เปิดประเด็น “การรักษาเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกด้วยการทำ HIFU” พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย ขั้นตอนการรักษา เหมาะกับใคร ทำแล้วท้องง่ายขึ้นหรือไม่
ให้ข้อมูลโดย นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ หรือ “หมอโอ” สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอโอได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอโอ” คุณหมอสูตินรีแพทย์ กับการแชร์ความรู้ด้านนรีเวชที่ทุกคนควรรู้]
สารบัญ
- เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกอยู่ตรงไหนของมดลูก?
- เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก เกิดจากอะไร?
- เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก พบบ่อยในคนกลุ่มไหน?
- มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งไหม?
- อาการแบบไหนที่ควรตรวจเนื้องอกในมดลูก?
- อาการแบบไหนที่ต้องรีบมาหาหมอ?
- วิธีการตรวจทำอย่างไร?
- ควรตรวจคัดกรองบ่อยแค่ไหน?
- ใครบ้างที่ควรตรวจ?
- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ถ้าเป็นแล้วไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้น?
- การรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ปัจจุบันมีกี่วิธี?
- การรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU คืออะไร?
- ขั้นตอนการรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU ทีละสเต็ป
- ต้องเตรียมตัวอะไรมาล่วงหน้าไหม?
- ทาเจลหรือสารนำคลื่นเหมือนทำ HIFU เพื่อความงามไหม?
- ใช้เวลาทำกี่นาที?
- ระหว่างทำจะรู้สึกยังไง?
- หลังทำเสร็จต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษยังไงบ้าง?
- ดีกว่าวิธีอื่นยังไง?
- ทำแล้วเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์มั้ย?
- รักษาไปแล้ว เป็นซ้ำได้มั้ย?
- เนื้องอกแบบไหนรักษาด้วยเครื่อง HIFU ไม่ได้
- รักษาเนื้องอกส่วนอื่นของร่างกายได้ไหม? เพราะอะไร?
- รักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU กับ นพ. โอฬาริก ด้วยบริการจาก HDcare
เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกอยู่ตรงไหนของมดลูก?
เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกสามารถเกิดได้หลายตำแหน่ง ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะบ่งบอกถึงชนิดของเนื้องอก โดยสามารถจำแนกได้ 7 ชนิด
เนื้องอกที่พบที่กล้ามเนื้อของตัวมดลูกจะเป็นชนิดที่ 0 ในขณะที่เนื้องอกซึ่งพบได้บริเวณกล้ามเนื้อที่อยู่ห่างไกลจากตัวมดลูกจะเป็นชนิดที่ 7
เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก เกิดจากอะไร?
ณ ปัจจุบัน ทฤษฎีทางการแพทย์ที่มีการเชื่อถือมากที่สุด คือ เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกนั้นเกิดจากเซลล์ที่กล้ามเนื้อของมดลูกซึ่งเติบโตผิดปกติ โดยเกิดจากความผิดปกติของการหลั่งสารฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก พบบ่อยในคนกลุ่มไหน?
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกสามารถพบได้ใน 80% ของผู้หญิงทุกวัย โดยเฉพาะประมาณ 50% จะพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งไหม?
มีโอกาส แต่น้อยมากในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยมีสัดส่วนที่พบได้ประมาณหนึ่งในพันคนเท่านั้น แต่หากมีการตรวจพบเนื้องอกในกลุ่มผู้หญิงสูงวัย หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว ก็มีโอกาสที่เนื้องอกดังกล่าวจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้สูงกว่า
อาการแบบไหนที่ควรตรวจเนื้องอกในมดลูก?
อาการบ่งชี้จากการมีเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก แบ่งออกได้ 4 กลุ่มอาการ ได้แก่
- อาการเกี่ยวกับประจำเดือน คนไข้อาจประจำเดือนมามากผิดปกติ ประจำเดือนมาแบบกะปริดกะปรอย และอาจมีอาการปวดท้องประจำเดือนที่ผิดปกติได้
- อาการผิดปกติจากก้อนเนื้องอกที่ไปกดเบียดอวัยวะอื่นๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อาการปวดหลังจากก้อนเนื้องอกที่ไปกดเบียดท่อไต ทำให้เกิดภาวะไตบวม กินอาหารอิ่มเร็ว เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปดันกระเพาะอาหาร
- อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เนื่องจากก้อนเนื้องอกได้ไปดันอวัยวะภายในช่องท้อง
- อาการเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ เช่น เกิดภาวะมีบุตรยาก เกิดภาวะแท้งบุตรได้ง่าย หากตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับทารกในครรภ์ เช่น คลอดก่อนบุตร
อาการแบบไหนที่ต้องรีบมาหาหมอ?
เนื่องจากอาการบ่งชี้จากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกนั้นมีความสำคัญกับผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางรายหากไม่ได้ต้องการมีบุตรอยู่แล้วและมีภาวะมีบุตรยาก ก็อาจไม่ได้สนใจว่า ตนเองกำลังมีความผิดปกติ
หรือบางรายที่เพิ่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เมื่อก่อนประจำเดือนเคยมามาก แต่ปัจจุบันประจำเดือนมาน้อยลง ก็อาจมองเป็นเรื่องปกติ และไม่คิดว่า เป็นอาการผิดปกติจากเนื้องอก
ดังนั้นวิธีการตรวจคัดกรองหาเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก คือ การเดินทางมาตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ซักประวัติสุขภาพ ตรวจเลือด ตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติซึ่งอาจรวมไปถึงการมีเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกด้วย และหากตรวจพบเนื้องอก แพทย์ก็จะได้แนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป
วิธีการตรวจทำอย่างไร?
- ซักประวัติสุขภาพกับแพทย์
- ตรวจร่างกาย
- ตรวจด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพ เช่น
- การตรวจอัลตราซาวด์
- การทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging)
- การใส่กล้องเข้าโพรงมดลูกเพื่อหาก้อนในโพรงมดลูก
ควรตรวจคัดกรองบ่อยแค่ไหน?
ตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง ซึ่งแพทย์ก็จะตรวจดูความเสี่ยงโรคทางนรีเวชทั้งหมด เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก เนื้องอกที่มดลูก ถุงน้ำในรังไข่
ใครบ้างที่ควรตรวจ?
ผู้หญิงทุกคนที่อายุเข้าเกณฑ์เริ่มตรวจภายในทุกปี โดยเริ่มต้นที่อายุ 25 ปีขึ้นไป ควรเดินทางมาตรวจอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกวิธีตรวจอย่างการตรวจ HPV DNA ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อ HPV ในระดับลึกถึงโมเกลกุลพันธุกรรม สามารถตรวจทุก 5 ปีได้
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ถ้าเป็นแล้วไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้น?
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกเป็นความผิดปกติที่มักไม่มีอาการแสดง ดังนั้นการประวิงเวลาไม่ไปตรวจคัดกรอง หรือตรวจแล้วแต่ไม่รีบรักษา ก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติ 4 กลุ่มอาการตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากเนื้องอกได้ไปกดเบียดอวัยวะต่างๆ โดยรอบจนทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น
- ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ
- ปัสสาวะบ่อย
- ท้องผูก
- ปวดหลัง
- เกิดภาวะมีบุตรยาก
การรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ปัจจุบันมีกี่วิธี?
สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่
- การสังเกตอาการ ในกรณีที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แพทย์ก็จะติดตามอาการไปเรื่อยๆ ก่อน
- การรักษาด้วยยา มีทั้งยาฉีดและยากิน
- การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีทั้งเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด และเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด
- การรักษาด้วยวิธีไม่รุกล้ำ (Non Invasive) เช่น การทำ HIFU การใช้คลื่น Radio Frequency (RF) การทำ Uterine Artery Embolization
การรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU คืออะไร?
การรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU คือ การกำจัดเนื้องอกที่เกิดบริเวณกล้ามเนื้อของมดลูกด้วยการปล่อยพลังงานจากเครื่อง HIFU หรือ High Intensity Focus Ultrasound ซึ่งจะส่งพลังงานความร้อนผ่านผิวหนังของคนไข้ทะลุเข้าไปถึงตัวก้อนเนื้อ ทำให้ก้อนเนื้อยุบตัวเล็กลงในที่สุด
ขั้นตอนการรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU ทีละสเต็ป
- คนไข้ต้องพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกเสียก่อน และแพทย์จะต้องประเมินข้อบ่งชี้คนไข้ว่า สามารถทำการรักษาเนื้องอกด้วยเครื่อง HIFU ได้ รวมถึงไม่มีข้อบ่งห้ามที่ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีนี้รักษาได้ เช่น นอนคว่ำนานๆ ไม่ได้
- แพทย์ให้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกคนไข้ ซึ่งจะทำให้คนไข้รู้สึกกึ่งหลับกึ่งตื่น แต่เมื่อแพทย์เรียกระหว่างที่รักษาก็จะรู้สึกตัวอยู่ตลอด
- คนไข้นอนคว่ำลงกับเตียง ระหว่างที่รักษา แพทย์จะมีเครื่องมือตรวจดูก้อนเนื้องอกภายในกล้ามเนื้อมดลูกแบบ Real Time เพื่อช่วยระบุขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ และทำให้ปล่อยพลังงานจากเครื่อง HIFU ได้อย่างแม่นยำ
- แพทย์ใช้เครื่องมือปล่อยพลังงานความร้อนจากเครื่อง HIFU ลงไปยังตำแหน่งที่มีเนื้องอกเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็จะคอยสอบถามคนไข้ถึงอาการระหว่างที่รักษา เช่น อาการปวด อาการร้อนที่หน้าท้องหรือหลัง อาการเจ็บที่ขา เพื่อป้องกันโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
- หลังจากนั้นรักษาเสร็จ คนไข้จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
ต้องเตรียมตัวอะไรมาล่วงหน้าไหม?
- งดน้ำและงดอาหารตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
- นัดหมายมารักษาในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- เตรียมตัวสำหรับเดินทางมานอนค้างที่โรงพยาบาล ในการรักษาวิธีนี้ที่ต่างประเทศจะเป็นการรักษาแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่ในประเทศไทยที่สถานพยาบาลอาจห่างไกลจากบ้านคนไข้ แพทย์จึงจะแนะนำให้นอนพักฟื้นดูอาการที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อความมั่นใจ
ทาเจลหรือสารนำคลื่นเหมือนทำ HIFU เพื่อความงามไหม?
ไม่มีการทาเจลหรือสารนำคลื่นใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเครื่องทำ HIFU สำหรับรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกจะมีสารน้ำอุณหภูมิต่ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงผิวคนไข้ในระหว่างทำการรักษาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องทาสารอื่นๆ เพิ่มเหมือนวิธีทำ HIFU เพื่อเสริมความงาม
ใช้เวลาทำกี่นาที?
ขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก รวมถึงความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำการรักษา
ระหว่างทำจะรู้สึกยังไง?
คนไข้อาจรู้สึกอุ่นๆ ร้อนๆ ที่ช่องท้องได้บ้าง เนื่องจากเป็นการใช้พลังงานความร้อนเข้าไปทำลายเซลล์ผิวของเนื้องอก ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องหรือรู้สึกร้อนไปถึงบริเวณหลังได้
หลังทำเสร็จต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษยังไงบ้าง?
สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันที ไม่ต้องดูแลแผลเนื่องจากเป็นวิธีรักษาที่ไม่มีแผล และแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดกลับไปกินที่บ้านให้คนไข้ด้วย
ดีกว่าวิธีอื่นยังไง?
- ไม่มีแผลหลังการรักษา ทำให้คนไข้ฟื้นตัวหลังรักษาได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว
- เมื่อไม่มีแผลผ่าตัด ที่มดลูกของคนไข้จึงไม่มีแผลด้วย ทำให้ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มดลูกได้เมื่อเทียบกับวิธีผ่าตัด
- เป็นวิธีรักษาที่เห็นผลดีกว่าวิธีการใช้ยา ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ทำให้ก้อนเนื้อยุบตัวลงได้มากนัก
ทำแล้วเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์มั้ย?
ช่วยได้ เนื่องจากการใช้พลังงานความร้อนจากเครื่อง HIFU ไม่ได้สร้างแผลที่มดลูกเหมือนการผ่าตัด จึงไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งทำให้คนไข้มีโอกาสเกิดภาวะมีบุตรยากได้มากขึ้น เช่น เกิดพังผืดในช่องท้อง ปวดท้องน้อยเรื้อรัง มดลูกแตกระหว่างตั้งครรภ์
ดังนั้นหลังการรักษาด้วยเครื่อง HIFU หากคนไข้ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ก็มีโอกาสที่ก้อนเนื้อจะยุบขนาดลงถึง 67-80% ภายใน 6 เดือน และทำให้สภาพมดลูกกลับมาพร้อมต่อการตั้งครรภ์อีกครั้ง
รักษาไปแล้ว เป็นซ้ำได้มั้ย?
มีโอกาสเป็นซ้ำได้ เนื่องจากหลังการรักษา มดลูกของคนไข้จะยังคงทำงานตามปกติ จึงมีโอกาสที่เซลล์ที่กล้ามเนื้อมดลูกจะเติบโตกลายเป็นก้อนเนื้อได้อีก แต่จะไม่ได้เกิดจากก้อนเนื้อชิ้นเดิมที่ยุบตัวไปแล้ว
เนื้องอกแบบไหนรักษาด้วยเครื่อง HIFU ไม่ได้
เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกชนิดที่ 0, 1 และ 7 หรือหมายถึงเนื้องอกที่อยู่ในตัวโพรงมดลูกและเนื้องอกที่อยู่ไกลจากตัวมดลูกจะไม่สามารถใช้เครื่อง HIFU ในการรักษาได้ หากพบก้อนเนื้อในบริเวณเหล่านี้ แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดรักษาแทน
รักษาเนื้องอกส่วนอื่นของร่างกายได้ไหม? เพราะอะไร?
ปัจจุบันก็มีผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่บ่งชี้มากขึ้นว่า เครื่องทำ HIFU สามารถทำลายก้อนเนื้อชนิดแข็งได้ด้วย โดยเฉพาะก้อนเนื้องอกที่เกิดบริเวณที่ไม่เหมาะต่อการผ่าตัด เช่น เนื้องอกที่คอ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก แพทย์สามารถใช้เครื่อง HIFU ลดขนาดก้อนเนื้อแทนได้ หรือในตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น เนื้องอกที่ตับ
ดังนั้นเครื่องทำ HIFU จึงสามารถใช้ทำลายก้อนเนื้อได้กับแทบทุกอวัยวะของร่างกาย
รักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกด้วยเครื่อง HIFU กับ นพ. โอฬาริก ด้วยบริการจาก HDcare
ใครที่มีอาการผิดปกติและสงสัยว่า อาจเกิดจากมีเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก อย่ากังวลใจไป สามารถติดต่อ หา HDcare เพื่อทำนัดหมายปรึกษาสูตินรีแพทย์ได้ จะนัดคุยที่โรงพยาบาลหรือผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ทั้งนั้น
และหากได้รับการวินิจฉัยแล้ว อยากจะรักษาด้วยเครื่อง HIFU ทีมงาน HDcare สามารถเป็นผู้ช่วยประสานงานนัดหมายทำการรักษากับแพทย์ให้คุณได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมมีพยาบาลผู้ช่วยคอยอยู่เป็นเพื่อนตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษา
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย