Default fallback image

รักษาอาการปวดหลังหรือคอ ด้วยการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง กับ ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา ด้วยบริการจาก HDcare

ปวดหลังจนถึงขั้นร้าวลงแขนหรือขา แถมชามือและเท้า จะเดินก็เดินได้ไม่ไกล เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก มีอาการเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไปหรือไม่ หรือยังมีวิธีรักษาอื่น ๆ ที่ช่วยให้อาการเหล่านี้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดอีก

เจาะลึกข้อมูลการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง (Epidural Steroid Injection: ESI) อีกวิธีรักษาอาการปวดคอและปวดหลังอย่างรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือการกดทับที่กระดูกสันหลัง ไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัดก็หายปวดหลัง หยุดอาการทรมานได้ง่าย ๆ เพียงแค่การฉีดยา

ให้ข้อมูลโดยหมอปัน ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญพิเศษด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอปันได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอปัน” คุณหมอกระดูกกับเรื่องราวความพิเศษของการรักษาโรคที่กระดูกสันหลัง]

สารบัญ

อาการปวดคอและอาการปวดหลังมักเกิดจากอะไร?

อาการปวดคอ และอาการปวดหลังมักมีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือการกดทับของเส้นประสาทซึ่งอยู่ในโครงสร้างกระดูกสันหลัง โดยเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้น เมื่อคนไข้มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม หรือเป็นโรคหมอนรองกระดูกปลิ้น ทำให้มีอาการปวดคอหรือปวดหลังร้าวลงแขน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการอักเสบหรือกดทับ และอาการปวดก็ยังสามารถร้าวลุกลามลงมาที่แขน หรือที่ขาได้อีก

อาการปวดคอและอาการปวดหลัง พบมากในคนวัยไหน?

อาการปวดคอและอาการปวดหลังพบได้มากในกลุ่มคน 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

  • กลุ่มผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่วัยกลางคนหรือเป็นผู้สูงวัยเสมอไป
  • กลุ่มผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม มักพบได้ตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป

พฤติกรรมแบบไหนที่มักทำให้เกิดอาการปวดหลังในคนแต่ละช่วงวัย?

  • การนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ 
  • การนั่งก้มหน้า หรือก้มคอใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ 
  • การยกของหนักบ่อย ๆ 
  • การก้มหลังมาก ๆ และบ่อยครั้ง
  • การนั่งพื้นเป็นระยะเวลานาน ๆ 

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ทั้งกล้ามเนื้อบ่า หลังส่วนบน และหลังส่วนล่างต้องรับน้ำหนักและต้องเกร็งตัวเป็นระยะเวลานาน จนเพิ่มความเสี่ยงทำให้หมอนรองกระดูกคอหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมตัวได้เร็ว

โรคที่อาจตามมาหลังเกิดอาการปวดหลังและคอมีอะไรบ้าง?

โรคและภาวะที่มักพบได้บ่อยหลังจากมีอาการปวดหลังและปวดคอเกิดขึ้น ได้แก่

  • ภาวะกระดูกคอเสื่อม
  • ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม
  • ภาวะผิดปกติที่เส้นประสาท 
  • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

ภาวะหรือโรคเหล่านี้ก็มักก่อให้เกิดอาการผิดปกติจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ เช่น อาการปวดคอ อาการปวดหลังจนร้าวลงแขนหรือขา อาการชา ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้หยิบจับสิ่งของได้ลำบาก หรือเดินในระยะไกลได้น้อยลง หรือเป็นตะคริวได้ง่าย

ถ้าปวดหลังและคอเรื้อรัง แต่ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร?

การละเลยอาการปวดหลังและปวดคอเรื้อรังเอาไว้ ผลกระทบที่ตามมาอย่างน้อยที่สุดก็คือ อาการปวดที่จะยังคงอยู่ต่อไป และทำให้คนไข้ต้องอดทนอยู่กับอาการนี้ไปเรื่อย ๆ จนทำให้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่มีความสุข 

ส่วนผลกระทบที่อยู่ในระดับรุนแรงขึ้นก็คือ รอยโรคที่จะเกิดความผิดปกติมากขึ้น และทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงตามมาเพิ่มอีก เช่น อาการชา อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย ทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น 

นอกจากการปล่อยอาการของโรคไว้โดยไม่ไปรักษาแล้ว อีกกลุ่มคนไข้ที่รอยโรคมักจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมก็คือ กลุ่มผู้ที่เลือกรักษาอาการผิดปกติด้วยการรักษาแบบทางเลือก เช่น การดัดคอ การจัดกระดูก ซึ่งผลลัพธ์หลังการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้อาจไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นเสมอไป แต่กลับทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย

หากไม่รักษา ผลกระทบจะร้ายแรงถึงขั้นอัมพฤกษ์ อัมพาตเลยไหม?

มีโอกาส แต่มักเป็นส่วนน้อย โดยส่วนมากผลกระทบจากการปล่อยอาการทิ้งไว้มักจะเป็นอาการผิดปกติที่เป็นรุนแรงขึ้นมากกว่า 

วิธีการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังมีอะไรบ้าง?

ลำดับวิธีรักษาเมื่อคนไข้มีอาการปวดหลังเรื้อรังจะเรียบเรียงได้ ดังต่อไปนี้

  • การกินยาบรรเทาปวด มักเป็นวิธีรักษาแรกเมื่อพบอาการผิดปกตินี้
  • การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีรักษาถัดมา หากคนไข้กินยาเพียงอย่างเดียวและอาการยังไม่ดีขึ้น
  • การฉีดยา ใช้ในกรณีที่วิธีกินยาร่วมกับทำกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยตัวยาที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการฉีดเข้าโดยตรงจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้มีประสิทธิภาพ และนานกว่าวิธีกินยา
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาที่แพทย์จะพิจารณา หากวิธีกินยา วิธีทำกายภาพบำบัด หรือวิธีฉีดยายังไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะไม่ได้ใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่เสมอไป แต่ในคนไข้บางรายยังสามารถใช้วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องหรือแบบเฉพาะจุดได้ เพื่อให้การบาดเจ็บหลังการผ่าตัดมีน้อยลง และฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วกว่า

แต่ถ้ายังไม่อยากผ่าตัด มีวิธีรักษาอื่นอีกหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกวิธีรักษาสุดท้ายเสมอไป แต่ในปัจจุบันยังมี “วิธีฉีดยาเสตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง” ซึ่งเป็นอีกวิธีรักษาอาการปวดหลังที่ให้ผลลัพธ์การรักษามีประสิทธิภาพเช่นกัน 

โดยหากเปรียบเทียบกับวิธีกินยา เมื่อเรากินยาบรรเทาปวดเข้าไป ตัวยาก็จะกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและอาจไปออกฤทธิ์ที่กระดูกสันหลังส่วนที่ทำให้มีอาการปวดแค่ประมาณ 20-30% เท่านั้น ทำให้คนไข้ยังอาจมีอาการปวดอยู่ และต้องเพิ่มปริมาณยาที่กินอีก เพื่อให้อาการปวดหายดีขึ้นอย่างเห็นผลจริง ๆ

แต่หากเป็นวิธีการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง ยาจะสามารถเข้าไปออกฤทธิ์ยังกระดูกสันหลังส่วนที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ตรงจุดกว่า และไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทำให้อาการปวดบรรเทาอย่างเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น และยังออกฤทธิ์อยู่ได้นานกว่าด้วย โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน

การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง คืออะไร?

การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง คือ การฉีดยาสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบได้เข้าไปยังโพรงกระดูกสันหลังส่วนที่มีความผิดปกติโดยตรง เพื่อลดอาการปวดหลังให้บรรเทาลง โดยตัวยาที่ฉีดจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

  • ยาชา ทำให้คนไข้ไม่เจ็บระหว่างทำหัตถการ และยังออกฤทธิ์บล็อกเส้นประสาท ทำให้อาการปวดลดลงได้
  • สารทึบรังสี เป็นสารช่วยชี้ตำแหน่งของเข็มฉีดยา ทำให้เมื่อแพทย์สอดเข็มเข้าไปด้านในโพรงประสาทของคนไข้แล้ว ก็จะสามารถตรวจดูตำแหน่งของเข็มได้ด้วยเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งก็จะมองเห็นตัวเข็มได้จากสารทึบรังสีอีกที ทำให้สามารถดันตัวยาเข้าไประงับการอักเสบได้อย่างแม่นยำ
  • ยาสเตียรอยด์ เป็นสารลดการอักเสบของกระดูกสันหลัง เส้นประสาท และหมอนรองกระดูก ช่วยให้อาการปวดบรรเทาลดลง

ยาสเตียรอยด์ที่ฉีด อันตรายไหม?

ยาสเตียรอยด์ที่รับเข้าร่างกายผ่านวิธีฉีดเฉพาะจุดจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับวิธีกินยาสเตียรอยด์  ซึ่งเป็นวิธีรับยาเข้าร่างกายเหมือนกันก็จริง แต่จะทำให้สารยาแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ที่ไม่ได้ผิดปกติด้วย ทำให้ยาไม่ได้ไปออกฤทธิ์ลดอาการปวดที่กระดูกสันหลังอย่างเต็มที่ และยังทำให้สารสเตียรอยด์ในยาอาจไปออกฤทธิ์ก่อผลข้างเคียงกับอวัยวะอื่น ๆ ได้อีก 

ในขณะที่วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ จะเป็นการฉีดตัวยาเข้าไปยังตำแหน่งส่วนที่มีปัญหาเท่านั้น ทำให้ 90% ของตัวยาจะไปดูดซึมอยู่ที่แค่ตำแหน่งดังกล่าวเพียงตำแหน่งเดียว ทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างเห็นผล และไม่ไปก่อผลข้างเคียงต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายด้วย

ต้องปวดแค่ไหนถึงรักษาด้วยวิธีนี้ได้?

อาการปวดที่คนไข้สามารถรักษาด้วยการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังได้นั้นมีหลักเกณฑ์พิจารณาได้เรียบง่ายมาก 

โดยหากรู้สึกว่า อาการปวดที่เกิดขึ้นรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือต้องกินยาบรรเทาปวดตลอดจึงจะดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้น เพียงเท่านี้ก็ถือว่า เข้าเกณฑ์ที่จะสามารถมารักษาอาการด้วยวิธีฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังได้แล้ว

การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง มีกี่แบบและมีอะไรบ้าง?

การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังนั้นทำได้หลายวิธี แต่ทุกวิธีจะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ บรรเทาอาการปวดที่ให้ลดลง รวมถึงอาการชาที่รบกวนชีวิตประจำวันคนไข้ด้วย โดยแบ่งออกได้ 3 วิธีหลัก ๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินให้คนไข้แต่ละรายเองว่า ควรฉีดวิธีไหนจึงจะดีที่สุด ได้แก่

  • การฉีดยาเข้าโพรงประสาทด้านข้าง
  • การฉีดยาเข้าตรงกลางหลัง
  • การฉีดยาเข้าทางก้นกบ

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำการฉีดยา

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้นำวิถีเพื่อให้แพทย์เห็นตำแหน่งเข็มที่ใช้ฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังมีอยู่ 2 เทคโนโลยีด้วยกัน ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีก็จะมีจุดเด่นและจุดด้อยที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้ 

  • เทคโนโลยีเครื่องอัลตราซาวด์ สามารถนำวิถีให้แพทย์มองเห็นชั้นเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ดี และคนไข้จะไม่สัมผัสโดนรังสีเอกซเรย์ แต่มีจุดด้อย คือ จะนำวิถีในส่วนของการมองเห็นกระดูกส่วนต่าง ๆ ได้ไม่แม่นยำ
  • เทคโนโลยีเครื่องเอกซเรย์ สามารถนำวิถีให้แพทย์มองเห็นตำแหน่งของกระดูกสันหลังส่วนต่าง ๆ ได้แม่นยำกว่า ทำให้สามารถสอดเข็มเข้าไปฉีดยาได้แม่นยำที่สุด แต่ก็มีจุดด้อย คือ จะทำให้คนไข้ได้รับรังสีเอกซเรย์ไปด้วย

ขั้นตอนการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง

การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังจะทำในห้องผ่าตัดหรือห้องทำหัตถการปลอดเชื้อ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • คนไข้ขึ้นนอนบนเตียงในท่านอนคว่ำ
  • แพทย์ทำความสะอาดผิวหนังส่วนที่จะฉีดยา
  • แพทย์ใช้เครื่องเอกซเรย์ตรวจหาตำแหน่งของกระดูกสันหลังส่วนที่ผิดปกติ
  • แพทย์ฉีดยาชาเพื่อให้คนไม่รู้สึกเจ็บบริเวณที่จะฉีดยา จากนั้นจะสอดเข็มที่มีความยาวเล็กน้อยเข้าไปด้านในกระดูกสันหลัง ใกล้กับตำแหน่งของเส้นประสาทที่มีปัญหา
  • แพทย์ฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจสอบตำแหน่งของเข็มฉีดยาที่จะมองเห็นได้ผ่านเครื่องเอกซเรย์
  • แพทย์เริ่มฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปเคลือบเส้นประสาทที่มีการอักเสบหรือกดทับ

ต้องฉีดกี่จุด? ตรงไหนบ้าง?

จำนวนของตำแหน่งที่ต้องฉีดยาจะขึ้นอยู่กับจำนวนตำแหน่งที่มีอาการปวด ในคนไข้ที่มีอาการปวดหลายตำแหน่ง แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาให้จากทางก้นกบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถกระจายตัวยาไปได้ทุกส่วนของกระดูกสันหลัง 

แต่ในคนไข้ที่มีอาการปวดแค่ตำแหน่งเดียว แพทย์อาจเลือกฉีดยาให้ทางโพรงประสาทด้านข้าง ทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ตรงไปที่ตำแหน่งที่มีอาการปวดนั้น ๆ อย่างเต็มปริมาณที่สุดเพียงตำแหน่งเดียว

ใช้เวลาฉีดนานเท่าไร?

โดยส่วนมากระยะเวลาในการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังมักจะอยู่ที่ 20-30 นาที หลังจากนั้นแพทย์จะให้คนไข้พักสังเกตอาการข้างเคียงต่ออีกประมาณ 30 นาที 

ฉีดแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน?

โดยส่วนมากอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวโรคในคนไข้แต่ละรายด้วย คนไข้มีอาการผิดปกติหรือรอยโรคที่รุนแรงอยู่แล้ว ฤทธิ์ยาก็อาจอยู่ได้สั้นกว่านั้น 

แต่หากคนไข้มีเพียงอาการปวดหลังในระดับที่ไม่รุนแรงมาก หรือมีการทำกายภาพบำบัดร่วมกับปรับปริมาณยาไปพร้อมกัน ฤทธิ์ยาก็อาจอยู่ได้ยาวนานกว่า 3 เดือน

ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง?

  • ผู้ที่มีความผิดปกติที่กระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลังเสื่อม หรือมีอาการปวดหลังเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีอาการกดทับของเส้นประสาท ไม่ว่าจะด้วยจากกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • ผู้ที่มีอาการปวดหลัง และรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ มาแล้ว เช่น กินยา ทำกายภาพบำบัด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีอาการปวดหลัง และมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ซึ่งทำให้ไม่สามารถรักษาอาการปวดด้วยวิธีผ่าตัดได้

การเตรียมตัวก่อนรักษาด้วยวิธีฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง

  • แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว รวมถึงรายการยาประจำตัวทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
  • หยุดยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจต้องหยุดยาล่วงหน้า 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา 
  • ในคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน อาจต้องตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดก่อนการรักษา เนื่องจากการฉีดยาเสตียรอยด์อาจไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นได้
  • คนไข้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและงดอาหารล่วงหน้านาน ๆ เหมือนการผ่าตัดทั่วไป แต่แพทย์อาจแนะนำให้งดก่อนสักประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนทำหัตถการ เนื่องจากคนไข้ต้องนอนฉีดยาในท่านอนคว่ำ การกินอาหารมื้อหนักมาก่อนอาจทำให้รู้สึกจุกหรือไม่สบายตัวได้

การดูแลตัวเองหลังรักษาด้วยวิธีฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง

หลังฉีดยาแล้ว คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทุกประการ แต่จะมีข้อควรระวังอยู่ 2 อย่าง ได้แก่

  • งดขับรถเอง 24 ชั่วโมง เนื่องจากการฉีดยาเสตียรอยด์จะมีการผสมยาชาไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้การตอบสนองของเท้าลดลงได้ชั่วคราว และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้
  • งดแช่น้ำและงดว่ายน้ำ 2 วัน เพื่อรอให้รูเข็มที่กระดูกสันหลังสมานตัวดีเสียก่อน

แนะนำวิธีการดูแลตัวเองไม่ให้เกิดอาการปวดคอหรือปวดหลัง

  • งดยกของหนัก โดยเฉพาะการยกของหนักในท่าก้มหลัง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ต้องก้มหลังเป็นเวลานาน ๆ 
  • งดการนั่งพื้นเป็นเวลานาน ๆ 
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์

รักษาอาการปวดหลังหรือคอ ด้วยการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง กับ  ผศ.นพ. ปิลันธน์ ด้วยบริการจาก HDcare

มีอาการปวดคอ ปวดหลัง รู้สึกมือ แขน หรือขาชา ๆ อ่อนแรงง่ายขึ้น หยิบจับหรือก้าวเดินยากกว่าปกติ อย่าชะล่าใจไป หากปล่อยอาการเอาไว้อาจส่งผลร้ายแรงได้ หรือทำให้คุณภาพชีวิตของคุณแย่ลงกว่าเดิม

ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อติดต่อปรึกษาอาการกับแพทย์เฉพาะทางได้เลย จะปรึกษาออนไลน์หรือที่โรงพยาบาลก็เลือกได้ หรือหากคุณหมอแนะนำให้รักษาด้วยการฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง ก็ซื้อบริการฉีดกับ HDcare ได้เลยเช่นกัน แถมมีพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวไปอยู่เป็นเพื่อนที่โรงพยาบาล ไปคนเดียวก็สะดวกและง่ายทุกขั้นตอน

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top