hyperthyroidism scaled

รู้จักโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์ผอม แบบเจาะลึก

‘กินเท่าเดิม แต่น้ำหนักลดลงผิดปกติ เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น ตาโปน มีก้อนที่คอ’ รู้ไหมว่าอาการเหล่านี้คือสัญญาณเสี่ยงของโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรามาทำความรู้จัก โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทุกแง่มุมได้ในบทความนี้

ต่อมไทรอยด์ คืออะไร?

ก่อนจะรู้จักกับ โรคไทรอยด์เป็นพิษ เรามาทำความรู้จักกับ ต่อมไทรอยด์กันก่อน 

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) คือต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณกลางลำคอส่วนหน้า ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายอย่างมาก 

ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญ ทำหน้าที่ช่วยควบคุมระบบการเผาผลาญหรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย

เนื่องจากหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบครอบคลุมทุกกระบวนการทำงานของร่างกาย ดังนั้นการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป จึงทำให้ร่างกายแปรปรวนทั้งระบบ

สาเหตุของความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เกิดได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักๆ มีดังนี้

  • พันธุกรรม คือคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยอาการไทรอยด์ผิดปกติ 
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ฯลฯ

โรคไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร?

โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid) หรือที่รู้จักในชื่อ ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ ไทรอยด์ผอม คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงผิดปกติ และไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในทั้งระบบให้ทำงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบต่างๆ และอวัยวะภายในร่างกายทำงานผิดปกติไปจากเดิม

อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการผิดปกติที่เด่นชัด ดังนี้

  • น้ำหนักลดลงผิดปกติ
  • กระสับกระส่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก 
  • เหนื่อยง่าย มือสั่น
  • ผมร่วง 
  • หัวใจเต้นเร็ว 
  • ท้องเสีย 
  • ตาโปน 
  • ต่อมไทรอยด์โต 
  • ประจำเดือนผิดปกติ

หากพบอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจสันนิษฐานได้เบื้องต้นต่อมไทรอยด์มีการทำงานมากเกินไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาต้นเหตุของอาการเพิ่มเติม

7 สัญญาณเสี่ยง เช็กตัวเองง่ายๆ เรากำลังป่วยเป็น โรคไทรอยด์รึเปล่า คลิกอ่านต่อ

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคไทรอยด์ไหม? อยากตรวจไทรอยด์เพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่ 

การตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำอย่างไร?

เมื่อมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยทั่วไปแพทย์มักจะทำการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ และ/หรือ ตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค โดยทั้งสองวิธีมีรายละเอียดดังนี้

การตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ และตรวจการทำงานของต่อมใต้สมอง

วิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการตรวจความเสี่ยงโรคไทรอยด์

  • การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ไทรอยด์ (Thyroid Hormones) เป็นการตรวจปริมาณฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine: T4) ซึ่งทั้งมีหน้าที่แปลงสภาพสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานแก่ร่างกาย
  • การตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) เป็นการวัดการทำงานของปริมาณฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ค่าปกติของค่าทั้ง 3 ชนิดมีดังนี้

  1. TSH ค่าปกติอยู่ระหว่าง 0.5-5.0 mU/L
  2. T3    ค่าปกติอยู่ระหว่าง 80-200 ng/dL
  3. T4    ค่าปกติอยู่ระหว่าง 4.5-12.5 µg/dL

การตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound Thyroid)

วิธีนี้จะเป็นการตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ใช้สำหรับผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์โต คลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ จะให้รายละเอียด ขนาดก้อน ลักษณะภาพของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งรายละเอียดของอวัยวะข้างเคียงโดยรอบได้ค่อนข้างชัดเจน

ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่า ก้อนที่พบบริเวณต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติชนิดใด มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่ และยังสามารถตรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้ด้วย

นอกจากตรวจเลือด และการตรวจอัลตราซาวด์แล้ว ยังมีวิธีการตรวจความผิดปกติของต่อมไทรอยด์รูปแบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเหมาะกับความผิดปกติที่แตกต่างกัน 

อ่านข้อมูลการตรวจความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แบบเจาะลึกทุกวิธี ได้ที่นี่เลย 

วิธีรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ มีวิธีไหนบ้าง?

วิธีการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น จะแตกต่างกันตามอาการ และความรุนแรงของโรค โดยการรักษาจะมี 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

    1. การรับประทานยาลดฮอร์โมน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่แพทย์ประเมินอาการแล้วพบว่าโรคอยู่ในระยะที่สามารถควบคุมได้ด้วยยา โดยปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์มี 2 ชนิด ได้แก่ ยาโพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) และ ยาเมไทมาโซล (Methimazole)
    2. การกลืนแร่ วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องรับประทานแร่ คือ สารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (I 131) ซึ่งอาจเป็นรูปแบบน้ำหรือแคปซูล แร่ชนิดนี้จะไปจับเข้าไปยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ฝ่อลง
    3. การผ่าตัด วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์นี้ นับว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ค่อนข้างปลอดภัย และผลข้างเคียงต่ำ ทั้งนี้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์จะมี 2 รูปแบบหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่
      • การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่ใช้มาอย่างยาวนาน แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณลำคอของผู้ป่วย แล้วนำเครื่องมือเข้าไปรักษา หรือตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ก้อนไทรอยด์มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยวิธีอื่น 
      • การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก (Transoral Endoscopic Thyroid Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณด้านในริมฝีปากล่างและเหงือก 3 จุดเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร จากนั้นใช้กล้องส่องผ่าตัดทำการผ่าตัดไทรอยด์ออกผ่านทางปาก แล้วเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย

เปรียบเทียบชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ และ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก วิธีไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด คลิกอ่านต่อ 

โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายๆ คนกังวลใจ เพราะกลัวว่าจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต ไม่มีวันหาย แต่จริงๆ แล้วปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมาย ที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงต่ำ ที่สำคัญรักษาให้หายขาดได้

แต่ใครที่ยังไม่แน่ใจว่า ป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top