วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การผ่าตัดไส้เลื่อน โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลยภายในวันผ่าตัด หรือถ้าพักฟื้นในโรงพยาบาลก็ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 วัน
บทความนี้รวบรวมข้อสงสัยที่ผู้ป่วยอาจมีเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังผ่าไส้เลื่อน พร้อมหาคำตอบมาให้ เช่น ส่ิงที่ควรทำหากยังเจ็บแผล การเลือกรับประทานอาหาร ไปจนถึงข้อควรทำเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำ
สารบัญ
- 1. ถ้ากลับบ้านแล้วยังเจ็บแผล ควรทำอย่างไร?
- 2. ไอ จาม แล้วเจ็บ มีวิธีให้เจ็บน้อยลงไหม?
- 3. หลังผ่าตัดแล้ว เมื่อไหร่จึงปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ?
- 4. ควรดูแลแผลผ่าตัดไส้เลื่อนอย่างไรให้ถูกวิธี?
- 5. ถ้าผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ต้องดูแลตัวเองต่างจากผ่าไส้เลื่อนแบบเปิดไหม?
- 6. หลังผ่าไส้เลื่อน ควรกิน-ไม่กินอะไร?
- 7. มีสัญญาณอันตรายอะไรที่แสดงว่าการผ่าตัดอาจเกิดปัญหา?
- 8. ควรปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้เป็นไส้เลื่อนซ้ำอีก
1. ถ้ากลับบ้านแล้วยังเจ็บแผล ควรทำอย่างไร?
ตอบ: หลังผ่าตัด แม้ผ่านการสังเกตอาการในโรงพยาบาลและแพทย์อนุญาตให้กลับมาพักฟื้นที่บ้านแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจจะยังรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัวบริเวณผ่าตัดอยู่ อาการนี้ถือเป็นเรื่องปกติ
กรณีนี้สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์ให้ไว้ได้ โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งอาการเจ็บปวดจะค่อยๆ ทุเลาลง จนเป็นปกติ
แต่หากอาการเจ็บไม่ดีขึ้นเลย หรือกลับเป็นมากขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ โดยเฉพาะอาการเจ็บปวดที่มาพร้อมของเหลวไหลออกจากแผล มีรอยบวม ช้ำ แดง มีไข้ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
2. ไอ จาม แล้วเจ็บ มีวิธีให้เจ็บน้อยลงไหม?
ตอบ: หนึ่งในขั้นตอนการผ่าไส้เลื่อน คือการเย็บซ่อมหรือเสริมผนังช่องท้อง ดังนั้นการไอหรือจามซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เพิ่มความดันในช่องท้อง จึงก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้ในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ
วิธีช่วยบรรเทาอาการเจ็บคือ ใช้มือหรือหมอนกดเบาๆ บริเวณแผลผ่าตัดขณะไอหรือจาม จะช่วยลดความเจ็บปวดลงได้
3. หลังผ่าตัดแล้ว เมื่อไหร่จึงปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ?
ตอบ: ระยะเวลาฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดไส้เลื่อนจะแตกต่างกันไปตามอาการ เทคนิคการผ่าตัดที่ใช้ รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน
โดยทั่วไป สำหรับการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยมักเริ่มทำกิจกรรมเบาๆ และกลับไปทำงานได้ เมื่อเข้าช่วง 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัดจึงสามารถออกกำลังกายเบาๆ (ซึ่งควรทำเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดี แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป เพราะอาจกระทบกระเทือนแผล)
ส่วนการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด มักต้องใช้เวลายาวนานกว่า เช่น 3 สัปดาห์จึงจะทำกิจกรรมเบาๆ ได้
ถ้าจะออกกำลังกายหนัก ควรรอหลังจาก 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดเป็นต้นไป โดยหากออกกำลังแล้วรู้สึกเจ็บแผล ควรหยุดพักก่อน ไม่ควรฝืนทำต่อ
สำหรับการมีเพศสัมพันธ์นั้น ไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ในช่วงเพิ่งผ่าตัดมาใหม่ๆ จึงควรรอให้แผลหายสนิทก่อน
ส่วนการขับรถมักทำได้หลังผ่าตัดไส้เลื่อนไปแล้วประมาณ 5 วัน หรือเมื่อผู้ป่วยสามารถเหยียบเบรกได้โดยไม่รู้สึกเจ็บแผล
4. ควรดูแลแผลผ่าตัดไส้เลื่อนอย่างไรให้ถูกวิธี?
ตอบ: ควรรักษาแผลผ่าตัดไส้เลื่อนให้แห้ง สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยสามารถนำผ้าปิดแผลออกได้หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 48 ชั่วโมง ไม่ควรทายาหรือขี้ผึ้งใดๆ ลงบนแผล ถ้าพบว่ายังมีของเหลวไหลซึมออกจากแผล อาจปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลผืนใหม่
หลัง 48 ชั่วโมงแล้วผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ต้องระวังอย่าให้แผลโดนน้ำเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะปิดพลาสเตอร์กันน้ำเอาไว้ให้ เพื่อให้อาบน้ำได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ต้องหมั่นสังเกตแผลว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น อาการเจ็บ ปวด บวม แดง มีของเหลวไหลออกมาไม่หยุด ถ้ามีควรติดต่อแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
5. ถ้าผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ต้องดูแลตัวเองต่างจากผ่าไส้เลื่อนแบบเปิดไหม?
ตอบ: โดยทั่วไปไม่ต่างกัน คือ ต้องรักษาความสะอาดของแผลผ่าตัดและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ระมัดระวังพฤติกรรมที่จะส่งผลต่อความดันในช่องท้อง เช่น เบ่งถ่ายแรงๆ ยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม ฯลฯ จะแตกต่างกันที่ระยะเวลาพักฟื้นของการผ่าตัดแบบเปิดจะใช้เวลานานกว่า
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง คือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบ ทำให้การทำงานของร่างกายและการใช้เหตุผลผิดไปจากเดิม ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรงดดื่มแอลกอฮอล์ ใช้เครื่องจักร หรือเซ็นเอกสารสำคัญ อย่างน้อยในช่วง 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
6. หลังผ่าไส้เลื่อน ควรกิน-ไม่กินอะไร?
ตอบ: หลังผ่าตัด ไม่มีอาหารที่ห้ามรับประทานเป็นพิเศษ แต่ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารโปรตีนสูงเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ร่างกายฟื้นฟู และแผลสมานตัวได้ดี นอกจากนี้ควรรับประทานผ้ก ผลไม้ ที่มีกากใย ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะท้องผูก ซึ่งจะทำให้ต้องเบ่งถ่าย เพิ่มความดันในช่องท้อง อาจไปกระทบกระเทือนกับแผลที่เพิ่งผ่าตัดมา หรืออาจรับประทานยาระบายอ่อนๆ ได้ถ้าจำเป็น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
7. มีสัญญาณอันตรายอะไรที่แสดงว่าการผ่าตัดอาจเกิดปัญหา?
ตอบ: หลังผ่าตัดหากพบว่ามีหนึ่งในอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของการติดเชื้อ
- มีไข้สูงตลอดเวลา ไม่ลดลง
- เลือดออกจากแผลผ่าตัด
- มีอาการปวด บวม ที่หน้าท้อง
- เจ็บปวดไม่หายแม้จะกินยาแก้ปวดแล้ว
- หนาวสั่น
- ไอ หายใจถี่กระชั้น
- บริเวณแผลมีอาการแดง ช้ำ
- ปัสสาวะไม่ออก
8. ควรปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้เป็นไส้เลื่อนซ้ำอีก
ตอบ: การผ่าตัดไส้เลื่อนในปัจจุบัน ไม่ว่าด้วยเทคนิคใด มักมีการเสริมตาข่ายทางการแพทย์เข้าไป จึงทำให้โอกาสกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำตรงจุดที่ผ่าตัดมีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรดูแล 2 เรื่องที่เป็นต้นเหตุของไส้เลื่อน
- แผลผ่าตัดในผนังช่องท้อง ควรปฏิบัติตัวเพื่อให้แผลสมานตัวได้ดีเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำ เช่น รับประทานอาหารโปรตีนสูง งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ไม่ฝืนออกแรงหนักที่อาจกระทบกระเทือนแผล
- ความดันในช่องท้อง ควรปรับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความดันสูงในช่องท้องบ่อยๆ ซ้ำๆ เช่น กินผัก-ผลไม้มากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ขับถ่ายง่ายขึ้น จะได้ไม่ต้องเบ่งถ่ายแรงๆ ไม่สูบบุหรี่ เพราะจะส่งผลต่อปอด ทำให้เกิดอาการไอ ออกกำลังกายให้ถูกท่า เป็นต้น
ไส้เลื่อนไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาได้ด้วยวิธีผ่าตัด ถ้ากังวลเรื่องแผล สามารถเลือกผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือส่องกล้องแผลเดียว (ซ่อนแผล) ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าโดยเจาะรูที่ผิวหนังผู้ป่วยแล้วสอดกล้องรวมถึงอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไป เมื่อผ่าเสร็จจะเหลือแผลที่ผิวหนังขนาดเล็กมาก ดูแลแผลไม่ยาก เลือดออกน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวไว
หากดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนได้ดี ปฏิบัติตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ในเวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่าตัดไส้เลื่อนใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดไส้เลื่อน จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย