต่อมไทรอยด์ แล้วแสดงภาพต่อมไทรอยด์ รวมทั้งแสดงการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ด้วย
สารเภสัชรังสีไอโอดีนนี้ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรือคลำพบก้อน โดยแพทย์จะนำผลตรวจมาวินิจฉัยแยกโรคต่อไป
การเตรียมตัวก่อนตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- งดอาหารทะเล อาหารที่มีไอโอดีนผสมอยู่ และวิตามินมีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 2-4 สัปดาห์ ก่อนตรวจ
- งดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
- งดยารักษาโรคไทรอยด์และไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว รับประทานยารักษาโรคอยู่ หรือมีประวัติเลือดออกผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
- งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหรือผลตรวจผิดพลาดได้
- งดใส่เครื่องประดับทุกชนิดในวันตรวจ
- ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า
ข้อห้ามในการตรวจไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร
- ผู้ที่เคยฉีดสารเภสัชรังสีไอโอดีนภายใน 6 สัปดาห์ ก่อนตรวจ
ขั้นตอนการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- ผู้ป่วยนอนบนเตียง เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าให้นอนหงายและเงยหน้า ยืดคอ ศีรษะกดต่ำลง เพื่อเปิดบริเวณลำคอให้กว้าง
- เจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 3 จุด ที่บริเวณหน้าอก
- เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนังรอบคอ จากนั้นจะฉีดสารเภสัชรังสีไอโอดีนเข้าหลอดเลือดดำ ระหว่างฉีดจะต้องนอนนิ่ง ไม่พูด และไม่กลืนน้ำลาย แล้วรอประมาณ 20-30 นาที
- รังสีแพทย์จะตรวจหาตำแหน่งของก้อนด้วยเครื่องสแกน (Thyroid Scan) พร้อมดูตำแหน่งของเส้นเลือดรอบๆ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ถ่ายภาพต่อมไทรอยด์และก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่มีความผิดปกติ เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคต่อไป
หลังตรวจ มักไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแต่ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อช่วยขับสารรังสีออกจากร่างกายเท่านั้น
โรคไทรอยด์เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม หากคุณมีความเสี่ยง หรือพบสัญญาณผิดปกติ ความรีบมาพบแพทย์หรือตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ เพื่อให้ทราบผลได้อย่างแน่ชัด
แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าควรตรวจคัดกรองวิธีไหนดี ไม่รู้จะปรึกษาใคร ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ หรือช่วยค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย