ปวดหน้าอก ปวดท้อง แน่นหน้าอกแบบเป็นๆ หาย ๆ หรือคลำเจอก้อนเต้นตามจังหวะหัวใจที่ท้อง สัญญาณเหล่านี้สามารถบ่งชี้ถึงอาการของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และยังเกิดได้จากหลายปัจจัยที่ยากจะควบคุม นอกจากนี้หากไม่รีบรักษา ก็อาจถึงแก่ชีวิตแบบฉับพลันได้
ซึ่งในปัจจุบันได้มีการคิดค้นเทคนิคการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้คนไข้มีแผลผ่าตัดที่เล็กไม่กี่เซนติเมตร เจ็บแผลน้อยลง รวมถึงฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว นั่นก็คือ “การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน”
ร่วมเจาะลึกเทคนิคการผ่าตัดรูปแบบนี้พร้อมกัน ผ่านการให้ข้อมูลโดย “หมอบอส” นพ. ชินะภูมิ วุฒิวณิชย์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอบอสได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเบส” และ “หมอบอส” 2 คุณหมอฝาแฝดกับความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก]
สารบัญ
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง คืออะไร?
- อาการของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง
- ใครเสี่ยงเป็นโรคนี้บ้าง?
- หากหยุดสูบบุหรี่จะช่วยหยุดหลอดเลือดแดงไม่ให้โป่งพองได้หรือไม่?
- การตรวจโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทำได้อย่างไร?
- โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หากไม่รีบรักษาหรือดูแลอาการอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบอย่างไร?
- การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แบ่งได้กี่รูปแบบ?
- ผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR) คืออะไร?
- ประโยชน์ของหลอดเลือดเทียม มีอะไรบ้าง?
- สายสวนหลอดเลือดแดงใหญ่แบ่งออกได้กี่แบบ?
- ใครเหมาะต่อการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
- จุดเด่นของการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน มีอะไรบ้าง?
- หลังจากผ่าตัด มีโอกาสเป็นซ้ำได้หรือไม่?
- รายละเอียดการผ่าตัดที่ควรรู้
- การใส่หลอดเลือดเทียมที่ช่องอกหรือช่องท้อง มีจำนวนการใส่อุปกรณ์ต่างกันหรือไม่?
- ระหว่างผ่าตัด แพทย์จะมองเห็นหลอดเลือดภายในร่างกายคนไข้ได้อย่างไร?
- ระหว่างการผ่าตัด ต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษบ้าง?
- หลังการผ่าตัดต้องพักฟื้นกี่วัน
- อาการผิดปกติที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์
- หลังผ่าตัด หากพบความผิดปกติอีกสามารถผ่าตัดที่จุดเดิมหรือจุดอื่นได้หรือไม่?
- การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง ทำได้อย่างไรบ้าง?
- ผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR) กับ นพ. ชินะภูมิ ด้วยบริการจาก HDcare
โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง คืออะไร?
โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aortic Aneurysm) คือ ภาวะที่ขนาดของหลอดเลือดแดงขยายตัวใหญ่ขึ้น ในขณะที่ยังต้องรับแรงดันจากการไหลเวียนของเลือดเท่าเดิม รวมถึงมีการอ่อนกำลังลงจากความเสื่อมตัวของผนังหลอดเลือด จนเสี่ยงทำให้หลอดเลือดปริแตก และทำให้คนไข้มีอาการผิดปกติหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยตำแหน่งที่มักพบรอยโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองจะแบ่งออกได้ 2 ตำแหน่ง ได้แก่
- หลอดเลือดแดงในช่องอก
- หลอดเลือดแดงในช่องท้อง
อาการของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง
อาการของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติขึ้น
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองบริเวณช่องอก
-
-
- ปวดหน้าอกหรือแน่นหน้าอกแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- หายใจไม่อิ่มหรือหายใจไม่สุดแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- ปวดหลังส่วนบนแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- เสียงแหบ โดยเกิดจากหลอดเลือดไปกดเบียดเส้นเสียง
- กลืนอาหารลำบาก โดยเกิดจากหลอดเลือดไปกดเบียดหลอดอาหาร
-
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองบริเวณช่องท้อง
-
- ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- คลำพบก้อนใหญ่แถวช่องท้อง และเต้นตามจังหวะการเต้นของหัวใจ
- ปวดหลังส่วนล่างแบบเป็น ๆ หาย ๆ
นอกจากอาการผิดปกติที่สังเกตได้ ในคนไข้บางรายก็อาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่ตรวจพบโรคนี้จากผลเอกซเรย์ระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี และพบหลอดเลือดแดงใหญ่มีเงาใหญ่ขึ้นผิดปกติ
ซึ่งเมื่อตรวจพบความผิดปกติไม่ว่าจะด้วยอาการแสดง หรือพบโดยบังเอิญระหว่างตรวจสุขภาพ แพทย์ก็จะแนะนำให้คนไข้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำ CT Scan หรือต่อไป
ใครเสี่ยงเป็นโรคนี้บ้าง?
เราทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองกันได้ทั้งหมด เนื่องจากโดยทั่วไป หลอดเลือดแดงใหญ่ในร่างกายของมนุษย์จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีกลุ่มผู้เสี่ยงบางกลุ่มที่มีโอกาสหลอดเลือดแดงขยายใหญ่ภายในเวลาอันรวดเร็วกว่าปกติ และเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่า ได้แก่
- กลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่จัด ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอ่อนแอลง และเกิดการโป่งพองจนปริแตกได้ง่ายขึ้น
- กลุ่มคนไข้โรคความดันโลหิตสูง และไม่รักษาระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- กลุ่มคนไข้โรคไตที่ต้องฟอกไต ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
- กลุ่มผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองและถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาสู่รุ่นลูก โดยคนกลุ่มนี้จะตรวจพบหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือปริแตกได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
หากหยุดสูบบุหรี่จะช่วยหยุดหลอดเลือดแดงไม่ให้โป่งพองได้หรือไม่?
ไม่ได้ เนื่องจากหลอดเลือดแดงในร่างกายมนุษย์จะมีการขยายตัวขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่การหยุดสูบบุหรี่จะช่วยลดปัจจัยเร่งทำให้หลอดเลือดแดงไม่ขยายตัวเร็วเกินไปจนเสี่ยงปริแตกได้อย่างฉับพลัน
การตรวจโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทำได้อย่างไร?
การตรวจโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองอย่างแม่นยำต้องใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำ CT Scan ในการตรวจวินิจฉัยเท่านั้น
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หากไม่รีบรักษาหรือดูแลอาการอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบอย่างไร?
การประวิงเวลาไม่รักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองจะทำให้อาการผิดปกติของคนไข้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น อาการแน่นหน้าอก ปวดท้อง ปวดหลัง และทำให้ความเสี่ยงที่เส้นเลือดแดงปริแตกเพิ่มมากขึ้น
หรือในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือ หลอดเลือดแดงใหญ่ได้ปริแตกอย่างฉับพลัน ทำให้คนไข้เสียชีวิตอย่างฉับพลัน โดยจะหมดสติไปอย่างไม่ทราบล่วงหน้า และไม่สามารถปั๊มหัวใจเพื่อกู้ชีพได้
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แบ่งได้กี่รูปแบบ?
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแบ่งออกได้ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
- การผ่าตัดแบบเปิด
- การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมแบบสายสวน
ผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR) คืออะไร?
การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน คือ การผ่าตัดเปิดแผลบริเวณขาหนีบ 2 ข้างเพื่อทำทางเบี่ยง หรือบายพาสให้กับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง ผ่านการใช้ “สายสวนหลอดเลือด” หรือที่เรียกได้อีกชื่อว่า หลอดเลือดเทียมชนิดขดลวดค้ำยัน ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่เดิมไม่โป่งพองเพิ่มขึ้นหรือฝ่อตัวลง และลดโอกาสการปริแตกจนทำให้คนไข้เสียชีวิตได้
การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวนเป็นการผ่าตัดผ่านทางหลอดเลือด ไม่จำเป็นต้องผ่าเปิดแผลใหญ่แบบการผ่าตัดแบบเปิดแต่อย่างใด ทำให้คนไข้มีแผลขนาดเล็กลง และเจ็บแผลได้น้อยลงกว่าเดิมมากด้วย
ประโยชน์ของหลอดเลือดเทียม มีอะไรบ้าง?
- ลดโอกาสปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ในอนาคต
- สามารถผ่าเปิดแผลบริเวณขาหนีบในขนาดเพียงข้างละไม่เกิน 2 เซนติเมตรได้ ทำให้เจ็บแผลได้น้อยกว่า
- ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสั้นขึ้น โดยหากไม่มีอาการแทรกซ้อน เพียง 3-4 วันหลังผ่าตัดก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
สายสวนหลอดเลือดแดงใหญ่แบ่งออกได้กี่แบบ?
สายสวนหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือหลอดเลือดเทียมชนิดขดลวดค้ำยัน เป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นเพื่อทำหน้าที่ค้ำยันหลอดเลือดที่มีการโป่งพองจนเสี่ยงปริแตก โดยสามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบตามตำแหน่งที่มักตรวจพบการโป่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ ได้แก่
- สายสวนหลอดเลือดแดงที่ช่องอก หรือ TEVAR (Thoracic Aortic Aneurysm Repair)
- สายสวนหลอดเลือดแดงที่ช่องท้อง หรือ EVAR (Endovascular Aoritc Aneurysm Repair)
ใครเหมาะต่อการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
- กลุ่มคนไข้ที่แพทย์พิจารณาจากผลการตรวจ CT Scan และประเมินว่า สามารถรักษาด้วยการใส่สายสวนค้ำยันทางการแพทย์ได้
- กลุ่มคนไข้ที่อายุมาก มีโรคประจำตัว หรือร่างกายไม่แข็งแรง เนื่องจากการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงได้มากกว่า
- กลุ่มผู้ที่มีอาการผิดปกติจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองไม่ว่าที่ช่องอกหรือช่องท้อง เช่น
- แน่นหน้าอกแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- เสียงแหบ
- กลืนอาหารลำบาก
- ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- คลำพบก้อนที่ช่องท้องซึ่งเต้นตามจังหวะหัวใจ
- ปวดหลังส่วนล่างแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- กลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการ แต่ตรวจสุขภาพและพบการโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ หากพิจารณาจากผลการตรวจเพิ่มเติมแล้วสามารถผ่าตัดได้ แพทย์ก็จะแนะนำให้ผ่าตัดเช่นกัน
จุดเด่นของการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
- โอกาสเสียเลือดน้อยกว่า ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยกว่า
- แผลผ่าตัดเล็กกว่า โดยมีขนาดเพียงข้างละไม่เกิน 2 เซนติเมตร เทียบกับแผลผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งจะมีขนาดเกินกว่า 10 เซนติเมตรขึ้นไป ไม่ว่าจะผ่าตัดที่ช่องอกหรือช่องท้องก็ตาม
- โอกาสเจ็บแผลน้อยกว่ามาก
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน มีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมจะแตกต่างไปตามตำแหน่งที่ทำการผ่าตัด
- การผ่าตัดที่ช่องอก
-
-
- ภาวะแขน 2 ข้างอ่อนแรงหลังผ่าตัด โดยเกิดจากเลือดจะไหลไปเลี้ยงไขสันหลังน้อยลงหลังผ่าตัด
- ภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เนื่องจากในระหว่างผ่าตัด แพทย์จะต้องใส่สายค้ำยันต่าง ๆ เข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ และในบางครั้งก็มีโอกาสที่ตะกรันหรือแคลเซียมซึ่งอยู่ด้านในหลอดเลือดแดงใหญ่จะหลุดไปอุดตันอยู่ที่หลอดเลือดซึ่งทำหน้าที่เลี้ยงสมอง แต่มีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างน้อย
-
- การผ่าตัดที่ช่องท้อง
-
- หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองเกิดการรั่วซึม โดยเกิดจากหลอดเลือดเทียมที่ใส่เข้าไปไม่ได้วางแนบสนิทกับผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่แพทย์จะต้องมีการติดตามอาการของคนไข้หลังผ่าตัดอยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองมีการยุบตัวลงหรือไม่ หรือมีขนาดโป่งพองขึ้นอีกหลังผ่าตัด
หลังจากผ่าตัด มีโอกาสเป็นซ้ำได้หรือไม่?
มีโอกาส แต่ส่วนมากมักจะเป็นที่ตำแหน่งอื่นที่ยังไม่เคยรับการผ่าตัดมาก่อน แต่ขณะเดียวกัน หากคนไข้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระตุ้นให้หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหลังการผ่าตัด ก็มีโอกาสที่จะเกิดหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองซ้ำได้ทั้งตำแหน่งที่เคยผ่าตัด และยังไม่เคยผ่าตัดมาก่อน
ด้วยเหตุผลนี้หลังการผ่าตัด แพทย์จึงจะนัดคนไข้ให้กลับมาตรวจติดตามอาการอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีหลอดเลือดแดงส่วนอื่นหรือตำแหน่งเดิมโป่งพองขึ้นอีก
รายละเอียดการผ่าตัดที่ควรรู้
- เป็นการผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์
- หลังผ่าตัดคนไข้จะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์
- ตำแหน่งของแผลจะอยู่ที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง โดยหลังผ่าตัดเปิดแผล แพทย์ก็จะใส่ขดลวดหรือหลอดเลือดเทียมเข้าทางหลอดเลือดที่ขาหนีบ
- ระยะเวลาผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการผ่าตัด
- หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะเย็บปิดแผลและปิดแผลด้วยวัสดุกันน้ำ
- หลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถเดินทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ สามารถให้แผลโดนน้ำเบา ๆ ได้
การใส่หลอดเลือดเทียมที่ช่องอกหรือช่องท้อง มีจำนวนการใส่อุปกรณ์ต่างกันหรือไม่?
การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมไม่ว่าที่ช่องอกหรือช่องท้องจะมีจำนวนแผลเท่ากัน แต่จำนวนอุปกรณ์ที่ใส่จะแตกต่างกัน โดยหากผ่าตัดที่ช่องอก จำนวนของหลอดเลือดเทียมที่ใส่เข้าไปจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชิ้น แต่หากผ่าตัดที่ช่องท้อง จำนวนของหลอดเลือดเทียมที่ใส่เข้าไปจะอยู่ที่ประมาณ 3 ชิ้น
ระหว่างผ่าตัด แพทย์จะมองเห็นหลอดเลือดภายในร่างกายคนไข้ได้อย่างไร?
ก่อนการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียม แพทย์จะฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ของคนไข้ และใช้เครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ หรือเครื่อง Fluoroscopy ในการช่วยชี้ตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง ทำให้สามารถผ่าตัดวางหลอดเลือดเทียมได้อย่างแม่นยำ
ระหว่างการผ่าตัด ต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษบ้าง?
ระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะต้องระมัดระวังตั้งแต่การใส่หลอดเลือดเทียมเข้าขาหนีบ เนื่องจากหลอดเลือดของคนไข้บางรายจะมีขนาดเล็ก ทำให้ต้องใส่อย่างนุ่มนวลเพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแดงฉีกขาด รวมถึงต้องมีจังหวะในการปล่อยหลอดเลือดเทียมอย่างถูกตำแหน่ง มิฉะนั้นอาจทำให้มีเลือดไหลเข้าไปในกระเปาะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองได้
หลังการผ่าตัดต้องพักฟื้นกี่วัน
หลังการผ่าตัด แพทย์จะให้คนไข้นอนโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เกิดขึ้นก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
ในส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันช่วงแรกหลังผ่าตัด คนไข้สามารถเดินทำงานหรือกิจกรรมเบา ๆ ได้ตามปกติ สามารถทำงานบ้านเบา ๆ ได้ เดินเข้าห้องน้ำเองได้ แต่ในช่วง 1 สัปดาห์แรกจะยังต้องระมัดระวังไม่ให้แผลกระทบกระเทือน รวมถึงงดการถูสบู่ที่แผลแรง ๆ จนเสี่ยงทำให้แผลรั่วซึม แต่สามารถให้แผลโดนน้ำเบา ๆ ได้
คนไข้ต้องเปลี่ยนผ้าก๊อสปิดแผลให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ โดยสามารถไปทำแผลที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านได้ตามสะดวก
อาการผิดปกติที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์
อาการผิดปกติหลังผ่าตัดที่คนไข้ควรรีบกลับมาพบแพทย์โดยทันจะแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ
- อาการที่สังเกตได้จากแผลผ่าตัด โดยหากพบแผลบวมแดง เลือดออกไม่หยุด มีน้ำหนองไหล หรือมีของเหลวรั่วซึมจนชุ่มผ้าก๊อสปิดแผล ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดอาการติดเชื้อ
- อาการผิดปกติที่ยังไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด หากยังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม กลืนอาหารลำบาก ปวดหน้าอกหรือช่องท้องไม่หาย ยังคงคลำพบก้อนโตและเต้นตามจังหวะของหัวใจอยู่ ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที
หลังผ่าตัด หากพบความผิดปกติอีกสามารถผ่าตัดที่จุดเดิมหรือจุดอื่นได้หรือไม่?
สามารถผ่าตัดได้อีกทั้งที่ตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่น ๆ ที่หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในภายหลัง
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง ทำได้อย่างไรบ้าง?
การป้องกันไม่ให้เผชิญกับโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองสามารถทำได้ผ่านการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่
- หมั่นวัดความดันโลหิต หรือหากมีงบประมาณก็ควรซื้อเครื่องวัดความดันติดไว้ที่บ้าน โดยให้ระมัดระวังอย่าให้เลขความดันโลหิตตัวบนเกินกว่า 140 ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม
- งดการสูบบุหรี่ หรือหากกำลังสูบบุหรี่ ให้พยายามเลิกอย่างถาวร เนื่องจากบุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอลง และโป่งพองจนปริแตกได้ง่าย
- หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ให้คุมอาการของโรคให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย หากเป็นโรคไตก็ควรประคองอาการอย่าให้ถึงขั้นต้องล้างไต เนื่องจากผู้ที่มีโรคประจำตัวกลุ่มนี้มักมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองเป็นภาวะแทรกซ้อนควบคู่ด้วย
ผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR) กับ นพ. ชินะภูมิ ด้วยบริการจาก HDcare
มีอาการแน่นหน้าอก ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ คลำเจอก้อนเต้นตามจังหวะหัวใจที่ท้อง ไม่แน่ใจว่า มีสาเหตุมาจากอะไร หรือได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า เป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง แต่ยังไม่แน่ใจถึงแนวทางการรักษา
แอดมิน HDcare สามารถเป็นตัวกลางช่วยประสานงานนัดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกให้กับคุณ โดยสามารถนัดคุยได้ทั้งช่องทางออนไลน์ และที่โรงพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
และหากได้รับการวินิจฉัยให้รักษาด้วยวิธีผ่าตัด ก็สามารถทำนัดผ่าตัดกับแอดมินของ HDcare ได้ทันที โดยบริการ HDcare เป็นบริการผ่าตัดรักษาโรคพร้อมพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัว ที่จะคอยอยู่เป็นเพื่อนและเป็นผู้ประสานงานระหว่างตัวคนไข้กับโรงพยาบาลให้ พร้อมช่วยตอบทุกคำถามหรือข้อสงสัยในระหว่างที่พักอยู่ที่โรงพยาบาล
โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองเป็นโรคอันตรายที่สามารถทำให้คนไข้เสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะรับการตรวจวินิจฉัยเมื่อสงสัยถึงอาการ หรือรับการรักษาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย