hernia disease definition scaled

ไส้เลื่อน คืออะไร มีชนิดไหนบ้าง อาการต่างกันไหม?

ไส้เลื่อน เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบได้ในหลายบริเวณ แต่ตำแหน่งที่บ่อยที่สุดคือ ไส้เลื่อนขาหนีบ แนวทางการรักษาไส้เลื่อนหลักๆ คือ การผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้อวัยวะที่เลื่อนหลุดออกไปจากบริเวณปกติกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม 

ปัจจุบันมีหลากหลายเทคนิคผ่าตัด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคไส้เลื่อน โดยทิ้งเพียงแผลเป็นขนาดเล็กไว้ รวมถึงยังมีเทคนิคเสริมความแข็งแรงของผนังช่องท้อง ป้องกันการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ด้วย

โรคไส้เลื่อน คืออะไร?

ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่อวัยวะภายในเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ จนไหลเลื่อนออกนอกช่องท้อง ผ่านรูกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่อ่อนแอ 

ทั้งนี้ไส้เลื่อนเกิดได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ช่องในผนังหน้าท้อง ขาหนีบ ข้างหัวหน่าว หรือในถุงอัณฑะ ซึ่งอาการผิดปกติที่แสดงก็จะแตกต่างกันตามชนิดของไส้เลื่อน

ผู้ป่วยไส้เลื่อนมีทั้งเด็กแรกเกิด ผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย หรือในผู้สูงอายุ โดยบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนจะแตกต่างกัน ดังรายละเอียดในหัวข้อถัดไป

ชนิดของไส้เลื่อน

คนทั่วไปมักรู้จักไส้เลื่อนขาหนีบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในผู้ชาย แต่ความจริงแล้วไส้เลื่อนมีหลายชนิด เช่น

1. ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia)

ไส้เลื่อนขาหนีบ เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อไขมันหรือบางส่วนของลำไส้เลื่อนทะลุออกจากช่องท้องมาสู่บริเวณขาหนีบ เป็นชนิดไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ไส้เลื่อนขาหนีบ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

2. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia)

ไส้เลื่อนชนิดนี้เกิดในบริเวณที่เรียกว่า Femoral Canal ซึ่งเป็นช่องช่องหนึ่งบริเวณต้นขาด้านในของมนุษย์ ไส้เลื่อนชนิดนี้เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

3. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernia)

ไส้เลื่อนบริเวณสะดือเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อไขมันหรือลำไส้บางส่วนหลุดออกมาอยู่บริเวณใกล้กับสะดือ ทำให้สะดือดูบวมใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น มักเกิดกับทารก โดยเฉพาะในรายที่คลอดก่อนกำหนด จะสังเกตเห็นชัดเมื่อเด็กหัวเราะ ไอ ร้องไห้ หรือเบ่งถ่าย โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด 

สะดือจุ่นอาจดูยุบหายไปเมื่อเด็กนอนลง เด็กบางรายอาจหายจากภาวะไส้เลื่อนบริเวณสะดือได้เองเมื่ออายุประมาณ 4-5 ขวบ

สามารถพบไส้เลื่อนชนิดนี้ในผู้ใหญ่บ้าง แต่พบได้น้อย

ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

4. ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia)

กระบังลม เป็นชั้นกล้ามเนื้อบางๆ กั้นระหว่างช่องอกกับช่องท้อง ถ้ากระบังลมมีรูเปิด บางส่วนของกระเพาะอาหารเคลื่อนออกจากช่องท้องขึ้นไปสู่ช่องอกได้ ภาวะนี้เองที่เรียกกันว่า ไส้เลื่อนกระบังลม

ไส้เลื่อนกระบังลม

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

5. ไส้เลื่อนกระบังลมแต่กำเนิด (Congenital Diaphragmatic Hernia)

ไส้เลื่อนกระบังลมเป็นความผิดปกติร้ายแรงอย่างหนึ่งที่เกิดได้กับทารกขณะอยู่ในครรภ์ ภาวะนี้เกิดจากกระบังลมมีรูโหว่ ทำให้อวัยวะในช่องท้องขึ้นไปอยู่ในช่องอก จนเบียดอวัยวะสำคัญอย่าง ปอด ได้

ไส้เลื่อนกระบังลมแต่กำเนิด

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

6. ไส้เลื่อนที่เกิดจากการผ่าตัด (Incisional Hernia)

ไส้เลื่อน เป็นผลข้างเคียงหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่รับการผ่าตัดในช่องท้อง โดยถ้าจะเกิดขึ้น มักเกิดในช่วง 3-6 เดือนหลังผ่าตัด

สาเหตุของโรค ไส้เลื่อน คืออะไร?

สาเหตุของโรคไส้เลื่อนนั้นแตกต่างไปตามชนิดของไส้เลื่อน ดังนี้

  1. ไส้เลื่อนขาหนีบและไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักมีสาเหตุจากผนังช่องท้องที่อ่อนแอ ซึ่งอาจมาจากอายุที่มากขึ้น หรือเกิดจากการเบ่งอุจจาระแรงๆ ทำให้เกิดความดันสูงในช่องท้องบ่อยๆ
  2. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือและไส้เลื่อนกระบังลมในทารก มักเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองในกระบวนการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ 
  3. ไส้เลื่อนกระบังลมในผู้ใหญ่ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด 
  4. ไส้เลื่อนที่เกิดจากการผ่าตัดนั้น มีสาเหตุจากเมื่อเวลาผ่านไป ผนังช่องท้องผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดอาจอ่อนแอลง หรือเกิดช่องว่าง เป็นทางให้เนื้อเยื่อไขมันหรือบางส่วนลำไส้ยื่นทะลุออกมา

อาการของโรค ไส้เลื่อน เป็นอย่างไร?

อาการของโรคไส้เลื่อน แตกต่างกันออกไปตามชนิดไส้เลื่อน แต่ที่มักสังเกตได้ร่วมกันคือพบก้อนที่ปูดนูนออกมา โดยจะเห็นชัดเมื่อเกร็งกล้ามเนื้อ

ไส้เลื่อนแต่ละชนิด อาการเหมือน หรือต่างกันยังไง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรค ไส้เลื่อน รึเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษา HDcare หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

วิธีรักษาโรคไส้เลื่อน มีวิธีไหนบ้าง

กรณีนี้ตรวจพบว่ามีภาวะไส้เลื่อนแต่ยังเป็นไม่มาก สามารถดันกลับได้ แพทย์อาจดันอวัยวะภายในนั้นกลับตำแหน่งเดิมให้ ร่วมกับให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด หรือยานอนหลับ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำอีกได้ในอนาคต

วิธีรักษาไส้เลื่อนที่ได้ผลและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ คือ การผ่าตัดนำอวัยวะภายในกลับคืนตำแหน่งเดิม แล้วเย็บปิดรูหรือเสริมความแข็งแรงผนังช่องท้องด้วยตาข่ายทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้มีช่องให้อวัยวะไหลเลื่อนออกมาได้อีก

การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนในปัจจุบันมี 3 เทคนิค ได้แก่

1. ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด 

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด (Open Hernia Repair) เป็นการรักษาหลักที่ใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ข้อดีคือ สามารถระงับความรู้สึกได้ทั้งการใช้ยาสลบ และด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ไม่สามารถใช้ดมสลบหรือบล็อกหลังได้ 

ข้อเสียคือ แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ และระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

2. ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง

การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้องถือเป็นเทคนิคใหม่ ซึ่งมีเทคนิคย่อยลงไปอีกคือ 

  1. การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) แพทย์จะเจาะรูที่ผิวหนังผู้ป่วยเป็นรูเล็กๆ 2-3 รู แล้วใส่กล้องกับอุปกรณ์เข้าไปทำการผ่าตัดภายในช่องท้อง
  2. การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) แพทย์จะเจาะรูที่ผิวหนังผู้ป่วยเพียงรูเดียว แล้วใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเข้าไป ทำให้มีแผลเป็นหลงเหลือน้อยกว่าการผ่าตัดส่องกล้องแบบธรรมดา หรือแทบไม่เห็นแผลเป็นหลงเหลือเลย

ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องคือ แผลเล็ก เจ็บน้อย ระยะเวลาพักฟื้นสั้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถระงับความรู้สึกด้วยยาชาเฉพาะที่ได้ และจำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะเท่านั้น

3. ผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยหุ่นยนต์

การผ่าไส้เลื่อนด้วยหุ่นยนต์เป็นเทคนิคที่ใช้การส่องกล้องร่วมกับการใช้แขนกลที่สั่งการโดยแพทย์ ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ แผลเล็ก เจ็บน้อย ระยะเวลาพักฟื้นสั้น แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนเทคนิคอื่นๆ

เทคนิคการผ่าตัดที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดไส้เลื่อน ขนาดของไส้เลื่อนที่เป็น รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ซึ่งจำเป็นต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อประเมินว่าสามารถใช้เทคนิคการรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสม

การป้องกันโรค ไส้เลื่อน มีวิธีไหนบ้าง?

ไส้เลื่อนมักเกิดขึ้นจากความปกติแต่แรกเกิด หรือความเสื่อมของผนังช่องท้องที่เป็นไปตามอายุ ดังนั้นจึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% อย่างไรก็ตาม สามารถลดความเสี่ยงการเป็นไส้เลื่อนได้ โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความดันสูงในช่องท้อง เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดความเสี่ยงของอาการท้องผูกที่ทำให้ต้องนั่งขับถ่ายเป็นเวลานานหรือต้องเบ่งอุจจาระแรงๆ
  • เลี่ยงการยกของหนัก
  • ควบคุมอาหาร ดูแลเรื่องน้ำหนักตัว

ไส้เลื่อน เป็นความผิดปกติที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย ดังนั้นถ้าสังเกตเห็นหรือคลำพบก้อนนูน ร่วมกับมีความเจ็บปวด หรือมีอาการอื่นๆ ที่เข้าขายภาวะไส้เลื่อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจเกิดอันตรายร้ายแรง อย่างอวัยวะขาดเลือด เนื้อเยื่อตาย หรือติดเชื้อได้

ปัจจุบันการรักษาไส้เลื่อนมีหลายเทคนิค ซึ่งให้ผลดี ระยะเวลาพักฟื้นสั้น ทิ้งแผลเป็นขนาดเล็กหรือแทบมองไม่เห็น

ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรค ไส้เลื่อน รึเปล่า  ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top